ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นักวิชาการนานาชาติส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไต้หวัน สนับสนุนให้ต่อต้านการข่มขู่ของจีน
แหล่งที่มาของข้อมูล Central News Agency
2019-01-09

นักวิชาการนานาชาติ อาทิ Jerome Cohen (ซ้าย) Stephen Young (กลาง) William Stanton (ขวา) และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ รวม 44 คน ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไต้หวัน หวังแจ้งให้ชาวไต้หวันได้รับทราบว่า ในช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์เช่นนี้ ไต้หวันควรสามัคคีกัน (ภาพจากคลังข้อมูลสำนักข่าว CNA)

นักวิชาการนานาชาติ อาทิ Jerome Cohen (ซ้าย) Stephen Young (กลาง) William Stanton (ขวา) และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯ รวม 44 คน ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไต้หวัน หวังแจ้งให้ชาวไต้หวันได้รับทราบว่า ในช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์เช่นนี้ ไต้หวันควรสามัคคีกัน (ภาพจากคลังข้อมูลสำนักข่าว CNA)

นักวิชาการนานาชาติส่งจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไต้หวัน สนับสนุนให้ต่อต้านการข่มขู่ของจีน

สำนักข่าว CNA วันที่ 8 ม.ค. 61

นักวิชาการสหรัฐอเมริกา อาทิ Jerome Cohen,  William Stanton, Stephen Young และอดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลสหรัฐฯรวม 44 คน ร่วมลงนามในจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไต้หวัน ให้สนับสนุนประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน พร้อมเรียกร้องให้ชาวไต้หวันที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกัน ควรตระหนักและร่วมกันต่อต้านการข่มขู่ของจีน

 

จดหมายเปิดผนึกซึ่งเป็นภาษาจีนและภาษาอังกฤษฉบับนี้ ขึ้นต้นด้วยหัวข้อ ”ชาวไต้หวันที่มีประชาธิปไตยสู้ สู้” เนื้อความจดหมายระบุว่า นักวิชาการ อดีตเจ้าหน้าที่รัฐบาลและมิตรของชาวไต้หวันในสหรัฐฯ และอีกหลายประเทศ ซึ่งเคยเป็นสักขีพยานการเปลี่ยนผ่านไปสู่ระบอบประชาธิปไตยของไต้หวันในช่วงหลายสิบปีที่ผ่านมา คาดหวังว่า จะใช้จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้มาประกาศให้ชาวไต้หวันได้ทราบว่า ในช่วงเวลาสำคัญแห่งประวัติศาสตร์เช่นนี้ ไต้หวันควรสามัคคีกัน

 

จดหมายเปิดผนึกฉบับนี้ยังระบุว่า ในช่วง 2 ปีที่ผ่านมา จีนพยายามบีบช่องว่างในประชาคมโลกของไต้หวันให้แคบลง และขยายแสนยานุภาพทางการทหาร ส่งผลให้เกิดมโนภาพว่า ในอนาคตไต้หวันจะต้องถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของระบอบเผด็จการอย่างแน่นอน และแรงกดดันนี้เพิ่มขึ้นถึงจุดขีดสุดเมื่อสีจิ้นผิง ผู้นำจีนออกมาแถลงเมื่อวันที่ 2 ม.ค.ที่ผ่านมา สีจิ้นผิงกล่าวว่า ปัญหาไต้หวันเป็นปัญหาภายในของจีน หลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” เป็นทางเลือกเดียวของการรวมประเทศ

 

ปธน.ไช่อิงเหวินออกมาโต้กลับในวันเดียวกันว่า คนไต้หวันส่วนใหญ่คัดค้านหลักการ “1 ประเทศ 2 ระบบ” รัฐบาลภายใต้การนำของท่านไม่เคยยอมรับ ”ฉันทามติ 1992” พร้อมกล่าวถึงสาเหตุที่เสนอแนวคิด “ฉันทามติไต้หวัน” ว่า มีรากฐานมาจากหลักการ “4 ต้อง” ซึ่งรวมถึงต้องยอมรับความคงอยู่ของไต้หวันสาธารณรัฐจีน และต้องเคารพการยืนหยัดในเสรีภาพและประชาธิปไตยของชาวไต้หวันจำนวน 23 ล้านคน

 

นักวิชาการสหรัฐฯเหล่านี้เชื่อมั่นว่า การตอบโต้ด้วยการเสนอแนวคิดดังกล่าวของปธน.ไช่อิงเหวินเป็นสิ่งที่ถูกต้อง และจากการรับมือกับแรงกดดันของจีนที่นับวันจะหนักหน่วงขึ้นเป็นลำดับ สะท้อนให้เห็นถึงศักยภาพในการเป็นผู้นำประเทศของปธน.ไช่อิงเหวินได้เป็นอย่างดี

 

จดหมายเปิดผนึกดังกล่าว ยังแสดงความชื่นชมชาวไต้หวันที่ต่อต้านการข่มขู่ของจีนและปกป้องระบอบประชาธิปไตย แต่ก็แสดงความกังวลถึงปัญหาที่ในระยะนี้ทางการปักกิ่งใช้กลอุบายหลอกลวงและปล่อยข่าวลือ อาจเป็นการหว่านเมล็ดพันธุ์ที่จะนำไปสู่ความแตกแยกและความวุ่นวายภายในไต้หวัน เพื่อให้ปักกิ่งใช้เป็นข้ออ้างในการใช้กำลังอาวุธเข้าโจมตีไต้หวันได้

 

จดหมายฉบับนี้ยังระบุอีกว่า ความคงอยู่ของไต้หวันกำลังถูกคุกคามจากจีน แม้ไต้หวันจะมีปัญหาภายในมากมายที่รอการแก้ไข แต่ในฐานะที่เป็นประเทศที่มีเสรีภาพและประชาธิปไตย เมื่อเผชิญกับภัยคุกคามใหญ่หลวงที่อาจส่งผลต่อความคงอยู่ของประเทศชาติ ขั้นตอนของระบอบประชาธิปไตยไม่ควรจะส่งผลกระทบต่อความสามัคคีภายในชาติ หากชาวไต้หวันที่มีจุดยืนทางการเมืองต่างกันไม่ตระหนักถึงภัยคุกคามดังกล่าว จะทำให้ผู้นำจีนมีโอกาสใช้วิธีบีบบังคับและสร้างความแตกแยกให้แก่สังคมไต้หวัน ถึงเวลานั้นไต้หวันก็จะถูกผนวกเข้าเป็นส่วนหนึ่งของจีนโดยปริยาย

 

สำหรับจดหมายเปิดผนึกถึงประชาชนชาวไต้หวันฉบับนี้ มีนักวิชาการนานาชาติจำนวน 44 คน ร่วมลงนาม อาทิ John Tkacik ผู้อำนวยการ “โครงการอนาคตเอเชีย” ของ International Assessment and Strategy Center คลังสมองสหรัฐฯ William Stanton และ Stephen Young อดีตผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันประจำไต้หวัน สำนักงานไทเป (AIT/Taipei) Jerome Cohen ศาตราจารย์ประจำมหาวิทยาลัยนิวยอร์ก Michael Danielsen ประธาน Taiwan Corner องค์กรของเดนมาร์ก Bruce Jacobs นักวิชาการออสเตรเลีย Michael Rand Hoare จากสถาบันวิจัย SOAS มหาวิทยาลัยลอนดอนของอังกฤษ เป็นต้น