ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รองปธน.เฉินเจี้ยนเหรินคาดหวัง มิตรภาพระหว่างไต้หวันกับอิตาลีจะเป็นไปอย่างเสมอภาคเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย
แหล่งที่มาของข้อมูล Central News Agency
2019-01-10

รองปธน.เฉินเจี้ยนเหรินคาดหวัง มิตรภาพระหว่างไต้หวันกับอิตาลีจะเป็นไปอย่างเสมอภาคเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย

รองปธน.เฉินเจี้ยนเหรินคาดหวัง มิตรภาพระหว่างไต้หวันกับอิตาลีจะเป็นไปอย่างเสมอภาคเพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย

สำนักข่าว CNA วันที่ 9 ม.ค. 62

นายเฉินเจี้ยนเหริน รองประธานาธิบดี ไต้หวันสาธารณรัฐจีน กล่าวขณะให้การต้อนรับนาย Marco Di Maio รองประธาน “สมาคมมิตรภาพไต้หวันในรัฐสภาอิตาลี” และคณะที่เข้าพบคารวะเมื่อเช้าวันที่ 9 ม.ค.ว่า คาดหวังว่าไต้หวันกับอิตาลีจะผลักดันมิตรภาพและความร่วมมือระหว่างกัน ภายใต้หลักการเปิดเสรีและความเสมอภาค เพื่อสร้างประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่าย

 

รองปธน.เฉินเจี้ยนเหรินกล่าวขณะปราศรัยว่า ขอขอบคุณ นาย Marco Di Maio ที่ช่วยผลักดันให้รัฐสภาอิตาลีรับรองข้อตกลงว่าด้วยการหลีกเลี่ยงการจัดเก็บภาษีซ้ำซ้อน(Avoidance of double taxation agreement ) ในการประชุมสภาสมัยที่แล้ว โดยนาย Marco Di Maio เคยเดินทางมาเยือนไต้หวัน 2 ครั้ง คือเมื่อปีค.ศ. 2015 และ 2016 หวังว่าการเยือนไต้หวันครั้งนี้ จะเป็นสะพานหลักที่เชื่อมความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันกับอิตาลีให้แน่นแฟ้นยิ่งขึ้น

 

รองผู้นำไต้หวันระบุว่า ในช่วงไม่กี่ปีมานี้ ความสัมพันธ์ด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวันกับอิตาลี อาทิ เศรษฐกิจ การค้า วัฒนธรรมและเทคโนโลยี มีความคืบหน้ามากขึ้น

อิตาลีเป็นคู่ค้าอันดับที่ 5 ของไต้หวัน ปีค.ศ. 2017 มูลค่าการค้าระหว่างไต้หวันกับอิตาลีสูงถึง 4,600 ล้านเหรียญสหรัฐ ปัจจุบันมีนักธุรกิจไต้หวันลงทุนในอิตาลีประมาณ 60 ราย รวมมูลค่าการลงทุน 700 ล้านเหรียญสหรัฐ ทั้งสองฝ่ายมีการติดต่อแลกเปลี่ยนด้านต่างๆ ระหว่างกันในเชิงลึก เชื่อมั่นว่าเพียงแค่ยึดหลักการ เปิดเสรีและความเสมอภาค ผลักดันมิตรภาพระหว่างกันต่อไป จะก่อให้เกิดประโยชน์ให้แก่ทั้งสองฝ่ายอย่างแน่นอน

 

รองปธน.เฉินเจี้ยนเหรินระบุว่า ปัจจุบันไต้หวันได้นำปฏิญญาสากลว่าด้วยสิทธิมนุษยชน (Universal Declaration of Human Rights , UDHR) 9 ฉบับมาบัญญัติเป็นกฏหมายที่ใช้บังคับภายในประเทศ และมีการตรวจสอบความคืบหน้าของการดำเนินการตามกฎหมายเป็นประจำ เพื่อรับประกันสิทธิมนุษยชนด้านต่างๆ โดยเฉพาะเสรีภาพด้านการนับถือศาสนา ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับต้นๆ แต่ในทางตรงกันข้าม ภายหลังจากที่สำนักวาติกันได้ลงนามข้อตกลงด้านศาสนากับจีนเมื่อเดือนก.ย.ปีที่แล้ว ยังพบว่าทางการจีนกดดันวงการศาสนาภายในประเทศอย่างหนักหน่วงมากขึ้น สื่อต่างชาติวิจารณ์ว่า มาตรฐานด้านสิทธิมนุษยชนของจีนย่ำแย่กว่าในช่วงปฏิวัติวัฒนธรรมเสียด้วยซ้ำ คณะมนตรีสิทธิมนุษยชนแห่งสหประชาชาติ ( United Nations Human Rights Council;UNHRC)ได้ท้วงติงให้จีนแก้ไขและรับประกันเสรีภาพด้านการนับถือศาสนา นอกจากนี้วุฒิสภาและสภาผู้แทนราษฎร สหรัฐฯ เตรียมบัญญัติกฎหมายคว่ำบาตรเศรษฐกิจ เพื่อลงโทษจีนที่ลิดรอนเสรีภาพทางศาสนาของประชาชน และเรียกร้องให้รัฐบาลสหรัฐฯ ต้องรายงานเรื่องนี้ต่อสภาคองเกรสด้วย

 

รองผู้นำไต้หวันกล่าวว่า วุฒิสมาชิก 3 ท่านที่มาเยือนในวันนี้ ล้วนให้ความสำคัญกับประเด็นด้านสิทธิมนุษยชนสากล ดังนั้นขอให้เห็นแก่เสรีภาพทางศาสนาและความเท่าเทียมกันด้านสิทธิมนุษยชน ซึ่งเป็นค่านิยมสากล ช่วยจับตาและท้วงติงเพื่อให้ประเด็นปัญหานี้ได้รับปรับปรุงให้ดีขึ้น

 

รองปธน.เฉินเจี้ยนเหรินระบุในตอนท้ายว่า เชื่อมั่นว่าไต้หวันกับอิตาลีจะสามารถร่วมมือกัน ใส่ใจทะนุถนอมเสรีภาพ ประชาธิปไตย หลักนิติธรรม สิทธิมนุษยชนและมนุษยธรรม ซึ่งเป็นค่านิยมสากล เพื่อให้ทั่วโลกโดยเฉพาะภูมิภาคเอเชียได้รับประโยชน์ที่เกิดจากค่านิยมดังกล่าวด้วย