ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การแสดงชุด “Behalf” จากความร่วมมือไทย –ไต้หวันร่วม 3 ปี ปลุกจิตสำนึกของความหมายแห่งวัฒนธรรม
2019-04-01

นายพิเชษฐ์ (ซ้าย) ศิลปินนักเต้นร่วมสมัย และนายเฉินอู่คัง (ขวา) นักออกแบบท่าเต้นคนดังของคณะการแสดง HORSE ได้จัดการแสดงชุด “Behalf” ที่ใช้เวลาในการสร้างสรรค์งานร่วมกันถึง 3  ปี ปลุกจิตสำนึกของความหมายแห่งวัฒนธรรม

นายพิเชษฐ์ (ซ้าย) ศิลปินนักเต้นร่วมสมัย และนายเฉินอู่คัง (ขวา) นักออกแบบท่าเต้นคนดังของคณะการแสดง HORSE ได้จัดการแสดงชุด “Behalf” ที่ใช้เวลาในการสร้างสรรค์งานร่วมกันถึง 3 ปี ปลุกจิตสำนึกของความหมายแห่งวัฒนธรรม

สำนักข่าว CNA วันที่ 31 มี.ค. 62

 

การแสดงชุด “Behalf” ที่เกิดจากความคิดสร้างสรรค์ที่ใช้เวลาร่วม 3 ปี ในการออกแบบร่วมกันระหว่างนายพิเชษฐ์ กลั่นชื่น ศิลปินด้านการแสดงเต้นรำร่วมสมัยคนดัง และนายเฉินอู่คัง นักออกแบบท่าเต้นชื่อดังของคณะการแสดง HORSE ได้เปิดแสดงเป็นครั้งแรกในประเทศไทยเมื่อวันที่ 30 - 31 มีนาคมที่ผ่านมา ซึ่งท่วงท่าและปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับผู้ชม ได้ปลุกจิตสำนึกให้ผู้ชมรำลึกถึงความหมายแห่งวัฒนธรรม


 

เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมไทยและไต้หวัน สำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย ได้ชักชวนให้นายพิเชษฐ์ กลั่นชื่น (Pichet klunchun) ศิลปินด้านการแสดงเต้นรำร่วมสมัยคนดัง และนายเฉินอู่คัง นักเต้นชาวไต้หวัน ทำการสร้างสรรค์ผลงานและแลกเปลี่ยนระหว่างกัน ตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา โดยใช้เวลาร่วม 3 ปีในการทำงานร่วมกัน ก่อนจะออกมาเป็นผลงานการแสดงชุด “Behalf” ซึ่งเป็นที่ประจักษ์แก่สายตาผู้ชมทั่วโลก


 

การแสดงชุด “Behalf” ได้เปิดแสดงรอบปฐมทัศน์ที่กรุงไทเปในเดือนพฤษภาคมของปีที่แล้ว และเมื่อวันที่ 30 – 31 มีนาคมที่ผ่านมา ก็ได้เปิดการแสดงขึ้นในประเทศไทยเป็นครั้งแรก ณ โรงละครช้าง จากนั้นคณะนักแสดงจะเดินทางไปจัดการแสดงที่กรุงปารีสของฝรั่งเศส , โปรตุเกส และเบลเยี่ยม เพื่อแสดงให้ทั่วโลกได้เห็นถึงพลังความร่วมมือในการสร้างสรรค์ระหว่างไทย – ไต้หวัน


 

“Behalf” เป็นเสมือนการสื่อสารระหว่างไทยกับไต้หวัน บุคคลกับคณะ ความทรงจำและวัฒนธรรมผ่านการเต้นรำ นักออกแบบท่าเต้นทั้งสอง อาศัยการสื่อสารผ่านท่าทางต่าง ๆ ของร่างกาย สลับกันแสดงบนเวที เพื่อถ่ายทอดวัฒนธรรมแห่งประเทศของตน ที่ทั้งสองต่างต้องการอนุรักษ์ไว้ และฝ่าฟันเส้นทางแห่งวิถีชีวิตดั้งเดิม ผ่านการเคลื่อนไหวของร่างกาย จากนั้นได้ใช้การปฏิสัมพันธ์ระหว่างนักแสดงกับผู้ชม เพื่อให้ทุกคนได้ครุ่นคิดว่า “อะไรคือวัฒนธรรม?” และ “ใครเป็นผู้กำหนดการสืบทอดทางวัฒนธรรม ?”


 

นายเฉินอู่คังกล่าวว่า พิเชษฐ์เป็นทั้งชาวไทย ชาวพุทธและเป็นผู้ที่ได้ศึกษาการเต้นแบบไทย และที่สำคัญ เขาคือคนที่อนุรักษ์ไว้ซึ่งวัฒนธรรมไทยไว้ได้อย่างดีเยี่ยมในความคิดของตน ช่วงตลอด 3 ปีที่ผ่านมาที่ได้ร่วมมือสร้างสรรค์ผลงานกับพิเชษฐ์ ตนก็ค่อยๆ เริ่มยอมรับในสถานะของตัวเอง และเข้าใจได้ว่า “ไม่มีใครที่เป็นผู้ริเริ่มอย่างแท้จริง ทุกคนต่างก็เกิดจากการผสมผสานด้วยกันทั้งสิ้น การปลดปล่อยถือเป็นประโยชน์สำคัญที่ได้รับจากการร่วมมือในครั้งนี้ ”


 

นายพิเชษฐ์ เป็นศิลปินด้านการแสดงการเต้นร่วมสมัยของไทยที่มีชื่อเสียง เขาเริ่มจากการเรียนโขน อันถือเป็นสื่อแห่งวัฒนธรรมของไทย และเมื่อมีความชำนาญแล้ว จึงลองประยุกต์ศิลปะการรำโขนและการเต้นร่วมสมัยเข้าด้วยกัน จนทำให้ได้รับการชื่นชมและการยกย่องจากยุโรปและสหรัฐฯ เป็นอย่างมาก เขากล่าวให้สัมภาษณ์ว่า นี่เป็นครั้งแรกที่ได้ร่วมมือในการสร้างสรรค์งานเต้นทั้งชุดร่วมกับคนเอเชียด้วยกัน เมื่อเทียบกับการร่วมมือกับชาวตะวันตกแล้ว ก็มีความคิดที่ว่า “เราต่างเป็นคนเอเชียเหมือนกัน ก็เปรียบเสมือนเป็นคนในครอบครัวเดียวกัน เวลาอยู่ร่วมกันจึงไม่รู้สึกกดดันมาก”


 

นายพิเชษฐ์ก็คาดหวังว่า จะใช้การแสดงชุดนี้ เป็นสื่อในการถ่ายทอดความเป็นไทย เพื่อให้ชาวไต้หวันรู้จักกับเมืองไทยมากขึ้น และถ่ายทอดให้ได้เห็นว่าคนไทย ไม่ได้มีเพียงกลุ่มแรงงานที่ย้ายถิ่นฐานเข้ามาทำงานในไต้หวันเท่านั้น