ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวันโชว์ศักยภาพด้านอวกาศ หลังเชื่อมต่อกับดาวเทียม 6 ดวงของ FORMOSAT-7 ได้สำเร็จ
2019-06-26

เมื่อเวลา14:30 นาฬิกาของวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ดาวเทียม FORMOSAT-7 ได้ถูกนำส่งขึ้นวงโคจรโดยจรวดยักษ์ Falcon Heavy อย่างราบรื่น ในภาพคือจรวดที่นำดาวเทียม FORMOSAT-7 ขึ้นสู่วงโคจร

เมื่อเวลา14:30 นาฬิกาของวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ดาวเทียม FORMOSAT-7 ได้ถูกนำส่งขึ้นวงโคจรโดยจรวดยักษ์ Falcon Heavy อย่างราบรื่น ในภาพคือจรวดที่นำดาวเทียม FORMOSAT-7 ขึ้นสู่วงโคจร

สำนักข่าว CNA วันที่ 25 มิ.ย. 62

 

หลังจากที่ FORMOSAT-7 ได้ถูกส่งขึ้นสู่อวกาศเป็นที่เรียบร้อย ขณะที่ทำการโคจรรอบโลกเป็นรอบที่ 3 เมื่อเวลา 20:48 นาฬิกาตามเวลาไต้หวัน สถานีรับสัญญาณภาคพื้นดินก็สามารถเชื่อมต่อสัญญาณกับดาวเทียม ทั้ง 6 ดวงที่ถูกนำขึ้นไปเป็นที่เรียบร้อย เป็นอันว่าภารกิจในการขึ้นสู่อวกาศของ FORMOSAT-7 ได้สำเร็จลุล่วงลงอย่างราบรื่น


 

เมื่อเวลา 20:30 นาฬิกาของวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ที่ศูนย์อวกาศ องค์การอวกาศแห่งชาติไต้หวัน (National Space Organization, NSPO) ได้จัดงานแถลงข่าว “การเชื่อมต่อสัญญาณจาก FORMOSAT-7 กับสถานีรับสัญญาณดาวเทียมบนพื้นโลกในไต้หวัน” โดยนายซูเจินชาง นายกรัฐมนตรีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แถลงว่า ความสำเร็จในการปล่อยดาวเทียม FORMOSAT-7 นอกจากจะแสดงให้เห็นถึงศักยภาพทางเทคโนโลยีของไต้หวันที่ก้าวขึ้นไปอีกขั้นแล้ว ยังแสดงให้โลกได้ประจักษ์ถึงศักยภาพด้านอวกาศของไต้หวันด้วย โดยหวังว่าดาวเทียม FORMOSAT-7 จะทำหน้าที่คุ้มครองไต้หวันบนอวกาศได้อย่างเต็มประสิทธิภาพ


 

เมื่อเวลา14:30 นาฬิกาของวันที่ 25 มิ.ย. ที่ผ่านมา ดาวเทียม FORMOSAT-7 ได้ถูกนำส่งขึ้นวงโคจรโดยจรวดยักษ์ Falcon Heavy อย่างราบรื่น และเมื่อเวลา 17:15 นาฬิกาโดยประมาณตามเวลากรุงไทเป ก็ได้เริ่มทำการเชื่อมต่อกับสถานีรับสัญญาณดาร์วินแห่งออสเตรเลีย โดยนายหลินจวิ้นเหลียง ผู้อำนวยการ NSPOกล่าวว่า จนกระทั่งเมื่อเวลา 20:48 นาฬิกา ขณะที่ดาวเทียม FORMOSAT-7 เคลื่อนตัวผ่านสถานีรับสัญญาณในไต้หวันเป็นครั้งแรก ก็ปรากฎว่า “สถานีทั้ง 3 แห่งของไต้หวันได้รับสัญญาณจากดาวเทียมดวงแรก จวบจนดาวเทียม FORMOSATทั้ง 6 ดวงของดาวเทียมFORMOSAT-7 ได้รับการเชื่อมต่อ จึงนับได้ว่าเป็นอันเสร็จสิ้นภารกิจในการส่งดาวเทียมขึ้นสู่อวกาศอย่างสมบูรณ์”


 

นายหลินจวิ้นเหลียงกล่าวว่า ศูนย์ควบคุมดาวเทียมได้ใช้ช่วงเวลาที่ดาวเทียมโคจรผ่านไต้หวัน ทำการตรวจสอบสมรรถนะความพร้อมของดาวเทียมทั้ง 6 ดวงอย่างรวดเร็ว ทั้งการตั้งค่าเวลาคอมพิวเตอร์ของดาวเทียม ตรวจสอบแผงโซลาร์ว่าพร้อมสำหรับการใช้งานหรือไม่ ตรวจเช็คประสิทธิภาพของแบตเตอรี่ว่าอยู่ในสภาพแข็งแรงทนทานหรือไม่ เป็นต้น ซึ่งจากการตรวจสอบ ไม่พบความขัดข้องใดๆ


 

นอกจากนี้ นายหลินจวิ้นเหลียงยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในช่วง 1 สัปดาห์ต่อจากนี้จะต้องดำเนินการตรวจสอบพารามิเตอร์และสถานะความพร้อมของดาวเทียมอย่างละเอียดถี่ถ้วน และในสัปดาห์ที่ 2 จะดำเนินการตรวจสอบน้ำหนักบรรทุกของดาวเทียมและสถานะการใช้งานของอุปกรณ์ทางวิทยาศาสตร์ที่ถูกนำส่งขึ้นไป หลังกระบวนการดังกล่าวเสร็จสิ้นลง จึงจะทำการวางแผนเกี่ยวกับเส้นทางในการโคจรต่อไป


 

ดาวเทียม FORMOSAT-7 นับเป็นโครงการความร่วมมือที่ใหญ่ที่สุด ในตลอดช่วง 10 ปีที่ผ่านมา ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ซึ่งได้ทำการปล่อยขึ้นสู่อวกาศโดยศูนย์อวกาศเคนเนดี (Kennedy Space Center, KSC) ณ เมืองออร์แลนโดของสหรัฐฯ เมื่อวันที่ 25 มิ.ย.ที่ผ่านมา ขณะเดียวกันปธน.ไช่ฯ ก็ได้เดินทางไปร่วมเป็นสักขีพยานและสังเกตการณ์การยิงดาวเทียม FORMOSAT-7 ที่ศูนย์อวกาศ NSPO ที่ตั้งอยู่ในเมืองซินจู๋ด้วยตนเอง ขณะที่จรวดบินทะยานสู่อวกาศ บรรยากาศทั้งในศูนย์อวกาศ NSPO ของสถาบันวิจัย NARLabs และฐานปฏิบัติการปล่อยจรวดของศูนย์อวกาศ KSC ต่างก็เต็มไปด้วยเสียงฮือฮาและเสียงปรบมือก้องสนั่นของเจ้าหน้าที่ทุกฝ่ายที่มีส่วนร่วม


 

Mr. Brent Christensen ผู้อำนวยการสถาบันอเมริกันในไต้หวัน (American Institute in Taiwan, AIT) ก็ได้เดินทางมาเป็นร่วมเป็นสักขีพยานในการสังเกตการณ์เช่นเดียวกัน พร้อมกล่าวว่า ขณะนี้สถาบัน AIT กำลังอยู่ในช่วงการเฉลิมฉลองวาระครบรอบ 40 ปีแห่งกฎหมายความสัมพันธ์ไต้หวัน และความสำเร็จการปล่อยดาวเทียมในครั้งนี้ ถือเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์อันแนบแน่นในการสร้างความร่วมมือทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้ทุกฝ่ายได้ประจักษ์ด้วย