ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เรียนภาษาจีน พลิกคุณภาพชีวิต นักศึกษาสาวชาวอาข่าแห่ง TCU กลับไปเป็นอาสาสมัครที่บ้านเกิด
2019-11-13

เคอหนีชุน (แถวหลังกลาง) ร่วมกับอาจารย์ประจำภาควิชา และเพื่อนร่วมคณะฯ เดินทางกลับสู่บ้านเกิดของเคอหนีชุน เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อสอนภาษาจีนให้กับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนบ้านแม่คำ (ภาพจาก TCU)

เคอหนีชุน (แถวหลังกลาง) ร่วมกับอาจารย์ประจำภาควิชา และเพื่อนร่วมคณะฯ เดินทางกลับสู่บ้านเกิดของเคอหนีชุน เมื่อช่วงเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา เพื่อสอนภาษาจีนให้กับเด็กและเยาวชนในโรงเรียนบ้านแม่คำ (ภาพจาก TCU)

TCU วันที่ 12 พ.ย. 62

 

เมื่อช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนปีนี้ ระหว่างวันที่ 19 - 30 ส.ค. ที่ผ่านมา นางสาวเคอหนีชุน นักศึกษาสาวบ้านปางขอน ที่มาจากพื้นที่เขตภูเขาทางภาคเหนือของประเทศไทย ที่เดินทางมาเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษา ในคณะการพัฒนาเด็ก เยาวชนและครอบครัว มหาวิทยาลัยฉือจี้ (Tzu Chi University, TCU) ที่ไต้หวัน และศาสตราจารย์หลัวถิงอิง อาจารย์ประจำภาควิชา ได้นำเพื่อนนักศึกษาในคณะฯ 3 คน เดินทางไปยังบ้านเกิดของเคอหนีชุน เพื่อสอนภาษาจีนให้กับเด็กและเยาวชนในพื้นที่ ซึ่งนี่เป็นเพียงจุดเริ่มต้นเท่านั้น หลังกลับสู่ TCU แล้ว ศ.หลัวฯ จะระดมกำลังนักศึกษา เพื่อก่อตั้งเป็นทีมอาสาสมัคร เดินทางไปสอนภาษาจีนให้กับเยาวชนบ้านแม่คำอีกครั้ง


 

เคอหนีชุนกล่าวว่า “การเรียนภาษาจีน สามารถช่วยพลิกชีวิตของเยาวชนในหมู่บ้านได้ ฉันคาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า จะมีนักศึกษาเดินทางมาสอนภาษาจีน ที่โรงเรียนมัธยมศึกษาบ้านแม่คำเพิ่มมากขึ้น”


 

โรงเรียนบ้านแม่คำตั้งอยู่ในหมู่บ้านปางขอน อยู่ห่างจากตัวเมืองเชียงรายกว่า 32 กิโลเมตร โดยตั้งอยู่บนเขตภูเขา ที่มีความสูงจากระดับน้ำทะเล 1,300 เมตร และเป็นโรงเรียนสอนภาษาจีนแห่งเดียวในหมู่บ้าน ปัจจุบันแบ่งเป็น 10 ระดับชั้น มีครู 7 คน และนักเรียน 169 คน นักเรียนส่วนใหญ่เป็นชนเผ่าอาข่าและชนเผ่าเหมียว เนื่องจากสภาพแวดล้อมที่จำกัด ทำให้ครูในพื้นที่เขตภูเขาค่อนข้างขาดแคลน เคอหนีชุนเป็นนักเรียนรุ่นแรกของโรงเรียนบ้านแม่คำ ในปีค.ศ. 2003 (พ.ศ. 2546) ผู้ใหญ่บ้านได้เล็งเห็นถึงความสำคัญของภาษาจีน จึงได้ทำการรวบรวมผู้มีจิตกุศล ร่วมกันก่อตั้งโรงเรียนภาษาจีนแห่งนี้ขึ้น นายหลี่หมิงหย่า ผู้อำนวยการโรงเรียนฯ มีความคิดที่จะสานต่อการศึกษาหลักสูตรภาษาจีน รวมถึงปลูกฝังจิตวิญญาณวิถีพุทธ ให้กับนักเรียนในโรงเรียนอย่างยั่งยืน

 

เคอหนีชุนกล่าวว่า “ในตอนนั้น ไม่ได้ชอบไปโรงเรียนมากนัก ไปเพียงเพราะอยากเล่นกับเพื่อนก็เท่านั้น” แต่การที่เคอหนีชุนมีทักษะด้านภาษาจีน ทำให้เธอมีโอกาสทำความรู้จักกับนักท่องเที่ยวที่มาเยือนหมู่บ้าน ซึ่งนับว่าเป็นจุดพลิกผันของชีวิต โดยจะเห็นได้จาก การมีโอกาสได้ไปเข้ารับการศึกษาที่โรงเรียนสอนภาษาจีน ในมาเลเซีย และในปัจจุบัน ได้รับทุนการศึกษาจากมูลนิธิพุทธฉือจี้ เดินทางมาเข้ารับการศึกษาระดับอุดมศึกษาต่อที่ TCU


 

บ้านปางขอนเพาะปลูกกาแฟเป็นหลัก เนื่องจากในปัจจุบันมีนักท่องเที่ยวไปเยือนมากขึ้น จึงมีการจัดบรรยายการท่องเที่ยวเชิงนิเวศเกิดขึ้น เคอหนีชุนคิดมาโดยตลอด ตั้งแต่เรียนปี 1 ว่า ตนจะสามารถสร้างประโยชน์อะไรให้กับบ้านเกิดของตัวเองได้บ้าง การได้เข้าศึกษาใน TCU ทำให้เคอหนีชุนได้รู้จักกับเพื่อนสนิทกลุ่มหนึ่ง เธอได้ใช้โอกาสนี้ ในการโปรโมทข้อมูลที่เกี่ยวกับบ้านเกิดของเธออย่างต่อเนื่อง จนในที่สุด ในช่วงปิดภาคการศึกษาฤดูร้อนที่ผ่านมา ศ.หลัวฯ และเพื่อนร่วมคณะอีก 3 คน ที่ประกอบด้วย หลันเซวียนหาน เฉินเจี๋ยโหลว และเฉินหวินเซวียน ได้ร่วมเดินทางไปเป็นอาสาสมัครที่โรงเรียนบ้านแม่คำ โดยโรงเรียนแห่งนี้มีครูชาวจีนแผ่นดินใหญ่ 1 คน นอกนั้นล้วนเป็นครูชาวปางขอน ที่สำเร็จการศึกษาจากโรงเรียนบ้านแม่คำทั้งสิ้น โดยครั้งนี้เป็นครั้งแรก ที่มีอาสาสมัครชาวไต้หวัน เข้าให้บริการด้านการศึกษา ตั้งแต่โรงเรียนนี้ก่อตั้งมาเป็นเวลา 16 ปี


 

ช่วงเวลาเรียนภาษาจีนของโรงเรียนบ้านแม่คำ คือ 17:00 – 21:00 น. เด็กและเยาวชนในพื้นที่ต่างรักในการเรียนภาษาจีนมาก ทุกเช้าเวลาประมาน 06:30 นักเรียนทุกคนจะรวมกลุ่มกันอ่านหนังสือเรียนภาษาจีน เมื่อถึงเวลา 07:00 น.ทุกคนก็จะแยกย้ายกันกลับไปทานอาหารเช้าที่บ้านของตน จากนั้นก็จะไปเข้าเรียนในโรงเรียนที่สอนด้วยภาษาไทย พอตกเย็น ทุกคนก็จะเดินทางจากบ้านไปโรงเรียนบ้านแม่คำ เพื่อเข้าเรียนภาษาจีนตั้งแต่เวลา 17:00 น. จนถึง 21:00 น.


 

ในช่วงเวลา 2 สัปดาห์ของหลักสูตรภาษาจีน เพื่อนร่วมคณะฯ ของเคอหนีชุน ได้นำเอาหนังสือนิทาน เกมกระดานและเกมหมากรุกจากไต้หวัน มาใช้เป็นสื่อการเรียนการสอนภาษาจีนให้กับเด็กๆ ซึ่งบรรดานักเรียนต่างก็พยายามใช้ภาษาจีนในการสื่อสาร เนื่องจากกติกาเกมการแข่งขันคือ “ห้ามนักเรียนพูดภาษาอาข่าและภาษาไทย ในระหว่างการเล่นเกม”


 

ผอ. หลี่หมิงหย่า ขอบคุณศ.หลัวฯ และนักศึกษาอีก 4 คน ที่เดินทางมาเป็นอาสาสมัครในโรงเรียนที่ตั้งอยู่ในพื้นที่เขตภูเขาในภาคเหนือของไทยในครั้งนี้ นับเป็นการเปิดโลกทัศน์ให้กับนักเรียนปฐมวัย ด้วยการเรียนการสอนทั้งในและนอกห้องเรียน ที่เปี่ยมไปด้วยสีสันและความสนุกสนาน เป็นเวลา 10 กว่าวันในครั้งนี้ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่าการให้บริการด้านการศึกษาเช่นนี้ จะได้รับการสานต่อในรุ่นต่อไปอย่างต่อเนื่อง เพราะเป็นเสมือนการช่วยเติมพลังด้านบวกให้แก่จิตวิญญาณของนักเรียนในพื้นที่เขตภูเขา ที่ถูกปิดกั้นจากโลกภายนอก