NDC วันที่ 16 มิ.ย. 63
เมื่อวันที่ 16 มิ.ย. คณะกรรมการเพื่อการพัฒนาแห่งชาติ (National Development Council, NDC) แถลงว่า สถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ได้ประกาศผลดัชนีชี้วัดความสามารถในการแข่งขันระดับโลกประจำปี 2020 (IMD World Competitiveness Yearbook) ซึ่งผลการจัดอันดับในปีนี้ปรากฎว่า ไต้หวันครองอันดับที่ 11 จากทั้งหมด 63 ประเทศและเขตเศรษฐกิจทั่วโลก โดยเป็นอันดับที่ดีขึ้น 5 อันดับจากปี 2019 และดีที่สุดนับตั้งแต่ปี 2016 เป็นต้นมา เมื่อเทียบกับประเทศต่างๆ ในภูมิภาคเอเชียตะวันออกแล้ว มีผลการจัดอันดับที่แซงหน้าจีนซึ่งอยู่อันดับที่ 20 เกาหลีใต้ซึ่งอยู่อันดับที่ 23 ญี่ปุ่นซึ่งอยู่อันดับที่ 34 และเป็นรองเพียงสิงคโปร์ซึ่งอยู่อันดับที่ 1 และฮ่องกงซึ่งอยู่อันดับที่ 5
โดยความก้าวหน้าในผลการจัดอันดับของไต้หวัน สามารถเห็นได้จาก :
1. ด้านประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธรุกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ไต่อันดับดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา
การจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของประเทศ พิจารณาจาก 4 หมวด คือ “สมรรถนะทางเศรษฐกิจ” “ประสิทธิภาพของภาครัฐ” “ประสิทธิภาพของภาคธรุกิจ” และ “โครงสร้างพื้นฐาน” ซึ่งในปีนี้ มีอันดับอยู่ที่ 17 , 9 , 12 , 15 ตามลำดับ โดยในจำนวนนี้ ประสิทธิภาพของภาครัฐ ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ และโครงสร้างพื้นฐาน ล้วนไต่อันดับดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา โดยเฉพาะประสิทธิภาพของภาครัฐที่มีอันดับดีขึ้นอย่างเห็นได้ชัด ติด 1 ใน 10 อันดับแรกของทั่วโลก
2. รายการประเมินต่างๆ หลายรายการ ต่างอยู่ในอันดับต้นๆ ของโลก
รายการประเมินต่างๆ ทั้งหมด 20 รายการ มี 15 รายการที่มีความก้าวหน้าขึ้นจากปีที่แล้ว โดยในจำนวนนี้ “นโยบายภาษีค่าเช่า” “การบริหารจัดการ” “โครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์” และ “โครงสร้างพื้นฐานทางเทคโนโลยี” ซึ่งมีอันดับอยู่ที่ 4 , 6 , 7 , 8 ตามลำดับ ต่างได้รับการยอมรับจากองค์การระหว่างประเทศ
3. เกณฑ์การจัดอันดับในปีนี้ของไต้หวัน แบ่งออกเป็น 4 หมวดหลักๆ ได้แก่
หมวดแรก สมรรถนะทางเศรษฐกิจ : ในปีนี้ตกมาอยู่ในอันดับที่ 17 จากอันดับที่ 15 ในปีที่แล้ว แต่ “เศรษฐกิจในประเทศ” กลับดีดตัวขึ้นจากอันดับที่ 15 ขยับขึ้นมาอยู่ในอันดับที่ 10 โดยสาเหตุหลักมาจาก การปรับอัตราการขยายตัวของการสะสมทุนถาวรเบื้องต้นที่ครองสัดส่วนใน GDP รวมถึงอัตราการขยายตัวของผลิตภัณฑ์ประชาชาติมวลรวม และผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศต่อหัว มีอันดับดีขึ้นกว่าเดิม
หมวดที่ 2 ประสิทธิภาพของภาครัฐ : ขยับขึ้นจากอันดับที่ 12 มาอยู่อันดับที่ 9 โดยในหมวดนี้ “สถานการณ์ทางการเงิน” ขยับขึ้น 1 อันดับมาอยู่อันดับที่ 11 ในจำนวนนี้ อัตราส่วนหนี้สาธารณะต่อ GDP และประสิทธิภาพการบริหารจัดการด้านการคลัง ต่างมีอันดับที่ดีขึ้น
หมวดที่ 3 ประสิทธิภาพของภาคธุรกิจ : ขยับขึ้นจากอันดับที่ 14 มาอยู่อันดับที่ 12 โดยในหมวดนี้ “ประสิทธิภาพและกำลังการผลิต” ขยับขึ้น 4 อันดับมาอยู่อันดับที่ 13 ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก กำลังการผลิตของแรงงานเปี่ยมด้วยศักยภาพการแข่งขัน ประกอบกับธุรกิจดำเนินกิจการอย่างมีประสิทธิภาพ และการที่ภาคธุรกิจส่วนมากมักประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัลในการเพิ่มกำลังการผลิต นอกจากนี้ “ตลาดแรงงาน” ขยับขึ้น 7 อันดับมาอยู่อันดับที่ 25 สะท้อนให้เห็นว่าพนักงานมีแรงจูงใจในการทำงานสูง ผู้ประกอบการให้ความสำคัญในการฝึกอบรมพนักงาน ซึ่งล้วนแล้วแต่มีอันดับที่ดีขึ้น
หมวดที่ 4 โครงสร้างพื้นฐาน : ขยับขึ้นจากอันดับที่ 19 มาอยู่อันดับที่ 15 โดยในหมวดนี้ “โครงสร้างขั้นพื้นฐาน” ขยับขึ้น 7 อันดับมาอยู่อันดับที่ 32 แสดงให้เห็นถึง การบริหารผังเมืองและโครงสร้างพื้นฐานด้านโลจิสติกส์และพลังงาน มีการพัฒนาที่ดียิ่งขึ้น ส่วน “โครงสร้างทางเทคโนโลยี” ขยับขึ้น 5 อันดับมาอยู่อันดับที่ 8 แสดงให้เห็นว่า ความครอบคลุมด้านเครือข่าย 3G และ 4G ของไต้หวันครองอันดับ 1 ของโลก ในด้านความเร็วของอินเทอร์เน็ตและความปลอดภัยทางอินเทอร์เน็ต ต่างมีการพัฒนาที่ดีขึ้นเป็นลำดับ นอกจากนี้ การส่งออกสินค้าเทคโนโลยีขั้นสูง ยังคงสามารถรักษาระดับเดิมไว้ได้เป็นอย่างดี