ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น และยุโรปร่วมมือกันส่งเสริมการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน เปิดโอกาสใหม่แห่งการผูกสัมพันธ์ทางการค้า
2020-09-08
New Southbound Policy。AIT ร่วมกับ TAITRA กต.ไต้หวัน ก.เศรษฐการ EETO และสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน จัด “การประชุมว่าด้วยการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน” ขึ้น ณ กรุงไทเป เมื่อวันที่ 4 ก.ย. (ภาพจาก TAITRA)
AIT ร่วมกับ TAITRA กต.ไต้หวัน ก.เศรษฐการ EETO และสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน จัด “การประชุมว่าด้วยการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน” ขึ้น ณ กรุงไทเป เมื่อวันที่ 4 ก.ย. (ภาพจาก TAITRA)

TAITRA วันที่ 4 ก.ย. 63

 

เพื่อแสวงหาพันธมิตรทางการค้าที่เชื่อถือได้ พร้อมทั้งปรับปรุงโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน สถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) ได้ประสานความร่วมมือกับสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กระทรวงเศรษฐการไต้หวัน สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจยุโรปในกรุงไทเป (EETO) และสมาคมแลกเปลี่ยนระหว่างญี่ปุ่น – ไต้หวัน จัด “การประชุมสัมมนาว่าด้วยการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทาน” (Forum on Supply Chain Restructuring) ขึ้นเมื่อวันที่ 4 ก.ย. ณ กรุงไทเป ทั้งนี้ เพื่อร่วมจับมือกันขยายโอกาสทางความร่วมมือระหว่างกันในเชิงลึกมากยิ่งขึ้น


 

นายหวงจื้อฟาง ประธาน TAITRA กล่าวปราศรัยในการประชุม โดยระบุว่า แผนการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานระหว่างไต้หวัน สหรัฐอเมริกา ญี่ปุ่น และยุโรปในวันนี้ จะเป็นการเสริมสร้างเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดแก่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิกและนานาประเทศทั่วโลกในศตวรรษที่ 21 นายหวงฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ตลอด 50 ปีที่ผ่านมา TAITRA ได้ให้ความช่วยเหลือแก่ผู้ประกอบการไต้หวันในการสร้างโอกาสทางความร่วมมือแบบข้ามแวดวงและข้ามประเทศ ผลักดันให้ผู้ประกอบการไต้หวันก้าวขึ้นเป็นหนึ่งในสมาชิกที่สำคัญของห่วงโซ่อุปทานทั่วโลก นอกจากนี้ หลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด – 19 ผ่านพ้นไป ประชาคมโลกจะเห็นถึงการมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกของไต้หวัน โดยเฉพาะในด้านเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร รวมไปถึงด้านการแพทย์


 

ในช่วงที่ผ่านมา TAITRA ได้จัดตั้ง “พันธมิตรทางธุรกิจระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ” (Taiwan-U.S. Business Alliance) และเข้าร่วมเป็นส่วนหนึ่งใน “เครือข่ายเศรษฐกิจและการค้ายุโรป” (Enterprise Europe Network, EEN) อย่างกระตือรือร้น อีกทัั้งร่วมมือกับองค์การส่งเสริมการค้าต่างประเทศของญี่ปุ่น (JETRO) ผลักดัน “โครงการความร่วมมือขยายตลาดสู่อาเซียนระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น” (Taiwan - Japan Cooperation in Developing ASEAN Market) ตลอดจนส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวัน ยุโรป สหรัฐฯ และญี่ปุ่นขยายการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน โดยคาดหวังที่จะสรรค์สร้างอนาคตใหม่ในเวทีนานาชาติร่วมกับมิตรประเทศ เพื่อสร้างหลักประกันว่าการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุทานระหว่างไต้หวัน – พันธมิตรนานาชาติ ตั้งอยู่ภายใต้แนวคิดที่คล้ายคลึงกันในด้านการเอื้อประโยชน์ซึ่งกันและกัน ความเท่าเทียม เสรีภาพและการเปิดกว้าง TAITRA และ AIT จึงได้ร่วมประกาศแถลงการณ์ โดยกำหนดให้ดำเนินการตามความร่วมมือ ดังต่อไปนี้ :


 

1. เพิ่มความถี่และขนาดของการประชุมที่ไต้หวันจัดขึ้นทั้งในและต่างประเทศ พร้อมทั้งขยายขอบเขตการประชุมหารือ
 

2. ร่วมแบ่งปันแนวทางปฏิบัติที่มีประสิทธิภาพให้กับพันธมิตรที่เชื่อถือได้ เพื่อส่งเสริมและสนับสนุนการปรับโครงสร้างใหม่ของห่วงโซ่อุปทาน
 

3. เสริมสร้างความยืดหยุ่นของห่วงโซ่อุปทานในภูมิภาคที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน อาทิ อินเดีย อาเซียน รวมถึงกลุ่มประเทศวิแชกราด ประกอบด้วย สาธารณรัฐเช็ก ฮังการี สาธารณรัฐโปแลนด์ และสาธารณรัฐสโลวัก ซึ่งการกระทำเหล่านี้นับเป็นการเสริมสร้างความสัมพันธ์ภายใต้นโยบายมุ่งใต้ใหม่ รวมไปถึงยุทธศาสตร์อินโด – แปซิฟิกของสหรัฐฯ อีกด้วย


 

Mr. William Brent Christensen ผู้อำนวยการ AIT กล่าวขณะปราศรัยว่า จากสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ในครั้งนี้ ได้เปิดโปงให้เห็นถึงความเสี่ยงระดับสูงที่เกิดจากการพึ่งพาซัพพลายเออร์ด้านอุปกรณ์ทางการแพทย์และยา รวมถึงเวชภัณฑ์สิ่งของเครื่องใช้ต่างๆ ที่จำเป็น หรือแม้แต่วัสดุในอุตสาหกรรมสินค้ายุทธศาสตร์ที่สำคัญ จากเพียงประเทศเดียว


 

Mr. Milos Vystrcil ประธานวุฒิสภาสาธารณรัฐเช็ก กล่าวขณะปราศรัยว่า สาธารณรัฐเช็กเป็นเขตเศรษฐกิจที่มีเสรีภาพและเปิดกว้าง ซึ่งเป็นประโยชน์ต่อประเทศที่มีแนวคิดคล้ายกันอย่างไต้หวัน ในการร่วมมือกันเพื่อสร้างความยืดหยุ่นให้กับพันธมิตรในห่วงโซ่อุปทาน


 

การประชุมในครั้งนี้จัดขึ้นที่ไต้หวัน ซึ่งนับเป็นก้าวที่สำคัญในการมุ่งไปสู่อนาคต ไต้หวันเป็นศูนย์กลางของห่วงโซ่อุปทานด้านเทคโนโลยีขั้นสูง มีการพัฒนาด้านเทคโนโลยีอินเทอร์เน็ตในทุกสิ่ง (IoT) เทคโนโลยี 5G และเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) ที่ก้าวหน้าอย่างรวดเร็ว โดยไต้หวันจะแสดงบทบาทหน้าที่ที่สำคัญในห่วงโซ่อุปทานทั่วโลกต่อไป