ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ภาคอุตสาหกรรมไต้หวัน – ไทยจับมือกัน รุกขยายตลาดเข้าสู่ไทย
2020-09-28
New Southbound Policy。เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ย. “การประชุมความร่วมมืออุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทย ปี 2020” (2020 Taiwan –Thailand Industry Collaboration Summit) จัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีนายเซี่ยฉีเจีย คณะกรรมการ CNFI และคุณวิเชาวน์ รักษ์พงษ์ไพโรจน์ รองประธาน FTI กล่าวปราศรัยในพิธีเปิดงาน
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 22 ก.ย. “การประชุมความร่วมมืออุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน – ไทย ปี 2020” (2020 Taiwan –Thailand Industry Collaboration Summit) จัดขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยมีนายเซี่ยฉีเจีย คณะกรรมการ CNFI และคุณวิเชาวน์ รักษ์พงษ์ไพโรจน์ รองประธาน FTI กล่าวปราศรัยในพิธีเปิดงาน

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ สภาอุตสาหกรรมไต้หวันร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทยจัดการประชุมแบบทวิภาคีขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยผู้ประกอบการสามารถนำเสนอสินค้าในรูปแบบออนไลน์เพื่อดำเนินการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ

♦ ไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวันให้กับไทย ผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดและเทคโนโลยีการป้องกันโรคระบาดแบบทวิภาคี
-------------------------------------------

CNFI วันที่ 22 ก.ย. 63

 

ปีนี้เป็นปีที่ 4 ที่สภาอุตสาหกรรมไต้หวัน (Chinese National Federation of Industries, CNFI) ได้ร่วมมือกับสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (FTI) จัดการประชุมแบบทวิภาคี แต่ในปีนี้นับเป็นปีแรกที่จัดการประชุมขึ้นผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยผู้ประกอบการสามารถนำเสนอสินค้าในรูปแบบออนไลน์เพื่อดำเนินการเจรจาจับคู่ทางธุรกิจ โดยกิจกรรมในปีนี้ได้ดึงดูดผู้เชี่ยวชาญด้านอุตสาหกรรมและวิชาการเข้าร่วมด้วย โดยมีประธานคณะกรรมการส่งเสริมความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในเอเชียแปซิฟิก (Committee on Asia-Pacific Industrial Cooperation, CAPIC) สาขาประเทศไทย นายเซี่ยฉีเจีย คณะกรรมการ CNFI และคุณวิเชาวน์ รักษ์พงษ์ไพโรจน์ รองประธาน FTI ทำหน้าที่เป็นประธานในงานร่วมกัน

 

ต่อยอดจากผลสัมฤทธิ์ทางความร่วมมือระหว่างสภาอุตสาหกรรม คลังสมอง และองค์กรนิติบุคคลของทั้งสองประเทศ จากการประชุมในครั้งที่ผ่านๆ มา การประชุมในปีนี้นอกจากจะแบ่งออกเป็น 4 ประเด็นหลักเช่นเดียวกับปีที่ผ่านมา ประกอบด้วย เทคโนโลยีชีวภาพด้านผลิตภัณฑ์อาหาร อุตสาหกรรมสิ่งทอ เมืองอัจฉริยะ และอุตสาหกรรมเครื่องจักรกลอัตโนมัติแล้ว ยังจัดเพิ่มเศรษฐกิจหมุนเวียนเข้าเป็นอีกหนึ่งประเด็น ทั้งนี้ เพื่อขานรับยุทธศาสตร์การพัฒนาทางอุตสาหกรรมของประเทศไทย ตลอดจนเสริมสร้างความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมในเชิงลึกระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมต่อไป

 

ขณะเดียวกัน การประชุมในครั้งนี้ยังได้ส่งเสริมให้เกิดการลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง (LOI) ใน 4 ประเด็นหลักข้างต้น ซึ่งแสดงให้เห็นว่า ไต้หวัน – ไทย ได้บรรลุการเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว

 

นายเซี่ยฯ กล่าวว่า ในปี 2020 เป็นปีที่เต็มไปด้วยความท้าทาย สืบเนื่องจากการแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด – 19) ที่ลุกลามเป็นวงกว้าง ประกอบกับการขาดตอนของห่วงโซ่อุปทาน การปิดด่านข้ามชายแดนของนานาประเทศ การหยุดชะงักของการดำเนินงาน ราคาน้ำมันโลกที่ดิ่งลงอย่างรวดเร็ว และสงครามการค้าระหว่างจีน – สหรัฐฯ ซึ่งล้วนแต่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจโลก อุตสาหกรรมประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่

 

ด้วยเหตุนี้ นายเซี่ยฯ จึงเรียกร้องว่า การแพร่ระบาดในครั้งนี้ส่งผลให้แนวคิดการประสานความร่วมมือด้านอุตสาหกรรมได้รับความสนใจในวงกว้างเพิ่มมากขึ้น อุตสาหกรรมการป้องกันโรคระบาดนับวันยิ่งมีความสำคัญมากยิ่งขึ้น โดยไต้หวันยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์การป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวันให้กับไทย ผลักดันให้เกิดความร่วมมือด้านเวชภัณฑ์การป้องกันโรคระบาดและเทคโนโลยีการป้องกันโรคระบาดแบบทวิภาคี พร้อมนี้ นายเซี่ยฯ ยังเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หลังจากที่สถานการณ์โรคโควิด – 19 ทุเลาลง ไต้หวันและประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่จะมีการแลกเปลี่ยนและการประสานความร่วมมือระหว่างกันอย่างใกล้ชิดมากยิ่งขึ้น ซึ่งทั้งไต้หวัน – ไทยต่างมีพื้นที่ในการขยายความร่วมมือทางด้านอุตสาหกรรมระหว่างกัน จึงควรที่จะประยุกต์ใช้จุดเด่นและข้อได้เปรียบของกันและกันให้เกิดประโยชน์สูงสุด พร้อมร่วมจับมือกันรุกขยายตลาดเข้าสู่ไทย ตลาดอาเซียน หรือแม้กระทั่งตลาดโลกต่อไป