ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ และรองปธน.ไต้หวันเข้าร่วม “การประชุมว่าด้วยการปรึกษาหารือนโยบายประเทศสองภาษาในปี 2030” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก
2020-11-24
New Southbound Policy。ปธน.ไช่อิงเหวิน (ที่ 2 จากขวา) ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายไล่ชิงเต๋อ (ที่ 1 จากขวา) รองปธน. สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “การประชุมว่าด้วยการปรึกษาหารือนโยบายประเทศสองภาษาในปี 2030”
(ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่อิงเหวิน (ที่ 2 จากขวา) ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และนายไล่ชิงเต๋อ (ที่ 1 จากขวา) รองปธน. สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เข้าร่วม “การประชุมว่าด้วยการปรึกษาหารือนโยบายประเทศสองภาษาในปี 2030” (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) กล่าวว่า ทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นศักยภาพที่จำเป็นต่อการนำพาไต้หวันก้าวไปสู่สากลในภายภาคหน้าต่อไป

♦ สถานภาพของไต้หวันในเวทีโลกยิ่งทำให้เราต้องมีความพร้อมทางความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกรับรู้ถึงนัยยะแห่งการคงอยู่ของไต้หวัน 

♦ เป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุดของโครงการประเทศสองภาษาในปี 2030 คือ การส่งเสริมให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเยาวชนรุ่นใหม่ในทุกๆ นาที กลายเป็นต้นทุนในการมุ่งสู่อนาคตของพวกเขาในภายภาคหน้าต่อไป

♦ รองปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า การเร่งจัดตั้งประเทศสองภาษาสามารถประยุกต์ใช้ “การเรียนรู้ผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัล” มาเป็นตัวช่วยในการผลักดัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกล
-------------------------------------------
ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 23 พ.ย. 63

 

เมื่อวันที่ 23 พ.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พร้อมด้วยนายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีไต้หวัน เข้าร่วม “การประชุมว่าด้วยการปรึกษาหารือนโยบายประเทศสองภาษาในปี 2030” ที่จัดขึ้นเป็นครั้งแรก โดยปธน.ไช่ฯ ชี้ว่า ทักษะความสามารถด้านภาษาอังกฤษเป็นศักยภาพที่จำเป็นต่อการนำพาไต้หวันก้าวไปสู่สากลในภายภาคหน้าต่อไป โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้คนรุ่นใหม่ก้าวสู่เวทีนานาชาติอย่างมั่นใจยิ่งขึ้น ผ่านการผลักดันนโยบายประเทศสองภาษาในปี 2030

 

ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า โครงการประเทศสองภาษาในปี 2030 เป็นแผนผลักดันของรองปธน.ไล่ฯ เมื่อครั้งที่รองปธน.ไล่ฯ ยังคงดำรงตำแหน่งเป็นนายกรัฐมนตรีของไต้หวัน โดยปธน.ไช่ฯ คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ภายใน 10 ปีนี้สาธารณชนทั่วทั้งประเทศจะได้รับการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษให้ก้าวไปสู่อีกขั้น จากการร่วมผนึกกำลังระหว่างภาครัฐและภาคเอกชนของไต้หวัน

 

ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า สถานภาพของไต้หวันในเวทีโลกยิ่งทำให้เราต้องมีความพร้อมทางความสามารถด้านภาษาอังกฤษที่เพิ่มมากขึ้น เพื่อส่งเสริมให้ประชาคมโลกรับรู้ถึงนัยยะแห่งการคงอยู่ของไต้หวัน ในช่วงที่ผ่านมา เนื่องด้วยผลสัมฤทธิ์ด้านการป้องกันโรคระบาดที่ประสบความสำเร็จของไต้หวัน ส่งผลให้ประชาคมโลกมองเห็นถึงตัวตนของไต้หวันและค่านิยมที่ไต้หวันยึดมั่นเสมอมา ภายใต้บริบทเช่นนี้ พวกเราจึงยิ่งมีความจำเป็นที่ต้องก้าวไปสู่นานาชาติ สร้างความเชื่อมโยงที่ยิ่งใหญ่กับโลก เพื่อให้ประชาคมโลกเกิดความเข้าใจต่อสถานการณ์ในปัจจุบันที่ไต้หวันเผชิญหน้าและค่านิยมที่เรายึดมั่นมาเป็นเวลานาน

 

นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังกล่าวเพิ่มเติมว่า ในการประชุมครั้งนี้มีบุคลากรด้านการศึกษาในระดับชั้นต่างๆ เข้าร่วมมากมาย อาทิ ระดับชั้นประถมศึกษา มัธยมศึกษาตอนต้น มัธยมศึกษาตอนปลาย สถาบันอุดมศึกษา และภาคเอกชน เพื่อเข้าร่วมหารือแนวทางปฏิบัติอย่างเป็นรูปธรรม ปธน.ไช่ฯ ขอแสดงความขอบคุณต่อทุกท่านที่สละเวลาเดินทางมารวมตัวกัน เพื่อร่วมระดมความคิดในการส่งเสริมและพัฒนาการศึกษาในอนาคตของไต้หวัน คาดหวังเป็นอย่างยิ่งว่า นโยบายประเทศสองภาษาจะเป็นการส่งเสริมให้ภาษาอังกฤษหลอมรวมเข้าเป็นส่วนหนึ่งในปัจจัยการดำรงชีวิตของผู้คนในสังคมปัจจุบัน ส่งเสริมให้การเรียนรู้ภาษาอังกฤษของเยาวชนรุ่นใหม่ในทุกๆ นาที กลายเป็นต้นทุนในการมุ่งสู่อนาคตของพวกเขาในภายภาคหน้าต่อไป ซึ่งนี่เป็นเป้าหมายหลักที่สำคัญที่สุดของโครงการประเทศสองภาษาในปี 2030

 

จากนั้น ปธน.ไช่ฯ และรองปธน.ไล่ฯ ได้รับฟังรายงาน “แนวทางการผลักดันนโยบายประเทศสองภาษาในปี 2030” พร้อมร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นกับเหล่าคณะกรรมการที่ปรึกษา

 

หลังการประชุมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเสร็จสิ้นลง รองปธน.ไล่ฯ ได้กล่าวแสดงความขอบคุณต่อคณะกรรมการที่ปรึกษาที่ได้ให้คำแนะนำอันเป็นประโยชน์ที่กลั่นกรองมาจากประสบการณ์ของตนเอง พร้อมกล่าวว่า ปธน.ไช่ฯ ให้ความสำคัญต่อนโยบายประเทศสองภาษาเป็นอย่างมาก โดยเป้าหมายของนโยบายนี้ เพื่อต้องการส่งเสริมให้เด็กและเยาวชนทุกคนได้รับการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษอย่างเท่าเทียม นอกจากนี้ ยังคาดหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะส่งเสริมให้ประชาชนในสังคมได้รับการยกระดับความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ผ่านการจัดตั้งสภาพแวดล้อมและโอกาสที่เปี่ยมด้วยความเป็นสากลในภายภาคหน้าต่อไป

 

ในตอนท้าย รองปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า การเร่งจัดตั้งประเทศสองภาษาสามารถประยุกต์ใช้ “การเรียนรู้ผ่านทางเทคโนโลยีดิจิทัล” มาเป็นตัวช่วยในการผลักดัน ซึ่งจะเป็นประโยชน์ต่อเด็กและเยาวชนในพื้นที่ชนบทที่ห่างไกลด้วยเช่นกัน