ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ครั้งแรกของการเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ บังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย เร่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในเชิงลึกระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ
2020-11-23
New Southbound Policy。จากซ้ายไปขวา : นายอู๋เจาเซี่ย รมว. ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) W. Brent Christensen ผอญ.สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป นายเติ้งเจิ้นจง รมว.ประจำสภาบริหาร นางหวังเหม่ยฮัว รมว.เศรษฐกิจ นายอู๋เจิ้งจง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่างเข้าร่วมงานแถลงข่าว “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” ในวันที่ 21 พ.ย. โดยได้ร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการประชุมเจรจาในครั้งนี้ (ภาพจาก MOFA)
จากซ้ายไปขวา : นายอู๋เจาเซี่ย รมว. ต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) W. Brent Christensen ผอญ.สถาบันอเมริกาในไต้หวัน สำนักงานไทเป นายเติ้งเจิ้นจง รมว.ประจำสภาบริหาร นางหวังเหม่ยฮัว รมว.เศรษฐกิจ นายอู๋เจิ้งจง รมว.วิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ต่างเข้าร่วมงานแถลงข่าว “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” ในวันที่ 21 พ.ย. โดยได้ร่วมแบ่งปันผลสัมฤทธิ์ที่ได้จากการประชุมเจรจาในครั้งนี้ (ภาพจาก MOFA)

สาระสำคัญของเนื้อข่าว :
♦ “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” ถูกจัดขึ้นทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์ เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี.

♦ ประเด็นที่ร่วมแลกเปลี่ยนในระหว่างการประชุมครั้งนี้ ประกอบด้วย เทคโนโลยีและเทคนิคเฉพาะทาง เทคโนโลยี 5G และความปลอดภัยของระบบโทรคมนาคม ห่วงโซ่อุปทาน สิทธิทางเศรษฐกิจของสตรี ความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพิจารณาอนุมัติด้านการลงทุน รวมถึงสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยของมวลมนุษยชาติทั่วโลก เป็นต้น

♦ ในการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกำหนดให้ “ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการจัดอภิปรายในภายภาคหน้า
-------------------------------------------
MOFA วันที่ 21 พ.ย. 63

 

ภายใต้การนำของ Mr. Keith Krach รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกา ด้านการเติบโตทางเศรษฐกิจ พลังงาน และสิ่งแวดล้อม และนายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) “การเจรจาหุ้นส่วนเพื่อความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ” (Taiwan-US Economic Prosperity Partnership Dialogue) ได้ถูกจัดขึ้นทั้งในรูปแบบออฟไลน์และออนไลน์เมื่อวันที่ 20 พ.ย. ที่ผ่านมา ณ กรุงวอชิงตัน ดี.ซี. โดยในการประชุมครั้งนี้ นายเฉินเจิ้งฉี รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้นำคณะตัวแทนไต้หวันเดินทางไปเข้าร่วมการประชุมรูปแบบออฟไลน์ยังกรุงวอชิงตัน ดี.ซี. ประกอบกับยังมีบรรดาเจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้องของไต้หวัน เข้ามีส่วนร่วมในการประชุมรูปแบบออนไลน์ ณ กรุงไทเปควบคู่ไปด้วย ประกอบด้วย นายหวังเหม่ยฮัว รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเศรษฐการ นายอู๋เจิ้งจง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี และนายเจิงโห้วเหริน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ เป็นต้น

 

ในระหว่างเริ่มต้นการประชุม สถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT) และสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมกรุงไทเปประจำสหรัฐ (TECRO) ได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ที่มีระยะเวลา 5 ปี และสามารถขยายระยะเวลาออกไปได้อีก 5 ปี เพื่อเป็นรากฐานในการเวียนจัดการประชุมว่าด้วยการเจรจาระหว่างเจ้าหน้าที่ระดับสูงประจำปีในกรุงวอชิงตัน ดี.ซี และกรุงไทเป ทั้งนี้ เพื่อเสริมสร้างความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างกันในเชิงลึกและเชิงกว้าง นอกจากนี้ บรรดาเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมหารือแลกเปลี่ยนกันในประเด็นต่างๆ มากมาย อาทิ เทคโนโลยีและเทคนิคเฉพาะทาง เทคโนโลยี 5G และความปลอดภัยของระบบโทรคมนาคม ห่วงโซ่อุปทาน สิทธิทางเศรษฐกิจของสตรี ความร่วมมือด้านโครงสร้างพื้นฐาน การพิจารณาอนุมัติด้านการลงทุน รวมถึงสุขภาพและความมั่นคงปลอดภัยของมวลมนุษยชาติทั่วโลก เป็นต้น

 

ทั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมกำหนดให้ “ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” เป็นหนึ่งในประเด็นสำคัญในการจัดอภิปรายในภายภาคหน้า ซึ่งครอบคลุมไปถึงการผลักดันแผนความร่วมมือที่สอดคล้องกับนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวันและเป้าหมายเชิงยุทธศาสตร์ระดับภูมิภาคของสหรัฐอเมริกา โดยทั้งสองฝ่ายตกลงที่จะจัดตั้งคณะทำงานกลุ่มย่อยต่างๆ ภายใต้กรอบการเจรจา เพื่อร่วมหารือกันในประเด็นความร่วมมือด้านเศรษฐกิจทั้งในปัจจุบันและอนาคต ตลอดจนติดตามความคืบหน้าอย่างต่อเนื่องในการประชุมเจรจาประจำปีในอนาคตต่อๆ ไป

 

หลังจากที่ Mr. David Stilwell ผู้ช่วยรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก ได้ประกาศจัดตั้งกลไกการเจรจาด้านเศรษฐกิจและการพาณิชย์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เมื่อช่วงปลายเดือนสิงหาคมที่ผ่านมา กระทรวงการต่างประเทศของสหรัฐอเมริกาก็ได้ส่งรมช. Krach เดินทางมาเยือนไต้หวันในทันทีเมื่อเดือนกันยายน เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและรายละเอียดปลีกย่อยที่เกี่ยวข้องการเปิดการเจรจาอย่างเป็นทางการในครั้งนี้ หลังจากที่ได้ทำการหารืออย่างถี่ถ้วนแล้ว ทั้งสองฝ่ายจึงตัดสินใจที่จะร่วมลงนาม MOU และจัดการเจรจาเป็นครั้งแรกในวันที่ 20 พ.ย.

 

การเจรจาในครั้งนี้เป็นหลักชัยที่สำคัญในการเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางความร่วมมือด้านเศรษฐกิจระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ แสดงให้เห็นถึงความสัมพันธ์แบบทวิภาคีระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ที่มีการพัฒนาอย่างต่อเนื่อง โดยทั้งสองประเทศต่างร่วมแบ่งปันค่านิยมสากลในด้านความโปร่งใส ประชาธิปไตย ตลาดการค้าเสรี และธรรมาภิบาล อีกทั้งในอนาคตยังมีแผนการที่จะเสริมสร้างความร่วมมือระหว่างกันที่ใกล้ชิดและเป็นไปในเชิงกว้างมากยิ่งขึ้น