ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การปฏิวัติสนามเด็กเล่น คืนสิทธิในการละเล่นให้กับเด็กๆ
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-03-08

หลินหย่าเหมย (กลาง) ผู้ก่อตั้ง PPCC จางหย่าหลิน (ขวา) เลขาธิการ ไช่ชิงฮั่ว (ซ้าย) สมาชิกของกลุ่ม ซึ่งต่างก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจร่วมกันในการปกป้องสวนสาธารณะของตัวเอง

หลินหย่าเหมย (กลาง) ผู้ก่อตั้ง PPCC จางหย่าหลิน (ขวา) เลขาธิการ ไช่ชิงฮั่ว (ซ้าย) สมาชิกของกลุ่ม ซึ่งต่างก็ทุ่มเทแรงกายแรงใจร่วมกันในการปกป้องสวนสาธารณะของตัวเอง
 

ผู้เป็นแม่ย่อมมีความเข้มแข็งตามธรรมชาติ “ลูกๆ ของเรา เป็นแรงบันดาลใจให้เรานำเอาความเชี่ยวชาญมาเรียกร้องสิทธิในการละเล่น” เหล่าคุณแม่ที่เป็นส่วนหนึ่งของกลุ่มเรียกร้องให้คืนเอกลักษณ์ของสวนสาธารณะให้แก่เรา (PPCC) ใช้การระดมพลผ่านโซเชียลมีเดีย จัดทำรายงานขอความเห็นใจ เขียนบทความรณรงค์ เข้ามีส่วนร่วมกับหน่วยงานภาครัฐในการก่อสร้างสนามเด็กเล่นภายในสวนสาธารณะ พร้อมทั้งรณรงค์ให้ประชาชนในพื้นที่ตระหนักว่า “สวนสาธารณะของตัวเอง ต้องรู้จักปกป้องเอง” ทำให้ 3 ปีเศษที่ผ่านมา ช่วยผลักดันให้เกิดสวนสาธารณะที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองมากกว่า 100 แห่ง พร้อมทั้งเปลี่ยนแปลงรูปโฉมของสนามเด็กเล่นในไต้หวันไปอย่างสิ้นเชิง

 

“ในอดีตที่มีแต่เครื่องเล่นพลาสติก ลูกชายวัย 2 ขวบบอกว่า น่าเบื่อเพราะเล่นไม่สนุก ก็เลยมาจูงมือของดิฉันแล้วบอกให้ไปเล่นด้วยกัน” คุณไช่ชิงฮั่ว (蔡青樺) ผู้ซึ่งมีบทบาทสำคัญในการผลักดันให้เกิดการเปลี่ยนแปลงของสวนสาธารณะกู่หลิง (牯嶺公園) ในกรุงไทเป กล่าวขณะมองดู “เล่อเล่อ” (樂樂) ลูกชาย กำลังเล่น Monkey Bar (บาร์ห้อยโหน) กับเพื่อนที่รู้จักกันในสนามเด็กเล่น “เดี๋ยวนี้ไม่เพียงแต่พวกเราที่มาทุกวัน ตอนบ่ายๆ หลังเด็กประถมเลิกเรียน รวมไปจนถึงช่วงกลางคืนก็ยังมีคนมาที่นี่กันไม่น้อย เด็กที่โตหน่อยจำนวนมากก็สามารถสนุกกับการปีนป่ายเชือกตาข่ายอย่างรวดเร็วราวกับเป็นไอ้แมงมุม หรือเล่นไม้ลื่นหมุนของ Monkey Bar ลื่นไถลลงมาอย่างสนุกสนาน”

 

ปกป้องสวนสาธารณะของตัวเอง

ตอนที่เล่อเล่อมีอายุสองขวบกว่าๆ คุณไช่ชิงฮั่วได้มีโอกาสเข้าร่วมกิจกรรมเดินนำเที่ยวของกรุงไทเปและได้รู้จักกับ “กลุ่มรณรงค์เพื่อสวนสาธารณะและสนามเด็กเล่นสำหรับเด็กและเพื่อเด็ก หรือ Parks and Playgrounds for Children and by Children (PPCC)” ซึ่งทำให้เธอได้ประจักษ์ว่า ในฐานะของคุณแม่เต็มตัว เธอสามารถที่จะช่วยปรับปรุงสนามเด็กเล่นที่ “เล่อเล่อ” เห็นว่ามันไม่สนุกเลยให้ดีขึ้นได้

คุณไช่ชิงฮั่วจึงเริ่มสอบถามจากผู้ใหญ่บ้าน ก่อนที่ผู้ใหญ่บ้านจะแนะนำให้ไปติดต่อหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง ก็คือ กองบริหารสวนสาธารณะและไฟถนน Parks and Street Lights Office (PSLO) ซึ่งเป็นหน่วยงานที่บริหารจัดการดูแลสวนสาธารณะของกรุงไทเป คุณไช่ชิงฮั่วจึงแสดงความจำนงต่อ PSLO ว่า ตนประสงค์จะขอให้ทำการปรับปรุงสนามเด็กเล่นในสวนสาธารณะกู่หลิง โดยได้รวบรวมรายชื่อของผู้อยู่อาศัยในชุมชนที่เห็นพ้องจำนวนเกือบหนึ่งร้อยคนมายื่นต่อ PSLO ซึ่งจากความพยายามของไช่ชิงฮั่วและเหล่าเพื่อนบ้านในการติดตามความคืบหน้าอย่างไม่ลดละ ทำให้ PSLO ทำตามข้อเสนอด้วยการใส่ชื่อของสวนสาธารณะกู่หลิงไว้ในรายชื่อสวนสาธารณะที่จะปรับปรุงใหม่ประจำปีค.ศ.2018 ด้วย

ในช่วงต้นฤดูใบไม้ผลิของปีค.ศ.2019 โครงการปรับปรุงสวนสาธารณะกู่หลิงก็เสร็จสมบูรณ์ โดยมีการจัดสรรงบประมาณจำนวน 2.5 ล้านเหรียญไต้หวัน มาใช้ในการก่อสร้างเครื่องเล่นที่หลากหลาย ทั้งไม้ลื่น โครงเหล็กสำหรับปีนป่าย แถมยังมีการทำทางเดินไม้สำหรับเดินไปมาระหว่างเครื่องเล่นทั้งหลายด้วย

สวนสาธารณะกู่หลิงเป็นเพียงหนึ่งในความสำเร็จที่มีมากมายหลายโครงการของ PPCC ที่เกิดขึ้นจากการรวมตัวกันเรียกร้องของประชาชนของแต่ละท้องที่ ในช่วง 3 ปีเศษที่ผ่านมา คำเรียกร้องที่ว่า “สวนสาธารณะของตัวเอง ต้องปกป้องดูแลเอง” เริ่มขึ้นตั้งแต่ปีค.ศ.2015 ที่ทางกรุงไทเปเริ่มรื้อถอนไม้ลื่นที่สร้างขึ้นจากหินขัด ซึ่งถือเป็นเครื่องเล่นที่มีอันตรายภายในสวนสาธารณะทั่วเมือง แล้วนำเอาเครื่องเล่นที่สร้างขึ้นจากพลาสติก PE หรือไฟเบอร์กลาสที่ได้รับการขนานนามว่า “เครื่องเล่นกระป๋องสำเร็จรูป” มาติดตั้งแทน ซึ่งการทำแบบนี้ทำให้คุณแม่ที่ชื่อว่า “หลินหย่าเหมย (林亞玫)” รู้สึกไม่พอใจเป็นอย่างมาก จนกลายเป็นจุดเริ่มของการปฏิรูปทั้งหมด

 

ไม่ได้มีเพียงสนามเด็กเล่นใกล้บ้านฉันที่ถูกรื้อ

“เดิมทีก็ได้ยินมาว่า ไม้ลื่นหินขัดที่อยู่ในสนามเด็กเล่นของสวนสาธารณะจือสิง (知行公園) แล้วก็ยังมีสวนสาธารณะวัฒนธรรมชนพื้นเมือง (原住民文化主題公園) จะถูกรื้อทิ้ง ตอนนั้นก็ไม่ได้รู้สึกอะไร แต่สุดท้ายแล้ว ไม้ลื่นหินขัดในสวนสาธารณะชิงเหนียน (青年公園) ที่อยู่ใกล้บ้านของตัวเองก็ถูกรื้อไปด้วย ดิฉันจึงโทรศัพท์ไปสอบถามหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ก็ได้รับคำตอบแบบง่ายๆ ว่า เป็นเพราะขาดการบำรุงรักษาและซ่อมแซมมาเป็นเวลานาน ทำให้ไม่ปลอดภัยจึงต้องรื้อทิ้ง” คุณหลินหย่าเหมย ผู้ก่อตั้ง PPCC เล่าให้เราฟังถึงสาเหตุที่ทำให้เธอสนใจและเอาใจใส่ต่อพื้นที่สำหรับการเล่นสนุกของเด็กๆ

“มีเครื่องเล่น 3 อย่างภายในสวนสาธารณะชิงเหนียนที่ถือว่ามีประวัติศาสตร์ยาวนาน และมีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง ไม้ลื่นที่ทำจากเหล็ก ไม้ลื่นที่ทำจากหินขัด และป้อมอวกาศที่สร้างขึ้นเพื่อรำลึกถึงการลงเหยียบดวงจันทร์ของนีล อาร์มสตรอง นักบินอวกาศคนดัง ซึ่งต่างก็เปี่ยมไปด้วยความทรงจำของผู้คนจำนวนมาก” และเพื่อให้เสี่ยวเซี่ย (小夏) ลูกสาวของเธอมีโอกาสได้เล่นในฐานทัพลับในวัยเด็กของตัวเอง ก่อนที่คุณหลินหย่าเหมยจะผันตัวเองมาเป็นคุณแม่เต็มตัว เคยทำงานเป็นผู้ช่วยผู้จัดการในสำนักบัญชีมาก่อน จึงได้เตรียมพร้อมอย่างเต็มที่ด้วยการจัดทำรายงานที่มีทั้งภาพและคำบรรยายสรุป  เพื่อนำเสนอข้อเรียกร้องต่อสมาชิกสภาไทเปที่เป็นผู้แทนของเขตวั่นหัว

รายงานที่จัดทำขึ้นเพื่อปกป้องสิทธิในการเล่นของเด็กๆ ฉบับนี้ ให้ความสำคัญกับการเปิดโอกาสให้เด็กๆ ได้แสดงความคิดเห็นและพลังแห่งการมีส่วนร่วมของประชาชนในท้องที่ ทำให้ตั้งแต่ปลายปีค.ศ.2015 เป็นต้นมา รายงานฉบับนี้ได้ผ่านสายตาของทั้งสมาชิกสภากรุงไทเป ไปจนถึงหัวหน้าหน่วย PSLO และผู้อำนวยการสำนักการโยธา กรุงไทเป รวมทั้งในปีค.ศ.2018 ยังถูกนำเสนอต่อ ดร.เคอเหวินเจ๋อ ผู้ว่าการกรุงไทเปด้วย การที่กรุงไทเปยินดีรับฟังความคิดเห็นของประชาชน จนจัดสรรงบประมาณมากกว่าสิบล้านเหรียญไต้หวัน มาใช้ในการก่อสร้างสนามเด็กเล่นที่ต่างก็มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเองตามแต่ละท้องที่มากกว่า 30 แห่ง ถือเป็นผลงานสำคัญที่ถูกนำมาใช้ในแคมเปญสำหรับการเลือกตั้งของ ดร.เคอเหวินเจ๋อ ในด้านการทำให้ไทเปเป็น “เมืองที่มีความเป็นมิตรสำหรับเด็ก” ด้วย

ไม่เพียงแต่จะมีกรณีของหลินหย่าเหมยเท่านั้น แม้แต่สวนสาธารณะต้าอัน (大安森林公園) ซึ่งอยู่ใกล้บ้านของจางหย่าหลิน (張雅琳) เลขาธิการของ PPCC ก็ประสบปัญหาแบบเดียวกัน คุณจางหย่าหลินกล่าวว่า “ในปีค.ศ.2015 การที่ไม้ลื่นซึ่งทำจากหินขัดจำนวน 76 แห่งทั่วกรุงไทเป ไม่ผ่านการตรวจสอบมาตรฐาน CNS (National Standards of the Republic of China) จนเกิดเป็นข้อกังวลด้านความปลอดภัย ทำให้ถูกรื้อทิ้งไป 60 แห่ง และเหลือเพียง 16 แห่ง”

คุณหลินหย่าเหมยและคุณจางหย่าหลินที่เคยทำงานเป็นผู้จัดการแบรนด์ในบริษัทข้ามชาติ ได้แบ่งปันความเห็นที่รู้สึกว่าทางกรุงไทเปทำงานแบบลวกๆ ให้กับเหล่ามิตรสหายรอบตัวที่ต่างก็เป็นคุณแม่เหมือนกัน ก่อนจะใช้พลังของสื่อโซเชียลในการรวมพลคุณพ่อคุณแม่และลูกๆ ร่วมร้อยคน ไปยื่นข้อเรียกร้อง ณ ที่ว่าการกรุงไทเปในเดือนธันวาคม ค.ศ.2015 ปฏิเสธการนำเครื่องเล่นของเด็กแบบสำเร็จรูปมาตั้งไว้ในสวนสาธารณะ เหมือนเป็นเครื่องเล่นกระป๋องสำเร็จรูป อันถือเป็นจุดเริ่มในการเปิดประตูของหน่วยงานภาครัฐที่เกี่ยวข้อง เพื่อเริ่มต้น “การปฏิวัติสนามเด็กเล่น”

 

การชักเย่อระหว่างความปลอดภัยกับเอกลักษณ์ของเครื่องเล่น

จริงๆ แล้ว ในระหว่างการเจรจากับหน่วยงานของกรุงไทเป เหล่าเจ้าหน้าที่ทั้งหลายต่างก็ยกเอากฎระเบียบที่เกี่ยวข้องมาใช้ในการติดเบรค จนทำให้เหล่าคุณแม่เลือดร้อนทั้งหลายรู้สึกหน้าหงายไปหลายครั้ง “อุปกรณ์ภายในสนามเด็กเล่นจะต้องเป็นไปตามระเบียบของมาตรฐาน CNS พวกคุณต้องการให้เราละเมิดกฎหมายหรือ? พวกคุณไม่สนใจความปลอดภัยของเด็กๆ หรือ?”

ดังนั้น เพื่อให้สอดคล้องกับระเบียบด้าน “ความปลอดภัย” ของเจ้าหน้าที่ เหล่าคุณแม่จึงใช้เวลายามค่ำหลังจาก ลูกๆ นอนหลับไปแล้ว มาเรียนรู้ข้อกฎหมายที่เกี่ยวข้องกับสนามเด็กเล่น แถมยังจัดตั้งกลุ่มอ่านหนังสือออนไลน์ขนาดย่อม พร้อมทั้งรวบรวมความคิดเห็นของมิตรสหายที่ทำงานอยู่ในแวดวงต่างๆ โดยให้ผู้ที่มีความสามารถด้านภาษาอังกฤษ ช่วยแปลบทความอ้างอิงของต่างประเทศ เรียนรู้จากนักกายภาพและจิตแพทย์สำหรับเด็ก เพื่อศึกษาเกี่ยวกับจิตวิทยาของเด็กและการให้การศึกษาสำหรับเด็กเล็ก อีกทั้งยังขอเรียนรู้การอ่านแบบแปลนจากผู้เชี่ยวชาญด้านการออกแบบอาคารและภูมิทัศน์ เป็นต้น

หลินหย่าเหมยและจางหย่าหลินจึงได้รวบรวมเหล่าคุณแม่ที่มีความคิดคล้ายกันมาร่วมก่อตั้งกลุ่ม PPCC ขึ้นมา เพื่อนำเอาความรู้ความชำนาญและข้อมูลต่างๆ มานำเสนอต่อหน่วยงานที่เกี่ยวข้องให้สามารถก่อสร้างสนามเด็กเล่นที่เหมาะสมสำหรับเด็กๆ ทั้งในด้านการฝึกฝนร่างกาย และการควบคุมอารมณ์ อันจะส่งผลให้เด็กๆ มีพัฒนาการที่แข็งแรงสมบูรณ์ทั้งทางร่างกายและจิตใจ

PPCC หวังว่าหน่วยงานภาครัฐและนักออกแบบจะคำนึงถึงสิทธิในการมีส่วนร่วมของเด็กๆ และรับฟังเสียงของเด็ก เพื่อทำความเข้าใจต่อวิธีการละเล่นของพวกเขา ก่อนจะออกแบบพื้นที่ในการละเล่นให้สอดคล้องกับความต้องการของเด็กๆ ต่อไป

 

สนามเด็กเล่นที่มีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง

ผุดขึ้นราวกับดอกเห็ด

หลินหย่าเหมยและสมัครพรรคพวกได้เดินทางไปทั้งที่นครไทจงและนครเกาสง เพื่อเผยแพร่แนวคิดของ PPCC ตามสวนสาธารณะต่างๆ โดยใช้โปสเตอร์ขนาด A3 และร้องตะโกนจนเสียงแหบว่า “สวนสาธารณะของตัวเอง ต้องดูแลกันเอง” จากนั้นไม่นาน กระแสการเรียกร้องให้มีการเปลี่ยนแปลงก็ค่อยๆ ขยายตัวไปสู่นครนิวไทเป แนวคิดที่ว่า “เราต้องการให้สวนสาธารณะของเรามีเอกลักษณ์เป็นของตัวเอง” ได้ดึงดูดให้ผู้คนที่มีแนวความคิดคล้ายกันพากันเข้ามามีส่วนร่วม ก่อนที่การปฏิวัติสนามเด็กเล่นจะเกิดขึ้นทั้งในเถาหยวน ไทจง ไถหนาน ซินจู๋
จีหลง และเกาสง

จากการที่สวนสาธารณะในนครนิวไทเปมีพื้นที่ใช้สอยมากกว่า ทำให้การก่อสร้างสนามเด็กเล่นสามารถแบ่งตามอายุและตามความถนัดได้ เช่นในเขตหลินโข่ว สวนสาธารณะเสี่ยวสงกงหยวนกง 23 (小熊公園公23) จะมีสนามเด็กเล่นที่เหมาะกับเด็กทุกช่วงอายุ ในขณะที่สนามเด็กเล่นในสวนสาธารณะเล่อหัว (樂活公園) จะเป็นเครื่องเล่นที่มีความท้าทายมากกว่า ไม้ลื่นและตาข่ายสำหรับปีนป่ายที่มีความสูง 4 เมตร เหมาะสำหรับเด็กที่มีอายุมากหน่อย ที่สามารถเลียนแบบกระรอกในการปีนป่ายอย่างแคล่วคล่องว่องไวไปตามตาข่าย

PPCC จึงเสนอแนวคิดในแบบของ “สวนสาธารณะแบบดาวเทียม” ด้วยการสร้างสนามเด็กเล่นที่เหมาะสำหรับเด็กในแต่ละช่วงอายุ ให้มีความแตกต่างกันในสวนสาธารณะที่อยู่ใกล้เคียงกัน เพื่อให้เด็กๆ มีสถานที่สำหรับเล่นสนุกในละแวกใกล้เคียงได้ ตามการเจริญเติบโตในช่วงอายุที่แตกต่างกัน

 

ท้องถนนคือสนามเด็กเล่นของฉัน

อย่างไรก็ดี ยังมีเด็กอีกจำนวนมากที่ในละแวกบ้านไม่มีสนามเด็กเล่น ไม่มีสวนสาธารณะ ซึ่งสิ่งที่เด็กๆ เหล่านี้ทำได้ก็มีเพียงแต่การนั่งดูโทรทัศน์อยู่ที่บ้าน หรือเล่นอุปกรณ์ 3C ในฐานะที่ PPCC เป็นองค์กรที่รณรงค์ด้านสิทธิในการละเล่นของเด็ก จึงตัดสินใจเริ่มเดินออกจากสวนสาธารณะไปบนท้องถนนบ้าง นอกจากการผลักดันโครงการปฏิรูปเพื่อสร้างเอกลักษณ์ให้กับสนามเด็กเล่นแล้ว ข้อเรียกร้องในปีนี้ยังเพิ่มแนวคิดที่ว่า “ท้องถนนคือสนามเด็กเล่นของฉัน” เข้าไปด้วย

หลังจากที่ระดมเงินทุนได้จากสาธารณชน ในปีนี้ PPCC ได้จัดกิจกรรม “เปลี่ยนท้องถนนเป็นสนามเด็กเล่น” ถึง 3 ครั้ง เพื่อเรียกร้องให้เด็กๆ มีพื้นที่ในการเล่นสนุกมากขึ้น ซึ่ง PPCC เสนอแนวทางว่า ขอเพียงได้รับความเห็นชอบจากในชุมชนหรือในหมู่บ้าน ก็สามารถยื่นขอปิดถนนได้เช่นเดียวกับการเดินขบวนหาเสียง การเดินพาเหรดทางศิลปวัฒนธรรม หรือการปิดถนนเพื่อจัดงานคาร์นิวัล เพื่อให้เด็กๆ ได้มีโอกาสมาเล่นบนท้องถนน อันจะส่งผลให้เหล่าเพื่อนบ้านในละแวกใกล้เคียงจะมีโอกาสได้ทำความรู้จักมักคุ้นกันมากขึ้น และเพิ่มความสมัครสมานสามัคคีให้กับชุมชน

ตามระเบียบด้านสิทธิเด็กของสหประชาชาติข้อที่ 31 ระบุว่า ต้องรับประกันสิทธิในการละเล่นของเด็ก เพราะเด็กๆ จะทำความรู้จักกับโลกผ่านการละเล่นของตัวเอง เด็กๆ จะเรียนรู้ในระหว่างการเล่นด้วยตัวเอง ก็เหมือนกับที่ PPCC ได้หยิบยกคำพูดของ ศ.ฮิเดอากิ อามาโนะ (Hideaki Amano) ที่ว่า “หากเด็กไม่ได้เล่นสนุก ก็จะสูญเสียจิตวิญญาณไป การปกป้องจิตวิญญาณของเด็ก คือหน้าที่ของผู้ใหญ่”