ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ถ่ายทอดวัฒนธรรมไซต์งาน สำแดงพลังรากหญ้า
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-07-19

ถ่ายทอดวัฒนธรรมไซต์งาน

 

“แม่ แม่ ดูนี่สิครับ โอ้โห รถขุดดิน สุดยอดเลย” เมื่อเด็กๆ เห็นเครื่องจักรในไซต์งานก่อสร้าง ดวงตาจะลุกเป็นประกายแวววาว ส่วนนายช่างสร้างตึกเหงื่อท่วมตัวเสมือนวีรชนผู้กล้าหาญในสายตาของเด็กๆ เหล่านี้ แต่พอเวลาผ่านไปไม่นาน เด็กๆ ที่เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่อยากรับรู้เรื่องราวที่อยู่หลังรั้วกั้นของบริเวณที่ทำการก่อสร้างอีกต่อไป โลกที่อยู่ภายในและภายนอกของรั้วจึงกลายเป็นเสมือนโลกคู่ขนาน โชคดีที่การถ่ายทอดผ่านหนังสือ ตำรา ละคร การแสดง และนิทรรศการต่างๆ ทำให้เราสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงพลังชีวิตแห่งการต่อสู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ ในไซต์งานก่อสร้างเหล่านี้

 

หลังเที่ยงวันหนึ่งในฤดูร้อน พวกเราไปเดินเที่ยวในแถบว่านหัวของไทเปตามโปรแกรมของ “Walk in Taiwan” ที่มีชื่อว่า “Worker+ โลกภายในและภายนอกของรั้วสังกะสีที่มังก่า (หมงเจี่ย)” เราเดินลัดเลาะไปตามตรอกซอกซอยฟังเรื่องราวจากไกด์ที่เล่าให้ฟังว่าทำไมคนงานถึงชอบดื่มน้ำจับเลี้ยงค่าแรงที่เปลี่ยนไปส่งผลต่อรูปลักษณ์ภายนอกของสิ่งปลูกสร้างอย่างไรอะไรทำนองนี้เสมือนได้เข้าใกล้ลมหายใจของคนงาน

 

เก็บข้อมูลโดยตรงจากการทำงานในไซต์งาน

ผู้นำเที่ยวของเราในวันนี้ คือ อ.หลินลี่ชิง (林立青) ที่ดูแล้วเป็นคนติดดินมากๆและเป็นนักเขียนซึ่งถ่ายทอดชีวิตของผู้ใช้แรงงานจากสายตาของผู้ควบคุมงานในไซต์งานก่อสร้าง

ผลงานเล่มแรกเรื่อง “คนงาน” ของคุณหลินลี่ชิง ตีพิมพ์เมื่อปี 2017 บรรยายชีวิตจริงในไซต์งานก่อสร้างที่เขาเห็นด้วยสายตาตัวเอง และเพียงในปีแรก หนังสือเล่มนี้ก็ขายได้ถึง 40,000 เล่ม ปีต่อมาเขาออกหนังสืออีกเล่ม คือ “นี่แหละชีวิต” บรรยายชีวิตจริงของสาวบริการ สาวเชียร์เหล้า-เบียร์และแรงงานที่ประสบอุบัติเหตุขณะทำงานด้วยทัศนะวิพากษ์วิจารณ์ที่สร้างความสั่นสะเทือนให้กับสังคมเป็นอย่างยิ่ง

ในปี 2012 คุณหลินลี่ชิงเริ่มเขียนบทความในเฟซบุ๊กส่วนตัวของเขา ในช่วงแรกก็เหมือนคนทั่วไปที่เขียนเรื่องราวสัพเพเหระที่ประสบพบเห็นมาจากการทำงาน ทำให้ในตอนเริ่มแรกมีคนสนใจไม่มากนัก แต่เมื่อทำงานในไซต์งานนานขึ้นเรื่อยๆ ก็เข้าสู่ชีวิตจริงของผู้ใช้แรงงานมากขึ้น ทั้งการให้นายช่างยืมเงินแก้ขัด การยืดอกช่วยเหลือผู้ที่ถูกตำรวจเขียนใบสั่งด้วยความไม่เป็นธรรม เมื่อพบเห็นเรื่องราวเหล่านี้มากขึ้น เขาก็ยิ่งมีความคิดที่จะปกป้องคนกลุ่มนี้ จากความเหนื่อยหน่ายเพราะไม่อาจเปลี่ยนแปลงโครงสร้างสังคมได้ สังคมก็ถูกพันธนาการไปด้วยความคิดที่เอนเอียงซึ่งทำให้คุณหลินลี่ชิงนอนไม่หลับทั้งคืน เขาได้นำเรื่องราวเหล่านี้ของพวกเขาถ่ายทอดออกมาเป็นตัวอักษร ให้ผู้คนในสังคมได้รับรู้ เป็นความพยายามที่เขาสามารถทำได้ และก็เป็นวิธีการที่จะทำให้เขานอนตาหลับได้ ทำให้บทความของคุณหลินลี่ชิงยิ่งเขียนยิ่งยาว ยิ่งเขียนยิ่งมีความลึกซึ้งมากยิ่งขึ้น เขาได้สัมผัสกับกลุ่มคนที่ถูกกระแสหลักวิพากษ์วิจารณ์เหล่านี้ นำเรื่องราวชีวิตจริงที่ผู้คนไม่เคยรู้เห็นมาก่อน ใช้ปลายปากกาส่งเสียงแทนผู้ใช้แรงงานที่อยู่ชายขอบสังคมเหล่านี้ จนสำนักพิมพ์ให้ความสนใจ ทำให้คุณหลินลี่ชิงกลายเป็นนักเขียนคนแรกในไต้หวันที่ผันตัวเองมาจากการเป็นผู้คุมงานก่อสร้าง

 

ดัดแปลงสู่บทละคร ตราตรึงใจผู้ชม

ในปีค.ศ.2017 หนังสือ “คนงาน” โด่งดังในวงการหนังสือของไต้หวัน คุณหลินอวี้หลิง (林昱伶) โปรดิวเซอร์ละครทีวีชื่อดังของไต้หวัน ประทับใจในเรื่องราวชีวิตของผู้คนในหนังสือเล่มนี้ จึงซื้อลิขสิทธิ์มาดัดแปลงเป็นบทละครทีวี โดยเฉพาะอย่างยิ่งตอน “เดินทางน้ำ” ได้กล่าวถึงการบาดเจ็บขณะทำงานของช่างเชื่อมที่ถูกทั้งแสงไฟความร้อนสูงจากการหลอมโลหะควันพิษและถูกไฟลวกจนทำให้มีอาการตาบอดกลางคืนพังผืดที่ปอดและผิวหนังลอกอย่างรุนแรงแม้สภาพแวดล้อมในการทำงานจะเลวร้ายปานนี้แต่หากไม่ทำงานก็จะไม่มีรายได้ทำให้คนงานบางส่วนเลือกที่จะอาศัยยาเสพติดมาระงับอาการเจ็บปวดเพื่อให้ร่างกายสามารถทำงานต่อไปได้

บทละครบรรยายชีวิตความเป็นอยู่ของพี่น้องผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ได้อย่างสมจริงสมจัง และยังบรรยายถึงสภาพที่พี่ชายล้มป่วยเป็นอัมพฤกษ์จนเป็นภาระของครอบครัว ในที่สุด ต้องขอร้องให้น้องชายฉีดยาพิษให้เพื่อให้หลุดพ้นจากความทุกข์ทรมานที่เป็นอยู่

หลินอวี้หลิงกับผู้กำกับเจิ้งเฟินเฟิน (鄭芬芬) ติดตามคุณหลินลี่ชิงตระเวนไปยังไซต์งานต่างๆ และหาบเร่แผงลอยยอดฮิตของบรรดาคนงานเหล่านี้ พวกเธอรู้จักคนงานมากหน้าหลายตา “พวกเราสัมผัสได้ถึงพลังแห่งชีวิตบนร่างกายของพวกเขา ที่ต้องดิ้นรนเพื่อครอบครัวและทำทุกอย่างเพื่อความหวัง” พวกเขามองโลกในแง่ดีและยอมรับในชะตากรรมที่เป็นอยู่เป็นภาพประทับใจที่ตราตรึงอยู่ในหัวใจของหลินอวี้หลิงและเจิ้งเฟินเฟินทำให้ทั้งสองคนตัดสินใจที่จะใช้ละครในรูปแบบติดตลกนำเสนอสู่สายตาผู้ชม

 

เห็นแสงสว่างส่องประกายจากร่างกายผู้ใช้แรงงาน

หลังจากที่มีการลงพื้นที่สำรวจและฟูมฟักเรื่องราวต่างๆ ละครซีรีส์ “คนงาน” ก็เริ่มเปิดกล้องในปี 2019 ต่อมาในปี 2020 ก็แพร่ภาพผ่านทางสถานีโทรทัศน์ HBO Asia ไปยัง 20 กว่าประเทศทั่วโลก

ละครซีรีส์เรื่องนี้ เดินเรื่องโดยสองพี่น้องกรรมกรช่างเหล็กที่มีนิสัยใจคอต่างกันราวฟ้ากับดิน ผู้เป็นพี่ชื่อว่า “อาฉี” อารมณ์ดี เพ้อฝัน ส่วน “อาชิน” ผู้น้องเป็นคนเงียบๆ สุขุมรอบคอบ และมักจะเป็นคนที่ช่วยแก้ปัญหาให้พี่อยู่ร่ำไป ละครซีรีส์เรื่องนี้ต่างจากในบทนิยายเดิมที่เต็มไปด้วยความเคร่งเครียด เริ่มต้นด้วยความคิดเพ้อฝันอยากรวยของอาฉี เช่น จะสร้างศาลพระพรหม หรือแอบเลี้ยงจระเข้ในไซต์งาน ตัวเองก่อเรื่องขึ้นเองแล้วยังสร้างความเดือดร้อนให้แก่คนรอบข้างและครอบครัวด้วย บทละครคอเมดีกึ่งไร้สาระ ทำให้ผู้ชมรู้สึกทั้งเกลียดและน่าขันในตัวของอาฉี บางทีอาจจะมีผู้ชมบางคนรู้สึกว่าความฝันอยากรวย ซื้อล็อตโต้เป็นบ้าเป็นหลังของอาฉี แต่กลับไม่อาจแก้ปัญหาอุปสรรคในชีวิตที่เป็นจริงได้ ไม่ว่าจะขยันสักปานใด ก็ไม่มีทางที่จะซื้อบ้านสักหลังได้... “บางทีมันอาจจะเป็นเพียงวิธีการที่เป็นไปได้ที่สุดที่พวกเขาจะพลิกฐานะได้” คุณหลินลี่ชิงอธิบายให้ฟัง

หลังจากที่ละครทีวีเรื่องนี้แพร่ภาพออกอากาศแล้ว ก็มีลูกหลานคนงานบางส่วนเริ่มเขียนเรื่องราวของตัวเองเผยแพร่ทางโซเชียลมีเดีย และยังมีผู้ชมบางส่วนได้แบ่งปันประสบการณ์ที่ตัวเองประสบจากคุณพ่อที่เป็นกรรมกรจะกลับบ้านด้วยกลิ่นตัวเหม็นตลบอบอวลไปทั่ว ไม่อยากที่จะสัมผัสกับพ่อของตัวเอง แต่ตอนนี้ เพราะละครเรื่องนี้ ทำให้เขากับพ่อมีหัวข้อสนทนาร่วมกัน ละครซีรีส์เรื่อง “คนงาน” ช่วยคลายปมในหัวใจของผู้คน และช่วยให้พบความอบอุ่นได้บ้าง ก็เหมือนกับที่คุณเจิ้งเฟินเฟินเคยกล่าวไว้ในการฉายรอบพิเศษของละครเรื่องนี้ว่า “หวังว่าเมื่อดูละครจบแล้ว จะดูแลเอาใจใส่คนที่อยู่รอบข้างเราให้มาก รู้สึกได้ถึงแสงสว่างที่เปล่งประกายออกมาจากตัวของพวกเขาเหล่านี้”

 

ทลายกำแพงขวางกั้น ด้วยการออกแบบเพื่อเชื่อมประสานเข้าด้วยกัน

ขอเพียงมีใจ อาศัยทักษะการออกแบบด้วยศิลปะ ก็จะนำมาซึ่งการเปลี่ยนแปลงของชีวิตในไซต์งานก่อสร้าง

พิพิธภัณฑ์ผู้ใช้แรงงาน (Kong-Ke Museum) ที่ตั้งอยู่ในนครไทจง เป็นหอศิลป์แห่งแรกในไต้หวันที่นำเสนอวัฒนธรรมไซต์งานเป็นหลัก เดิมคือ หอศิลป์ฉินเหม่ย ที่ทดลองก่อตั้งขึ้นในรูปแบบของศิลปะข้างถนน โดยมูลนิธิศิลปวัฒนธรรมฉินเหม่ยผูเจิน เมื่อภารกิจของหอศิลป์ฉินเหม่ยลุล่วงในปีค.ศ.2018 ก็ได้ก่อสร้างเป็นหอศิลป์ถาวรขึ้นบนพื้นที่เดียวกัน ในช่วงระหว่างการก่อสร้าง มูลนิธิฯ ได้แสดงความเคารพต่อบรรดาคนงานในฐานะวีรชนนิรนาม โดยวางแผนสร้างหอศิลป์คนงานขึ้นในลักษณะของออฟฟิศไซต์งานที่ด้านข้างของไซต์งาน ออฟฟิศไซต์งานเป็นห้องทำงานในไซต์งาน เป็นสถานที่ที่บรรดานายช่างใช้เป็นสถานที่ในการรับประทานอาหารและพักผ่อน โดยปกติจะสร้างขึ้นด้วยระบบน็อกดาวน์ง่ายๆ มูลนิธิฯ เริ่มแนวความคิดดังกล่าวจากความเป็นมิตรที่มีต่อคนงาน รวบรวมนักออกแบบและศิลปินนับสิบกลุ่มมาช่วยกันออกแบบและสร้างออฟฟิศข้างไซต์งานนี้ขึ้น เป็นอาคารสองชั้นแบบโปร่ง ชั้นล่างเป็นห้องอาหาร และตกแต่งภายนอกเป็นสวนร่มรื่นด้วยต้นไม้ใหญ่ ส่วนชั้น 2 ก็จะเป็นพื้นที่สำหรับนายช่างและประชาชนทั่วไป

ก่อนบ่ายสองของวันปกติ ชั้น 2 จะไม่อนุญาตให้บุคคลภายนอกเข้าเพราะต้องใช้เป็นสถานที่สำหรับบรรดานายช่างได้พักผ่อนนอนกลางวันหลังบ่ายสองก็จะเป็นสถานที่ที่ประชาชนทั่วไปเข้าใช้สถานที่ได้เพื่อลดความห่างเหินระหว่างนายช่างกับหอศิลป์นักออกแบบจึงได้ออกแบบโดยใช้วัสดุแผ่นกระดานลูกคลื่นและโครงร้านก่อสร้างเป็นส่วนประกอบสำคัญสร้างสีสันให้หอศิลป์แห่งนี้ดูแข็งๆเสมือนบรรยากาศในไซต์งานนอกจากนี้ยังออกแบบที่นอนเป็นรูปของถุงปูนซีเมนต์ให้นายช่างออกแบบห้องนอนกลางวันด้วยตนเองอีกทั้งยังคำนึงถึงความเคยชินของนายช่างที่ไม่ชอบแอร์เพื่อหลีกเลี่ยงมิให้ร่างกายต้องปรับตัวกับอุณหภูมิที่มีความแตกต่างกันค่อนข้างมากจึงเลือกที่จะติดตั้งพัดลมแทนรายละเอียดต่างๆเหล่านี้ทำให้บรรดานายช่างต่างรู้สึกเป็นตัวของตัวเองเมื่อเข้ามาในหอศิลป์แห่งนี้และรู้สึกผ่อนคลายได้ไม่น้อย

 

ขจัดความเหินห่างทีละเล็กทีละน้อย

ตั้งแต่เริ่มเปิดหอศิลป์แห่งนี้เมื่อปีที่แล้วเป็นต้นมา หอศิลป์คนงานแห่งนี้ก็ได้รวบรวมศิลปินที่สร้างสรรค์ผลงานจากวัฒนธรรมไซต์งานเป็นหลัก มีการนำเอาหุ่นจราจรที่ตั้งอยู่บริเวณไซต์งานริมถนนมาทำเป็นหุ่นเทพเพื่อขอพร และยังมีการนำเอาเสื่อทาทามิมาประกอบกันเข้าเป็นหัวรถบรรทุก พร้อมทั้งเชิญคุณเจียงอี้ซวิน (江奕勳) นักออกแบบชื่อดังมาเป็นผู้ออกแบบป้ายคำขวัญหมอนอิงและป้ายโฆษณาต่างๆจากคำศัพท์ที่หมู่คนงานนิยมใช้โดยใช้สีสันที่สดใสบ่งบอกถึงพลังแห่งชีวิตของไซต์งานด้วย

ภายในกรอบรั้วของไซต์งาน วันหยุดจะมีกิจกรรมศิลปวัฒนธรรมที่เกี่ยวกับไซต์งาน อย่างเช่นการใช้เครื่องเคาะจังหวะที่หาได้ในไซต์งาน ผูกเรื่องราวเป็นละครในไซต์งาน อาศัยรูปแบบหลากหลาย ให้ผู้ชมเป็นประจักษ์พยานว่า หอศิลป์แห่งนี้จะมุ่งพัฒนาผลงานของตนไปในทิศทางใดในอนาคต ซึ่งก็จะค่อยๆ ก่อรูปขึ้น คุณเหอเฉิงอวี้ (何承育) ประธานอำนวยการหอศิลป์ฯ ตั้งความหวังไว้ว่า “หอศิลป์คนงานจะทำลายกรอบรั้วที่ขวางกั้นระหว่างอะไรบางอย่างในเมืองทิ้ง”

นับตั้งแต่เริ่มเปิดพิพิธภัณฑ์ผู้ใช้แรงงานเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน มีบริษัทก่อสร้างต่างๆ มากมายมาเยี่ยมชม แม้แต่ออฟฟิศไซต์งานที่ตั้งอยู่ที่ไซต์งานเดิมต้องต่อเติมหลังคาและเพิ่มจำนวนที่นั่ง เสริมคุณภาพสภาพแวดล้อมของสถานที่พักผ่อนในไซต์งานเพื่อรองรับผู้ชมได้มากขึ้น อาศัยการถ่ายทอดวัฒนธรรมไซต์งานมาจุดประกายให้ผู้คนได้มีโอกาสทำความรู้จักกับคนงานมากขึ้น ในอนาคตจึงจะมีความเป็นไปได้ในการปรับปรุงสภาพแวดล้อมการทำงานให้แก่ผู้ใช้แรงงานเหล่านี้ได้ มีความเข้าใจและมีความอ่อนโยนต่อพวกเขามากยิ่งขึ้น รวมทั้งมีความรู้สึกขอบคุณต่อสิ่งที่บรรดาวีรบุรุษนิรนามเหล่านี้ได้อุทิศให้