ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การแปลกับความสนุกไม่รู้จบ งานเสวนานักแปล นิตยสารไต้หวันพาโนรามา
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-07-26

งานเสวนานักแปล นิตยสารไต้หวันพาโนรามา

 

“แม่ แม่ ดูนี่สิครับ โอ้โห รถขุดดิน สุดยอดเลย” เมื่อเด็กๆ เห็นเครื่องจักรในไซต์งานก่อสร้าง ดวงตาจะลุกเป็นประกายแวววาว ส่วนนายช่างสร้างตึกเหงื่อท่วมตัวเสมือนวีรชนผู้กล้าหาญในสายตาของเด็กๆ เหล่านี้ แต่พอเวลาผ่านไปไม่นาน เด็กๆ ที่เติบโตขึ้นเป็นผู้ใหญ่ก็จะไม่อยากรับรู้เรื่องราวที่อยู่หลังรั้วกั้นของบริเวณที่ทำการก่อสร้างอีกต่อไป โลกที่อยู่ภายในและภายนอกของรั้วจึงกลายเป็นเสมือนโลกคู่ขนาน โชคดีที่การถ่ายทอดผ่านหนังสือ ตำรา ละคร การแสดง และนิทรรศการต่างๆ ทำให้เราสัมผัสได้อย่างลึกซึ้งถึงพลังชีวิตแห่งการต่อสู้ที่ไม่ยอมแพ้ต่ออะไรง่ายๆ ในไซต์งานก่อสร้างเหล่านี้

 

ในปีค.ศ.2020 นิตยสารไต้หวันพาโนรามา ร่วมกับสถาบันบัณฑิตศึกษา สาขาการแปลและล่าม มหาวิทยาลัยครุศาสตร์แห่งชาติไต้หวัน (Graduate Institute of Translation and Interpretation  National Taiwan Normal University : NTNU) หรือ ม.ซือต้า จัดงานเสวนานักแปลขึ้น โดยเชิญวิทยากรซึ่งเป็นนักแปลอาวุโสของนิตยสารไต้หวันพาโนรามา 3 ท่าน คือ โรเบิร์ต ฟ็อกซ์ (Robert Fox), ยูกินะ ยามากุจิ (Yukina Yamaguchi) และเตมมี วิรยาวัน (Temmy Wiryawan หรือเฉินเต๋อหมิง 陳德銘) มาร่วมสร้างปฏิสัมพันธ์กับคณาจารย์และนักเรียนชั้นมัธยมศึกษาตอนปลายร่วม 200 คน และแบ่งปันประสบการณ์ทั้งเรื่องราวความสนุกและความท้าทายที่พวกเขาเคยเผชิญระหว่างการทำอาชีพนักแปล

 

นิตยสารไต้หวันพาโนรามา เผยแพร่หลากวัฒนธรรมหลายภาษา

ภายในงานเสวนาครั้งนี้ เฉินเลี่ยงจวิน (陳亮君) บรรณาธิการของนิตยสารไต้หวันพาโนรามา เริ่มเปิดงานด้วยการฉายวีดิทัศน์ “ผลงานตัดต่อวิดีโอกลุ่มชาติพันธุ์อันหลากหลาย” ให้เหล่านักเรียนได้ชมเป็นลำดับแรก เพื่อแสดงให้เห็นว่าในหลายปีที่ผ่านมา นิตยสารไต้หวันพาโนรามาได้นำกลุ่มชาติพันธุ์และภาษาที่หลากหลายมานำเสนอให้เห็นอัตลักษณ์ของไต้หวันที่มีความหลากหลายของวัฒนธรรมต่างๆ รวมกัน เฉินเลี่ยงจวินกล่าวด้วยความตื้นตันว่า แม้ผืนแผ่นดินไต้หวันจะเล็ก แต่กลับเป็นศูนย์รวมของผู้คนหลากชาติพันธุ์ ที่ฝ่าฟันทำงานร่วมกันพัฒนาแผ่นดินแห่งนี้ “นี่คือแรงบันดาลใจให้นิตยสารไต้หวันพาโนรามาทุ่มเทในการเผยแพร่เรื่องราวด้วยภาษาที่หลากหลายตลอดระยะเวลาหลายปีที่ผ่านมานี้ และเป็นหนึ่งในเหตุผลที่ทำให้เราจัดงานเสวนานักแปลในครั้งนี้”

นิตยสารไต้หวันพาโนรามาก่อตั้งมาเป็นเวลายาวนานถึง 45 ปีแล้ว ได้รับการเผยแพร่ไปกว่า 100 ประเทศและดินแดนทั่วโลก ทั้งฉบับภาษาจีน, อังกฤษ, ญี่ปุ่น, เวียดนาม, ไทย และอินโดนีเซีย รวม 6 ภาษา ถือเป็นสื่อกลางที่ดีที่สุดในการสร้างสัมพันธ์ทางการทูตแบบซอฟต์พาวเวอร์ของไต้หวัน

 

วงการนักแปลอันแสนลึกลับและมีสีสัน

ยูกินะ ยามากุจิ นักแปลภาษาญี่ปุ่น ถึงตัวจะเล็ก แต่มีอุดมการณ์อย่างแรงกล้า เธอเริ่มเรียนภาษาจีนตอนอายุ 26 ปี และตั้งปณิธานว่าก่อนอายุ 30 เธอจะต้องเชี่ยวชาญในภาษานี้และสามารถใช้ทำมาหาเลี้ยงชีพให้จงได้ คุณยูกินะแต่งงานกับชาวไต้หวันและย้ายมาอยู่ที่นี่ เมื่อเข้าสู่ปีที่ 2 ที่เธออาศัยอยู่ในไต้หวัน เธอก็เริ่มเข้าสู่วงการนักแปลและล่ามโดยประกอบอาชีพนี้มายาวนาน และด้วยความที่ผูกพันกับนิตยสารไต้หวันพาโนรามามาตั้งแต่ต้น คุณยูกินะจึงได้มีส่วนร่วมในการทำหน้าที่แปลให้กับหน่วยงานภาครัฐอยู่บ่อยครั้ง ถือเป็นส่วนหนึ่งในความพยายามสานมิตรภาพแลกเปลี่ยนความสัมพันธ์อันดีระหว่างไต้หวันกับญี่ปุ่น

โรเบิร์ต ฟ็อกซ์ ผู้มีอารมณ์ขัน ทำหน้าที่นักแปลภาษาอังกฤษมานาน 14 ปีแล้ว คุณโรเบิร์ตรูปร่างสูงยาวเข่าดี สวมเสื้อเชิ้ตลายสกอตราวกับหนุ่มคาวบอย ทักทายคำแรกเป็นภาษาท้องถิ่นไต้หวันได้อย่างคล่องแคล่วว่า “ตักเกเฮ่อ” ทำให้น้องๆ นักเรียนรู้สึกตกตะลึงและปรบมือชื่นชมกันอย่างเกรียวกราว สมัยวัยรุ่น คุณโรเบิร์ตเรียนภาษาจีนที่มหาวิทยาลัยแห่งรัฐซานฟรานซิสโก (San Francisco State University) และเป็นเพราะอาจารย์แนะนำให้เขาเลือกเดินทางมาไต้หวัน ทำให้ตั้งแต่นั้นมา กลายเป็นพรหมลิขิตของเขากับไต้หวันที่ตัดกันไม่ขาด จนถึงวันนี้เขาอยู่ไต้หวันมานาน 30 ปีแล้ว และทุ่มเทในการศึกษาวิจัยด้านภาษาของไต้หวัน จนเรียกได้ว่าทั่วไต้หวันเขาไปมาหมดแล้ว และยังได้ใบรับรองทักษะความรู้ภาษาฮากกา (จีนแคะ) อีกด้วย เขาจบการศึกษาจากสถาบันบัณฑิตศึกษา สาขาการแปลและล่าม ม.ซือต้า ด้วยหัวข้อวิทยานิพนธ์คือการวิจัยวรรณกรรมภาษาไต้หวัน

เตมมี วิรยาวัน นักแปลภาษาอินโดนีเซีย ก้าวเข้าสู่วงการอาชีพนักแปลด้วยความบังเอิญก็ว่าได้ เดิมทีเขาทำงานเป็นครูสอนภาษาจีนขั้นพื้นฐานที่อินโดนีเซีย เขามีโอกาสได้ทำงานแปลให้สำนักงานข้าหลวงใหญ่ผู้ลี้ภัยแห่งสหประชาชาติ (UNHCR) “ผมไม่เคยคิดฝันมาก่อนเลยว่าจะได้รู้จักกับเพื่อนคนหนึ่งในสถาบันกวดวิชา และเป็นผู้ที่สามารถแนะนำผมให้เข้าทำงานขององค์การสหประชาชาติได้” จากการแนะนำเจ้าหน้าที่คนนี้ทำให้คุณเตมมีเริ่มเข้าสู่วงการล่าม และค่อยๆ ขยายวงกว้างในอาชีพของตนออกไป

คุณเตมมีเกิดและเติบโตในประเทศอินโดนีเซีย เขาเดินทางมาศึกษาต่อที่ไต้หวันเมื่อ 5 ปีก่อน “จนถึงตอนนี้ ผมคงจากไต้หวันไปไม่ได้แล้ว” คุณเตมมีรักในงานแปลมาก โดยเฉพาะการทำหน้าที่แปลเพื่อให้ผู้คนได้รู้จักและเข้าใจไต้หวันอย่างลึกซึ้ง ทำให้ชาวอินโดนีเซียรู้จักไต้หวัน งานนี้จึงเป็นงานที่มีความหมายอย่างยิ่ง เขาเต็มใจที่จะใช้ความรู้ความสามารถในการอุทิศตน โดยเฉพาะอย่างยิ่งในช่วงสถานการณ์โรคระบาด มาตรการป้องกันควบคุมโรคของรัฐบาลไต้หวันและการรณรงค์เผยแพร่ความรู้ด้านสาธารณสุข เขาเป็นผู้แปลเป็นภาษาอินโดนีเซีย เพื่อให้ชาวอินโดนีเซียได้รับรู้ถึงความพยายามของไต้หวันในการสร้างคุณูปการด้านการป้องกันโรคระบาดแก่ประชาคมโลก

 

สุขและทุกข์จากงานแปล

งานแปลเป็นงานที่มีสีสันและสนุก บรรดานักแปลล้วนเคยเจอเรื่องราวสนุกๆ ไม่น้อยในระหว่างทำงานแปล รศ.เฉินจื๋อเหว่ย
(陳子瑋) อาจารย์ประจำสถาบันบัณฑิตศึกษา สาขาการแปลและล่าม ม.ซือต้า ซึ่งทำหน้าที่พิธีกรในงานเสวนาครั้งนี้ เล่าว่าสมัยยังเป็นวัยรุ่นเคยติดตามนักการเมืองคนสำคัญของไต้หวันเดินทางไปประชุมที่ประเทศสวิตเซอร์แลนด์ ในคืนหนึ่ง พวกเขาได้ร่วมงานเลี้ยงราตรีสโมสรซึ่งประธานาธิบดีสวิตเซอร์แลนด์จัดเลี้ยงต้อนรับ ณ โรงแรม โฮเทล เพรสซิเดนท์ วิลสัน (Hotel President Wilson) ซึ่งเป็นโรงแรมที่หรูหราและมีชื่อเสียงที่สุด ตั้งอยู่ริมทะเลสาบเจนีวา

บรรยากาศในงานเลี้ยงเต็มไปด้วยความชื่นมื่น มีการชนแก้วสังสรรค์กันตลอดงาน ผู้แทนจากแต่ละประเทศผลัดเปลี่ยนหมุนเวียนกันเข้ามาสนทนากับผู้นำคณะของไต้หวันด้วยอัธยาศัยดี ในฐานะที่เป็นล่ามของบุคคลสำคัญ คุณเฉินจื๋อเหว่ยเพิ่งรับประทานซุปร้อนๆ ไปได้แค่สามคำ ก็จำต้องวางช้อนส้อม ตั้งใจทำหน้าที่ล่ามให้ผู้นำคณะ ไม่นึกเลยว่าผู้แทนต่างรับประทานอาหารไปคุยไปอย่างออกรส ในขณะที่คุณเฉินจื๋อเหว่ยทำได้แต่มองอาหารเลิศรสแต่ละจานที่เสิร์ฟลงบนโต๊ะ ผ่านไปจานแล้วจานเล่า “ส้อมของผมไม่ได้แตะกุ้งล็อบสเตอร์เลยด้วยซ้ำ” เขาเล่าอย่างติดตลก

ประสบการณ์จากอาชีพแปลของคุณเตมมีก็มีสีสันไม่แพ้กัน ในฐานะที่ทำงานแปล เขาจึงมักได้เจอนักการเมืองคนสำคัญ สัมภาษณ์ดาราอยู่บ่อยๆ หรือแม้กระทั่งได้เข้าร่วมในการประชุมเป็นการภายในระหว่างรัฐบาล 2 ประเทศ ได้รับรู้ข้อมูลลับระดับชาติ สมัยยังเป็นวัยรุ่น คุณเตมมีเป็นคนที่มีความกระตือรือร้นสูง เพื่องานแปลเขาจำต้องขึ้นเขาลงห้วย มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาได้รับคำสั่งให้เดินทางไปยังพื้นที่ทุรกันดารในอินโดนีเซีย ต้องสวมชุดอุปกรณ์ป้องกันเป็นพิเศษทั้งตัว มิฉะนั้นจะถูกกรดรุนแรงในดินกัดกร่อนผิวหนังจนไหม้ จนทำให้เขารู้สึกสับสนว่า “ผมไม่ได้เป็นแค่ล่ามเท่านั้นหรอกหรือ ทำไมยังต้องเอาชีวิตมาเสี่ยงตายที่นี่ด้วย?”

 

สรรพนามบุรุษที่ 1 แปลได้กว่าสิบแบบ

ในบางครั้ง การแปลอาจต้องเจอกับทางตัน เพราะความแตกต่างทางวัฒนธรรมด้านภาษาทำให้บางครั้งจำเป็นต้องแปลแบบตรงตัวโดยไม่สามารถแปลความหมายที่แท้จริงที่แฝงอยู่ภายในข้อความนั้นได้ มีอยู่ครั้งหนึ่งคุณยูกินะต้องแปลบทความการประกวดนางงามจากภาษาจีนเป็นภาษาญี่ปุ่น ซึ่งมีการใช้สำนวนโวหารจีนพรรณนาความงามของผู้เข้าประกวด แต่ในภาษาญี่ปุ่นหาคำศัพท์ที่สอดคล้องทั้งความหมายและสัมผัสสระเล่นสำนวนไม่ได้ สุดท้ายจึงทำได้แค่แปลตรงตัวทื่อๆ “นี่เป็นบทความที่ฉันรู้สึกว่าแปลไม่ได้มากที่สุดเลยค่ะ” คุณยูกินะบอก

ขนาดมุราคามิ ฮารุกิ (Murakami Haruki) นักวรรณคดีผู้ยิ่งใหญ่ชื่อดังของญี่ปุ่นเองยังเคยพลาดมาก่อนเช่นกัน มีอยู่ครั้งหนึ่งเขาแปลนวนิยายนักสืบเล่มหนึ่ง แปลไปได้ครึ่งหนึ่งแล้ว จึงมาพบว่าคำที่ใช้เรียกสรรพนามบุรุษที่หนึ่งไม่เหมาะกับอุปนิสัยของตัวละคร ทางที่ดีต้องแปลใหม่ทั้งหมด ที่แท้คำว่า ฉัน หรือ I ในภาษาอังกฤษนั้น ในภาษาญี่ปุ่นมีวิธีการพูดมากกว่าสิบแบบ การที่นักแปลจะเลือกสรรพนามบุรุษที่ 1 มาใช้ให้ถูกต้องเหมาะสมที่สุดนั้น จะต้องใช้ความคิดอย่างหนัก

ในฐานะที่เป็นนักแปลอิสระ การฝึกฝนวินัยในการทำงานเป็นสิ่งที่สำคัญอย่างยิ่ง คุณโรเบิร์ตยกตัวเองเป็นตัวอย่างและกล่าวอย่างติดตลกว่า ตนชอบเล่นเฟซบุ๊ก เล่นไอจี ดูเน็ตฟลิกซ์ทั้งวัน แต่เขาต้องพูดเตือนตัวเองอย่างจริงจัง 3 ครั้งว่า “You have to get work done. (นายต้องทำงานให้เสร็จ)”

ไม่มีเจ้านาย เป็นนายตัวเอง ไม่มีเพื่อนร่วมงานแย่ๆ เป็นงานที่สามารถนั่งทำที่ไหนก็ได้ตามใจชอบ เช่น สตาร์บัก, แมคโดนัลด์ อาชีพนักแปลอิสระดูเหมือนว่าจะเป็นงานที่มีความอิสระสูง “แต่นักแปลจะต้องมีวินัยด้วยตนเอง ทำงานให้เสร็จภายในเวลาที่กำหนด” คุณโรเบิร์ตย้ำเตือนเรื่องนี้เป็นพิเศษ

 

สิ่งสำคัญข้อแรกสำหรับงานแปล

ต้องเก่งภาษาแม่

คุณสมบัติของคนที่อยากจะประกอบอาชีพนักแปลคืออะไร? วิทยากรนักแปลทั้งสามต่างลงความเห็นตรงกันว่า การฝึกฝนภาษาแม่ให้เก่งเป็นสิ่งสำคัญ ขอแนะนำให้น้องๆ นักเรียนเรียนภาษาจีนให้เก่งๆ ภาษาแม่เป็นพื้นฐานของการฝึกฝนภาษาต่างประเทศ “ถ้าอยากพัฒนาทักษะการแปลภาษาของตนเอง ต้องฝึกภาษาแม่ให้เก่งเสียก่อน” คุณยูกินะรู้สึกเช่นนั้น

คุณเตมมีกล่าวว่า “ผมเรียนภาษาจีนมา 10 กว่าปี ก็ยังเทียบกับคนที่ใช้ภาษาจีนเป็นภาษาแม่ไม่ได้” เขาผู้เคยสัมผัสกับการทำงานในองค์กรระดับนานาชาติมาแล้วได้ให้คำแนะนำอย่างจริงใจว่า “ในอนาคต ถึงแม้ว่าคุณจะไปอยู่ต่างประเทศ แต่จุดแข็งและข้อได้เปรียบของคุณยังคงเป็นภาษาแม่ของคุณอยู่ดี” ทักษะภาษาแม่ของนักแปลมืออาชีพจะต้องอยู่ในระดับมาตรฐานสูง

ด้านคุณโรเบิร์ตแนะนำว่า ในยามปกติควรฝึกฝนการเขียนเรียงความเยอะๆ อ่านหนังสือเยอะๆ ทำความเข้าใจกับวัฒนธรรมของอีกฝ่าย เวลาแปลแล้วเจอคำที่ไม่เข้าใจ อย่าแปลเองทั้งที่ไม่มั่นใจว่าแปลถูก “ต้องปรึกษาขอความเห็นจากผู้อื่น” หากต้องแปลบทความสาขาเฉพาะด้าน จะต้องหาความหมายจากพจนานุกรมศัพท์เฉพาะทาง สิ่งเหล่านี้เป็นข้อควรปฏิบัติที่นักแปลที่ดีพึงกระทำ

 

การแปล คือศาสตร์แห่งศิลป์

งานแปลมีความเกี่ยวข้องกับลีลาสำนวนการแปลว่าแปลได้ไหลลื่นและสื่อความหมายได้ดีเพียงใด ไม่เพียงแต่ภาษาจีนต้องดี ภาษาต่างประเทศก็ต้องดีด้วย “ทักษะความสามารถด้านภาษาเป็นคุณสมบัติข้อแรกในการประกอบอาชีพนักแปล” อาจารย์เฉินจื๋อเหว่ยสรุป เขาบอกกับนักเรียนว่า งานแปลยังเกี่ยวข้องกับการคิดเชิงวิเคราะห์ทั้งด้านทักษะ, ภาษาศาสตร์, ปรัชญา และวัฒนธรรม การแปลทำให้ผู้คนสามารถเข้าใจภาษาต่างๆ ได้ “สิ่งที่สำคัญที่สุดคือสามารถทำให้รู้จักและเข้าใจตนเอง”

ภาษาเป็นเครื่องมือในการสื่อสารระหว่างมนุษย์กับมนุษย์ แม้จะต่างสัญชาติ ต่างสีผิว การแปลจะช่วยให้ผู้คนสามารถขจัดอุปสรรค เพิ่มความเห็นอกเห็นใจ รู้จักเอาใจเขามาใส่ใจเรามากขึ้น และเปิดมุมมองโลกทัศน์ได้กว้างขึ้น