ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปรัชญาแห่งชีวิตจากเชิงเขาในเหมียวลี่ แผนสร้างป่า 100 ปีของ CMP Village
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-08-09

เมื่อยืนอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร ทำให้รู้สึกได้ว่า มนุษย์เราช่างตัวเล็กกระจิริดยิ่งนัก ลองหันมาเรียนรู้ปรัชญาแห่งการใช้ชีวิตจากธรรมชาติกันเถอะ

เมื่อยืนอยู่กลางป่าเขาลำเนาไพร ทำให้รู้สึกได้ว่า มนุษย์เราช่างตัวเล็กกระจิริดยิ่งนัก ลองหันมาเรียนรู้ปรัชญาแห่งการใช้ชีวิตจากธรรมชาติกันเถอะ
 

สวนสนุกแชงกรีล่า พาราไดซ์ ซึ่งตั้งอยู่ในตำบลเจ้าเฉียว เมืองเหมียวลี่ เคยเป็นสถานที่อันคึกคัก เครื่องเล่นต่างๆ ที่อยู่ภายในคือความทรงจำของคนจำนวนมาก หลังจากที่กลุ่มฉินเหม่ย (CMP Group) ได้ซื้อกิจการมา ก็ได้เริ่มโครงการ CMP Village plan ขึ้นในปี 2016 โดยนำเอาสุนทรียศาสตร์แห่งชีวิตไปผสมผสานเข้ากับธรรมชาติ ทำให้ทั้งเสียงแมลง เสียงกบ และเสียงลมกระทบใบไม้ รวมไปจนถึงเสียงหัวเราะอย่างสนุกสนานของผู้คน ได้กลับคืนมาสู่ที่นี่อีกครั้ง

 

จากสถานีรถไฟความเร็วสูงเหมียวลี่ นั่งรถแท็กซี่ประมาณ 10 นาที ก็จะไปถึงสวนสนุกแชงกรีล่า พาราไดซ์ หรือ CMP Village เราเดินตามคุณเหอเฉิงอวี้ (何承育) CEO ของ CMP Village ไปจนถึงรั้วเก่าๆ ที่ไม่สะดุดตาแห่งหนึ่ง แล้วเดินตามทางต่อไป โดยมีท่วงทำนองแห่งธรรมชาติอันเงียบสงบอยู่เคียงข้าง สิ่งที่เห็นอยู่ตรงหน้า คือผืนหญ้าขนาดใหญ่ที่ถูกโอบล้อมไปด้วยขุนเขาเขียวขจี ด้านบนมองไปเห็นงานศิลปะที่ทำจากไม้ไผ่ขนาดยักษ์ ซึ่งมีเต็นท์จำนวนมากตั้งล้อมอยู่โดยรอบ ที่แท้รั้วที่เราเห็นคือเส้นแบ่งระหว่างเขตสวนสนุกเดิมกับส่วนที่พัฒนาขึ้นใหม่ ราวกับจะบอกเป็นนัยว่า เหล่านักเดินทางทั้งหลายได้เดินเข้ามาสู่สวรรค์บนดินยุคใหม่แล้ว

 

จุดเด่นที่เกิดขึ้นจากความธรรมดา

ในปี 2012 กลุ่มฉินเหม่ยได้ซื้อกิจการของสวนสนุกแชงกรีล่า พาราไดซ์ ที่ตั้งอยู่บนพื้นที่ 250 ไร่ ที่ความสูง 50-100 เมตรจากระดับน้ำทะเล ภาพของสวนสวยๆ ที่ถูกสร้างขึ้นผสมผสานเข้ากับป่าธรรมชาติของสวนสนุกที่ตั้งอยู่บนเนินเขาเล็กๆ “เป็นทิวทัศน์ที่เห็นได้ทั่วไปในไต้หวัน” นี่คือความรู้สึกแรกที่คุณม่ายเซิ่งเหว่ย (麥聖偉) ประธานบริหารของสวนสนุกคนปัจจุบันมีต่อสวนสนุกแห่งนี้

ในตอนแรก กลุ่มฉินเหม่ยได้ติดต่อกับสำนักงานสถาปนิกชื่อดังระดับนานาชาติ ที่ใช้เวลาถึง 2 ปีในการออกแบบ ก่อนจะได้คอนเซ็ปต์ออกมาเป็นโครงการรีสอร์ตนานาชาติ ซึ่งมีทั้งสวนดอกไม้ ทะเลสาบขนาดใหญ่ และวิลล่า ซึ่งกลุ่มผู้บริหารต่างก็รู้สึกว่า “ดูแล้วสวยมาก แต่ไม่มีความเกี่ยวพันกับท้องถิ่น” หลังจากที่โปรเจกต์ในการทำรีสอร์ตถูกยกเลิก ทุกอย่างกลับมาสู่จุดเริ่มต้นอีกครั้ง ทางกลุ่มจึงจัดตั้งคณะทำงานขึ้นโดยใช้บุคลากรจากภายในกลุ่มเอง โดยภารกิจในการพัฒนาสวนสนุกแชงกรีล่า พาราไดซ์ได้ถูกมอบหมายให้กับคุณเหอเฉิงอวี้ ประธานกรรมการบริหารของ CMP PUJEN Foundation for Arts and Culture

คุณเหอเฉิงอวี้ใช้เวลาอีกประมาณ 2-3 ปี ในการวางตำแหน่งที่เหมาะสมในตลาดของสวนสนุกแห่งนี้ ก่อนจะติดต่อให้คุณฮิโรชิ นากามูระ สถาปนิกชาวญี่ปุ่นผู้เชี่ยวชาญในการผสมผสานองค์ประกอบของธรรมชาติเข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่นมาเป็นผู้ออกแบบ ซึ่งเหอเฉิงอวี้ได้พาคุณนากามูระไปตระเวนเยี่ยมชมสถาปัตยกรรมแบบฮากกาและดูงานหัตถศิลป์ท้องถิ่นทั่วเมืองเหมียวลี่ และหลังจากที่ได้ปรึกษากันแล้ว คุณนากามูระได้เสนอแนวคิดสำหรับการออกแบบสวนสนุกแห่งนี้ใน 3 แนวทาง คือ จิตวิญญาณแห่งช่างพื้นเมือง ความยั่งยืนของธรรมชาติ และปรัชญาแห่งการใช้ชีวิต “ฟังแล้วมันช่างยิ่งใหญ่ แต่ฟังไม่รู้เรื่อง ถ้าอยากจะรู้ก็ต้องลงมือทำจริงๆ” เหอเฉิงอวี้บอกกับเราพร้อมเสียงหัวเราะ

หลังจากรื้อสวนดอกไม้ทรงยุโรปที่ถือเป็นแลนด์มาร์กของสวนสนุกแชงกรีล่า พาราไดซ์ออกไป พื้นที่ถูกปรับเปลี่ยนให้กลายเป็นสนามหญ้าขนาดใหญ่ เหอเฉิงอวี้ได้เสนอไอเดียที่จะทำเต็นท์ที่พักระดับพรีเมียม ก่อนจะขอให้อาจารย์หวังเหวินจื้อ (王文志) นักออกแบบงานศิลปะประดับสถานที่ มาออกแบบ “Bamboo Woven Sky” ซึ่งอาจารย์หวังเหวินจื้อใช้เวลากว่า 40 วัน ในการนำเอาลำไม้ไผ่กว่า 5,000 ท่อน มาทำเป็นโดมไม้ไผ่ขนาดยักษ์ 2 โดม ซึ่งมีทางเดินไม้ไผ่เชื่อมต่อระหว่างกัน โดยงานศิลปะชิ้นนี้สื่อถึงความรู้สึกที่เป็นน้ำหนึ่งใจเดียวกันของทีมงาน และยังแสดงให้เห็นถึงความตั้งใจจริงที่จะผลักดันวัฒนธรรมท้องถิ่น พร้อมตั้งชื่อพื้นที่โซนนี้ว่า “ซานน่าชุน” ที่มาจากภาษาฮากกาซึ่งหมายถึงป่าเขาลำเนาไพร ถือเป็นการเปิดฉากสำหรับโครงการ CMP Village ไปในตัว

เมื่อเดินเข้าไปในหมู่บ้านของ CMP Village จะพบว่า ที่นี่มีอุปกรณ์ทุกอย่างอยู่เพียบพร้อมและครบครัน เต็นท์หรูหราที่ถูกออกแบบมาอย่างดี คือหนึ่งในความน่าสนใจของโปรเจกต์นี้ที่ทางทีมงานได้วางแผนมาเป็นอย่างดี เช่น “ห้างแห่งขุนเขา” ที่ใช้ของที่มีอยู่ตามธรรมชาติภายในสวนมาแทนเครื่องไม้เครื่องมือต่างๆ ใบสนคือกระดาษชำระจากธรรมชาติ ก้านของขึ้นฉ่ายสามารถนำมาทำเป็นหลอด ใบปาล์มเล็กๆ สามารถนำมาทำเป็นพัด เมื่อเราเดินสำรวจไปตามแผนที่ก็จะพบว่า ธรรมชาติก็เหมือนกับเป็นห้างใหญ่ๆ ที่น่าเข้าไปเดินเล่นเป็นที่สุด

สวนสนุกที่มีเครื่องเล่นต่างๆ เป็นตัวชูโรง เมื่อเวลาผ่านไปนานๆ เข้า ผู้คนก็จะไม่รู้สึกถึงความแปลกใหม่อีก “แต่ธรรมชาติและวัฒนธรรมกลับต้องอาศัยการสะสมของวันเวลา ยิ่งผ่านไปนานเท่าไหร่ก็จะยิ่งรู้สึกว่ามีความหมายมากเท่านั้น เราจึงใช้แนวคิดในแบบนี้มาบริหาร CMP Village” เหอเฉิงอวี้กล่าว โดย CMP ในภาษาจีนคือ  “勤美學 (ฉินเหม่ยเสวีย)” สามารถแบ่งคำได้เป็น “勤美‧學 (ฉินเหม่ย เสวีย)”  สื่อความหมายได้ว่า กลุ่มฉินเหม่ย เรียนรู้จากแผ่นดินของที่นี่ และยังแบ่งคำออกเป็น  “勤‧美學 (ฉิน เหม่ยเสวีย)” ที่สื่อถึงความขยันขันแข็ง ซึ่งเป็นจริยธรรมอันดีงามของชนชาวฮากกาได้ด้วย

 

เด็กน้อยแห่งขุนเขาเริงระบำ

จากนั้น CMP Village ได้ผลักดันโปรเจกต์ที่ 2 ที่มีชื่อว่า “好夢里 (ห่าวม่งหลี่ – หมู่บ้านฝันดี)” ซึ่งก็ยังคงมีเต็นท์สวยๆ ที่ผ่านการออกแบบมาเป็นอย่างดีเช่นเดิม แต่ที่เพิ่มเติมขึ้นมาคือบ้านไม้ 3 หลังที่สร้างขึ้นจากไม้สนซีดาร์ของไต้หวัน โดยได้นำเอาอุตสาหกรรมการเผาถ่านของเหมียวลี่ที่กำลังจะสูญหายไป มาใส่ไว้เป็นองค์ประกอบสำคัญของการออกแบบ ไม้ที่นำมาใช้สร้างบ้านแต่ละหลัง ผ่านการเผาในระดับที่แตกต่างกัน ทำให้มีสีที่ไม่เหมือนกัน อีกทั้งไม้ที่ผ่านการเผามาแล้วจะไม่กลัวแมลงมากัดกิน ถือเป็นการยืดอายุการใช้งาน พร้อมทั้งยังสอดรับกับวัฒนธรรมท้องถิ่นได้เป็นอย่างดี

เหอเฉิงอวี้เห็นว่า สิ่งที่ซานน่าชุนสื่อออกมาคือความสัมพันธ์ระหว่างคนกับวัฒนธรรมท้องถิ่น แต่ห่าวม่งหลี่จะย้ำในส่วนของความสัมพันธ์ระหว่างคนกับคน ห่าวม่งหลี่ถูกออกแบบให้ผู้ที่เข้ามาได้มีโอกาสดื่มด่ำไปกับประสบการณ์ในการท่องเที่ยว โดยเปิดให้ทุกคนรวมกลุ่มกันเดินขึ้นเขาในเวลายามเย็น พร้อมทั้งใส่หูฟัง เพื่อเดินทางไปสำรวจตามซอกมุมต่างๆ ภายในสวน ตามแต่จะถูกชักนำไป สำหรับอาหารเย็นก็จะเป็นการรับประทานอาหารท้องถิ่นร่วมกันภายใต้แสงดาว โดยที่อาหารเช้าจะทำขึ้นจากวัตถุดิบที่เก็บมาจากในสวน แล้วมาทำเป็นพิซซ่าด้วยตัวเอง ห่าวม่งหลี่จะสร้างบรรยากาศราวกับเป็นดินแดนในฝัน ซึ่งช่วยปลุกให้ความเป็นเด็กของเหล่านักท่องเที่ยวได้ตื่นขึ้นมาอีกครั้ง ทุกคนจะได้มีโอกาสปีนป่ายและเล่นในบ้านต้นไม้ ในป้อมนายพรานก็มีเมล็ดมะเยาหินที่จัดเตรียมไว้ สำหรับใช้เป็นกระสุนในการเล่นยิงหนังสติ๊ก ทำให้เราได้ยินเสียงหัวเราะอันร่าเริงเบิกบานของที่นี่อยู่ตลอดเวลา

CMP Village ได้แสดงให้เราเห็นถึงวิถีในรูปแบบใหม่ที่ผู้คนจะสามารถใกล้ชิดกับธรรมชาติ “เราอยากให้แผ่นดินผืนนี้กลับไปสู่สภาพเดิมตามธรรมชาติของมัน พร้อมกับนำเอาสุนทรียศาสตร์สมัยใหม่มาผสมผสานเข้าไว้ด้วยกัน” สำหรับคุณเหอเฉิงอวี้แล้ว การนำเอาสุนทรียศาสตร์มาผสมผสานเข้าด้วยกันเป็นสิ่งสำคัญมาก การจะถ่ายทอดแนวคิดเกี่ยวกับการอนุรักษ์ธรรมชาติ และรักษาสภาพแวดล้อมแบบยั่งยืน หากสภาพแวดล้อมไม่เจริญหูเจริญตา หรือถูกยุงกัดเมื่อมาเข้าพัก ก็จะทำให้ไม่เป็นที่ยอมรับของผู้คน แต่ถ้าเราใส่องค์ประกอบที่เกี่ยวกับสุนทรียศาสตร์ ศิลปวัฒนธรรม อาหารการกินที่ถูกหลักโภชนาการ หรือมีมุมสวยๆ สำหรับถ่ายภาพ เช็คอิน ก็จะสามารถดึงดูดให้ผู้คนยอมรับได้

 

เสียงก้องกังวานของศิลปะวัฒนธรรมในขุนเขา

“森大 (เซินต้า – ป่าใหญ่)” เป็นโซนที่อยู่ลึกที่สุดของสวน ซึ่งมีความแตกต่างจากซานน่าชุนและห่าวม่งหลี่อันคึกคัก ความเงียบสงัดของที่นี่ช่วยเปิดประตูสู่การได้ทดลองทำอะไรใหม่ๆ หลายอย่าง “ป่าเป็นใหญ่ แต่ตัวเราเล็กนิดเดียว” การตั้งชื่อของเหอเฉิงอวี้แฝงไว้ด้วยปรัชญาอย่างเปี่ยมล้น ชื่อนี้ย้ำกับเราว่า เมื่อเทียบกับธรรมชาติแล้ว คนเราก็เหลือตัวเล็กนิดเดียว จึงหวังว่าทุกคนที่มาที่นี่จะได้เรียนรู้การใช้ชีวิตอยู่ร่วมกับธรรมชาติอย่างนอบน้อม

ก่อนจะเข้าสู่เซินต้า ทีมงานจะพานักท่องเที่ยวไปสักการะเจ้าแม่กวนอิมองค์ใหญ่ก่อน ซึ่งก็เหมือนกับการทำพิธีเพื่อบอกกับป่าว่า เรามาเยือนแล้วนะ และในขณะเดียวกันก็ถือเป็นการทำให้จิตใจสงบลง จังหวะการเดินก็ลดความเร็วลงตามไปด้วย ทางเล็กๆ ในป่าที่เดินได้เพียงคนเดียว ตลอดสองข้างทางจะมีเสียงแมลงอยู่เคียงข้าง ดินอ่อนที่อยู่ใต้เท้าทำให้เรารู้ว่าข้างล่างมีตัวตุ่นไต้หวันขุดรูผ่าน บางครั้งเมื่อเจอใยแมงมุม เหอเฉิงอวี้จะกระซิบบอกขอโทษเบาๆ แล้วค่อยๆ ขยับใยแมงมุมออก พร้อมบอกกับเราว่า “หากไม่ต้องรบกวนได้ก็อย่าไปรบกวนเขา นี่คือกฎของเซินต้า (ป่าใหญ่)” หลังผ่านเส้นทางสั้นๆ ที่เดินเพียง 5 นาที สภาพของป่าก็เปลี่ยนแปลงไปจากเดิม เรามองเห็นว่ามีพืชที่อยู่ริมทะเลปรากฏอยู่ที่นี่ด้วย ที่แท้เมื่อ 3 แสนกว่าปีก่อน ที่นี่เคยตั้งอยู่ริมทะเล ทำให้ในดินมีแร่ธาตุที่คล้ายกับเนินทราย ถือเป็นเซอร์ไพรส์ที่เหล่าทีมงานค้นพบหลังทำการศึกษาระบบนิเวศภายในสวนอย่างละเอียด

การปล่อยให้เหล่าศิลปินได้มีโอกาสแลกเปลี่ยนกับธรรมชาติจนเกิดเป็นแรงบันดาลใจขึ้นมา ถือเป็นแนวทางหลักของเซินต้าในช่วงที่เปิดให้บริการใหม่ๆ ทำให้มีศิลปินจากหลากหลายสาขา ทั้งสถาปนิก นักจัดดอกไม้ เชฟปรุงอาหาร หรือนักปรุงน้ำหอม ต่างก็เคยมาแสดงผลงานที่นี่ และหลังจากที่มีประสบการณ์มากขึ้น ในปี 2020 ทาง CMP Village จึงได้ออกแคมเปญเซินต้า 2.0 ในการจับคู่ธรรมชาติเข้ากับศิลปิน เพื่อเปิดโอกาสให้ผู้ทรงคุณวุฒิในทางศิลปะวัฒนธรรมนำเอาความรู้ความชำนาญที่มีมาหลอมรวมเข้ากับธรรมชาติ และทดลองสร้างสรรค์ผลงานแปลกใหม่ขึ้นมา

 

พิมพ์เขียวของการสร้างป่าใน 100 ปี

หลังจากเดินชมทั้ง 3 โซนของ CMP Village แล้วถึงได้รู้ว่า นี่เป็นเพียงแค่การอุ่นเครื่องสำหรับอนาคตของสวนสวรรค์แห่งนี้ ที่เกิดขึ้นจากความคิดริเริ่มด้านการท่องเที่ยวในการผสมผสานธรรมชาติเข้ากับสุนทรียศาสตร์และวัฒนธรรมท้องถิ่น ซึ่งคุณเหอเฉิงอวี้ยังได้ออกแบบพิมพ์เขียวสำหรับอนาคตของสวนสวรรค์เอาไว้ด้วย “เป้าหมายใหญ่คือการฟื้นฟูให้ธรรมชาติกลับคืนสู่สภาพเดิม” โดยเหอเฉิงอวี้ค่อยๆ เล่าให้เราฟังถึงแผนการสร้างป่าในเวลา 100 ปีด้วย โดยได้ยกตัวอย่างจากศาลเจ้าเมจิในประเทศญี่ปุ่นว่า เมื่อร้อยกว่าปีก่อน พื้นที่แถบนั้นเป็นเพียงทุ่งนา แต่ปัจจุบันได้กลายมาเป็นป่ากลางเมืองอันล้ำค่า เหอเฉิงอวี้เห็นว่า การสร้างป่าไม่ใช่แค่ปล่อยให้มันอยู่เฉยๆ เป็นร้อยปีโดยไม่ต้องไปสนใจดูแล แต่จะมีขั้นตอนที่ต้องทำในทุกๆ 10 ปี เราต้องจินตนาการถึงความสัมพันธ์ระหว่างคนกับผืนแผ่นดิน ซึ่งในแต่ละช่วงเวลาก็จะมีวิธีดูแลที่แตกต่างกัน จึงจะสามารถทำให้เกิดประโยชน์สูงสุดต่อชีวิตของผู้คนในช่วงปัจจุบัน

ทุกครั้งที่ถูกถามเกี่ยวกับแผนการพัฒนาสวนสวรรค์ คุณเหอเฉิงอวี้จะตอบแบบขำๆ ว่า “เราทำงานแบบขี้เกียจอยู่เหมือนกัน ก็คือไปหาภาพถ่ายทางอากาศในช่วง 30 ปีก่อน ซึ่งยังไม่มีการสร้างสวนสวรรค์แห่งนี้มาเทียบดู แล้วคำนวณหาสัดส่วนการบุกเบิกพัฒนาพื้นที่ที่เหมาะสมจากจำนวนประชากรของไต้หวันเมื่อเปรียบเทียบกับความหนาแน่นของป่า” โดยใช้แนวคิดของสถาปัตยกรรมแบบยั่งยืนมาผสมผสานกับการเปิดให้เหล่าศิลปินเข้ามาใช้พื้นที่ในการสร้างสรรค์ผลงาน เพื่อเป้าหมายในการสร้างแชงกรีล่าในอุดมคติของสุนทรียศาสตร์อันยั่งยืนแห่งชีวิตให้เกิดขึ้นในความเป็นจริง ซึ่งสำหรับองค์กรธุรกิจแล้ว เวลาทุกนาทีหรือทุกวินาทีต่างก็ถือเป็นต้นทุนอันล้ำค่า หากแต่สำหรับ CMP Village แล้ว เวลากลับถือเป็นตัวเร่งปฏิกิริยาชั้นดีของสวนสวรรค์แห่งนี้ เหล่าคนรุ่นใหม่ที่มาใช้ชีวิตอยู่ที่นี่ สร้างทะเลสาบหรือปลูกต้นไม้ ก็ด้วยพลังแห่งความเชื่อที่ว่า สุดท้ายแล้วธรรมชาติก็จะตอบแทนกลับคืนมาให้อย่างล้นเหลือนั่นเอง