ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เก็บเกี่ยวและสัมผัสประสบการณ์จากธรรมชาติ พิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป่าไม้หลวนซาน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2021-08-16

เใช้ทั้งมือและเท้าปีนป่ายต้นไทรย้อยที่มีความสูงเท่ากับตึก 2 ชั้น พร้อมซึมซับธรรมชาติด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5

ใช้ทั้งมือและเท้าปีนป่ายต้นไทรย้อยที่มีความสูงเท่ากับตึก 2 ชั้น พร้อมซึมซับธรรมชาติด้วยประสาทสัมผัสทั้ง 5
 

ภัณฑารักษ์: Aliman Madiklan

จัดแสดง: ต้นไม้เดินได้ ปลูกต้นไม้ต้นหนึ่ง

สัมผัสประสบการณ์: เป็นชาวบูนัน 1 วัน การใช้ชีวิตและจริยธรรม การศึกษาสิ่งแวดล้อม เส้นทางโบราณของนายพราน

สถานที่: หมู่บ้านหลวนซาน (鸞山) ตำบลเหยียนผิง (延平) เมืองผิงตง

เวลาจัดแสดง: ใช้ระบบนัดหมาย

 

รหัสลับ: uninang

ก่อนจะไปชมพิพิธภัณฑ์วัฒนธรรมป่าไม้ อาจารย์ Long ซึ่งเป็นมัคคุเทศก์ได้ชี้แจงขั้นตอนการเข้าชม เนื่องจากเป็นการไปสัมผัสประสบการณ์เป็นชาวบูนัน (Bunun) 1 วัน จึงแนะนำเรื่องราวของชนเผ่าบูนันให้เรารู้ก่อน “ผู้ชายชนเผ่าบูนันจะต้องมีคุณสมบัติ 3 ประการ ประการแรก จะต้องมีพละกำลังที่สามารถปกป้องบ้านเรือนของตัวเอง ประการที่ 2 น่องขาจะต้องใหญ่เพื่อใช้ปีนเขาล่าสัตว์ ประการที่ 3 ซึ่งสำคัญที่สุด ต้องมีความเข้มแข็ง ซึ่งในกลุ่มชาวบูนันแล้ว คนที่มีร่างกายที่ได้มาตรฐานก็คือผม เพราะเมื่อดูจากทั้งด้านหน้าและด้านข้างต่างก็มีความหนาเท่ากัน”

คำพูดของเขาทำให้เกิดเสียงฮาขึ้นมา อ. Long ผู้ซึ่งมีมีดนายพรานคาดที่เอวพูดต่อว่า “อย่าดูถูกผมนะ ผมออกไปล่าสัตว์บ่อยๆ ผมมักจะถูกหมูป่าวิ่งไล่ ไม่ใช่เพราะรูปร่างผมเหมือนหมูป่า แต่พวกมันคิดว่าผมเป็นแม่หมู แม้ผมจะวิ่งไม่เร็ว แต่ผมจะหาทางลาดเพื่อกลิ้งลงภูเขาเลย จะเร็วกว่า”

“หากคุณต้องการดื่มเหล้าข้าวฟ่าง ซึ่งถือว่าเป็นเครื่องดื่มชูกำลังของชนพื้นเมือง จะต้องบอกรหัสลับได้” อ. Long เริ่มสอนภาษาบูนัน คำว่าขอบคุณ จะพูดว่า uninang ส่วนคำทักทายว่า สบายดีไหม พูดยังไง “how are you!” อ. Long พูดเป็นภาษาอังกฤษ เรียกเสียงฮาขึ้นมาอีกครั้ง ที่จริงแล้วคำว่าสบายดีไหม ในภาษาบูนันก็คือ mihumisang

อ. Long บอกอีกว่า “พวกคุณมาถึงที่นี่ ควรจะต้องรู้จัก Aliman เขาเป็นคนในหมู่บ้านหลวนซานที่เรียนจบมหาวิทยาลัย” อ. Long เล่าต่อว่า “เมื่อ 17 ปีที่แล้ว เขารู้ว่ากลุ่มนายทุนจะมาขอซื้อที่ดินเพื่อสร้างหอเก็บอัฐิ สร้างวัด และสร้างรีสอร์ต เขาจึงไปยืมเงินแย่งซื้อที่ดินตัดหน้ากลุ่มนายทุน เพื่อพัฒนาเป็นสถานศึกษาของชนเผ่าบูนัน หากคุณได้เดินในพื้นที่แห่งนี้สัก 1 รอบ คุณจะรู้ว่าทำไม Aliman จึงต้องแย่งชิงซื้อพื้นที่ป่าแห่งนี้”

 

ภัณฑารักษ์: Aliman

Aliman มีบุคลิกแตกต่างจาก อ. Long ที่พูดคุยสนุกตลกเฮฮา แต่ Aliman เป็นคนเงียบ ชอบเดินสำรวจตรวจตราพื้นที่ และนั่งอยู่บนเก้าอี้ไม้กระถินที่ “palisansiap” (ห้องประชุม) เพื่อสังเกตดูพฤติกรรมของผู้ที่มาเยี่ยมเยือนด้วยความเคร่งขรึม

ศาลามุงหญ้าคาที่เรียกว่า “palisansiap” (ในภาษาบูนัน แปลว่า การปรึกษาหารือ) นับเป็นศาลามุงหญ้าคาที่ใหญ่ที่สุดในไต้หวัน Aliman อาศัยช่วงการระบาดของโรคโควิด-19 สร้างขึ้นในเดือนมีนาคม ปีค.ศ.2020 ซึ่งเป็นช่วงที่นักท่องเที่ยวมาเยี่ยมเยือนน้อย ใช้เวลา 1 เดือนเศษ จากความร่วมมือร่วมแรงของสมาชิกโดยไม่ได้ใช้เครื่องจักร เขาบอกว่า “ชนเผ่าบูนันอย่างพวกเรา สมัยก่อนทำสงคราม แต่ตอนนี้มาสร้างศาลา พวกเราใช้ palisansiap เป็นที่ปรึกษาหารือกับผู้อาวุโส”

Aliman เขียนวิทยานิพนธ์ขณะเรียนปริญญาโท ภาควิชาวัฒนธรรมและความสัมพันธ์ทางชาติพันธุ์ มหาวิทยาลัยตงหัว (National Dong Hwa University) เขาได้เก็บข้อมูลด้วยการสัมภาษณ์ผู้อาวุโสในท้องที่ต่างๆ เนื่องจากมีความเข้าใจลึกซึ้งต่อประวัติศาสตร์ของตนเอง เคยเป็นนักข่าวสถานีโทรทัศน์ชนพื้นเมือง และเป็นผู้ช่วยนักวิจัยศูนย์การศึกษาสิ่งแวดล้อม มหาวิทยาลัยตงหัว ทั้งยังเป็นผู้เชี่ยวชาญวัฒนธรรมของมหาวิทยาลัยชุมชนหนานเต่า (南島) เขาได้เห็นชนพื้นเมืองถูกหลอกล่อให้ขายที่ดิน จนสุดท้ายไม่เหลืออะไรเลย กลุ่มนายทุนบุกเบิกและขุดเอาทรัพยากร ทำลายสภาพแวดล้อมอย่างเลวร้าย ดังนั้น 17 ปีที่แล้ว เมื่อเขาเห็นคนถือแบบแปลนก่อสร้างพร้อมกับซินแสดูฮวงจุ้ยเข้ามาสำรวจ เขาไม่ต้องการให้ประวัติศาสตร์ซ้ำรอย จึงได้ขอกู้เงินจากสหกรณ์การเกษตรลู่เหย่ (鹿野) และธนาคาร Taiwan Business Bank ทำการซื้อที่ดินผืนนี้เพื่อสร้างพิพิธภัณฑ์ป่าไม้ขึ้นมา

 

ความเป็นมาของพิพิธภัณฑ์ป่าไม้

จากเดิม Aliman เพียงต้องการกอบกู้ผืนป่าแห่งนี้เท่านั้น คิดว่าจะใช้พื้นดินแห่งนี้ในการสืบทอดวัฒนธรรมที่หดหายลงของชาวบูนัน ในปีค.ศ.2004 Taiwan Ecological Stewardship Association ต้องการจะอบรมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อมและระบบนิเวศในสถานที่แห่งนี้ จึงได้ส่งเงินมาให้ Aliman ก้อนหนึ่ง เพื่อขอให้เขาช่วยจัดหาอาหาร เหตุการณ์ครั้งนี้ได้จุดประกายความคิดของ Aliman ในการพัฒนาที่นี่ให้เป็นพิพิธภัณฑ์ป่าไม้ ซึ่งอาจจะเป็นหนทางหารายได้อย่างหนึ่งด้วย มีการจัดกิจกรรมเข้าไปเยี่ยมชมเส้นทางโบราณ การทัศนศึกษาหมู่บ้าน ซึ่งได้รับความสนใจและแรงสนับสนุนจากองค์กรต่างๆ เช่น the Taiwan Permaculture Institute, the Shumei Natural Agriculture Network, the Taiwan Environmental Information Association ที่ต่างก็ให้เงินบริจาคสมทบ ทำให้แก้ไขวิกฤตหนี้สินลงไปได้ โดยเฉพาะอย่างยิ่ง มหาวิทยาลัยแห่งหนึ่งในรัฐเพนซิลเวเนียของสหรัฐอเมริกา จะจัดนักศึกษามาเยือนที่นี่ 4-5 วันเป็นประจำทุกปี เพื่อมาสัมผัสกับพิพิธภัณฑ์ป่าไม้ “ภูมิปัญญาที่ไม่ต้องมีกระแสไฟฟ้าและอารยธรรมที่ไม่ต้องมีตัวหนังสือ”

Aliman ยืนหยัดรักษาธรรมชาติ ด้วยการไม่ตั้งป้ายบอกทาง และเปิดให้เข้าชมแบบจำกัด ในระหว่างการใช้คืนเงินกู้ เขาคิดเตือนตนเองตลอดเวลาว่า “การช่วยเหลือผู้อื่น คือทรัพย์สมบัติของการมีชีวิตอยู่ในโลกนี้” เด็กในหมู่บ้านบางคนที่ต้องหยุดเรียนกลางคันหรือเด็กที่ถูกภาคทัณฑ์ Aliman รับเด็กเหล่านี้มาทำงานเพื่อให้มีรายได้ ก่อนจะกลายมาเป็นมัคคุเทศก์ที่ได้รับการนับถือจากผู้อื่น พิพิธภัณฑ์ป่าไม้แห่งนี้นอกจากเป็นช่องทางสื่อสารเรื่องราววัฒนธรรมของชาวบูนัน ยังเป็นสถานที่ที่สามารถสร้างความมั่นใจและสร้างคุณค่าได้

 

พื้นที่จัดแสดงแห่งที่ 1: ต้นไม้เดินได้

พื้นที่แห่งแรกของนักท่องเที่ยวที่มาชมพิพิธภัณฑ์ป่าไม้คือ ต้นไม้เดินได้ ซึ่งก็คือ ต้นไทรย้อยใบแหลม (Ficus benjamina) พืชในวงศ์ขนุน (Moraceae) ไม้พุ่มเขียวชอุ่มตลอดปี

มองดูต้นไทรย้อยใบแหลม จะรู้สึกตื่นตะลึงต่อกิ่งรากที่แผ่ขยายสลับไปมา ต้นไม้ต้นเดียวขยายกลายเป็นดงไม้ รากอากาศที่เติบโตอย่างรวดเร็ว เมื่อแตะลงพื้นจะเจาะเข้าไปในดินและค่อยๆ กลายเป็นลำต้น รากที่ขยายแผ่ออกไปรอบทิศทำให้ดูแล้วราวกับเป็นต้นไม้เดินได้

 

พื้นที่จัดแสดงแห่งที่ 2: ป่าไม้ Avatar

หลังจากกินเนื้อย่างที่จัดไว้ต้อนรับ ดื่มน้ำบำรุงสุขภาพที่มีส่วนผสมของอ้อย ขมิ้น ขิงสด และใบอบเชยที่นำมาชงรวมกัน จากนั้นจึงเข้าไปในดงไม้ยักษ์ของต้นไม้ในสกุลโพและมาชิลัส (Ficus and Machilus) ที่อนุรักษ์ไว้อย่างสมบูรณ์ในพื้นที่ภูเขาเหนือระดับน้ำทะเลปานกลาง ในฐานะผู้มาเยือนที่มีมารยาท จะต้องนำเหล้าขาว 1 ขวด และหมาก 1 ห่อ ไปวางเซ่นไหว้บนแท่นบูชาที่มีหัวกะโหลกหมูป่าเรียงรายอยู่ เพื่อแสดงความเคารพต่อวิญญาณบรรพชนด้วยความนอบน้อม

การพิชิตด่านแรกของการไต่เขา จะต้องเผชิญความท้าทายในการเดินข้ามรากต้นไม้รูปทรงแปลกประหลาดที่ตั้งเป็นแผ่นแข็ง และต้องเดินลอดผ่านกิ่งไม้บิดเกลียวที่ห้อยย้อยจากข้างบนลงมาข้างล่าง จากนั้นเดินเข้าไปในช่องที่แคบมากถึงกับต้องเดินผ่านด้วยด้านข้างของลำตัว ช่องแคบๆ ระหว่างซอกหินนี้เกิดจากแผ่นเปลือกโลกฟิลิปปินส์ดันตัวขึ้นมาจากทะเล เป็นทิวทัศน์ที่เป็นเอกลักษณ์ของเทือกเขาริมชายฝั่ง

หลังเดินผ่านหินก้อนใหญ่เข้าไปอยู่ท่ามกลางต้นไทร มองไปข้างหน้าจะเห็นต้นไทรย้อยอีกต้นหนึ่งที่สูงเสียดฟ้า จับเชือกให้แน่น ใช้มือและเท้าในการไต่ขึ้นไปบนต้นไทรย้อยที่สูงเท่าตึก 2 ชั้น และสนุกกับการปีนป่ายหน้าผา

 

บทเรียนที่ 1: บทเรียนด้านจริยธรรมในการใช้ชีวิต

หลังจากการเดินเส้นทางโบราณของเหล่านายพราน นักท่องเที่ยวต่างก็เริ่มหิว แต่ก่อนจะได้กินอาหารต้องเรียนรู้จริยธรรมของการใช้ชีวิตในสังคมเสียก่อน

อ. Long บอกว่า “พวกเราชาวบูนันให้ความสำคัญกับผู้หญิง 4 คน อันดับแรก คือ ต้องเชื่อฟังคุณย่า เพราะคุณย่าจะเล่านิทานและสิ่งที่สืบทอดกันมาของชนเผ่า อันดับ 2 คือ ต้องกตัญญูต่อคุณแม่ เพราะในโลกนี้ไม่มีใครทดแทนแม่ได้ อันดับ 3 คือ ต้องรักภรรยา ส่วนอันดับ 4 คือใคร?” มีผู้ตอบว่า ลูกสาว แต่ อ. Long พูดอย่างหนักแน่นว่า “ลูกสาวเมื่อแต่งงานออกเรือนไป ก็ไม่กลับมาแล้ว เพราะฉะนั้นขอให้ทุกท่านให้ความนับถือต่อลูกสะใภ้ด้วย เนื่องจากผู้หญิงทั้ง 4 คนนี้ แม้จะไม่ใช่คนในชนเผ่าของเรา แต่เป็นลูกสาวคนอื่นที่แต่งเข้ามาอยู่ในบ้านของเรา พวกเราจะต้องปฏิบัติต่อพวกเขาเป็นอย่างดี” ดังนั้นผู้ชายยุคใหม่ที่ดีจะต้องรู้จักตักข้าวและเสิร์ฟอาหารให้ผู้หญิงด้วย

แขกผู้มาเยี่ยมเยือนพิพิธภัณฑ์ป่าไม้แห่งนี้ นอกจากจะต้องเตรียมชามข้าวและตะเกียบเอง รวมทั้งห้ามทิ้งขยะเรี่ยราดแล้ว ยังต้องปฏิบัติต่อผู้อื่นด้วยการให้เกียรติ ช่วยตักข้าว เสิร์ฟอาหาร ปลุกจิตสำนึกของการให้บริการให้เข้าไปอยู่ในใจของทุกคน

 

บทเรียนที่ 2: บทเรียนด้านจริยธรรมต่อสิ่งแวดล้อม

ในที่สุด เราก็ได้ลิ้มรสอาหารแสนอร่อยของชาวบูนันจนได้ เนื้อหมูติดมันที่พะโล้ด้วยสมุนไพรหงเถิง (紅藤) มีสีคล้ำโดยไม่ต้องใส่ซีอิ๊ว ใบผักกาดช้างห่อเห็ดเข็มทองทอดที่กรอบอร่อย ใบเจี่ยซวนเจียง (假酸漿) ห่อข้าวฟ่างและหมูติดมันซึ่งเรียกว่า A-Bai คืออาหารประจำเทศกาลเฉลิมฉลองต่างๆ และยังมียอดฟักแม้วผัดบะหมี่สำเร็จรูปที่เป็นอาหารง่ายๆ ใช้รับประทานขณะทำงานบนภูเขา นอกจากนี้ ยังมีอาหารที่ใช้ผักตามฤดูกาลเป็นวัตถุดิบ เช่น สลัดบ๊วย แตงกวาคลุกกับเสาวรส ฟักแม้ว ฟักทอง ฯลฯ Aliman เน้นว่า “ป่าไม้ก็คือตู้เย็นของพวกเราชาวบูนัน อาหารทุกคำที่กลืนลงท้องล้วนมาจากผืนแผ่นดินประทานให้เป็นของขวัญ”

Aliman ยึดมั่นในการอนุรักษ์ธรรมชาติ ในเขตพิพิธภัณฑ์จึงไม่มีการใช้ไฟฟ้า ไม่มีแก๊สหุงต้ม คนทำงานต้องตื่นตั้งแต่ 7 โมงเช้า เริ่มก่อฟืน ข้าวที่หุง ผักที่ลวก ต่างก็มีรสชาติจากธรรมชาติอย่างแท้จริง

การลิ้มรสอาหาร การเดินท่องไปบนเส้นทางโบราณของนายพราน ทำให้ผู้มาเยือนได้มีโอกาสเข้าใจในวัฒนธรรมของชาวบูนันในเชิงลึก ก่อนเดินทางกลับ ทุกคนร่วมกันปลูกต้นไม้หนึ่งต้น มือประสานกันร้องเพลงอวยพรต้นไม้เล็ก ด้วยเพลงประสานเสียง 8 ระดับ (Eight-Part) ของชาวบูนัน จนดังกึกก้องไปทั่วทั้งป่า การไปท่องพิพิธภัณฑ์เพื่อสร้างความใกล้ชิดกับป่าไม้ในครั้งนี้ ถือเป็นความทรงจำที่ยากจะลืมเลือนจริงๆ