ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
1+1 ผลบวกอนันต์ เส้นทางสู่การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกของ Wang Chi-lin และ Lee Yang
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-02-21

หวังฉีหลินกับหลี่หยาง พยายามอย่างหนักเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายเดียวกัน ทั้งคู่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และจะร่วมมือต่อสู้ไปด้วยกัน เพื่อกวาดชัยชนะสนามต่างๆ ในอนาคต

หวังฉีหลินกับหลี่หยาง พยายามอย่างหนักเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายเดียวกัน ทั้งคู่มีความไว้เนื้อเชื่อใจกัน และจะร่วมมือต่อสู้ไปด้วยกัน เพื่อกวาดชัยชนะสนามต่างๆ ในอนาคต
 

เมื่อธงโอลิมปิกของไต้หวันถูกเชิญขึ้นสู่ยอดเสาอย่างช้าๆ ภายในสนามแข่งขันโตเกียวโอลิมปิก พร้อมกับเสียงเพลงธงชาติที่ดังขึ้น ประชาชนที่เกาะติดอยู่หน้าจอโทรทัศน์ต่างพากันรู้สึกปลื้มปีติอย่างหาที่สุดไม่ได้ ส่วนหวังฉีหลิน (王齊麟) และหลี่หยาง (李洋) ผู้ที่คว้าเหรียญทองในการแข่งแบดมินตันประเภทชายคู่ ก็เปี่ยมล้นไปด้วยความรู้สึกที่เกินจะพรรณนาเป็นคำพูดได้ ฝีไม้ลายมือที่ยอดเยี่ยมของพวกเขาทำให้ทั่วโลกได้ประจักษ์ว่า วงการแบดมินตันของไต้หวันมีศักยภาพอย่างไร้ขีดจำกัดจริงๆ

 

ในการแข่งขันแบดมินตันชายคู่รอบชิงเหรียญทองของโตเกียวโอลิมปิก ไต้หวันพบกับจีน ซึ่งคะแนนในเกมที่สองมาถึงแต้มสุดท้าย (Match Point) ที่ 20 ต่อ 12 หลี่หยางตีลูกแบ็คแฮนด์กลับไปตกลงบนเส้น ฝ่ายตรงข้ามขอดูภาพช้า (Challenge) ผู้ชมทั่วทั้งสนามต่างรอคอยผลอย่างใจจดใจจ่อ วินาทีที่กรรมการประกาศคำตัดสินออกมาว่า “ลง” (IN) เสียงกองเชียร์ในสนามก็ดังกึกก้องขึ้นมา หวังฉีหลินกับหลี่หยางเอาชนะคู่ต่อสู้จากจีนไปได้ 2 เกมรวด สร้างประวัติศาสตร์หน้าใหม่ให้กับแบดมินตันชายคู่ของไต้หวัน ด้วยการเข้ารอบ 8 ทีมสุดท้ายพร้อมกับคว้าเหรียญทองโอลิมปิกมาครองได้สำเร็จ

อย่างไรก็ตาม ความสำเร็จที่เกิดขึ้นไม่ใช่เป็นเรื่องบังเอิญ เพราะนักกีฬาทั้งสองคนต้องทำการฝึกซ้อมอย่างหนักมาตั้งแต่เด็กๆ ผู้ปกครองเต็มใจสนับสนุนในสิ่งที่ลูกสนใจอย่างเต็มที่ และในที่สุด การบ่มเพาะมาอย่างยาวนานของวงการแบดมินตันไต้หวันก็ผลิดอกออกผลอย่างงดงาม

 

พบกันบนเส้นทางแห่งความฝัน

สำหรับหวังฉีหลินแล้ว แบดมินตันก็เปรียบเสมือนยีนที่ฝังลึกลงไปในกระดูก เพราะมีพ่อแม่เป็นคนรักในกีฬาแบดมินตัน ทั้งคู่พบกันและตกหลุมรักกันที่สนามแบด แม้กระทั่งตอนที่มีหวังฉีหลินอยู่ในครรภ์ก็ยังไปตีแบดอยู่เรื่อยๆ หวังเหว่ยเจี้ยน (王偉建) ผู้เป็นพ่อพูดพลางหัวเราะไปว่า ตนเองใช้แบดมินตันสอนลูกตั้งแต่อยู่ในครรภ์ ดังนั้นหวังฉีหลินผู้มีอายุ 26 ปี จึงมีประสบการณ์เล่นแบดมินตันมาแล้วถึง 27 ปี

หวังฉีหลินตามพ่อแม่ไปสนามแบดมินตันตั้งแต่เด็กๆ การวิ่งเล่นอยู่ข้างสนามแกว่งไม้แบดไปมา ทำให้เขาเกิดความสนใจในกีฬาแบดมินตันและมีเป้าหมายมาตั้งแต่นั้นว่าจะเป็นนักกีฬาทีมชาติให้ได้ เมื่อหวังเหว่ยเจี้ยนเห็นว่าหวังฉีหลินมีความสนใจในกีฬาแบดมินตัน จึงตัดสินใจย้ายเขามาเรียนที่โรงเรียนประถมหมินเฉวียน ซึ่งมีทีมแบดมินตันที่แข็งแกร่ง จากนั้นก็จ้างโค้ชแบดมินตันระดับโอลิมปิกมาช่วยฝึกสอนหวังฉีหลินในช่วงวันหยุด เพื่อสนับสนุนความฝันของเขาอย่างเต็มที่

ยังมีคุณพ่ออีกท่านที่เป็นผู้หลงใหลในกีฬาแบดมินตันเช่นกัน แต่หลี่หยางพูดพลางหัวเราะว่า เพราะตอนเด็กๆ ตนเองอ้วนเกินไป จึงถูกพ่อจับไปออกกำลังกาย และความที่จังหวะในการเล่นแบดมินตันนั้นต้องเร็ว ต้องวิ่ง และแกว่งไม้แบด ทำให้หลี่หยางที่ตัวอ้วนต้องพบกับความยากลำบากเมื่อต้องวิ่งในสนามช่วงแรก และไม่อยากจะเล่นแบดมินตัน จนกระทั่งขึ้นระดับชั้นมัธยมต้น หลี่หยางจึงค่อยๆ ตระหนักว่าเขาชอบแบดมินตัน และไม่ต้องถูกพ่อบังคับให้เล่นแบดมินตันอีกต่อไป

เพื่อเป็นการสนับสนุนความสนใจของลูก ตอนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 2 หลี่จวิ้นอวี้ (李峻淯) ผู้เป็นพ่อจึงให้หลี่หยางย้ายไปเรียนสายพลศึกษาที่โรงเรียนมัธยมจงซาน นี่เป็นครั้งแรกที่หวังฉีหลินกับหลี่หยางได้พบกัน เมื่อย้อนนึกไปถึงภาพของหลี่หยางจากความทรงจำในตอนนั้น หวังฉีหลินกล่าวว่า เริ่มแรกรู้สึกเพียงว่าเพื่อนนักเรียนอ้วนๆ คนนี้น่ารักดี แต่คิดไม่ถึงว่าพอลงสนามหลี่หยางก็วาดลวดลายการตีแบดอย่างหลากหลาย ซึ่งไม่ใช่สไตล์การเล่นที่จะรับมือได้ง่ายๆ “ตอนนั้นผมรู้สึกว่าการตีแบดของเขามีความพิเศษมาก และต้องทำผลงานดีๆ ได้อย่างแน่นอน”

หวังฉีหลินที่เริ่มเข้าสู่วงการก่อน โดยมีผลงานที่ดีตั้งแต่ระดับชั้นประถม พอขึ้นระดับมัธยมต้นก็เป็นชายคู่มือ 1 ของทีมโรงเรียน และคว้าชัยชนะจากการลงแข่งขันมานับครั้งไม่ถ้วน ตอนนั้นหลี่หยางที่พ่ายแพ้มาโดยตลอด เมื่อเห็นสไตล์การเล่นของหวังฉีหลินที่ยากจะต่อกร เขาจึงทำได้เพียงพยายามฝึกฝนฝีมือเพื่อเร่งตามให้ทัน

 

ความพยายามในแต่ละสนามแข่งขัน

หลังจบการศึกษาระดับมัธยมต้น หวังฉีหลินก็ถูกธนาคาร Land Bank of Taiwan ดึงตัวเข้าไปศึกษาต่อที่วิทยาลัยบริหารธุรกิจ และเข้าร่วมกับทีมสโมสร Land Bank of Taiwan ในปีค.ศ.2012 ตอนเรียนอยู่ชั้นมัธยมศึกษาปีที่ 5 หวังฉีหลินก็สามารถทำอันดับขึ้นไปอยู่กลุ่ม A ของประเทศ และในปีเดียวกันยังคว้ารางวัลรองชนะเลิศประเภทชายคู่ในการแข่งขัน Badminton Asia Junior Championships มาครอง จากนั้นในปีถัดมาได้เข้าร่วมในรายการแข่งขัน Maldives International Badminton Challenge กับ BWF World Junior Championships ซึ่งล้วนทำผลงานได้ดี จึงทำให้เริ่มมีชื่อเป็นที่รู้จักในการแข่งขันระดับนานาชาติ

ส่วนหลี่หยางได้เข้าเรียนต่อที่โรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายจีหลง ซึ่งเป็นอีกสถาบันที่มีทีมแบดมินตันแข็งแกร่ง ถึงแม้จะพบกับความพ่ายแพ้อยู่เป็นประจำ แต่ด้วยความรักในกีฬาแบดมินตัน ทำให้หลี่หยางยังยืนหยัดอยู่บนถนนสายนี้ เส้นทางสู่การขึ้นเป็นกลุ่ม A เพื่อจะเป็นนักกีฬาอาชีพทำให้ต้องฝึกหนัก แต่ไม่ว่าหลี่หยางจะฝึกฝนหนักแค่ไหน ผลงานที่ออกมาก็มักจะอยู่ในระดับกลางๆ ไม่ขึ้นไม่ลงมาตลอด จนล่วงเลยมาระยะเวลาหนึ่งแล้วยังไม่สามารถก้าวผ่านกำแพงที่มองไม่เห็นนี้ไปได้ เขาจึงเริ่มเกิดความหวั่นไหว และตัดสินใจเปลี่ยนเส้นทางมาศึกษาต่อที่มหาวิทยาลัย National Taipei University of Business ในสาขาบริหารธุรกิจ เมื่อเห็นว่าหลี่หยางกำลังสับสนในชีวิต พ่อของเขาจึงพูดขึ้นมาประโยคหนึ่งว่า “ลูกไม่เหมาะกับอะไรแบบนั้นหรอก” หลี่หยางผู้ปฏิเสธการยอมรับความพ่ายแพ้ จึงถูกกระตุ้นจิตวิญญาณแห่งการต่อสู้ขึ้นมาอีกครั้ง ทำให้ในปีค.ศ.2013 เขาสามารถคว้าแชมป์ในกลุ่ม B ของการแข่งขันแบดมินตันระดับประเทศ และขยับขึ้นมาอยู่ในกลุ่ม A ได้สำเร็จ

หวังฉีหลินที่เข้าร่วมกับทีมสโมสร Land Bank of Taiwan แม้จะมีผลงานที่ดีแต่ก็ไม่เคยมีการจับคู่ที่ตายตัว เพื่อนที่ร่วมแข่งขันด้วยกันหลายคนก็ค่อยๆ ห่างหายไปจากวงการแบดมินตัน จนเขาเริ่มรู้สึกสับสน ตอนนั้นหลี่ซงหย่วน (李松遠) ผู้เป็นโค้ช จึงให้เฉินหงหลิน (陳宏麟) มาจับคู่กับหวังฉีหลิน เฉินหงหลินผู้มีประสบการณ์การแข่งขันมาแล้วหลายรายการ เคยเป็นชายคู่อันดับ 8 และคู่ผสมอันดับ 5 ของโลก เขาได้นำประสบการณ์การแข่งขันของตนเองในระดับนานาชาติมาฝึกสอนหวังฉีหลินอย่างเต็มที่ หลังจากทั้งสองคนเริ่มจับคู่กันในปีค.ศ.2014 สามารถคว้าแชมป์ในรายการแข่งขันจัดลำดับระดับประเทศ รวมทั้งคว้าแชมป์ในการแข่งขันระดับ The BWF Grand Prix อีก 3 รายการ

ขณะที่หวังฉีหลินกำลังจับคู่กับเฉินหงหลินในการลงแข่งนั้น หลี่หยางก็ได้เข้าร่วมกับทีมสโมสรแบดมินตัน Taiwan Cooperative Bank โดยในปีค.ศ.2015 เริ่มจับคู่กับหลี่เจ๋อฮุย (李哲輝) ซึ่งเป็นรุ่นพี่โรงเรียนตั้งแต่ระดับประถมจนถึง ม.ปลาย ทั้งสองคนร่วมกันคว้าแชมป์ในรายการแข่งขันจัดลำดับระดับประเทศ การแข่งขัน Macau Open Badminton Championships และ French Super Series เป็นต้น

 

พยายามสุดกำลังในสนามแข่งของตัวเอง

ความพยายามในสนามแข่งขันของตัวเอง ส่งผลให้ในปีค.ศ.2018 หวังฉีหลินและเฉินหงหลินคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขัน BWF World Championships มาครอง พร้อมกับการขึ้นไปเป็นชายคู่มือวางอันดับ 4 ของโลก ขณะที่หลี่หยางและหลี่เจ๋อฮุยก็สามารถคว้าเหรียญทองแดงจากการแข่งขันกีฬาเอเชียนเกมส์ (Asian Games) ซึ่งทั้งสองคนมีอันดับสูงสุดในระดับโลกอยู่ที่อันดับ 7 โดยในปีนั้นทั้งสองฝ่ายต่างไม่เพียงไปถึงยังจุดสูงสุดของตัวเอง แต่ยังเป็นปีแห่งความพลิกผันด้วยเช่นกัน

ช่วงปลายปีค.ศ.2018 นักกีฬาแบดมินตันฝีมือดีล้วนต้องพยายามเก็บสะสมคะแนนเพื่อเตรียมความพร้อมสำหรับการแข่งขันกีฬาโอลิมปิก แต่ตอนนั้นเฉินหงหลิน วัย 32 ปี ซึ่งมีอาการบาดเจ็บเรื้อรังบริเวณช่วงไหล่ถึงต้นคอ เขารู้ตัวเองดีว่าไม่ได้มีพละกำลังแข็งแกร่งเหมือนเมื่อก่อน จึงคิดว่าคงเป็นเรื่องยากที่จะคว้าเหรียญรางวัลในการแข่งขันโอลิมปิก ดังนั้นหลังจากที่ได้ปรึกษากับหลี่ซงหย่วนแล้ว จึงหันไปทาบทามหลี่หยางที่สังกัดอยู่กับทีมสโมสร Taiwan Cooperative Bank เฉินหงหลินวิเคราะห์ว่า หวังฉีหลินมีความสามารถในการบุกจากท้ายคอร์ทได้ดี ส่วนหลี่หยางก็มีทักษะที่ดีในการเล่นหน้าเน็ต ดังนั้นการเล่นของทั้งสองคนจึงเป็นการเติมเต็มซึ่งกันและกัน แม้ว่าการเกษียณก่อนจะทำให้เงินโบนัสลดลงและมีรายได้น้อยลง แต่เฉินหงหลินกลับคิดว่า “ถ้าสองคนนั้นจับคู่กันแล้วดีขึ้นกว่าเดิม ทำไมจะไม่ทำล่ะ?” ด้วยเหตุนี้ เขาจึงตัดสินใจละทิ้งเส้นทางนักกีฬาที่จะมุ่งสู่การแข่งขันโอลิมปิก และเกษียณตนเองด้วยใจเด็ดเดี่ยวโดยไม่มีความรู้สึกเสียดายเลยแม้แต่นิดเดียว

ภายใต้การชักนำของเฉินหงหลิน ทีมแบดมินตันจึงเริ่มทาบทามหลี่หยาง แต่สำหรับหลี่หยางแล้วนี่ไม่ใช่เรื่องง่ายๆ ในการตัดสินใจ เพราะนั่นหมายความว่าเขาต้องเดินออกมาจากทีมแบดมินตันและคู่ตีที่เติบโตบนเส้นทางสายนี้มาด้วยกัน อันดับโลกและคะแนนสะสมทั้งหมดก็จะกลายเป็นศูนย์ ทั้งยังต้องลาออกจากการเป็นพนักงานของ Taiwan Cooperative Bank เพื่อเข้ามาทำการสอบคัดเลือกใหม่ที่ Land Bank of Taiwan โดยไม่มีใครกล้ารับประกันได้ว่า การจับคู่ระหว่างเขากับหวังฉีหลินจะสามารถทำผลงานได้เจิดจรัสแค่ไหน หลี่หยางกล่าวว่า ตอนนั้นต้องแบกรับความไม่แน่นอนและการถูกมองในแง่ลบอย่างมากมาย สำหรับผู้ที่เดินบนเส้นทางสายนี้ด้วยความระมัดระวังมาโดยตลอดแบบเขา ต้องใช้เวลาพิจารณาอยู่นาน 2 เดือน กว่าที่จะตัดสินใจก้าวออกมาจากคอมฟอร์ทโซน เพื่อความก้าวหน้าครั้งสำคัญและเริ่มต้นใหม่อีกครั้ง

 

การรวมตัวที่ให้กำเนิดเหรียญทองโอลิมปิก

เฉินหงหลินซึ่งคุ้นเคยกับแนวทางการเล่นของนักกีฬาทั้งสองคนเป็นอย่างดี จึงเข้ามารับหน้าที่เป็นโค้ชฝึกสอน และเป็นหนึ่งในกุญแจสำคัญแห่งความสำเร็จของหวังฉีหลินกับหลี่หยาง หลี่ซงหย่วนกล่าวว่า เฉินหงหลินเพิ่งเสร็จสิ้นการแข่งขัน BWF World Championships จึงเป็นผู้ที่มีความเหมาะสมที่สุด มีความสามารถในการวิเคราะห์สถานการณ์ของผู้เล่นต่างชาติ ใช้ประสบการณ์ของตนเองในการฝึกสอนหวังฉีหลินกับหลี่หยาง และการที่เฉินหงหลินยังคงลงแข่งขันในสนามจริง ก็ถือเป็นคู่ซ้อมที่ดีที่สุดด้วย ทั้งนี้สิ่งสำคัญที่สุดคือ เขาเป็นนักกีฬาแบดมินตันไต้หวันคนแรกที่ติดท็อปเทนของโลกในประเภทชายคู่และคู่ผสม ดังนั้นหวังฉีหลินกับหลี่หยางจึงให้ความเคารพเป็นอย่างยิ่ง ในสนามแข่งขันเฉินหงหลินมีความใจเย็นและวิเคราะห์เกมการเล่นได้อย่างแม่นยำ มีการให้คำแนะนำและกลยุทธ์ในการต่อสู้ ถือเป็นพลังอันเข้มแข็งที่สร้างความมั่นใจให้กับหวังฉีหลินและหลี่หยางระหว่างทำการแข่งขันด้วย

การแข่งขันแบดมินตันประเภทคู่ที่ดี จำเป็นต้องมีความเข้าใจในสถานการณ์ของคู่หูของเราอยู่เสมอ เพื่อนำมาปรับให้เกิดความสมดุล หวังฉีหลินกล่าวว่า ทั้งสองคนต้องสื่อสารกันอย่างตรงไปตรงมา เมื่อพบจุดที่เป็นปัญหาก็ต้องพูดออกมา ข้อพิพาทหรือความขัดแย้งล้วนเป็นสิ่งที่ต้องเกิดขึ้น เพราะพวกเราล้วนต่างคิดหาวิธีที่จะทำทุกอย่างให้ดียิ่งขึ้นไปด้วยกัน

บางทีอาจเป็นเพราะมีเป้าหมายเดียวกัน จึงมีความเชื่อมั่นว่าคู่ของเราจะพยายามอย่างเต็มที่จนถึงลูกสุดท้าย และนั่นก็ทำให้หวังฉีหลินกับหลี่หยางเข้าอกเข้าใจกันไปโดยปริยาย เดือนกุมภาพันธ์ ปีค.ศ.2019 ทั้งสองเปิดตัวในการแข่งขันระดับสากลครั้งแรก โดยคว้ารางวัลชนะเลิศในการแข่งขัน Spain Masters Tournament มาครอง หลังจากนั้นยังเข้าไปถึงรอบชิงชนะเลิศในรายการแข่งขันระดับ BWF Super Series ที่สวิตเซอร์แลนด์ อินเดีย สหรัฐอเมริกา และเกาหลีใต้ด้วย

ในช่วงต้นปีค.ศ.2020 หลังจากทำการแข่งขันระดับ BWF World Tour ไปได้ไม่กี่สนาม การจัดแข่งขันในระดับนานาชาติก็ต้องหยุดชะงัก เพราะสถานการณ์การแพร่ระบาดโควิด-19 หวังฉีหลินกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า นั่นกลับทำให้พวกเขามีเวลาในการฝึกซ้อมวิ่งสลับหมุนเวียนรับลูกและเทคนิคการเล่นที่เข้าขากันมากขึ้น ขณะที่หลี่หยางกล่าวว่า ช่วงต้นปีนี้เราลงแข่งขันใน 3 รายการ และสามารถเอาชนะติดต่อกันมาได้ถึง 15 นัด พวกเรารู้สึกว่าเหมือนจะมาถูกทางแล้ว เป็นส่วนผสมที่มีความลงตัวพอดี

แต่สิ่งที่ไม่คาดคิดก็คือ การจับคู่กันที่เอาชนะมาทุกสนามอย่างหวังฉีหลินและหลี่หยาง ปรากฏว่าต้องพบกับความพ่ายแพ้ในการแข่งขันแบดมินตันรอบแบ่งกลุ่มในกีฬาโอลิมปิกสนามแรก

 

สักขีพยานแห่งสปิริตของไต้หวัน

หลี่หยางกล่าวว่า เมื่อปีค.ศ.2017 ชายคู่ไต้หวันเคยมีคะแนนติดอยู่ในมือวาง 10 อันดับแรกของโลกพร้อมกันทีเดียวถึง 3 กลุ่ม แต่ผลงานดังกล่าวไม่มีใครในไต้หวันรับรู้ ทั้งหวังฉีหลินและหลี่หยางจึงจะต้องแบกรับความรับผิดชอบในการทำให้แบดมินตันประเภทชายคู่กลายเป็นที่ประจักษ์ ซึ่งนั่นก็ส่งผลให้พวกเขามีความกดดันว่าตนเองจะแพ้ไม่ได้ บวกกับความเครียดในการเข้าร่วมแข่งขันกีฬาโอลิมปิกครั้งแรก ก็ทำให้พ่ายแพ้ต่ออินเดียในรอบแบ่งกลุ่มนัดแรกไปอย่างน่าเสียดาย

แต่การจะเป็นนักกีฬาที่ดีได้ต้องมีสปิริตและจิตใจที่แข็งแกร่ง ทั้งคู่จึงรีบจัดการปรับทัศนคติของตนเองอย่างรวดเร็ว หลี่หยางกล่าวว่า แม้ความหวังจะริบหรี่ แต่สิ่งที่เราทำได้คือการมองในแง่บวกด้วยทัศนคติที่ดี และจะต้องไม่ยอมแพ้ง่ายๆ

ดังนั้น ทั้งสองคนซึ่งตกอยู่ในภาวะหมดทางถอย ต้องเดินหน้าสู้ตายอย่างเดียว โดยตัดสินใจว่าจะสนุกกับการแข่งขันในทุกแมตซ์ที่เหลือ และจะคว้าทุกโอกาสเอาไว้ให้ได้ หวังฉีหลินและหลี่หยางได้เข้ารอบลึกขึ้นเรื่อยๆ จนกระทั่งในรอบชิงชนะเลิศพวกเขาต้องพบกับทีมแบดมินตันจากจีนคือ หลี่จวิ้นฮุ่ย (李俊慧) กับ หลิวอวี่เฉิน (劉雨辰) ซึ่งทั้งสองฝ่ายไม่เคยประมือกันมาก่อน แต่ทั้งคู่ก็ไม่กลัวแม้เกมแรกจะถูกคู่แข่งออกนำไปก่อน ความเป็นทีมเวิร์คที่ยอดเยี่ยมและความเข้าใจซึ่งกันและกัน ทำให้พวกเขาแสดงฝีไม้ลายมือได้อย่างน่าอัศจรรย์และต้านทานแรงกดดันจนเอาชนะคู่ต่อสู้ได้สำเร็จ ส่งผลให้หวังฉีหลินกับหลี่หยางชนะการแข่งขันในโตเกียวโอลิมปิก 5 แมตซ์ติดต่อกัน และคว้ารางวัลเหรียญทองโอลิมปิกแบดมินตันชายคู่มาให้ไต้หวันได้เป็นครั้งแรก

สำหรับทั้ง 3 คน หลี่หยาง หวังฉีหลิน และเฉินหงหลิน พวกเขามองว่าโอลิมปิกเป็นเพียงสนามหนึ่งของการแข่งขันเท่านั้น หลังเสร็จสิ้นภารกิจนี้แล้วก็ต้องกลับมาฝึกซ้อมต่อ เพื่อทำหน้าที่ของการเป็นนักกีฬาที่ดี ยึดเอาความตั้งใจเดิมคือความรักในกีฬาแบดมินตันให้คงอยู่ตลอดไป พวกเขาไม่เพียงทำให้ทั่วโลกได้เห็นถึงศักยภาพของแบดมินตันไต้หวัน แต่ความพยายามอย่างเต็มที่ในการเล่นทุกลูกและต่อสู้จนถึงวินาทีสุดท้าย ยิ่งแสดงถึงจิตวิญญาณอันยอดเยี่ยมของไต้หวันอย่างแท้จริง

 

เพิ่มเติม

1+1 ผลบวกอนันต์ เส้นทางสู่การคว้าเหรียญทองโอลิมปิกของ Wang Chi-lin และ Lee Yang