ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
นั่งรถไฟเที่ยวชิลๆ ชมทัศนียภาพบน เส้นทางสายใต้
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-02-28

หัวรถจักรดีเซลรุ่น R100 ที่บรรดาแฟนคลับคนรักรถไฟรู้สึกเสียดายอย่างสุดซึ้ง แม้จะวิ่งด้วยความเร็วต่ำ แต่สามารถพาผู้โดยสารเดินทางท่องเที่ยวแบบชิลๆ ได้ดั่งใจปรารถนา

หัวรถจักรดีเซลรุ่น R100 ที่บรรดาแฟนคลับคนรักรถไฟรู้สึกเสียดายอย่างสุดซึ้ง แม้จะวิ่งด้วยความเร็วต่ำ แต่สามารถพาผู้โดยสารเดินทางท่องเที่ยวแบบชิลๆ ได้ดั่งใจปรารถนา
 

ในช่วงตลอดทั้งปีค.ศ.2020 บรรดาคนรักรถไฟต่างตระเวนไปตามเส้นทางรถไฟสายใต้ช่วงระหว่างเมืองผิงตงและไถตงเพื่อรอถ่ายภาพขบวนรถไฟที่แล่นผ่านบริเวณพื้นที่ลุ่มแม่น้ำเจีย จินหลินตอนล่าง ในตำบลต้าอู่ เมืองไถตง โดยมีมหาสมุทรแปซิฟิกเป็นฉากหลัง ปานประหนึ่งขบวนรถไฟกำลังแล่นอยู่เหนือน้ำทะเล หรือไม่ก็ไปรอถ่ายภาพขบวนรถไฟกับทิวทัศน์ทะเลและท้องฟ้าสีครามที่กว้างไกลสุดลูกหูลูกตา ณ สถานีรถไฟตัวเหลียง เพื่อเก็บบันทึกทัศนียภาพเส้นทางรถไฟที่ปราศจากเสาไฟฟ้าก่อนที่จะเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าครอบคลุมตลอดทั้งสาย

 

เส้นทางรถไฟสายใต้ที่เปิดเดินรถเมื่อปีค.ศ.1991 เป็นช่วงหนึ่งของเส้นทางรถไฟรอบเกาะไต้หวันที่ก่อสร้างแล้วเสร็จลงเป็นลำดับสุดท้าย และปีค.ศ.2021 ก็เป็นปีแห่งการครบรอบ 30 ปีของการเปิดให้เดินรถ โดยก่อนหน้านั้นหนึ่งปี การรถไฟไต้หวัน (TRA) ได้ทำการก่อสร้างทางรถไฟสายใต้ที่ใช้ระบบไฟฟ้าแล้วเสร็จลง ทำให้การสัญจรไปมาระหว่างพื้นที่ต่างๆ ทางภาคใต้ของไต้หวันถูกเชื่อมโยงเข้าหากันได้อย่างรวดเร็วยิ่งขึ้น แต่นอกจากเปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าและเพิ่มความรวดเร็วในการเดินทางแล้ว เส้นทางรถไฟสายใต้ไม่ได้เป็นเพียงเส้นทางสำหรับการเดินทางเท่านั้น แต่ยังแฝงไว้ด้วยเรื่องราวและทัศนียภาพที่สวยงามมากมาย กล่าวได้ว่าเป็น “เส้นทางที่ทำให้ได้เห็นไต้หวันในมุมมองที่แตกต่างออกไป”

 

สุดยอดแห่งวิศวกรรม

เซียวจวี๋เจิน (蕭菊貞) ผู้กำกับภาพยนตร์สารคดีเรื่องผู้สร้างทางรถไฟสายใต้ (南迴鐵道員) ซึ่งอยู่ระหว่างการถ่ายทำ เคยเปรียบเปรยว่า “เส้นทางสายใต้มีลักษณะเหมือนโลโก้ของ Nike” ตลอดระยะทางเกือบ 100 กิโลเมตรที่เริ่มต้นจากสถานีฟางเหลียว เมืองผิงตง ไปสิ้นสุดลงที่เมืองไถตง ระหว่างทางเมื่อตัดผ่านแม่น้ำจะสร้างสะพานข้ามไป หรือเมื่อต้องผ่านภูเขาก็จะเจาะอุโมงค์ลอดไป

ระบบทางรถไฟไต้หวันได้รับการวางแผนและก่อสร้างโดยฝีมือของชาวญี่ปุ่น ซึ่งส่วนใหญ่ก่อสร้างแล้วเสร็จลงตั้งแต่ช่วงก่อนสงครามโลกครั้งที่ 2 ยกเว้นเส้นทางรถไฟสายเหนือ (ซูอ้าว-ฮัวเหลียน) และสายใต้ (ฟางเหลียว-ไถตง) โดยเส้นทางสายเหนือเปิดเดินรถในปีค.ศ.1980 ส่วนสายใต้เปิดเดินรถช้าที่สุดเพราะในปีค.ศ.1991 จึงก่อสร้างแล้วเสร็จ ต่อมาในปีค.ศ.2003 เส้นทางรถไฟสายเหนือได้เปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าตลอดทั้งสาย ส่วนโครงการรางรถไฟระบบไฟฟ้าของเส้นทางสายใต้ก่อสร้างแล้วเสร็จลงในปีค.ศ.2020 ซึ่งก็หมายถึงการก้าวสู่ศักราชใหม่ของเส้นทางรถไฟไต้หวัน

ในความเป็นจริงแล้ว ยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันได้เคยมีการหารือเกี่ยวกับโครงการเส้นทางรถไฟที่ตัดผ่านเมืองผิงตงกับไถตง แต่เนื่องจากลักษณะทางธรณีวิทยาในพื้นที่มีความซับซ้อนและหลากหลาย จึงเป็นอุปสรรคสำคัญต่อการก่อสร้างทางรถไฟ เซียวจวี๋เจินเล่าว่า “ร้อยละ 80 ของเส้นทางสายนี้จะเป็นอุโมงค์และสะพานสูง ทำให้มีความยากลำบากในการก่อสร้าง” สำหรับสิ่งที่ควรค่าแก่การพูดถึงก็คือ “ในช่วงที่ทำการก่อสร้างเส้นทางรถไฟสายเหนือ เคยเชิญที่ปรึกษาชาวญี่ปุ่นมาให้ความช่วยเหลือ แต่เส้นทางสายใต้เป็นฝีมือการออกแบบและก่อสร้างโดยวิศวกรโยธาชาวไต้หวันทั้งหมด” ตลอดเส้นทางสายนี้มีอุโมงค์มากถึง 36 แห่ง ใช้เวลาในการก่อสร้างนาน 11 ปี ความยากลำบากของเหล่าวิศวกรและผลสัมฤทธิ์ของโครงการก่อสร้างเส้นทางสายใต้ล้วนควรค่าแก่การถูกบันทึกไว้ในประวัติศาสตร์แห่งวิศวกรรมของไต้หวัน

 

สุดยอดแห่งทัศนียภาพ

แม้เส้นทางรถไฟสายใต้จะมีความยากลำบากในการก่อสร้าง แต่กลับเป็นเส้นทางที่มีทัศนียภาพงดงามเป็นเลิศ

ขบวนรถไฟออกเดินทางจากตำบลฟางเหลียวซึ่งเป็นแหล่งเพาะเลี้ยงสัตว์น้ำที่สำคัญทางชายฝั่งตะวันตกของไต้หวัน ตลอดทางจะสามารถมองเห็นบ่อเลี้ยงปลาที่มีอยู่มากมาย และเป็นทัศนียภาพประจำถิ่นที่สามารถพบเห็นได้ตลอดปีทั้งสี่ฤดูกาล นอกจากนี้ ตำบลฟางเหลียวยังเป็นแหล่งเพาะปลูกมะม่วงพันธุ์อ้ายเหวินอีกด้วย ตลอดเส้นทางจากฟางเหลียวไปจนถึงตำบลฟางซาน ในช่วงเดือนมีนาคม-เมษายนของทุกปี จะได้เห็นช่อดอกมะม่วงบานสะพรั่งเต็มสวน และในช่วงเดือนพฤษภาคม-มิถุนายน จะเป็นช่วงที่มะม่วงติดผล ทั่วทั้งภูเขาจะเต็มไปด้วยต้นมะม่วงที่มีลูกดกเต็มต้นเป็นแนวยาวเหยียดสุดลูกหูลูกตา และนี่คือคำบรรยายภาพแห่งความทรงจำจากการถ่ายทำภาพยนตร์สารคดีเกี่ยวกับเส้นทางรถไฟสายใต้ของเซียวจวี๋เจินในช่วงเวลาหลายปีที่ผ่านมา

เดินทางล่องใต้ลงไปอีกก็จะพบกับสถานีฟางซาน ซึ่งอิงแอบอยู่กับภูเขาและแนบชิดอยู่กับทะเล สถานีนี้เป็นสถานีรถไฟที่ตั้งอยู่ทางตอนใต้สุดของไต้หวัน และเป็นจุดชมวิวพระอาทิตย์อัสดงที่มีชื่อเสียงอีกด้วย

หลังจากที่ขบวนรถไฟแล่นเข้าสู่สถานีฟางซานก็ถือว่าเป็นการบอกลาช่องแคบไต้หวัน จากนั้นขบวนรถไฟจะวกไปทางฝั่งตะวันออกเข้าสู่เทือกเขาจงหยาง (เทือกเขาที่พาดผ่านตอนกลางของเกาะไต้หวัน) จากจุดนี้เป็นต้นไปจะเริ่มเข้าสู่ดินแดนที่แทบจะไร้ร่องรอยของผู้คน ตลอดทางแทบไม่เห็นชุมชนที่อยู่อาศัย มีเพียงแม่น้ำลำธาร หุบเขา ผืนป่าที่เต็มไปด้วยต้นไม้เขียวชอุ่ม และกระท่อมคนงานที่มาปลูกแตงโมบนที่ราบลุ่มริมแม่น้ำในฤดูใบไม้ร่วงเท่านั้น

กู่ถิงเหว่ย (古庭維) อดีตผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์ Takao Railway Museum ซึ่งเป็นแฟนคลับคนรักรถไฟตัวยง เขาชอบที่จะเข้าไปอยู่กลางหุบเขาที่ให้ความรู้สึกแบบสามมิติ เพื่อถ่ายภาพรถไฟที่กำลังแล่นออกมาจากอุโมงค์ หรือกำลังแล่นผ่านที่ราบลุ่มริมแม่น้ำ ซึ่งเป็นทัศนียภาพที่พบเห็นได้ยากในสถานที่อื่นของไต้หวัน

หลังขบวนรถไฟแล่นผ่านอุโมงค์จงยางซึ่งเป็นอุโมงค์ที่ยาวที่สุดของเส้นทางสายใต้ ตั้งแต่สถานีกู่จวงเป็นต้นไปก็จะถือว่าหลุดออกมาจากเขตภูเขาแล้ว จากนั้นขบวนรถไฟจะแล่นผ่านสถานีตัวเหลียง ซึ่งเป็นสถานีที่หลิวเค่อเซียง (劉克襄 นักประพันธ์ชื่อดัง) ให้สมญานามว่าเป็น “สถานีรถไฟที่สวยงามที่สุดในชั่วเวลาหนึ่งวินาที” ทั้งนี้ เนื่องจากในปัจจุบันขบวนรถไฟจะไม่จอดที่สถานีตัวเหลียง การที่สถานีแห่งนี้ตั้งอยู่บริเวณเชิงเขาและถูกออกแบบให้ตั้งอยู่บนคานสูง ทิวทัศน์ด้านหน้าเป็นท้องทะเลสีครามของมหาสมุทรแปซิฟิกที่กว้างใหญ่ แม้ขบวนรถไฟจะแล่นผ่านไปในเวลาอันรวดเร็ว แต่ภาพความสวยงามที่ปรากฏขึ้นในชั่วพริบตากลับตราตรึงอยู่ในความทรงจำ

เมื่อขบวนรถไฟแล่นผ่านสถานีคังเล่อ ทัศนียภาพนอกหน้าต่างจะเปลี่ยนเป็นทุ่งนาสีเหลืองอร่าม ผลหมากรากไม้ก็เปลี่ยนเป็นพรรณพืชของประเทศในซีกโลกใต้ อาทิ น้อยหน่า ซึ่งจะพบเห็นได้ตลอดทางจนกระทั่งถึงสถานีไถตงซึ่งเป็นสถานีปลายทาง

เส้นทางสายใต้ซึ่งมีทั้งทัศนียภาพภูเขาที่สูงใหญ่ ทะเลที่กว้างไกล ธรรมชาติ และวัฒนธรรม ได้ชื่อว่าเป็นเส้นทางที่รวมทัศนียภาพของไต้หวันเอาไว้จนเกือบครบครัน จึงเป็นเส้นทางรถไฟที่ผู้คนหลงใหลจนยากที่จะลืมเลือน
 

หลิวเค่อเซียงหวังให้มีการอนุรักษ์ขบวนรถไฟสีน้ำเงินเอาไว้ เขาผลักดันการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า (Slow Travel) ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องความเชื่องช้า แต่เป็นการเที่ยวชมแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบ เพื่อจะได้เห็นทัศนียภาพไต้หวันที่แตกต่างออกไป

หลิวเค่อเซียงหวังให้มีการอนุรักษ์ขบวนรถไฟสีน้ำเงินเอาไว้ เขาผลักดันการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า (Slow Travel) ซึ่งไม่ได้เน้นเรื่องความเชื่องช้า แต่เป็นการเที่ยวชมแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบ เพื่อจะได้เห็นทัศนียภาพไต้หวันที่แตกต่างออกไป
 

สุดยอดแห่งการผ่อนคลายความเครียด—ขบวนรถไฟสีน้ำเงิน

ความเป็น “สุดยอด” อีกประการหนึ่งของเส้นทางสายใต้ก็คือ ขบวนรถธรรมดาที่ตู้รถไฟเป็นสีน้ำเงิน

หลังจากที่เส้นทางสายใต้เปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าอย่างสมบูรณ์แล้ว การรถไฟไต้หวันจะปรับลดสัดส่วนการใช้รถไฟที่ขับเคลื่อนด้วยเครื่องยนต์ดีเซลและหัวรถจักรดีเซล พร้อมกันนี้ยังประกาศยุติการใช้ขบวนรถธรรมดาที่ตัวรถไฟเป็นสีน้ำเงิน ทำให้ขบวนรถไฟสีน้ำเงินกลายเป็นเพียงตำนานในหน้าประวัติศาสตร์การรถไฟไต้หวัน ซึ่งได้จุดกระแส “ตามล่ารถไฟ” ในแวดวงการท่องเที่ยวในประเทศ

นอกจากนี้ หมายเลข “3671” และ “3672” ซึ่งเดิมเป็นรหัสลับของเหล่าแฟนคลับคนรักรถไฟ กลับโด่งดังเป็นอย่างมากในปี ค.ศ.2020 โดย “3671” คือหมายเลขขบวนรถไฟที่เริ่มออกเดินทางจากสถานีฟางเหลียวในเวลา 11.28 น. ของทุกวัน และ “3672” เป็นหมายเลขขบวนรถไฟที่เริ่มออกเดินทางจากสถานีไถตงในเวลา 16.15 น. ของทุกวัน ทำให้มีผู้คนแห่ไปใช้บริการรถไฟทั้งสองขบวนอย่างล้นหลาม

ขบวนรถไฟสีน้ำเงินมีประวัติเก่าแก่กว่า 50 ปีแล้ว ไม่มีเครื่องปรับอากาศ อาศัยเพียงพัดลมเก่าๆ บนเพดานที่ช่วยทำให้มีการถ่ายเทของอากาศภายในตู้โดยสาร  หน้าต่างยังเป็นแบบดันขึ้น เวลาเปิดต้องระมัดระวังเพราะกระจกหน้าต่างที่หนักอึ้งอาจร่วงลงมาหนีบมือ ส่วนห้องน้ำเป็นแบบสุขาเคลื่อนที่ซึ่งใช้น้ำยาแบบโบราณและมักมีกลิ่นของน้ำยาโชยมาแตะจมูก ขบวนรถไฟที่ใช้เชื้อเพลิงดีเซลในการขับเคลื่อนทำให้มีควันที่เกิดการเผาผลาญเชื้อเพลิงลอยเข้ามาภายในตู้โดยสาร เมื่อต้องนั่งอยู่บนรถไฟตลอดทั้งวัน ทั่วร่างกายจะอบอวลไปด้วยกลิ่นของควันน้ำมันดีเซล และระหว่างที่ขบวนรถไฟแล่นตะบึงไปข้างหน้าจะมีเสียงฉึกๆ ฉักๆ ดังกลบหูตลอดทาง กู่ถิงเหว่ยยอมรับความจริงว่า “สาเหตุที่ขบวนรถไฟสีน้ำเงินถูกโละทิ้งก็เพราะไม่สอดคล้องกับความต้องการของการใช้งานในยุคปัจจุบันแล้ว”

หลิวเค่อเซียงซึ่งเป็นผู้ผลักดันการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า (Slow Travel) มาเป็นเวลานานหลายปี ในปีค.ศ.2011 เขาเคยเคลื่อนไหวเพื่อขอต่อชีวิตให้แก่ขบวนรถไฟสีน้ำเงินด้วยการส่งจดหมายถึงการรถไฟไต้หวันหลายฉบับ โดยหวังว่าจะมีการอนุรักษ์ขบวนรถไฟสีน้ำเงินเอาไว้ เพราะไม่ได้เป็นเพียงแค่ความรู้สึกที่มีต่อยุคสมัยเท่านั้น หลิวเค่อเซียงกล่าวว่า “ผมรู้สึกว่า เราต้องการขบวนรถไฟที่ใช้สำหรับการเดินทางท่องเที่ยวแบบช้าๆ ไม่เร่งรีบด้วย”

นับถอยหลังวันเวลาในช่วงสุดท้ายก่อนที่ขบวนรถไฟสีน้ำเงินจะถูกเลิกใช้งานและเลือนหายไปจากเส้นทางรถไฟของไต้หวัน คุณพ่อคุณแม่จำนวนมากพาลูกๆ มาสัมผัสประสบการณ์นั่งรถไฟสีน้ำเงินที่ตนเองเคยใช้เป็นพาหนะในการเดินทางในสมัยที่ยังเป็นนักเรียน ในยุคสมัยที่รถยนต์ส่วนตัวยังไม่แพร่หลาย รถไฟเป็นระบบขนส่งสาธารณะสำคัญในการเดินทางของผู้ที่ต้องจากบ้านไปทำงานหรือเรียนหนังสือต่างถิ่นทั้งขาไปและขากลับ ทำให้เกิดความผูกพันกันอย่างใกล้ชิดระหว่างประชาชนทั่วไปกับรถไฟเป็นอย่างมาก

 

สุดยอดแห่งความทรงจำ—รถไฟลอดอุโมงค์

คนไต้หวันที่อายุตั้งแต่ 40 ปีขึ้นไป หากต้องจากบ้านไม่ว่าจะไปเรียนหนังสือ รับราชการทหาร หรือทำงาน ล้วนมีความทรงจำที่เกี่ยวกับรถไฟทั้งนั้น เซียวจวี๋เจินพรั่งพรูความรู้สึกที่ได้จากการสังเกตของตนเอง

นอกจากเป็นผู้กำกับภาพยนตร์แล้ว เซียวจวี๋เจินยังเป็นอาจารย์สอนวิชาภาพยนตร์ไต้หวันในมหาวิทยาลัยแห่งชาติชิงหัว (National Tsing Hua University) เธอกล่าวว่า “ฉันคิดว่ารถไฟมีบทบาทสำคัญอย่างยิ่งต่อความทรงจำในอดีตที่เกี่ยวกับชีวิตประจำวันของสามัญชนทั่วไปในไต้หวัน”

ในระหว่างการถ่ายทำภาพยนตร์ คำพูดประโยคหนึ่งของวิศวกรโครงการซึ่งทำงานก่อสร้างอุโมงค์ ที่กล่าวว่า “อุโมงค์จงยาง ที่มีระยะทางเพียง 8 กิโลเมตรเศษ ต้องใช้เวลาในการเจาะอย่างน้อย 8 ปี แต่ปัจจุบันใช้เวลาแค่ไม่กี่นาที แป๊บเดียวก็ผ่านไปแล้ว พวกคุณไม่มีวันรู้หรอกว่าในตอนนั้นพวกเราต้องเจอกับอะไรบ้าง” ได้กลายเป็นแรงกระตุ้นให้เซียวจวี๋เจินตัดสินใจถ่ายทำภาพยนตร์สารคดี เพราะต้องการขุดคุ้ยเรื่องราวที่เกี่ยวข้องออกมาให้ได้มากยิ่งขึ้น เพื่อที่จะถ่ายทอดเรื่องราวให้คนรุ่นต่อไปได้รับรู้ “เมื่อมีเรื่องราวก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยง ก็เหมือนกับตัวฉันในปัจจุบันที่มีความรู้สึกเชื่อมโยงและผูกพันกับเส้นทางรถไฟสายใต้นั่นเอง” นี่คือคำพูดที่กลั่นออกมาจากความรู้สึกของเซียวจวี๋เจิน

เคยมีเด็กนักเรียนคนหนึ่งได้แสดงความคิดเห็นต่อเรื่องราวที่เธอแบ่งปันว่า “อาจารย์คะ คราวหน้าถ้าหนูได้โดยสารรถไฟสายใต้ ช่วงที่วิ่งผ่านอุโมงค์จงยาง หนูจะไม่หลับอีกแล้ว หนูจะตั้งใจดู” เซียวจวี๋เจินกล่าวอย่างติดตลกว่า “ภายในอุโมงค์มืดมิดไปหมด ฉันก็ไม่รู้เหมือนกันว่าเธอจะดูอะไร” แต่เมื่อเข้าใจเรื่องราวของผืนแผ่นดิน ก็จะทำให้เกิดการเชื่อมโยงกันระหว่างผู้คนกับท้องถิ่น แม้ว่าจะเป็นเพียงก้าวเล็กๆ แต่ก็สามารถดึงผู้คนให้เข้ามาใกล้ชิดกับผืนแผ่นดินได้มากยิ่งขึ้น

 

ทัศนียภาพที่พบเห็นจากการท่องเที่ยวแบบไม่เร่งรีบ

กู่ถิงเหว่ยเปิดเผยว่า “หลังจากที่ทางด่วนสายตะวันตกเปิดใช้งาน การรถไฟไต้หวันก็สูญเสียความได้เปรียบด้านการเดินทางระยะไกล ในขณะนั้นมีเพียงเส้นทางรถไฟสายเหนือทางฝั่งตะวันออกและเส้นทางสายใต้ที่มีศักยภาพในการแข่งขันเทียบเคียงได้กับการเดินทางโดยรถยนต์บนทางหลวง แต่ปัจจุบันทางด่วนสายซูอ้าว-ฮัวเหลียนที่ปรับปรุงใหม่และทางด่วนสายใต้ที่มีการต่อขยายเพิ่มเติมเปิดใช้งานแล้ว ทำให้การเดินทางในปัจจุบันได้ก้าวเข้าสู่ยุคใหม่ของการเดินทางแล้ว”

จากการถอดบทเรียนข้างต้น เส้นทางสายใต้อาจเป็นโอกาสที่จะช่วยพลิกฟื้นความสนใจของประชาชนให้กลับมาทำความรู้จักและสัมผัสประสบการณ์ในการเดินทางด้วยรถไฟด้วยตนเอง หลิวเค่อเซียงซึ่งส่งเสริม “การท่องเที่ยวแบบเนิบช้า” กล่าวว่า “Slow travel หรือการท่องเที่ยวแบบเนิบช้า ไม่ใช่ให้เดินทางช้าๆ แต่เป็นการเที่ยวชมทัศนียภาพของไต้หวันที่แตกต่างออกไปอย่างช้าๆ ไม่เร่งรีบ ทัศนียภาพที่พิเศษเหล่านั้น หากเร่งรีบก็จะหาไม่เจอ “ช้า” ไม่ได้หมายถึง “เชื่องช้า” แต่หมายถึง “การสัมผัสประสบการณ์ด้วยตนเองอย่างไม่เร่งรีบเพื่อเป็นการเปิดโลกทัศน์และชมทัศนียภาพที่แตกต่างออกไป”

หลิวเค่อเซียงคุ้นเคยกับเส้นทางสายใต้ตั้งแต่ยังเป็นวัยรุ่น เขาใช้ความรู้เกี่ยวกับวิชาพิพิธภัณฑ์ศึกษามาประยุกต์ใช้ในการเดินทางท่องเที่ยว เมื่อเดินทางไปชมสถานีรถไฟต้าอู่ เขาก็จะเล่าตำนานบ้านเกิดของเสือดาว และเขายังเล่าว่า ตลอดเส้นทางตั้งแต่ฟางซานไปจนถึงไถตง ล้วนเป็นที่อยู่อาศัยของชนเผ่าผายวัน (Paiwan) อาจกล่าวได้ว่าเป็นการเดินทางท่องเที่ยวที่มีบรรยากาศแบบต่างประเทศภายในเกาะไต้หวัน เรื่องราวเล็กๆ น้อยๆ เหล่านี้ ล้วนเป็นการเพิ่มอรรถรสในการเดินทางท่องเที่ยวให้หลากหลายยิ่งขึ้น ซึ่งในความเป็นจริงแล้ว นี่คือทัศนียภาพแห่งการท่องเที่ยวแบบเนิบช้านั่นเอง

เส้นทางรถไฟไม่ได้เป็นเพียงแค่เส้นทางคมนาคมเท่านั้น แต่จากการที่เส้นทางสายใต้เปลี่ยนมาใช้ระบบไฟฟ้าและช่วยย่นระยะเวลาในการเดินรถให้สั้นลง การเชื่อมโยงกันระหว่างสถานีรถไฟแต่ละแห่งจะยิ่งมีประสิทธิภาพมากขึ้น แต่นอกจากความรวดเร็วในการเดินทางแล้ว สิ่งที่สำคัญกว่านั้น เส้นทางรถไฟของไต้หวัน “จะทำให้คุณมองเห็นเส้นทางของไต้หวันที่แตกต่างออกไป” หลิวเค่อเซียงสรุปในตอนท้ายด้วยน้ำเสียงที่แผ่วเบา

 

เพิ่มเติม

นั่งรถไฟเที่ยวชิลๆ ชมทัศนียภาพบน เส้นทางสายใต้