ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
“มังสวิรัติ” ปลุกจิตสำนึกผู้คน การเคลื่อนไหวเพื่อมังสวิรัติ เทรนด์อาหารมาแรงในไต้หวัน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-04-11

จางจื่อรุ่ย (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ริเริ่มจัดงาน No Meat Market นำพาเหล่าจิตอาสาถ่ายทอดความประทับใจจากการบริโภคมังสวิรัติ

จางจื่อรุ่ย (ที่ 3 จากซ้าย) ผู้ริเริ่มจัดงาน No Meat Market นำพาเหล่าจิตอาสาถ่ายทอดความประทับใจจากการบริโภคมังสวิรัติ
 

นี่คือการเคลื่อนไหวทางสังคมที่ปราศจากความเครียดขมึง ไม่มีเสียงตะโกนโหวกเหวกโวยวาย ลดการประณามและเสียงวิพากษ์วิจารณ์ เพิ่มความเบิกบานและความรับผิดชอบ ไม่ต้องสั่งสอนและต่อต้าน แต่เป็นการใช้ “สุขภาพ สิ่งแวดล้อม และความยั่งยืน” มาเป็นสโลแกนเพื่อดึงดูดใจผู้คน นี่คือ “การเคลื่อนไหวเพื่อมังสวิรัติ” ที่ขานรับกระแสโลก

 

ท่ามกลางสภาพอากาศขมุกขมัวต่อเนื่อง แต่เมื่อย่างกรายเข้าสู่ “ตลาดนัดแห่งความยั่งยืน” ของ eslite spectrum สาขา Songshan Cultural and Creative Park ในกรุงไทเป กลับทำให้บังเกิดความรู้สึกอบอุ่นและเบิกบานแจ่มใสขึ้นมาทันที ภายในตลาดนัดแห่งนี้มีตั้งแต่วัตถุดิบอาหารมังสวิรัติซึ่งเป็นพืชผักออร์แกนิกหลากหลายชนิด ข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่เป็นผลิตภัณฑ์รีไซเคิลคาร์บอนต่ำ รวมถึงหนังสือที่เกี่ยวกับความปลอดภัยด้านอาหาร อาหารมังสวิรัติ การศึกษาอาหารและการเกษตร (Food and Agriculture Education) ล้วนถูกรวบรวมมาไว้จนครบครัน หากสำรวจอย่างละเอียดก็จะสัมผัสได้ถึงเจตนารมณ์ที่ต้องการปรับปรุงสภาพแวดล้อมให้ดีขึ้น

ตัดภาพไปที่ No Meat Market และ Taiwan Vegan Frenzy ซึ่งเป็นตลาดนัดอาหารมังสวิรัติสัญจรที่ตระเวนไปจัดตามสถานที่ต่างๆ ทั่วไต้หวันแบบเป็นครั้งคราว อาหารว่างที่ได้รับความนิยมในไต้หวัน อาทิ แฮมเบอร์เกอร์หลากหลายสไตล์ ไก่ต้มเค็ม ไส้กรอกใหญ่ห่อไส้กรอกเล็ก และทาโกะยากิ ทุกอย่างถูกดัดแปลงเป็นอาหารเจทั้งหมด ซึ่งทำให้ผู้ที่พบเห็นเกิดอาการน้ำลายสอขึ้นมาทันที

เนื่องจากผู้คนเนืองแน่น ดังนั้นนอกจากต้องใช้ความอดทนในการยืนเข้าแถวรอแล้ว ยังต้องมีกลยุทธ์ที่ดี จึงจะสามารถซื้อผลิตภัณฑ์จากแผงจำหน่ายอาหารเจชื่อดังได้ อย่าง No Meat Market ถึงขั้นที่ต้องเตรียมกล่องใส่อาหารไปเอง แต่กระนั้นก็ดี ยังคงมีแฟนพันธุ์แท้กลุ่มหนึ่งแห่ตามไปทุกที่ ทั้งภาคเหนือ ภาคกลางและภาคใต้ ไม่ว่าจะไปเปิดตลาดที่ไหน พวกเขาก็จะตามไปถึงที่นั่น

ไม่ว่าจะเป็น Good Food Festival หรือ No Meat Market  ที่จัดโดย Leezen ร้านจำหน่ายอาหารมังสวิรัติออร์แกนิกที่ใหญ่ที่สุดในประเทศและมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ฉือซิน (Tse-Xin Organic Agriculture Foundation) ซึ่งได้สร้างกระแสแห่เข้าแถวรอซื้ออาหารเจจากแผงจำหน่ายของร้านชื่อดัง เจ้าภาพจัดงานที่เป็นทั้งองค์กรหรือบุคคลธรรมดาต่างเห็นพ้องต้องกันในการผลักดันอาหารมังสวิรัติให้เป็นที่รู้จักอย่างแพร่หลาย

เทรนด์ลดการบริโภคเนื้อสัตว์หรือไม่บริโภคเนื้อสัตว์ ได้กลายเป็นกระแสความนิยมที่กำลังมาแรง โดยคาดหวังว่าจะบรรลุเป้าหมายของการบริโภคมังสวิรัติ เพื่อช่วยให้ทุกคนมีชีวิตที่ดีขึ้นและสภาพแวดล้อมก็ได้รับการปรับปรุงให้ดีขึ้นด้วย

 

เพื่อสุขภาพและเพื่อโลกใบนี้ที่ดียิ่งขึ้น

“ปี ค.ศ.2020 สถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 (โควิด-19) ลุกลามไปทั่วโลก ซึ่งเป็นเครื่องพิสูจน์ว่า อาหารมังสวิรัติเป็นพลังสำคัญที่สอดรับกับความยั่งยืนของสิ่งแวดล้อมและความเป็นมิตรกับสัตว์” เย่ไฉ่หลิง (葉采靈) หรือ ชาร์ลีน (Charlene) ผู้จัดการฝ่ายการตลาดและประชาสัมพันธ์ มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ฉือซินเปิดเผยว่า เนื่องจากเชื้อโควิด-19 อาจมีต้นกำเนิดมาจากการบริโภคสัตว์ป่า จากมุมมองด้านระบาดวิทยาและการสาธารณสุขที่ระบุว่า การลดการบริโภคเนื้อเป็นหนึ่งในวิธีการป้องกันตนเองจากโรคและการเลือกบริโภคอาหารมังสวิรัติยังช่วยให้ความเสี่ยงในการติดเชื้อโรคติดต่อระหว่างคนและสัตว์ ลดลงอย่างมากอีกด้วย

มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ฉือซินเริ่มรณรงค์บริโภคอาหารมังสวิรัติตั้งแต่ปี ค.ศ.2004 พระอาจารย์รื่อฉาง (日常老和尚) ผู้ก่อตั้งมูลนิธิฯ มีทรรศนะว่า การกินเจช่วยลดการฆ่าสัตว์ตัดชีวิตและเป็นการคุ้มครองชีวิตสัตว์ ซึ่งเป็นหนึ่งในศีล 5 ที่เป็นหลักปฏิบัติสำคัญในการดำรงชีวิตของพุทธศาสนิกชน

อิทธิพลของหนังสือเรื่อง Diet For a New America เขียนโดย John Robbins  ทำให้ไม่เพียงแค่พุทธศาสนิกชนเท่านั้น หากทุกคนลดการบริโภคเนื้อลงสักนิด ก็จะช่วยให้บรรลุเป้าหมายการมีสุขภาพที่ดี คุ้มครองสัตว์และเพื่อให้โลกใบนี้ดีขึ้น พระอาจารย์รื่อฉางได้ก่อตั้งมูลนิธิเกษตรอินทรีย์ฉือซินขึ้น โดยมีจุดมุ่งหมายที่จะอาศัยการเกษตรอินทรีย์มาช่วยทำให้สรรพสิ่งในโลกนี้มีความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน และอีกภารกิจหนึ่งก็คือผลักดันการบริโภคอาหารมังสวิรัติ

จากการผลักดันของสมาคม Buddha's Light International Association (BLIA) ทำให้ทั่วโลกมีผู้คนมากกว่า 330,000 คน ร่วมลงนามในแผนการ Vege Plan A ซึ่งเป็นการเคลื่อนไหวที่ไม่ได้เรียกร้องให้กินเจเพียงเพื่อความเชื่อทางศาสนาหรือการดูแลสุขภาพเท่านั้น แต่เพื่อเป็นการลดภาวะโลกร้อนและแก้ไขวิกฤตอาหารด้วย ยกตัวอย่างเช่น ข้อมูลสถิติของมูลนิธิ Bliss & Wisdom Foundation ซึ่งขานรับแผนการดังกล่าวระบุว่า ตลอดปี ค.ศ.2020 มีคนเข้าร่วมแผนการนี้มากกว่า 10,000 คน บริโภคอาหารมังสวิรัติรวม 6.87 ล้านมื้อ ซึ่งเท่ากับเป็นการลดการตัดต้นไม้ 1.03 ล้านต้น ลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ 1,032 ตัน ประหยัดน้ำได้ 550,000 ตัน และลดการฟุ่มเฟือยอาหารลง 3.77 ล้านตัน

นอกจากเสนอให้ขยายเป้าหมายของการบริโภคอาหารมังสวิรัติให้กว้างไกลขึ้นแล้ว แม้แต่กลยุทธ์ในการประชาสัมพันธ์ก็เปลี่ยนจากการเกลี้ยกล่อมให้เห็นแก่ศีลธรรม เน้นย้ำความรู้สึกผิดและเป็นบาป ปรับมาเป็นการใช้ท่าทีที่เปิดกว้างและยอมรับมากขึ้น ในปี ค.ศ.2018 มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ฉือซิน และ Vegan 30 (ปัจจุบันเปลี่ยนชื่อเป็น สมาคมเพื่อความเป็นมิตรกับสัตว์แห่งไต้หวัน (KiTA)) ได้เชิญ CEVA (Center for Effective Vegan Advocacy) องค์กรที่ผลักดันและฝึกอบรมการบริโภคอาหารมังสวิรัติที่มีชื่อเสียงระดับนานาชาติ มาแบ่งปันประสบการณ์การผลักดันการบริโภคอาหารมังสวิรัติ ด้วยกลยุทธ์ที่สอดคล้องกับสภาพความเป็นจริงและมีประสิทธิผลมากขึ้น ส่งผลให้ในปี ค.ศ.2020 มูลนิธิเกษตรอินทรีย์ฉือซิน ได้เปิดตัวแคมเปญ “7 ขั้นตอนสู่การเป็นนักมังสวิรัติ” (Vegetarian How-To in Seven Steps) ซึ่งเป็นการฝึกปฏิบัติเพื่อก้าวไปสู่การเป็นนักมังสวิรัติด้วยท่าทีที่สบายๆ ไม่ได้มุ่งเน้นเป็นพิเศษในเรื่องการงดเว้นผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด (หอมแดง กระเทียม กุ้ยช่าย หลักเกียว และหอมหัวใหญ่) หรือการไม่ทานไข่และดื่มนม อีกทั้งในบางครั้งจะบริโภคอาหารที่มีเนื้อสัตว์สักมื้อก็ได้ ซึ่งในที่สุดแล้ว การบริโภคอาหารมังสวิรัติจะซึมซับเข้าเป็นส่วนหนึ่งของวิถีชีวิต ตลอดจนเปลี่ยนแปลงทัศนคติในการดำรงชีวิต

ผู้ที่เข้าร่วมแผนการ Vege Plan A มีทั้งที่เคยเป็นเจ้าของร้านเครื่องในสัตว์ลวกจิ้ม ซึ่งต่อมาได้ปิดกิจการของครอบครัวแล้วหันมาเปิดร้านกาแฟและอาหารมังสวิรัติแทน

นอกจากนี้ยังมีเจ้าของธุรกิจ ซึ่งทุกเดือนจะเลี้ยงพนักงานด้วยอาหารมังสวิรัติ 1 มื้อ และยังรับหน้าที่นำข้าวกล่องมังสวิรัติไปส่งให้บุคลากรทางการแพทย์ฟรีอีกด้วย ชาร์ลีน กล่าวว่า “ก็เพราะมีคนดี ๆ จำนวนมาก ทำความดีมากมายหลายอย่าง ภายใต้สถานการณ์การแพร่ระบาดของโควิด-19 ไต้หวันจึงกลายเป็นสถานที่ที่เปี่ยมไปด้วยความผาสุก”

 

วิถี Vegan ก็เท่ไม่เบา

หากเทียบกับนักมังสวิรัติ (vegetarian) หรือเรียกสั้น ๆ ว่า เวจจี (vegee) ที่กินไข่และดื่มนมได้ นักมังสวิรัติบริสุทธิ์หรือวีแกน (Pure vegetarian หรือ vegan) ที่ปฏิบัติตนอย่างเคร่งครัดกว่า โดยจะบริโภคอาหารและใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากพืชเท่านั้น ทั้งนี้เพื่อคุ้มครองสิทธิประโยชน์ของสัตว์ แต่มักถูกเข้าใจผิดว่าเป็นกลุ่มนักมังสวิรัติที่มีแนวคิดสุดโต่ง สวีลิ่งเซวียน (徐令軒) หรือ ซิดนีย์ (Sidney) ซึ่งเป็นครูสอนภาษาอังกฤษและเป็นล่ามแปลภาษา ถูกเพื่อน ๆ ตั้งฉายาให้ว่า ผู้บริโภคพืช (Herbivore) แต่เธอกลับสามารถเผยแพร่อุดมการณ์ของ Vegan ได้อย่างมีสไตล์ เท่และทันสมัย

Vegan ไม่ใช่การกินเจตามความเชื่อทางศาสนา หรือการกินเจแบบกินผักกลิ่นฉุน 5 ชนิด แต่เพื่ออนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและคุ้มครองสัตว์ ชาว Vegan จึงไม่กินอาหารและไม่ใช้ผลิตภัณฑ์ที่มาจากสัตว์ รวมถึง ไข่ นม ตับห่านบด น้ำผึ้ง เสื้อผ้าขนสัตว์และผ้าไหม เป็นต้น รวมถึงไม่เข้าร่วมกิจกรรมที่อาจจะเป็นการทำร้ายสัตว์ อาทิ การเที่ยวชมสวนสัตว์และชมการแสดงของคณะละครสัตว์

“Vegan ยังเป็นรูปแบบการดำเนินชีวิตอย่างหนึ่ง” เพื่อให้บรรลุอุดมการณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมและรักษ์โลก ในฐานะที่เป็นชาว Vegan ซิดนีย์กับจางอวี้ถิง (張御庭) หรือไทเลอร์ (Tyler) แฟนหนุ่มที่คบหาดูใจกันมานาน ได้จัดพิธีมงคลสมรสแบบไร้ขยะ เมื่อเดือนมิถุนายน ปี ค.ศ.2020

ไทเลอร์ในฐานะที่เป็นนักดนตรี ได้กำหนดนิยามของงาน Taiwan Vegan Frenzy ให้เป็นงานปาร์ตี้ของบรรดาผู้บริโภคพืช ขณะเดียวกันก็จัดขึ้นในลักษณะของงานเทศกาลด้วย เขาได้เชิญ Music Creator อาทิ Roy Croft จินตกวีนักร้อง (Troubadour)  และเสี่ยวซงหรือเจียงซงหลิน (江松霖) มาเปิดการแสดงในงาน ซึ่งได้กลายเป็นไฮไลท์ของงาน Taiwan Vegan Frenzy และในงานปาร์ตี้ครั้งนี้ผู้เข้าร่วมงานต่างสนทนากันถึง สาเหตุการกินเจของตนเองและทำให้พวกเขากลายเป็นเพื่อนที่ดีต่อกัน

Taiwan Vegan Frenzy เป็นการรวมตัวกันของผู้ที่มีแนวคิดสนับสนุน Vegan ตั้งแต่แผงจำหน่ายอาหารเจที่ได้รับความนิยม และข้าวของเครื่องใช้ในชีวิตประจำวันที่ผลิตจากพืชบริสุทธิ์ อาทิ ลิปสติกออร์แกนิกที่ไม่ใช้สีสังเคราะห์ แต่ผลิตจากผงแป้งแร่ธาตุธรรมชาติ และน้ำมันพืช นอกจากนี้ยังมีรองเท้าที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ที่ไม่ใช้หนังสัตว์แต่ใช้วัตถุดิบจากการรีไซเคิลขยะประเภทรองเท้าและขวดพลาสติก PET ซึ่งไม่เพียงเป็นการปฏิบัติตามแนวคิดเศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียวเท่านั้น ยิ่งไปกว่านั้นยังเป็นความเอาใจใส่ที่จะไม่ให้สัตว์ได้รับความทุกข์ทรมานอีกด้วย

สำหรับเสน่ห์ของการบริโภคและวิถีชีวิตแบบ Vegan ที่ดึงดูดใจผู้คนก็คือ แต่ละวันจะสามารถใช้ชีวิตอย่างมีความสุขในทุกวินาที มีสุขภาพที่สมบูรณ์แข็งแรง มีชีวิตที่สดชื่นกระปรี้กระเปร่า สามารถสร้างความชอบธรรมในสังคม และช่วยลดภาวะโลกร้อน

 

ผู้คนคลาคล่ำใน No Meat Market

ในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา No Meat Market เป็นตลาดนัดสัญจรที่ตระเวนไปจัดตามสถานที่ต่าง ๆ ทั่วไต้หวัน แบบเป็นครั้งคราว ซึ่งทุกครั้งจะดึงดูดผู้คนหลั่งไหลเข้าร่วมอย่างเนืองแน่น ยิ่งไปกว่านั้น No Meat Market ที่จัดขึ้นในหมู่บ้านนายพล (將軍村) เมืองซินจู๋ หรือที่เขตเฉ่าถุน เมืองหนานโถว ยังดึงดูดชาวไทเปและเกาสงจำนวนมาก ยอมเดินทางขึ้นเหนือล่องใต้เพื่อมาเข้าร่วมงานนี้เป็นการเฉพาะ อีกทั้งส่วนใหญ่ยังเป็นพวกที่ทานเนื้อ แต่โหนกระแสความนิยมที่กำลังมาแรงนี้ด้วย

No Meat Market เป็นการรวมตัวกันของแบรนด์อาหารเจนับร้อยแบรนด์ เป็นตลาดนัดอาหารเจขนาดใหญ่ที่พบเห็นได้ยาก Wheels of Fortune แบรนด์อาหารเจชื่อดังจากนครเกาสงซึ่งเปิดตัวขนมล้อรถ (wheel cakes) รสไก่สามจอก (three-cup chicken) และรสไข่มุกผสมคัสตาร์ด ล้วนเป็นรสชาติที่ทำให้ผู้คนประทับใจมิรู้ลืม ขณะที่ไส้กรอกใหญ่ห่อไส้กรอกเล็กของร้าน Tainan’s Papa Vegan X Tsasan Café แพนเค้กรสยมหอม (toon-flavored ) จากร้านTree Nest ซึ่งสืบทอดสู่ทายาทรุ่นที่ 2 และขนมบ้าหวันแห่งความดี (善良肉圓) ราดซอสน้ำข้าว ซึ่งเป็นเมนูอาหารรสชาติโบราณจากร้าน Shanliangmawan ต่างมีลูกค้าเข้าแถวรอจนยาวเหยียด

จางจื่อรุ่ย (張芷睿) ผู้ก่อตั้ง No Meat Market ซึ่งเป็นเพียงคุณแม่ที่ทำหน้าที่ดูแลลูกเท่านั้น การจัดงานตลาดนัดดังกล่าวไม่ใช่เพื่อความเชื่อทางศาสนา ไม่ใช่เพื่อผลประโยชน์ทางธุรกิจ เพียงแค่ต้องการที่จะให้ลูกสาวคือ Evelyn มีสภาพแวดล้อมที่ดีขึ้น

จางจื่อรุ่ยเล่าว่า ตอนที่เธออายุ 20 ปี ซึ่งเป็นช่วงอายุที่ยังกินเหล้าและเที่ยวผับ อยู่มาวันหนึ่งผุดไอเดีย จึงนัดกับแฟนหนุ่มในตอนนั้นซึ่งปัจจุบันคือสามีของเธอว่า จะกินเจ 1 วัน จากนั้นเป็นต้นมาจนถึงปัจจุบัน กินมา 16 ปีแล้ว เดิมจางจื่อรุ่ยป่วยเป็นโรคลำไส้แปรปรวน โรคจมูกอักเสบจากภูมิแพ้ บวกกับโรคลมพิษ ต้องไปให้น้ำเกลือที่โรงพยาบาลบ่อย ๆ แต่เพราะกินเจทำให้ในช่วงสิบกว่าปีที่ผ่านมา อาการของโรคเหล่านี้ไม่ได้กำเริบขึ้นมาอีกเลย

 

บอกต่อความประทับใจจากการรับประทานอาหารมังสวิรัติ

อย่างไรก็ดีหลังตลาดนัดปิดฉากลง กลับพบว่าได้สร้างขยะมากมาย จางจื่อรุ่ยกล่าวว่า “ช่างย้อนแย้งกับอุดมการณ์อนุรักษ์สิ่งแวดล้อมซะจริง ๆ” ด้วยเหตุนี้เองเธอจึงได้ปรับปรุงและยกระดับตลาดนัดที่จัดขึ้น ณ หมู่บ้านนายพล (將軍村) เมืองซินจู๋ ให้เป็น No Meat Market 2.0 เน้นเรื่อง “การซื้อขายโดยปราศจากบรรจุภัณฑ์” อาศัยการแชร์ประสบการณ์โดยบล็อกเกอร์ชื่อดัง และเพิ่มการประชาสัมพันธ์ผ่านเฟซบุ๊กแฟนเพจของ No Meat Market ด้วยการจัดกิจกรรมต่างๆอาทิเปิดช่องทางพิเศษโดยไม่ต้องเข้าแถวรอและลุ้นรับรางวัลจากการจับสลากคูปองอาหารนอกจากนี้ยังมีมาตรการรองรับอาทิการเช่าเครื่องใช้ในการรับประทานอาหารและอุปกรณ์ทำความสะอาดเป็นต้น

จางจื่อรุ่ยเล่าว่า “คิดไม่ถึงว่า “การซื้อขายโดยปราศจากบรรจุภัณฑ์” ที่เริ่มทำเป็นครั้งแรกก็ประสบความสำเร็จ มีผู้คนหลั่งไหลเข้าร่วมงานวันละกว่า 7,000 คน ไม่มีเสียงบ่นหรือประท้วงว่าไม่สะดวก เป็นความยุ่งยากเพียงเล็กน้อยแต่ไม่สร้างภาระให้แก่โลกใบนี้” มีลูกค้าบางคนลากกระเป๋าเดินทางมาด้วยในกระเป๋าเต็มไปด้วยเครื่องใช้สำหรับการรับประทานอาหารและกล่องใส่อาหารโดยวางแผนว่าจะซื้ออาหารให้ครบทุกแผง

“ฉันหวังว่าผู้ประกอบการที่มาเปิดแผงจำหน่ายอาหารจะสามารถถ่ายทอดได้อย่างชัดเจนว่า การทานอาหารมังสวิรัติจะทำให้เกิดพลังแห่งความประทับใจ และการได้ทานอาหารมังสวิรัติเลิศรสจะช่วยทำให้ผู้คนชื่นชอบอาหารมังสวิรัติมากขึ้น ตลอดจนสัมผัสได้ถึงประโยชน์ของการกินเจที่ไม่ได้เพิ่มภาระให้แก่โลกใบนี้” จางจื่อรุ่ยซึ่งเป็นคนพูดเร็วและรัว ยังเล่าว่า “หลายคนแทบจะไม่เคยมีประสบการณ์กินเจมาก่อนเลย แต่เมื่อมาเดินชอปปิงที่ No Meat Market จะสามารถสัมผัสได้ถึง “พลังแห่งความรัก” ซึ่งเป็นการถ่ายทอดและซึมซับความรักและความเชื่อระหว่างกัน อีกทั้งยังจะได้พบเจอกับเพื่อนที่มีความคิดเห็นตรงกัน รวมถึงเป็นการสืบสานวัฒนธรรมการกินอาหารที่ปราศจากเนื้ออีกด้วย”

จางจื่อรุ่ยซึ่งมุ่งเน้นเรื่อง “การให้อย่างปราศจากเงื่อนไขจะนำมาซึ่งความสุข” ยังจะจัดงาน No Meat Music festival และ No Meat Marathon ต่อไป เพื่อให้ความประทับใจของการทานมังสวิรัติมีการสืบทอดต่อไป เหมือนดั่งวลีที่ ดร. วิลล์ ทัตเทิล (Will Tuttle) ผู้ริเริ่มแนวคิดและการเคลื่อนไหวเพื่อมังสวิรัตินานาชาติ กล่าวไว้ว่า “อาหาร 3 มื้อใน 1 วันช่วยทำให้เราได้ทบทวนความคิดเกี่ยวกับการเชื่อมโยงกันระหว่างตัวเราเองกับโลกภายนอก การทานอาหารทุกมื้อหมายถึงการประกอบพิธีกรรม 1 ครั้ง สิ่งที่เรากินเข้าไปไม่ได้เป็นเพียงแค่อาหาร แต่เป็นการทำพิธีเพื่อเลือกที่จะเชื่อมโยงหรือตัดขาดจากสรรพสิ่ง” ในปีใหม่นี้ ลองเริ่มทานอาหารที่ปราศจากเนื้อสัก 1 มื้อหรือสัก 1 วัน เพื่อตนเองและเพื่ออนุรักษ์โลกใบนี้เอาไว้

 

เพิ่มเติม

“มังสวิรัติ” ปลุกจิตสำนึกผู้คน การเคลื่อนไหวเพื่อมังสวิรัติ เทรนด์อาหารมาแรงในไต้หวัน