ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
อร่อยจริง ผลไม้ไต้หวัน สับปะรด พุทราหวาน ศักยภาพแข็งแกร่ง
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-06-13

ภาพ‧ หลินเก่อลี่

 

ร้านอาหารมังสวิรัติเหล่านี้มิได้ใช้คำว่าสุขภาพหรือความยั่งยืนมาโฆษณา เพื่อดึงดูดลูกค้า แต่อาศัยรสชาติแปลกใหม่สร้างความตะลึง จนทำให้ผู้ที่ได้ลิ้มลองอดไม่ได้ที่จะเปล่งเสียงดัง ๆ ออกมาว่า “อร่อยสุด ๆ”

 

ตามสถิติคณะกรรมการการเกษตร ชาวไต้หวันบริโภคสับปะรดปีละกว่า 300,000 ตัน โดยที่การส่งออกสับปะรดมีสัดส่วนสูงสุด ถือเป็นสัญลักษณ์ของสุดยอดผลไม้ไต้หวันในต่างประเทศ สับปะรดที่ส่งออกไปญี่ปุ่นเมื่อบวกค่าภาษีแล้ว ราคาขายปลีกลูกละ  598 - 798 เยน (ประมาณ 165 ถึง 220 บาท) แล้วแต่ขนาด ส่วนการส่งออกไปแคนาดาราคาลูกละ 20 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 440 บาท) เนื่องจากเนื้อละเอียดหวานฉ่ำ ทำให้ถูกแย่งซื้อจนหมดในพริบตา

แม้ต้องแข่งขันกับสับปะรดราคาต่ำจากคอสตาริกาและฟิลิปปินส์ แต่จุดที่ทำให้สับปะรดไต้หวันซึ่งมีรสชาติดี จนสามารถเอาชนะได้ตั้งแต่จุดเริ่มต้น คือ การปรับปรุงพันธุ์

 

พันธุ์สับปะรดไต้หวัน อันดับ 1 ของโลก

ทีมงานสัมภาษณ์ “พาโนรามา” ได้ไปเยี่ยมเยือนสถานีทดลองการเกษตรเจียอี้ (Chiayi Agricultural Experiment Branch) ซึ่งเป็นหน่วยงานภายใต้สถาบันวิจัยการเกษตรไต้หวัน คณะกรรมการการเกษตร ที่นี่เป็นฐานปฏิบัติการพัฒนาเทคนิคการเพาะปลูกและปรับปรุงพันธุ์สับปะรดใหญ่ที่สุดของไต้หวัน มีพื้นที่ 3 เฮกตาร์ (ประมาณ 18 ไร่ 3 งาน) โดยมีการเก็บรักษาพันธุ์สับปะรด 90 กว่าชนิด ทั้งจากในและต่างประเทศ เพื่อนำมาใช้ในการปรับปรุงพันธุ์

กวนชิงซัน (官青杉) ผู้ช่วยนักวิจัยซึ่งทุ่มเทชีวิตให้กับการวิจัยสับปะรดมานานถึง 26 ปี ได้เล่าประวัติการย้ายถิ่นฐานของสับปะรด ซึ่งเริ่มจากโคลัมบัสว่า มาจากอเมริกาใต้ มาลงรากในไต้หวันได้อย่างไร สมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวันได้พัฒนาพันธุ์สับปะรดที่เหมาะกับการแปรรูปเป็นสับปะรดกระป๋อง ในปี ค.ศ. 1925 ชาวญี่ปุ่นจึงได้นำเข้าพันธุ์ Smooth Cayenne ของฮาวายและพันธุ์จากสิงคโปร์ มาปรับปรุงเป็นพันธุ์ใหม่ ผลใหญ่ เส้นใยหยาบ มีรสออกเปรี้ยว เพื่อผลิตเป็นสับปะรดกระป๋อง ทำให้ปี ค.ศ. 1970 ไต้หวันกลายเป็นผู้ส่งออกสับปะรดกระป๋องอันดับ 1 ของโลกแทนที่ฮาวาย

เนื่องจากการผลิตสับปะรดกระป๋องในไต้หวันซบเซาลง ตั้งแต่ปี ค.ศ. 1974 สถาบันวิจัยเกษตรจึงได้ปรับปรุงพันธุ์ที่เหมาะกับการรับประทานสด จนสับปะรดไต้หวันโดดเด่นเป็นหนึ่ง เช่น ไถหนง เบอร์ 13 ที่ชื่อว่า “ตงมี่ (冬蜜)” ไถหนง เบอร์ 16 “เถียนมี่มี่ (甜蜜蜜)” เบอร์ 19 “มี่เป่า (蜜寶)” ซึ่งเป็นสับปะรดที่มีความหวานเทียบได้กับอ้อย ส่วนเบอร์ 18 “จินกุ้ย (金桂)” มีกลิ่นของดอกหอมหมื่นลี้ โดยเบอร์ 21 “หวงจิน (黃金)” ก็มีกลิ่นแตงเมลอน และเบอร์ 22 สับปะรดกลิ่นมะพร้าว ส่วนเบอร์ 17 “จินจ้วน (金鑽)” มีเนื้อละเอียด หวานฉ่ำ ถือเป็นสับปะรดส่งออกที่สำคัญของไต้หวันในปัจจุบัน

 

กระแสนิยมสับปะรดไต้หวันในญี่ปุ่นมาแรง

เพื่อตอบสนองต่อนโยบายขยายการส่งออก ไต้หวันได้ปรับปรุงพันธุ์สับปะรดที่เหมาะกับการขนส่งระยะไกลขึ้น และได้พันธุ์ไถหนง เบอร์ 23 “สับปะรดมะม่วง” ที่มีกลิ่นมะม่วง โดยใช้เบอร์ 21 เป็นพ่อพันธุ์กับเบอร์ 19 เป็นแม่พันธุ์ สามารถทนต่อการขนส่งได้นานถึง 21 วัน นอกจากส่งออกไปญี่ปุ่น เกาหลีใต้ ยังขยายตลาดไปได้ถึงสหรัฐอเมริกา แคนาดา และออสเตรเลีย

สหกรณ์ Greenland Flora ที่ตำบลเกาซู่ เมืองผิงตง เป็นสหกรณ์ที่ส่งออกสับปะรดมากที่สุดของไต้หวัน โดยมีการส่งออกไปตลาดญี่ปุ่นเพิ่มขึ้นทุกปี ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2010 ปริมาณ 1000 ตัน เมื่อถึงปี ค.ศ. 2021 เพิ่มเป็น 2,000 ตัน คาดว่าในปี ค.ศ. 2022 นี้จะเพิ่มเป็น 2,500 ตัน

ในช่วงต้นเดือนมีนาคมของปี ค.ศ. 2021 จีนระงับการนำเข้าสับปะรดไต้หวัน รัฐบาลและบริษัท Taipei Agriculture Products Marketing จึงร่วมกันผลักดันการส่งออกไปยังญี่ปุ่น ฮ่องกง สิงคโปร์ ทำให้การส่งออกไปญี่ปุ่นเติบโตถึง 9 เท่า ด้วยปริมาณมากถึง 18,000 ตัน ถือเป็นสถิติที่ยอดเยี่ยมเป็นอย่างมาก

ในญี่ปุ่นเกิดกระแสความนิยมสับปะรดไต้หวันอย่างร้อนแรง นักธุรกิจไต้หวันและชาวไต้หวันในญี่ปุ่นช่วยกันอุดหนุนและประชาสัมพันธ์  ทำให้ชาวญี่ปุ่นให้การตอบรับที่ดี ยอมควักเงินซื้อสับปะรดไต้หวันในราคาลูกละ 800 เยน ส่วนหนึ่งเป็นเพราะชาวญี่ปุ่นต้องการขอบคุณที่ชาวไต้หวันเคยบริจาคเงินช่วยเหลือญี่ปุ่นอย่างเต็มที่ในเหตุการณ์แผ่นดินไหว เมื่อวันที่ 11 มีนาคม ค.ศ. 2011 ถือเป็นการแสดงออกถึงมิตรภาพที่ดีระหว่างไต้หวัน-ญี่ปุ่น

เมื่อปีที่แล้วสหกรณ์ Greenland Flora ยังได้ส่งออกสับปะรดไปแคนาดาเป็นครั้งแรกด้วยจำนวน 1 ตู้คอนเทนเนอร์ ซึ่งบรรจุได้ 672 กล่อง โดยมีราคาขายปลีก ลูกละ 20 ดอลลาร์แคนาดา (ประมาณ 500 บาท) และวางจำหน่ายที่ซูเปอร์มาร์เก็ตในเมืองโตรอนโต ก่อนจะถูกแย่งกันซื้อจนหมดในพริบตา ชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในแคนาดาซึ่งแย่งซื้อไม่ทัน จึงหวังจะรอซื้อให้ได้ในปีนี้

 

สับปะรดที่ไม่ธรรมดา

ปัญหาของการทำการเกษตรในไต้หวันที่พบเห็นได้ทั่วไปคือ พื้นที่เพาะปลูกมีขนาดเล็ก และเกษตรกรต่างก็เป็นผู้สูงวัย กัวจื่อเหว่ย (郭智偉) จัดตั้งสหกรณ์ Greenland Flora ขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 2005 ก่อนจะสามารถแก้ปัญหาเหล่านี้ได้ โดยใช้เวลา 6 ปี หรือประมาณ 3 ฤดูกาลผลิตในการปรับเปลี่ยน จนทำให้ขณะนี้มีเกษตรกรเป็นสมาชิก 25 ราย พื้นที่เพาะปลูกรวมกันมากกว่า 100 เฮกตาร์ (ประมาณ 625 ไร่) ทำให้มีผลผลิตเพียงพอต่อการป้อนเข้าสู่ตลาดอย่างสม่ำเสมอ

เนื่องจากพื้นที่เพาะปลูกรวมกันมีขนาดใหญ่ จึงสามารถเจรจาเพื่อหาช่องทางจำหน่ายและส่งออกที่มั่นคงได้ และมีการวางแผนการผลิตให้สอดคล้องกับช่วงเวลาการส่งออก โดยที่สหกรณ์จะรับซื้อในราคาประกัน เกษตรกรจึงไม่ต้องกังวลกับปัญหาราคาตกต่ำในช่วงอุปสงค์-อุปทานขาดความสมดุล ทำให้สามารถดึงดูดคนรุ่นใหม่กลับสู่ชนบทมาทำการเกษตรและร่วมมือกัน ส่งผลกลายเป็นวัฏจักรที่ดี

ชาวไร่สับปะรด ไม่เพียงรู้สึกว่าเป็นกิจการที่มองเห็นอนาคต ที่สำคัญยังทำให้ครอบครัวอบอุ่น มีโอกาสได้ดูแลผู้หลักผู้ใหญ่ในบ้าน ทำให้คน 3 รุ่นได้ใช้ชีวิตอยู่ร่วมกัน

ทางสหกรณ์ยังให้คำแนะนำในด้านเทคนิคการเพาะปลูก และเนื่องจากอุณหภูมิช่วงกลางวันและกลางคืนแตกต่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ รังสีอัลตราไวโอเลตก็เข้มข้นขึ้นเรื่อย ๆ เพื่อป้องกันไม่ให้สับปะรดต้องตากแดด ที่ผ่านมาชาวไร่จึงนิยมทำหมวกให้สับปะรด แต่ในปัจจุบัน ช่วงอากาศร้อนในฤดูร้อนเช่นเดือนพฤษภาคม ก็จะใส่เสื้อให้สับปะรดไปเลย การใช้ถุงห่อและกางตาข่ายดำเพื่อบังแดดสองชั้น ก็เพื่อเอาใจใส่ดูแลสับปะรด เทคนิคในการปลูกสับปะรดแบบนี้ ทำให้ประเทศผู้ผลิตสับปะรดรายสำคัญในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ได้แต่มองด้วยความอิจฉา และนี่ก็คือสาเหตุที่ทำให้สับปะรดไต้หวันมีความโดดเด่นเป็นอย่างมาก

เทคโนโลยีชีวภาพที่ล้ำหน้าของไต้หวัน ก็มีส่วนในการทำให้สับปะรดกลายเป็นสับปะรดที่ไม่ธรรมดา โดยบริษัท Chappion Bio ของไต้หวันร่วมมือกับบริษัทยาของอิสราเอล ในการสกัดเอนไซม์ Bromelain จากลำต้นของสับปะรด เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยถูกไฟลวก โดยได้รับอนุญาตให้วางจำหน่ายใน 17 ประเทศแล้ว ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการยื่นขอขึ้นทะเบียนยาในสหรัฐอเมริกา เพื่อใช้ในการรักษาผู้ป่วยเบาหวานและผู้เกิดแผลไหม้จากอาวุธเคมี หลินอีฝัน (林一帆) รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ของ Chappion Bio บอกว่า ขณะนี้กำลังอยู่ระหว่างการวิจัยในการสกัดโมเลกุลจากใบสับปะรด เพื่อผลิตเป็นอาหารบำรุงสุขภาพที่จะมีสรรพคุณในการต้านอาการอักเสบ ถือเป็นการใช้ประโยชน์ทุกส่วนของสับปะรด

ท่ามกลางแสงแดดแผดเผาในฤดูร้อน คงไม่มีอะไรที่จะคลายร้อนได้ดีกว่าการกินสับปะรดเย็น ๆ ที่หวานฉ่ำ และยังมีผู้ประกอบการไต้หวันอีกมากมายผลิตสินค้าพื้นเมืองสำหรับเป็นของฝากติดมือ เช่น พายสับปะรดที่มีรสหวานอมเปรี้ยวซึ่งไส้ข้างในผลิตจากสับปะรดพื้นเมืองหรือสับปะรด “จินจ้วน”  โดยเปลือกขนมก็มีทั้งกรอบหรือนิ่ม รสชาติเหล่านี้ล้วนแต่เป็นรสชาติที่แท้จริงของไต้หวัน

พุทราพันธุ์พื้นเมืองของอินเดียถูกนำเข้ามาในไต้หวันตั้งแต่ปี ค.ศ. 1944 โดยในตอนนั้น รสชาติของมันทั้งเปรี้ยวทั้งฝาด หนักไม่ถึง 10 กรัม แต่พอถูกนำมาปลูกในไต้หวันแล้ว ก็กลายเป็นพุทราที่มีน้ำหนัก 200 กรัม แถมยังเปลี่ยนโฉมเป็นทั้งกรอบและหวานฉ่ำ นี่เป็นผลงานและความร่วมมือกันของผู้เชี่ยวชาญและเกษตรกร

แสงแดดสาดส่องไปที่ต้นพุทราน้ำผึ้ง ซึ่งอยู่ใต้ตาข่ายกันแดดซึ่งช่วยลดความร้อนจนรู้สึกเพียงความอบอุ่น ทีมงานสัมภาษณ์ “พาโนรามา” มาถึงเขตต้าเซ่อ (大社) นครเกาสง ซึ่งมีเกษตรกรครองแชมป์ติดต่อกัน 6 สมัย ในการประกวดสวนพุทราระดับชาติ ที่จัดโดยสถานีวิจัยและปรับปรุงพันธุ์พืชเกาสง (Kaohsiung District Agricultural Research and Extension Station) พวกเราได้ทำการสัมภาษณ์ซูซิ่นเฉิง (蘇信誠) ราชาพุทรา ที่ครองแชมป์ 2 ปีซ้อน เพื่อมาเรียนรู้เคล็ดลับกันว่า ทำอย่างไรพุทราจึงมีน้ำหนัก ลูกละ 200 กรัมได้

 

ปลูกพุทราแบบมืออาชีพด้วยเทคนิคยอดเยี่ยม

ซูซิ่นเฉิง สูง 181 ซม. เดินลอดไปมาผ่านต้นพุทราพุ่มเตี้ย ๆ โดยไม่กลัวหนามแหลม ๆ เขาพูดในขณะที่ตัดแต่งผลพุทราว่า “นี่เป็นการแต่งผลครั้งที่ 3 แล้ว” บนพื้นมีพุทราลูกเล็ก ๆ ร่วงหล่นอยู่ไม่น้อย แสดงให้เห็นถึงการทำงานอย่างยากลำบากเพื่อแลกกับการได้ผลผลิตที่มีคุณภาพดี

ซูซิ่นเฉิงเปิดเผยว่าเคล็ดลับสำคัญที่ทำให้พุทรามีเปลือกบางและกรอบละเอียดคือได้รับไนโตรเจนและโปแทสเซียมในสัดส่วนพอดีเขาใช้สารโปรตีนเช่นนมหรือไข่หมดอายุผสมกับน้ำสาหร่ายหรือกากธัญพืชที่มีโปรตีนผสมเป็นน้ำปุ๋ยชีวภาพเพื่อรดที่ส่วนรากของต้นพุทรา

พันธุ์เกาสง เบอร์ 12 เจินอ้าย (珍愛) ครองแชมป์ในการประกวด ซูซิ่นเฉิงบอกว่า “เบอร์ 12 ให้ผลผลิตต่ำ แต่น้ำหนักต่อลูกสูงถึง 200 กรัม ใหญ่พอ ๆ กับแอปเปิลเขียว รูปทรงสวย เหมาะกับการให้เป็นของขวัญในช่วงตรุษจีน”

เมื่อเทียบกับเกษตรกรรุ่นพ่อที่ปล่อยตามธรรมชาติ ซูชิ่นเฉิงสืบทอดสวนพุทราเป็นรุ่นที่ 3 แม้พื้นที่ปลูกจะน้อยลงแต่ผลผลิตกลับมากขึ้น เขาคิดค้นวิธีปลูกแบบแผ่กิ่งก้านใน 3 มิติ พร้อมดูแลเอาใจใส่อย่างละเอียด ทำให้การปลูกพันธุ์เกาสง เบอร์ 11 เจินมี่ (珍蜜) ได้ผลผลิตต้นละ 240 กก. หรือพื้นที่ 1,000 ตร.ม. ได้ผลผลิตเฉลี่ย 3,600 กก. มากกว่าเกษตรอื่น 1 เท่า

 

พุทราไต้หวัน สุดยอดในโลก

สถานีปรับปรุงพันธุ์พืชและสถาบันวิจัยการเกษตรของไต้หวันประสบความสำเร็จพัฒนาพันธุ์พุทรา 13 ชนิด และเกษตรกรได้ปรับปรุงพันธุ์เพิ่มอีก 23-30 ชนิด ไต้หวันจึงมีพันธุ์พุทรามากที่สุดในโลก มีความโดดเด่น ผลใหญ่และรสชาติดี จนผลผลิตจากประเทศอื่น ๆ ยากที่จะเทียบเคียงได้

ชิวจู้อิง (邱祝櫻) นักวิจัยสถานีปรับปรุงพืชเกาสง ซึ่งทำการวิจัยพันธุ์พุทรามานานถึง 31 ปีบอกว่า พันธุ์พุทราที่ใช้รับประทานสดทั่วโลกส่วนใหญ่เป็นพันธุ์ที่ไต้หวันพัฒนาขึ้น เธอได้พัฒนาเอง 9 พันธุ์ ที่ภูมิใจที่สุดคือ เกาสง เบอร์ 11“เจินมี่” ซึ่งได้รับฉายาว่า “พุทราน้ำผึ้งน้ำฉ่ำ” มีน้ำมากพอ ๆ กับแตงโม กรอบยิ่งกว่าสาลี่ โดยมีความหวานระดับ 17–18 เลยทีเดียว

นอกจากมีพันธุ์ที่หลากหลาย ฤดูเก็บผลผลิตก็ต่างกัน ทำให้พุทราไต้หวันสามารถออกสู่ตลาดได้อย่างต่อเนื่อง เหมาะกับการมอบเป็นของขวัญตรุษจีนและยังส่งออกไปต่างประเทศได้ เกาสง เบอร์ 8 เจินเป่า (珍寶) เก็บผลผลิตในเดือนธันวาคม จากนั้น เกาสง เบอร์ 12 เจินอ้าย (珍愛) ก็จะออกสู่ตลาดในเดือนมกราคม ไถหนง เบอร์ 13 เสวี่ยลี่ (雪麗) ที่ทนทานต่อการขนส่ง จะมุ่งเจาะตลาดตะวันออกกลาง แคนาดา ญี่ปุ่น โดยจะออกผลช่วงก่อนตรุษจีน ส่วนเกาสง เบอร์ 11 เจินมี่ (珍蜜) เนื้อกรอบฉ่ำที่หลายคนชื่นชอบ จะออกสู่ตลาดในช่วงก่อนและหลังตรุษจีน

 

เพิ่มเติม

อร่อยจริง ผลไม้ไต้หวัน สับปะรด พุทราหวาน ศักยภาพแข็งแกร่ง