ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สวนสวรรค์แห่งธรรมชาติกลางเมืองท่า ตามรอยไกด์ท้องถิ่นตะลุย เขาโซ่วซาน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-06-20

ลิงกังไต้หวันที่อยู่บนเขาโซ่วซานไม่กลัวมนุษย์ และมักจะนั่งพักผ่อนอยู่ทั่วเขตอุทยานอย่างสบายใจ

ลิงกังไต้หวันที่อยู่บนเขาโซ่วซานไม่กลัวมนุษย์ และมักจะนั่งพักผ่อนอยู่ทั่วเขตอุทยานอย่างสบายใจ
 

นับตั้งแต่ไต้หวันเปิดท่าเรือพาณิชย์เพื่อทำการค้ากับต่างประเทศในช่วงกลางศตวรรษที่ 19 เป็นต้นมา ภูเขาโซ่วซานในนครเกาสง กลายเป็นสถานที่ที่ดึงดูดนักธรรมชาติวิทยาและนักสำรวจจำนวนมาก ต้องเดินทางมาเพื่อสำรวจศึกษา เช่น Robert Swinhoe กงสุลอังกฤษและนักปักษีวิทยา William Alexander Pickering นักสำรวจและล่ามชาวอังกฤษ และ John Thomson ช่างภาพชาวอังกฤษ เป็นต้น พวกเขาได้ร่วมกันบันทึกข้อมูลล้ำค่าของระบบนิเวศทางธรรมชาติในแถบภูเขาโซ่วซาน ผ่านการสตัฟฟ์สัตว์ การจดบันทึก และการถ่ายภาพ

 

อุทยานธรรมชาติแห่งชาติโซ่วซาน ก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2011 มีอาณาเขตครอบคลุมภูเขาปั้นผิงซาน ภูเขากุยซาน ภูเขาโซ่วซาน และภูเขาฉีโห้วซาน ภูเขาทั้ง 4 ลูกนี้ เกิดจากการยกตัวของเปลือกโลกเมื่อ 300,000 ปีก่อน ทำให้มีลักษณะภูมิประเทศแบบแนวปะการังที่อยู่บนที่สูง ภูเขาแต่ละลูกต่างก็มีเอกลักษณ์ที่ไม่เหมือนกัน ภูเขาปั้นผิงซานเป็นจุดชมเหยี่ยวที่ดีที่สุด กุยซานถือเป็นจุดยุทธศาสตร์สำคัญทางการเมืองและการทหาร ไม่ว่าจะเป็นในยุคสมัยใด ภูเขาโซ่วซานมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ที่สุด ภูเขาฉีโห้วซานมีระบบนิเวศแบบชายทะเลและมีโบราณสถานทางทหารที่สำคัญ อุทยานที่อยู่ติดกับเมืองใหญ่แห่งนี้ เป็นแหล่งพักผ่อนหย่อนใจทางธรรมชาติที่สำคัญ ทำให้ผู้คนในละแวกนี้ไม่จำเป็นต้องนั่งรถไปไกล ก็สามารถดื่มด่ำกับความสุขและความเงียบสงบของธรรมชาติได้เป็นอย่างดี

 

ที่มาของชื่อ “โซ่วซาน”

หวงหย่าถิง (黃雅婷) มัคคุเทศก์อาวุโสประจำอุทยานธรรมชาติแห่งชาติโซ่วซานเข้าทำงานที่อุทยานแห่งนี้ ภายหลังจากสำนักบริหารอุทยานถูกจัดตั้งขึ้นไม่นาน เธอจึงรู้จักภูเขาแห่งนี้มาเกือบ 10 ปีแล้ว ความอุดมสมบูรณ์ทางธรรมชาติและประวัติศาสตร์อันยาวนานดึงดูดให้เธอทำการศึกษาค้นคว้าในเชิงลึก เธอสนับสนุนความเห็นของ Dr. Seiroku Honda ผู้ซึ่งได้รับการยกย่องให้เป็นบิดาแห่งสวนสาธารณะของญี่ปุ่นว่า ลักษณะป่าของภูเขาโซ่วซาน สะท้อนให้เห็นถึงประวัติศาสตร์แห่งวัฒนธรรมของพื้นที่แห่งนี้

เขาโซ่วซานตั้งอยู่ในนครเกาสง เดิมทีถูกเรียกว่า “ต๋าโก่ว (ตีสุนัข)” จากการที่มีต้นไผ่หนามขึ้นอยู่เป็นจำนวนมาก ทำให้ชนพื้นเมืองเผ่าหมาข่าเต้าเรียกพื้นที่แถบนี้ว่า Takow และชาวฮั่นได้ใช้คำพ้องเสียงด้วยเสียงภาษาจีนที่คล้ายกันในการเรียกชื่อพื้นที่แห่งนี้เป็น “ต๋าโก่ว” นั่นเอง ด้วยเหตุนี้ชื่อของภูเขาโซ่วซานในตอนแรก จึงถูกเรียกว่าภูเขาต๋าโก่วซาน จนถึงยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน ผู้สำเร็จราชการของญี่ปุ่นประจำไต้หวันในตอนนั้นเห็นว่า ชื่อต๋าโก่วฟังแล้วไม่สุภาพ จึงเปลี่ยนชื่อให้ใหม่โดยใช้เสียงภาษาญี่ปุ่นมาเทียบเคียงกับคำว่า Takow จึงได้เป็นชื่อ เกาสง (ภาษาญี่ปุ่นออกเสียงว่าทากาโอะ) มาใช้แทน และหลังจากที่มกุฎราชกุมารฮิโรฮิโตะเสด็จเยือนนครเกาสงในปี ค.ศ. 1923 ภูเขาต๋าโก่วซานก็ถูกเปลี่ยนชื่อใหม่เป็นภูเขาโซ่วซาน (ภูเขาอายุวัฒนะ) เพื่อร่วมฉลองวันพระราชสมภพของพระองค์

กระนั้นก็ตาม คนท้องถิ่นจำนวนไม่น้อยยังคงเรียกชื่อภูเขาแห่งนี้ว่า ภูเขาไฉซาน (ภูเขาฟืน) เพราะในช่วงก่อนที่ญี่ปุ่นจะปกครองเกาะไต้หวัน ภูเขาแห่งนี้เป็นแหล่งตัดไม้หาฟืนของชาวบ้านในละแวกนั้น ต้นไม้ในภูเขาถูกตัดจำนวนมาก ส่งผลให้เกิดความเปลี่ยนแปลงทางภูมิทัศน์ ดังเห็นได้จากภาพถ่ายที่มีชื่อว่า The Entrance to the Port of Takao ของ John Thompson ในปี ค.ศ. 1871 ซึ่งแสดงให้เห็นภาพของภูเขาโซ่วซานที่แทบจะเป็นภูเขาหัวโล้น ส่งผลให้ชาวตะวันตกที่เดินทางมาเยือนเขาโซ่วซานในสมัยนั้น ต่างก็เรียกที่นี่ในอีกชื่อหนึ่งว่า ภูเขาโหวซาน (ภูเขาลิง) Dr. Joseph Beal Steere นักธรรมชาติวิทยาชาวอเมริกัน ได้เขียนบันทึกไว้เมื่อปี ค.ศ. 1873 ว่า “มีลิงกังตัวสีเทาหลายตัววิ่งวนไปมา ชื่อภูเขาโหวซานคงจะมีที่มาจากลิงพวกนี้เป็นแน่”
 

สถานกงสุลอังกฤษและบ้านพักกงสุล ตั้งอยู่ในแถบเส้าฉวนโถว จากบ้านพักที่อยู่บนเขา จะสามารถมองเห็นท่าเรือเกาสง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน

สถานกงสุลอังกฤษและบ้านพักกงสุล ตั้งอยู่ในแถบเส้าฉวนโถว จากบ้านพักที่อยู่บนเขา จะสามารถมองเห็นท่าเรือเกาสง ซึ่งเป็นท่าเรือที่ใหญ่ที่สุดของไต้หวัน
 

 

ลักษณะป่าที่หลากหลายตั้งแต่เหนือจรดใต้ในเขาโซ่วซาน

การเปลี่ยนแปลงที่เกิดขึ้นตามกาลเวลาของเขาโซ่วซานไม่ใช่เพียงแค่การเปลี่ยนชื่อเท่านั้น เพราะแม้แต่สภาพป่าก็เปลี่ยนไปสู่ความเป็นป่าที่มีต้นไม้หนาแน่นมากขึ้น ในยุคที่ญี่ปุ่นปกครองเกาะไต้หวัน สำนักงานผู้สำเร็จราชการได้ดำเนินนโยบายอนุรักษ์แหล่งน้ำและป่าไม้ โดยจัดตั้งเขตป่าคุ้มครองขึ้นเป็นแห่งแรกในไต้หวันบนพื้นที่บริเวณภูเขาโซ่วซานและเขาฉีโห้วซาน และห้ามประชาชนตัดไม้ทำลายป่าโดยเด็ดขาด พร้อมคัดเลือกต้นไม้ยืนต้นประเภทไม้โตเร็วมาปลูกป่า เช่น กระถินดอย ไทรย้อย สนทะเลและกระถิน เป็นต้น ในปี ค.ศ. 1925 สำนักงานผู้สำเร็จราชการได้เชิญ Dr. Seiroku Honda บิดาแห่งสวนสาธารณะของญี่ปุ่นให้เดินทางมาออกแบบอุทยานอนุสรณ์โซ่วซาน ก่อนจะทำการปลูกไม้ดอกที่มีสีสันสวยงามจำนวนมากไว้ทางทิศใต้ของภูเขาโซ่วซานด้วย

สงครามระหว่างจีนและญี่ปุ่นในปี ค.ศ. 1937 ทำให้เกาสงกลายเป็นศูนย์บัญชาการทางทหารที่สำคัญ ด้วยความที่ภูเขาโซ่วซานเป็นจุดที่สามารถมองเห็นทั้งท่าเรือวั่นตัน (ปัจจุบันคือท่าเรือทหารจั่วอิ๋ง) และท่าเรือเกาสง จึงถูกกำหนดให้อยู่ในเขตทหาร ทำให้แผนการสร้างสวนสาธารณะโซ่วซานถูกระงับไป

หวงหย่าถิงเห็นว่า สภาพป่าของโซ่วซานในปัจจุบันมีความหลากหลายมาก ทางเหนือที่เป็นเขตทหารยังมีพืชพื้นถิ่นอยู่เป็นจำนวนมาก และมีสัตว์หลายชนิด ทางตอนกลางของโซ่วซานเป็นป่ากระถิน ส่วนทางตอนใต้คือเขตปลูกป่าที่สำคัญในสมัยที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ทำให้มีพืชต่างถิ่นถูกนำเข้ามาปลูกเป็นจำนวนมาก จนทำลายระบบนิเวศดั้งเดิมไป ส่งผลให้พืชพรรณไม่ค่อยมีความหลากหลาย ดังนั้น เธอจึงขอแนะนำให้เดินขึ้นภูเขาจากทางขึ้นที่อยู่ทางทิศเหนือ ซึ่งจะทำให้เห็นถึงนิเวศวิทยาที่มีความหลากหลายและอุดมสมบูรณ์

 

ต้นไม้ของไต้หวันก้าวขึ้นสู่เวทีโลก

ในช่วงฤดูฝน น้ำพุหลงเหยียนเลี่ยฉวนที่เป็นน้ำพุธรรมชาติ ซึ่งอยู่บริเวณทางขึ้นเขาทางทิศเหนือของภูเขาโซ่วซาน จะมีน้ำไหลหลากตลอดเวลา หวงหย่าถิงอธิบายว่า น้ำฝนที่ไหลเข้าไปยังแนวหินปะการังซึ่งอยู่ด้านบน เมื่อไหลลงมากระทบกับหินด้านล่างทำให้น้ำไม่สามารถไหลต่อไปได้ ก็จะล้นทะลักออกมาตามช่องและรูต่างๆ ที่อยู่บนหิน ในสมัยราชวงศ์ชิง ภาพการไหลของน้ำที่เกิดขึ้นเช่นนี้ ถูกยกย่องให้เป็น “1 ใน 8 ทิวทัศน์แห่งฟ่งซาน” เลยทีเดียว (ในสมัยราชวงศ์ชิง เขาโซ่วซานตั้งอยู่ในเขตเมืองฟ่งซาน)

เมื่อเดินขึ้นเนินไปได้ไม่นาน ก็จะเห็นฝูงลิงกังไต้หวันนั่งอยู่บริเวณบันไดหิน ปีนป่ายหยอกล้อเล่นซุกซนกันอย่างสนุกสนาน หวงหย่าถิงหัวเราะและเล่าต่อว่า “การได้สังเกตดูพฤติกรรมของลิงเป็นสิ่งที่น่าสนใจมาก ดูกี่ครั้งก็ไม่รู้สึกเบื่อเลย” โดยเธอและกลุ่มอนุรักษ์สิ่งแวดล้อมยังได้เขียนถึงเรื่องราวเพื่อบอกเล่าเกี่ยวกับใบหน้าที่แสดงอารมณ์ต่าง ๆ ของลิงกังไต้หวันไว้ใน “เฟซบุ๊กลิงกังไต้หวัน” และยังเตือนทุกคนด้วยว่า ลิงกังไต้หวันกับมนุษย์มีโรคระบาดชนิดเดียวกันหลายโรค ดังนั้น ห้ามให้อาหารหรือสัมผัสกับพวกมัน และหากมีลิงที่ยังไม่โตเต็มวัยกระโดดมาอยู่บนตัวคุณ ก็ไม่ต้องตกใจ ขอเพียงค่อย ๆ นั่งลงข้าง ๆ ต้นไม้ พวกมันก็จะกระโดดกลับขึ้นไปบนต้นไม้เอง

ลิงกังไต้หวันเป็นที่รู้จักบนเวทีโลกจากการที่ Robert Swinhoe กงสุลอังกฤษคนแรกประจำไต้หวัน ได้ส่งตัวอย่างของลิงสตัฟฟ์กลับไปให้พิพิธภัณฑ์บริติช และหลังจากทำการเปรียบเทียบแล้วได้รับการยืนยันว่า เป็นพันธุ์เฉพาะของไต้หวันเท่านั้น นอกจากนี้ เขายังส่งตัวอย่างของต้นฮ่วยซัวเหิงชุน  และมะเดื่อย้อม ที่พบเห็นได้ทั่วไปในแถบภูเขาโซ่วซาน ไปให้สวนพฤกษศาสตร์หลวงเมืองคิวเก็บสะสมด้วย โดยเขายังทำการเก็บตัวอย่างของพืชกว่า 200 ชนิด นกกว่า 200 ชนิด แมลงกว่า 400 ชนิดและหอยทากรวมถึงหอยชนิดอื่น ๆ อีกมากมายจากทั่วไต้หวัน ถือเป็นการเปิดประตูสู่การศึกษาค้นคว้าด้านประวัติศาสตร์ของธรรมชาติวิทยาในไต้หวันด้วย

นักสำรวจชาวอังกฤษอีกท่านหนึ่งที่มีผลงานการเก็บตัวอย่างเป็นจำนวนมากคือ Dr. Augustine Henry ในช่วงที่เดินทางมาเป็นนายแพทย์ประจำด่านศุลกากรต๋าโก่ว ได้เก็บตัวอย่างพืชในแถบภูเขาโซ่วซานถึง 94 ชนิด ในจำนวนนี้รวมถึงต้นบุกไต้หวันที่มีระยะเวลาการออกดอกที่สั้นมากจนยากที่จะเก็บได้ ชื่อภาษาอังกฤษของดอกไม้ชนิดนี้เป็นชื่อที่ได้มาจากชื่อของ Dr. Henry โดยเรียกว่า Henry’s voodoo lily (Amorphophallus henryi) ซึ่งแปลเป็นภาษาจีนได้ว่า 亨利式蒟蒻 (เฮิงลี่ซื่อจวี๋รั่ว-บุกของเฮนรี่) โดยในช่วงเดือนเมษายน-พฤษภาคมของทุกปีมันจะออกดอกและส่งกลิ่นฉุนเพื่อดึงดูดให้แมลงและแมลงวันมาช่วยผสมเกสร

การเดินไปตามเส้นทางเดินเขาที่อยู่ทางทิศเหนือของภูเขาโซ่วซาน เปรียบได้กับการท่องห้วงเวลา โดยมีหวงหย่าถิงเป็นผู้แนะนำให้เรารู้จักกับเรื่องราวของต้นไม้กับกาลเวลา ต้นไทรย้อยที่อยู่ที่นี่มาตั้งแต่สมัยราชวงศ์ชิง ถือเป็นพืชที่มีความโดดเด่นของภูเขาโซ่วซาน รากอากาศที่ห้อยย้อยลงมาจรดพื้นดินและ
ไชชอนลงไปในดิน กลายเป็นเหมือนไม้ค้ำที่แตกกิ่งก้านสาขาออกมามากมาย ปลายของรากจะหลั่งกรดออกมาเพื่อใช้สำหรับการชอนไชไปตามชั้นหินปูนที่ทั้งหนาและแข็ง ไทรย้อยใช้การเติบโตของรากอากาศมาขยายขอบเขตในการเจริญเติบโต จึงได้รับการขนานนามว่าเป็น “ต้นไม้ที่เดินได้” นอกจากนี้ ยังมีนักธรรมชาติวิทยาจากตะวันตกอีกท่านหนึ่งคือ Charles Wilford ที่ได้เก็บตัวอย่างของต้น Naves’ ehretia ซึ่งจุดเด่นของมันคือ ดอกสีขาวสวยกับเปลือกไม้ที่หนามาก ในอดีตต้น Naves’ ehretia เป็นต้นไม้ที่ชาวบ้านนิยมตัดมาทำฟืน ส่วนไผ่หนามที่สูงตระหง่าน เมื่อถูกลมพัดจะเกิดเสียงหวีดหวิว ซึ่งเป็นที่มาของชื่อต๋าโก่ว ในอดีตชนเผ่าหมาข่าเต้านิยมนำต้นไผ่หนามมาสานเป็นรั้ว เพื่อป้องกันการบุกรุกจากศัตรู

อย่างไรก็ตาม หลังจากที่มีการประกาศให้ภูเขาโซ่วซานอยู่ในเขตอุทยานธรรมชาติแล้ว ก็ห้ามชาวบ้านเก็บหรือตัดต้นไม้ที่อยู่ภายในอีก เพื่อปกป้องทรัพยากรธรรมชาติอันล้ำค่านี้เอาไว้ 
 

อุทยานธรรมชาติภูเขา โซ่วซาน ไม่เพียงแต่จะมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ภายในอุทยานฯ ยังมีร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์มากมาย แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองท่าแห่งนี้ตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 19

อุทยานธรรมชาติภูเขา โซ่วซาน ไม่เพียงแต่จะมีธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ภายในอุทยานฯ ยังมีร่องรอยแห่งประวัติศาสตร์มากมาย แสดงให้เห็นถึงความเจริญรุ่งเรืองของเมืองท่าแห่งนี้ตั้งแต่ในช่วงศตวรรษที่ 19
 

ภูมิประเทศแบบหินปูนอันตระการตา

ช่วงครึ่งท้ายของเส้นทางเดินเขาที่อยู่ทางตอนเหนือของภูเขาโซ่วซาน ทิวทัศน์สองข้างทางก็จะเปลี่ยนจากทิวป่าเป็นกำแพงหินปูนสูงตระหง่าน จุดชมวิวที่โด่งดังอย่าง “ท้องฟ้าราวเส้นด้าย” เกิดจากแนวหินปะการังที่ถูกยกตัวขึ้นมาอยู่บนที่สูง เนื่องจากการกระทบตัวของเปลือกโลก เมื่อเวลาผ่านไปนานเข้า แนวหินก็จะมีระยะห่างกันมากขึ้นเรื่อย ๆ ก่อนที่สุดท้ายจะกลายมาเป็นภูมิประเทศในแบบแกรนด์แคนยอน ซึ่งเมื่อเดินต่อไปอีกสักระยะ จะพบกับทางเดินที่ต้องใช้เชือกช่วยในการพยุงตัวเพื่อปีนขึ้นไปสู่ด้านบน ก็จะถึงหุบเขาหินปูนสูงตระหง่าน และมีแนวแตกทางธรณีวิทยาบนพื้นผิวให้เห็นอยู่มากมาย

จุดชมวิวอีกแห่งหนึ่งที่มีชื่อเสียง คือ “ม่านแห่งฝัน” เกิดขึ้นจากรากอากาศของต้นเจ้าหญิงเถาที่เป็นไม้ประดับ ห้อยย้อยลงมาจนเหมือนกับเป็นภาพของม่านต้นไม้ ในยามที่มีแสงแดดสาดส่องลงมา มองดูแล้วจะให้ความรู้สึกอันลึกลับไม่น้อย แต่หวงหย่าถิงบอกว่า “จริง ๆ แล้วเจ้าหญิงเถาเป็นสายพันธุ์ต่างถิ่น ทำให้ในบางครั้งเราต้องช่วยมันตัดผม เพื่อไม่ให้ขยายพันธุ์ไปสู่บริเวณอื่น” เพื่อรักษาความสมดุลระหว่างระบบนิเวศกับการท่องเที่ยว สำนักบริหารอุทยานจึงตัดสินใจควบคุมปริมาณของเจ้าหญิงเถาให้เติบโตอยู่ภายในบริเวณเฉพาะที่กำหนดไว้เท่านั้น เพื่อให้นักท่องเที่ยวได้ชื่นชมทิวทัศน์อันแปลกตาและงดงามนี้

จุดสูงสุดของทางเดินคือศาลาหย่าจั้ว ที่นักท่องเที่ยวสามารถมองไปสุดลูกหูลูกตาเพื่อชื่นชมความงามของช่องแคบไต้หวัน และยังมองเห็นฝูงลิงกังไต้หวันเล่นหยอกล้อกันอย่างสนุกสนาน แถมยังมีเหล่านักเดินเขาใจดี ที่แบกน้ำซึ่งมีน้ำหนักถึง 20 กิโลกรัมมาไว้ที่นี่ เพื่อให้เหล่านักท่องเที่ยวได้พักดื่มน้ำแก้กระหาย “ชาวบ้านแถวนี้ใจดีมาก ช่วงฤดูร้อนจะต้มน้ำจับเลี้ยง ฤดูหนาวจะต้มน้ำขิงมาคอยให้บริการ ถือเป็นการส่งเสริมวัฒนธรรมการเสิร์ฟชาที่น่ายกย่อง” หวงหย่าถิงกล่าวชื่นชมด้วยความรู้สึกขอบคุณ

หวงหย่าถิงเห็นว่า จุดเด่นของภูเขาโซ่วซานคือ ความใกล้ชิดกับผู้คน หวงหย่าถิงเคยไปรับการฝึกอบรมที่อุทยานแห่งชาติแกรนด์แคนยอนของสหรัฐอเมริกาชี้ว่า แม้ภูเขาโซ่วซานจะมีขนาดเล็กกว่า แต่ประชาชนไม่ต้องซื้อบัตรผ่านประตูหรือไม่ต้องเสียเงินซื้ออุปกรณ์ปีนเขาราคาแพง ก็สามารถดื่มด่ำกับทิวทัศน์และธรรมชาติอันอุดมสมบูรณ์ได้แล้ว ถือเป็นระบบนิเวศในภูเขาเตี้ย (ความสูงไม่เกิน 800 เมตรจากระดับน้ำทะเล) ซึ่งมีอยู่ไม่มากนักในไต้หวัน

ความงดงามของภูเขาโซ่วซานถูกค้นพบจากกลุ่มคนที่มีความสนใจและมีความเชี่ยวชาญที่แตกต่างกัน ย้อนไปตั้งแต่ นักธรรมชาติวิทยาจากตะวันตกที่เข้ามาในไต้หวันในช่วงศตวรรษที่ 19 บิดาแห่งสวนสาธารณะของญี่ปุ่นในศตวรรษที่ 20 มาจนถึงมัคคุเทศก์ท้องถิ่นด้านนิเวศวิทยาในปัจจุบัน ดังเช่นที่หวงหย่าถิงได้เขียนสรุปไว้ในวิทยานิพนธ์ของเธอว่า ความอุดมสมบูรณ์ของภูเขาโซ่วซานในปัจจุบัน ถูกสร้างขึ้นจากความพยายามของธรรมชาติ และผู้คนในแต่ละยุคสมัยที่ต่างก็พากันทุ่มเทพลังแห่งวัฒนธรรมเข้าไป ความงดงามของเขาโซ่วซานจึงมิจำกัดอยู่เพียงเรื่องของระบบนิเวศทางธรรมชาติเท่านั้น แต่ยังเปี่ยมไปด้วยเรื่องราวที่เหล่าวีรบุรุษผู้อยู่เบื้องหลังทั้งหลายร่วมกันถ่ายทอดตลอด 200 กว่าปีที่ผ่านมา

 

เพิ่มเติม

สวนสวรรค์แห่งธรรมชาติกลางเมืองท่า ตามรอยไกด์ท้องถิ่นตะลุย เขาโซ่วซาน