ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สดับฟังบทเพลงแห่งออสโตรนีเซียน โครงการ Small Island Big Song : ดนตรีแห่งออสโตรนีเซียน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-08-22

“Small Island Big Song” (小島大歌)(1)

 

หลังจากที่ห่างหายไปนานกว่า 3 ปี โครงการดนตรี “Small Island Big Song” (小島大歌) ก็เปิดตัวอัลบั้มชุดที่ 2 “Our Island” เมื่อเดือนมกราคม ค.ศ. 2022 และเริ่มตระเวนแสดงในสหรัฐอเมริกาและอิตาลี รวม 36 รอบ ตั้งแต่เมื่อปลายปีที่แล้ว

การแสดงในรอบแรกเริ่มต้นจากไต้หวัน ซึ่งเป็นผลงานจาก Taiwan Creative Content Fest (TCCF) 2021 ซึ่งจัดขึ้นโดย Taiwan Creative Content Agency (TAICCA) และมี Putad นักร้องนำของวง “Outlet Drift” ที่เพิ่งคว้ารางวัล Golden Melody Awards 2021 ในสาขาอัลบั้มเพลงภาษาชนพื้นเมืองยอดเยี่ยมประจำปี มาเป็นผู้ขับร้องเพลง Pinagsanga (ธรรมชาติ) ด้วยภาษาชนผ่าอามิส ประสานด้วยเสียงเศร้า ๆ ของไต้เสี่ยวจวิน (戴曉君) นักร้องชื่อดังที่เป็นชนเผ่าไผวาน โดยมี Sammy ศิลปินจากเกาะมาดากัสกา และ Emlyn นักร้องชื่อดังจากมอริเชียสร่วมแสดงแบบทางไกลประสานกับเสียงกลองที่ดังกระหึ่มเสมือนเสียงคลื่นทะเล เสียงร้องก้องกังวานส่งสัญญาณคารวะต่อมหาสมุทร สร้างความประทับใจให้กับผู้คนเป็นอย่างมาก

 

ใช้ดนตรีร้อยเรียงออสโตรนีเซียนเป็นหนึ่งเดียว

อัลบั้มเพลงชุดแรกของ “Small Island Big Song” มีคุณเฉินเหวินเจิน (ต่อไปจะเรียกว่า เปาเปา) เป็นโปรดิวเซอร์ร่วมกับสามีของเธอ Tim Cole ชาวออสเตรเลีย และใช้เวลานานกว่า 3 ปี ในการจัดคอนเสิร์ตสัญจรใน 16 ประเทศเกาะออสโตรนีเซียน พบปะกับศิลปินนักดนตรีมากกว่า 100 ท่าน สรรค์สร้างออกมาเป็นบทเพลงถึง 18 เพลง และจุดเริ่มต้นของโครงการนี้มาจากคำกล่าวของท่านผู้อาวุโสท่านหนึ่งบนเกาะวานูอาตูในแปซิฟิกใต้

เปาเปากับทิมได้เยือนวานูอาตูในปี ค.ศ. 2012 ผู้อาวุโสท่านหนึ่งบนเกาะบอกกับพวกเขาว่า “บรรพบุรุษของพวกเรามาจากไต้หวัน”

เปาเปาไม่อยากเชื่อหูของตัวเอง จึงถามซ้ำเพื่อความแน่ใจว่า “ไต้หวันนะ ไม่ใช่ประเทศไทย” (หลายคนมักสับสนชื่อภาษาอังกฤษระหว่างไต้หวันกับประเทศไทย) เธอพบว่า แท้จริงแล้วไต้หวันถือเป็นแหล่งกำเนิดของวัฒนธรรมออสโตรนีเซียน ซึ่งสามารถพิสูจน์ได้จากพืชพันธุ์และภาษา แต่ส่วนใหญ่ยังคงกล่าวถึงกันเฉพาะในวงวิชาการเท่านั้น ไม่ค่อยมีการพูดคุยเกี่ยวกับเรื่องนี้ในปัจจุบันมากนัก ทำให้ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2015 เป็นต้นมา เธอจึงเริ่มระดมทุนเพื่อผลักดันโครงการ “Small Island Big Song” โดยใช้เสียงดนตรีร้อยเรียงเกาะออสโตรนีเซียนเข้าด้วยกัน ส่วน Tim ผู้คลุกคลีอยู่กับการสรรค์สร้างดนตรีของชนพื้นเมืองเผ่าต่าง ๆ ในปาปัวนิวกินีและออสเตรเลียมาตั้งแต่เมื่อ 20 ปีเศษก่อน รับผิดชอบการจัดทำสัญญาความร่วมมือด้านดนตรี และถ่ายทำภาพยนตร์แบบข้ามวัฒนธรรม

Tim ซึ่งจบการศึกษาด้านดนตรีมาโดยตรง ยืนหยัดที่จะไม่บันทึกเสียงในสตูดิโอ แต่ต้องเดินทางไกลไปบันทึกเสียงขับขานสไตล์คลาสสิกของ Kekuhi ยามพระอาทิตย์โผล่พ้นขอบฟ้า บนปากภูเขาไฟคีเลาเวอาในฮาวาย เพื่อบันทึกเสียง “Women’s Water Music” ที่ข้างถ้ำ Blue Hole ในวานูอาตู บันทึกเสียงขับขานของนักร้องและเสียงดนตรีจากเครื่องดนตรีคลาสสิกในป่าไม้ Mangrove ที่ปาปัวนิวกินี และในป่าดิบชื้นที่นิวซีแลนด์ เป็นการแสดงถึงการเชื่อมต่อกันระหว่างคนกับผืนดินและคนกับวัฒนธรรม คุณ Tim พูดด้วยเสียงอันนุ่มนวลแต่ก็ไม่อาจบดบังความตื่นเต้นที่ซ่อนอยู่ในหัวใจของเขาได้ว่า “ดนตรีที่นำเสนอออกมาแบบนี้ เป็นคำประกาศอย่างหนึ่งต่อโลกธรรมชาติ ซึ่งเต็มไปด้วยพลังมหาศาล”

คุณ Tim ยึดมั่นในแนวความคิดตาม “ปฏิญญาสหประชาชาติว่าด้วยสิทธิของปวงชนท้องถิ่นดั้งเดิม” และความเป็นธรรมทางการค้า มอบผลกำไรสุทธิที่ได้จากแผ่นเสียงคืนสู่ชนเผ่า เพื่อนำไปใช้เป็นค่าใช้จ่ายในการคุ้มครองทรัพย์สินทางปัญญาของชนเผ่าพื้นเมือง

 

มหาสมุทรไร้พรมแดนขวางกั้น

อัลบั้มดนตรี “Small Island Big Song”  วางตลาดเมื่อปี ค.ศ. 2018 นอกจากจะได้รับเลือกให้เข้ารอบสุดท้ายรางวัล “แนวคิดอัลบั้มยอดเยี่ยมประจำปี 2019” จากมหกรรมดนตรี “The Independent Music Awards, (IMAs)” ของสหรัฐอเมริกาแล้ว ยังเป็นอัลบั้มเดียวจากเอเชียที่คว้ารางวัล “อัลบั้มยอดเยี่ยมประจำปี” German Record Critices’ Award ของเยอรมนีอีกด้วย ต่อจากนั้น พวกเขาก็ตระเวนแสดงใน 4 ทวีป 16 ประเทศ รวมมากกว่า 50 รอบ มีผู้ชมการแสดงสดรวมกว่า 1.7 แสนคน

บทเพลง “Uyas Gerakun” ถือเป็นไฮไลท์ก่อนปิดฉากคอนเสิร์ต ซึ่งเป็นบทเพลงที่ Pi Teyru Ukah นายพรานชนเผ่า Truku บรรเลงด้วยพิณฮาร์ป (Jew's harp) เครื่องดนตรีประจำชนเผ่า Truku ซึ่งพิณที่พบในซาราวัก และที่ปาปัวนิวกินี จะเป็นการนำพิณฮาร์ป มาเรียงซ้อนกันเป็นชั้น ๆ ประสมประสานกับท่าเต้น Haka ในการออกรบของชนเผ่าเมารี จังหวะการร้องรำแบบ Kecha บนเกาะบาหลี เมื่อหลอมรวมดนตรีทั้งหมดเข้าด้วยกัน แม้ว่าเสียงที่เปล่งออกจากพิณฮาร์ปจะมีลักษณะค่อนข้างเบาบาง เหมือนเสียงหยดน้ำที่หยดลงไปในมหาสมุทรอันกว้างใหญ่ไพศาล แต่ก็สามารถกลายเป็นเสียงดนตรีที่เต็มไปด้วยพลัง

เปาเปา เล่าให้ฟังว่า ตอนที่เธอไปเที่ยวพร้อมกับทำงานไปด้วยที่ออสเตรเลีย เธอเพิ่งมีอายุเพียง 22 ปีเท่านั้น ซึ่งยังเป็นวัยแห่งการแสวงหาตัวเอง ในสมองเต็มไปด้วยความฝันที่อยากจะทำอะไรบางอย่างให้ไต้หวัน เธอได้อาศัย “Small Island Big Song” มาค้นหาหนทางแห่งความฝันให้ชัดเจนยิ่งขึ้น “ขีดวงให้กว้างขึ้น เพื่อให้ผู้คนจำนวนมากมีโอกาสเข้าร่วมได้มากยิ่งขึ้น”

โครงการ “Small Island Big Song” ไม่ได้หยุดอยู่เพียงแค่การร้อยเรียงเกาะออสโตรนีเซียนเข้าด้วยกันเท่านั้น ยังเป็นบทพิสูจน์ถึงขั้นตอนการอพยพย้ายข้ามจากมหาสมุทรแปซิฟิกไปยังมหาสมุทรอินเดียของชาวเกาะออสโตรนีเซียน เปาเปายกตัวอย่างว่า ที่เกาะมาดากัสการ์มีเครื่องดนตรีชนิดหนึ่งที่ไม่มีสายดีดที่ชื่อว่า Valiha ซึ่งผู้คนบนเกาะทุกคนเล่นเป็น คุณ Tarika Sammy ศิลปินดนตรีท่านหนึ่งบอกกับเธอว่า ตอนที่บรรพบุรุษของพวกเขาเพิ่งอพยพมาที่เกาะนี้ Valiha ไม่มีสายดีด ต่อมาเมื่อมีจักรยาน ผู้คนบนเกาะก็นำสายเบรกของจักรยานมาทำเป็นสายดีดของเครื่องดนตรีนี้ และคาดไม่ถึงว่า เมื่อพวกเขาเดินทางถึงซาราวักของมาเลเซีย ศิลปิน Alena Murang ได้พาพวกเธอไปเยี่ยมชมการแสดงดนตรี Pagong โดยใช้แผ่นไม้ไผ่ของคุณยายของเธอ พวกเราถึงกับร้องอ๋อว่า จริง ๆ แล้ว Pagong มีรูปร่างเดียวกับ Valiha เครื่องดนตรีที่มีรูปร่างเหมือนกันเปี๊ยบแบบนี้ยังพบได้ในบันทึกต่าง ๆ ของฟิลิปปินส์ อินโดนีเซีย และไต้หวัน แต่มันกลับสูญหายไปจนหมดสิ้นแล้ว

ในช่วงการตระเวนแสดงที่ยุโรปในปี ค.ศ. 2018-2019 “Small Island Big Song” มีโอกาสร่วมแสดงในงานคอนเสิร์ตร็อกขนาดใหญ่หลายรายการ และเมื่อถึงเวลาการแสดงของเครื่องดนตรีชนพื้นเมือง Pagong และ Valiha ก็ได้ประสมประสานเสียงดนตรีกระตุกต่อมเซลล์ดนตรีของผู้คน สร้างความประทับใจให้แก่ผู้ชมอย่างหาที่เปรียบมิได้
 

“Small Island Big Song” (小島大歌)(2)

 

ครอบครัวเดียวกันในมหาสมุทร

ในอัลบั้มชุดนี้มีบทเพลงหนึ่งที่มีชื่อว่า “Naka Wara Wara To’o” มีความหมายว่า “ขอส่งมอบภาษาแห่งความชาญฉลาดและคำพูดแห่งสติปัญญาแด่ท่าน” แต่งโดย Charles Maimarosia ศิลปินแพนฟลุต (Pan-Flute) แห่งหมู่เกาะโซโลมอน โดยใช้ภาษาโบราณ เขาเคยบอกว่า การร่วมงานกับ “Small Island Big Song” ก็เหมือนกับได้พบคนในครอบครัวกลางมหาสมุทร เพลงนี้เขาแต่งขึ้นให้แก่สมาชิกในครอบครัวของเขาเอง

ในระหว่างการฝึกซ้อมก่อนการตระเวนแสดง นักร้องที่มาจากประเทศต่าง ๆ แม้จะมีภาษาแม่แตกต่างกัน แต่พวกเขากลับพบว่า “การนับเลข 1-10” จะออกเสียงคล้ายคลึงกันมาก ตั้งแต่เกาะอีสเตอร์จนถึงชนเผ่าอามิส แม้กระทั่งภาษากายก็ละม้ายคล้ายคลึงกันเป็นอย่างมาก

ไต้หวันมิใช่เป็นเพียงส่วนหนึ่งของทวีปเอเชียเท่านั้น หากยังเป็นส่วนหนึ่งของเกาะออสโตรนีเซียนด้วย ในช่วงการพูดคุยกับคุณเปาเปา เธอเล่าให้ฟังจากความรู้สึกว่า ช่วงนี้ในสหรัฐอเมริกาและออสเตรเลียมีการพูดถึง “ประเด็นอินโดแปซิฟิก” ค่อนข้างมาก ซึ่งความจริงแล้ว อินโดแปซิฟิกก็คือภูมิภาคของเกาะออสโตรนีเซียน และยังมีประเด็นที่ต่างชาติคุยกันค่อนข้างมากคือประเด็นความขัดแย้งและความตึงเครียดระหว่างไต้หวันกับจีน ความจริงแล้วก็เพียงแต่กลับหลังหัน หันหน้าเข้าหาแปซิฟิก ก็จะพบว่าไต้หวันกับเกาะ ออสโตรนีเซียนมีความเกี่ยวพันกันอย่างล้ำลึกและยาวนาน “เมื่อพิจารณาจากโครงการของเราแล้วจะพบว่า ไต้หวันเชื่อมโยงกับเกาะออสโตรนีเซียนอย่างแยกไม่ออก และยังสามารถที่จะพิสูจน์สถานะความหมายใหม่ของไต้หวันได้อีกด้วย”

 

ดนตรีเปลี่ยนโลก

โครงการ “Small Island Big Song” ได้ส่งสัญญาณแห่งความวิตกกังวลต่อสิ่งแวดล้อม บทเพลง “Gasikara” (ชื่อเพลงในภาษาจีน : มาดากัสการ์) เพลงนี้ เป็นบทเพลงที่ศิลปินจาก 6 ประเทศร่วมกันขับร้องและบรรเลงด้วยเครื่องดนตรีพื้นเมืองดั้งเดิม บรรยายถึงภาวะวิกฤตที่ปะการังกำลังเผชิญอยู่ Tim ที่ซึมซับเสียงดนตรีมานานกว่า 30 ปีบอกว่า เขาต้องการที่จะอาศัยเรื่องราวและดนตรีจากอัลบั้มเพลงชุดนี้ ส่งเสียงแทนสภาพแวดล้อม ส่งเสียงแทนมหาสมุทร จึงตั้งชื่ออัลบั้มนี้ว่า “Small Island Big Song” โดยในส่วนของชื่อภาษาอังกฤษจะเป็นเลขคี่ หมายถึง “เรามีโลกเพียงใบเดียว”

ในช่วงที่คุณเปาเปากับคุณ Tim ร่วมกันบันทึกเสียงเครื่องดนตรีดั้งเดิมที่ทำจากไผ่ บนเกาะ Bougainville ซึ่งเป็นเกาะรอบนอกของประเทศปาปัวนิวกินี พวกเขาได้พบกับทนายความสิทธิมนุษยชนชาวออสเตรเลียท่านหนึ่ง ซึ่งกำลังช่วยเหลือการจัดซื้อที่ดินให้แก่ชาวบ้านบนเกาะแห่งนี้ ชาวบ้านเดือดร้อนจากการที่ที่ดินบนเกาะมีความเค็มมากเกินไป จนไม่สามารถเพาะปลูกพืชได้ น้ำในแม่น้ำกลายเป็นน้ำเค็ม ไม่มีน้ำดื่ม ซึ่งกล่าวได้ว่า การเปลี่ยนแปลงของภูมิอากาศกำลังเกิดขึ้นแล้ว

ต่อมาเมื่อปลายเดือนมกราคม ค.ศ. 2022 ที่ผ่านมา คณะของ “Small Island Big Song” ได้ตระเวนแสดงที่บรอดเวย์ นิวยอร์ก และมหาวิทยาลัยเพนซิลเวเนีย รวมทั้งแสดงรอบสุดท้ายในยุโรป เป็นการแสดงที่เกาะ Procida นครหลวงทางวัฒนธรรมปี ค.ศ. 2022 ของอิตาลี คุณเปาเปาบอกว่า “ตอนนี้อยู่ระหว่างวางแผน หวังว่าการตระเวนแสดงรอบสุดท้ายจะจบลงที่ไต้หวัน เพราะไต้หวันเป็นจุดเริ่มต้นของวัฒนธรรมออสโตรนีเซียน และนี่เป็นเสียงเพลงที่ไต้หวันอุทิศให้แก่โลกใบนี้

 

เพิ่มเติม

สดับฟังบทเพลงแห่งออสโตรนีเซียน โครงการ Small Island Big Song : ดนตรีแห่งออสโตรนีเซียน