ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
มนต์เสน่ห์แห่งเส้นทางรถไฟเซินเอ้า ถิ่นวัฒนธรรมเหมืองแร่ ทองคำและถ่านหิน
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-09-12

มนต์เสน่ห์แห่งเส้นทางรถไฟเซินเอ้า(1)

 

เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้าลัดเลาะไปตามชายทะเลซึ่งอยู่ทิศตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน คล้ายกับเส้นทางรถไฟฟ้าเอโนชิมะ สายริมทะเลที่โชนันในญี่ปุ่นที่ทอดตัวริมทะเลติดกับภูเขา และมีทิวทัศน์สวยงามยิ่งนัก

 

เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้าพาดผ่านรุ่ยฟาง (瑞芳) ซึ่งเป็นเขตหนึ่งของนครนิวไทเป ในอดีตเป็นถิ่นเหมืองแร่ที่มีทรัพยากรใต้ดินอันอุดมสมบูรณ์ซึ่งมีอยู่น้อยมากในไต้หวัน โดยเฉพาะ 3 หมู่บ้านที่เรียกรวมกันว่า “สุ่ยจินจิ่ว (水金九)” ประกอบด้วย สุ่ยหนานโต้ง (水湳洞) จินกัวสือ (金瓜石) และจิ่วเฟิ่น (九份) ซึ่งได้รับฉายาว่าเป็น “เมืองบนภูเขาทองคำ”

การพัฒนาของอุตสาหกรรมเหมืองแร่ที่มีนานนับร้อยปี ต้องมาถึงจุดสิ้นสุดในปี ค.ศ. 1990 หลังจากที่ทรัพยากรใต้ดินเริ่มหมดลง และไต้หวันเปิดให้นำเข้าถ่านหินจากต่างประเทศ ผู้คนส่วนใหญ่พากันลืมเลือนรุ่ยฟาง ก่อนที่ภาพยนตร์เรื่อง A City of Sadness (悲情城市) และ A Borrowed Life (多桑) จะจุดประกายทำให้หมู่บ้าน จิ่วเฟิ่น โด่งดังขึ้นมาอีกครั้ง

บรรยากาศเก่าแก่ของหมู่บ้านเหมืองแร่ ที่เป็นสักขีพยานการผ่านยุครุ่งเรืองเข้าสู่ความซบเซา ได้ดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มุ่งหน้าไปเยี่ยมชม ผู้คนเดินขวักไขว่อยู่บนถนนเก่าจิ่วเฟิ่นและพากันไปรับประทานขนมอี๊เผือก มองดูทิวทัศน์ทะเลปาโต่วจื่อ (八斗子) ราวกับเรื่องราวในอดีตที่ผ่านมาได้จางหายไปพร้อมกับสายลม

 

เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้า มองปัจจุบันนึกย้อนไปสู่อดีต

เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้า เปิดเดินรถอีกครั้งในปี ค.ศ. 2014 ระยะทางสั้น ๆ เพียง 4.7 กม. จอดเฉพาะรุ่ยฟาง พิพิธภัณฑ์สมุทรศาสตร์ (海科館) ปาโต่วจื่อ (八斗子) รวม 3 สถานี แต่เรื่องราวของสถานที่เหล่านี้หากย้อนไปสู่ยุคที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวันแล้ว ต่างก็เคยผ่านการขยายเส้นทาง หยุดการใช้งานและรื้อฟื้นการใช้งานมาแล้ว เส้นทางรถไฟสายนี้เฟื่องฟูและซบเซาไปตามภาวะเศรษฐกิจของรุ่ยฟาง เป็นเงาสะท้อนความเป็นไปในท้องถิ่นของศตวรรษที่ผ่านมา ด้วยเหตุนี้ผู้เฒ่าผู้แก่จำนวนมาก จึงมีความผูกพันต่อเส้นทางรถไฟสายนี้จนยากที่จะพรรณนา

ในปี ค.ศ. 1935 บริษัทเหมืองแร่ญี่ปุ่น (The Japan Mining) เป็นผู้ก่อสร้างเส้นทางรถไฟเล็กมีชื่อเรียกว่า เส้นทางจินกัวสือ(金瓜石) เริ่มจากสุ่ยหนานโต้ง (ในยุคนั้นเรียกว่า เหลียนโต้ง : 濂洞) ไปถึงปาฉื่อเหมิน (八尺門) เมืองจีหลง สร้างขึ้นเพื่อขนส่งแร่ที่ขุดได้ไปยังลานกองแร่เพื่อลำเลียงลงเรือส่งกลับญี่ปุ่น

หลังสงครามโลกครั้งที่ 2 บริษัท Taiwan Metal Mining Corp. รับช่วงการประกอบธุรกิจต่อจากบริษัท The Japan Mining เนื่องจากกิจการซบเซาลง ส่งผลให้ต้องหยุดการใช้งานของเส้นทางรถไฟเล็กในปี ค.ศ. 1962 ต่อมาในปี ค.ศ. 1967 การรถไฟไต้หวันได้สร้างทางเชื่อมต่อจากปาโต่วจื่อไปถึงรุ่ยฟาง และขยายไปถึงสถานีไห่ปิน (海濱) เหลียนโต้ง (濂洞) กลายเป็นทางรถไฟที่เรียกกันในปัจจุบันว่า เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้า

เนื่องจากมีการเปิดใช้งานทางหลวงเลียบชายฝั่งทะเลภาคเหนือของไต้หวันในปี ค.ศ. 1978 ทำให้การขนส่งผู้โดยสารและสินค้าผ่านทางรถไฟซบเซาลง ส่งผลให้มีการปิดสถานีไห่ปินและเหลียนโต้งหลังผ่านการใช้งานเพียง 12 ปีเท่านั้น จนถึงปี ค.ศ. 2007 ซึ่งมีการหยุดใช้งานโรงไฟฟ้าเซินเอ้า จึงปิดการใช้งานทางรถไฟตลอดทั้งสาย ต่อมาในปี ค.ศ. 2014 พิพิธภัณฑ์สมุทรศาสตร์จีหลง (基隆海科館) เปิดตัวอย่างยิ่งใหญ่ ดึงดูดผู้คนมาเข้าชมเป็นจำนวนมาก เพื่อตอบสนองต่อกระแสของการท่องเที่ยว การรถไฟไต้หวันจึงได้ทุ่มงบประมาณ 55 ล้านเหรียญไต้หวันฟื้นฟูการเดินรถเส้นทางสายเซินเอ้าอีกครั้ง
 

มนต์เสน่ห์แห่งเส้นทางรถไฟเซินเอ้า(2)

 

ขึ้นเหนือล่องใต้ เส้นทางคมนาคมสำคัญ

เส้นทางรถไฟสายเซินเอ้าเริ่มต้นที่สถานีรุ่ยฟาง กล่าวได้ว่ารุ่ยฟางมีบทบาทสำคัญตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันในฐานะชุมทางของการคมนาคม ที่มาของชื่อเรียกไม่มีหลักฐานอ้างอิงชัดเจน แต่เดิมรุ่ยฟาง เรียกกันว่า กันไจ่ไล่ (柑仔瀨) ตั้งอยู่ที่กันผิงหลี่ (柑坪里) ของรุ่ยฟางในปัจจุบัน เนื่องจากตั้งอยู่ระหว่างปากแม่น้ำจีหลง (基隆河) และทางโบราณตั้นหลาน (淡蘭古道) ในอดีตการคมนาคมทางบกไม่สะดวกและไม่มีทางเลือกอื่น ผู้เดินทางระหว่างไทเปและเก๋อหม่าหลาน (噶瑪蘭 - ปัจจุบันคือ อี๋หลาน) จะต้องเดินทางผ่านกันไจ่ไล่ เล่าขานกันว่า รุ่ยฟาง เป็นชื่อร้านของชำตั้งอยู่ท่าเรือข้ามฟากปากแม่น้ำจีหลง เวลาผ่านไปนานเข้าผู้คนจึงเรียกสถานที่แห่งนี้ว่า รุ่ยฟาง

ในยุคญี่ปุ่นปกครองไต้หวันมีการสร้างทางรถไฟ ชุมชนกันไจ่ไล่ (รุ่ยฟาง) ได้เคลื่อนย้ายไปยังบริเวณด้านหลังของสถานีรถไฟในปัจจุบัน รุ่ยฟางในวันนี้ ผู้คนพลุกพล่านตลอดทั้งปี เป็นจุดที่นักท่องเที่ยวต่อรถไปยังจุดท่องเที่ยวหลายแห่ง ทั้งผิงซี (平溪) จิ่วเฟิ่น (九份) จินกัวสือ (金瓜石) สุ่ยหนานโต้ง (水湳洞) เป็นต้น เพื่ออำนวยความสะดวกแก่นักท่องเที่ยวที่แห่กันมาทั้งจากในประเทศและต่างประเทศปีละกว่า 4 ล้านคน ในสถานีรุ่ยฟางนอกจากมีภาษาอังกฤษแล้ว ยังมีภาษาญี่ปุ่นและเกาหลีควบคู่กันด้วย

อย่างไรก็ตาม ด้านหลังสถานีรถไฟที่ดูซบเซา เมื่อเทียบกับด้านหน้าสถานีที่ผู้คนหนาแน่นพลุกพล่าน ถนนเก่ารุ่ยฟางซึ่งตั้งอยู่ด้านหลังสถานีมีสภาพราวหยุดนิ่ง แทบไม่น่าเชื่อเลยว่า ก่อนการขยายเมืองออกสู่ด้านหน้าสถานีรถไฟ ถนนเก่ารุ่ยฟางที่อยู่ด้านหลังของสถานีรถไฟเคยเป็นศูนย์กลางความรุ่งเรืองคึกคักที่สุดของชายฝั่งทางตะวันออกเฉียงเหนือของไต้หวัน มีกิจการร้านค้าสารพัด คลื่นผู้คนหมุนเวียนมาซื้อขายสินค้าตลอดเวลา จนทำให้มีการเปิดตลาดถึงวันละ 4 รอบ

 

การรณรงค์ฟื้นฟูศิลปวัฒนธรรมบนถนนเก่า

พวกเราไปชมจุดท่องเที่ยวซึ่งมีเคอรุ่ยเหอ (柯瑞和) ผู้ใหญ่บ้านของหมู่บ้านหลงอัน (龍安里) เป็นผู้นำทาง บริเวณใกล้ทางเข้าออกของด้านหลังสถานีรถไฟ มีโคมไฟหินซึ่งเป็นวัตถุที่หลงเหลือจากศาลเจ้าญี่ปุ่นซึ่งเคยตั้งอยู่ ณ ที่นี้ จากนั้นไปชมบ้านเก่าของเลี่ยวเจี้ยนฟาง (廖建芳) ที่เป็นสถาปัตยกรรมรูปทรงภูเขาสไตล์บาโรกและกำแพงกรวดล้าง จุดต่อไปคือห้างอี้ฟัง (義方商行) ซึ่งเป็นสำนักงานใหญ่ของ บริษัทเหมืองแร่รุ่ยซาน (瑞三礦業) สร้างโดยหลี่เจี้ยนซิง (李建興) ยักษ์ใหญ่วงการเหมืองแร่ในยุคอดีต โดยยังมีโรงแรมรุ่ยฟาง (瑞芳旅社) ที่ในอดีตมีแขกเข้าพักแรมไม่ขาดสาย แต่ปัจจุบันกลายเป็นตึกร้างว่างเปล่า ทิวทัศน์ที่น่าสนใจอื่น ๆ คือทางรถไฟเล็กที่สร้างเลียนแบบอดีต รวมถึงซอยแคบ ๆ ทะลุใต้บ้านที่เรียกกันว่า “ซอยไม่เห็นท้องฟ้า” ซึ่งเป็นการสร้างบ้านคร่อมซอยที่ผู้คนสัญจรผ่านไปมา

เพื่อฟื้นฟูความรุ่งเรืองของถนนเก่า ในช่วงไม่กี่ปีที่ผ่านมา เคอรุ่ยเหอและคนรุ่นใหม่หลายคนร่วมมือกันพัฒนาท้องถิ่น บูรณะปรับปรุงพื้นที่สาธารณะที่ทรุดโทรม พัฒนาพื้นที่ว่างบนถนนเป็น “ห้องรับแขก” สำหรับนักท่องเที่ยวที่เดินทางมารุ่ยฟาง ให้เป็นทั้งที่พักผ่อนและเลือกซื้อของที่ระลึก นอกจากนี้ ยังมีการประดับท้องถนนด้วยโคมไฟหลายสีระยิบระยับเชื่อมโยงเป็นสาย เป็นการสะท้อนภาพอดีตที่คนงานเหมืองแร่ถือโคมไฟเข้าไปในอุโมงค์เพื่อความปลอดภัยพร้อมกับร้องเพลง “ถือโคมไฟเดินเข้าอุโมงค์ ตรวจดูไฟสว่างหรือไม่ ไม้ขีดติดตัวไว้ ผ้าเช็ดมือมัดกล่องข้าวให้แน่น ...”
 

สถานีรถไฟปาโต่วจื่อ ที่มีชานชาลาทอดตัวยาวกลมกลืนกับชายทะเลและท้องฟ้า กลุ่มผู้คลั่งไคล้รถไฟขนานนามที่นี่ว่าเป็น “สถานีตัวเหลียงแห่งภาคเหนือไต้หวัน”

สถานีรถไฟปาโต่วจื่อ ที่มีชานชาลาทอดตัวยาวกลมกลืนกับชายทะเลและท้องฟ้า กลุ่มผู้คลั่งไคล้รถไฟขนานนามที่นี่ว่าเป็น “สถานีตัวเหลียงแห่งภาคเหนือไต้หวัน”
 

มีผู้ลงรากปักฐาน แม้จะมีผู้ลาจาก

ปี ค.ศ. 1987 บริษัท Taiwan Metal Mining Corp. ปิดกิจการอย่างเป็นทางการ เมื่อไม่มีงานทำ คนงานเหมืองแร่พากันอพยพออกไป จินกัวสือ เมืองบนภูเขาที่เคยรุ่งเรืองจนได้รับฉายาว่า “เซี่ยงไฮ้น้อย” หรือ “ฮ่องกงน้อย” เงียบสงบในพริบตา อย่างไรก็ตาม ผู้ที่ชื่นชมต่อเมืองภูเขาที่สงบงดงาม เลือกที่จะย้ายเข้ามาลงรากปักฐานที่นี่

“รุ่ยฟางมีความพิเศษมาก มีภูเขา มีทะเล มีแม่น้ำ มีกิจการประมงและเหมืองแร่” “ในตอนนั้นตัดสินใจย้ายมาที่สุ่ยหนานโต้ง เพราะเห็นว่าที่นี่เป็นจุดสวยที่สุดของพื้นที่สุ่ยจินจิ่ว สุ่ยหนานโต้งมีความงามที่ตระการตา น้ำตกหวงจิน (黃金瀑布)  ทะเลหยินหยาง (陰陽海) ซากโรงถลุงแร่ 13 ชั้น (十三層遺址) ล้วนอยู่ที่นี่” ซือเฉินอี๋ (施岑宜) พูดด้วยความภาคภูมิใจ

เธอผู้ซึ่งมีความชำนาญด้านนโยบายและการบริหารสถานที่ท่องเที่ยว สิ่งก่อสร้าง ศิลปะ วัฒนธรรม ได้ใช้วิชาที่ร่ำเรียนมา ทำประโยชน์ให้กับรุ่ยฟาง เธอเคยทำงานเป็นผู้อำนวยการพิพิธภัณฑ์เหมืองทองคำ (黃金博物館) เป็นผู้ร่วมก่อตั้งหอศิลป์ซานเฉิง (山城美館) เมื่อไม่นานมานี้ เธอได้ซื้อตึกบริษัทขนส่งสินค้าบนถนนเก่าปรับปรุงเป็น “ห้องสมุดซินชุนฟาง” (新村芳書院) เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับการเรียนรู้และที่พักแบบโฮมสเตย์

ยังมี ไล่ซูหย่า (賴舒亞) นักประพันธ์ซึ่งเกิดที่จินกัวสือ เธอย้ายไปอยู่ในไทเปพร้อมกับครอบครัวเมื่ออายุ 9 ขวบ แต่มีความคิดถึงบ้านเกิดไม่ลืมเลือน เนื่องจากมีผู้ชักชวนและด้วยความคิดถึงบ้านเกิดเธอจึงกลับมายังถิ่นกำเนิดอีกครั้ง เนื่องจากเคยใช้ชีวิตอยู่ใน 2 พื้นที่จึงเกิดการเปรียบเทียบ แต่เดิมทำงานที่สำนักพิมพ์ หลังจากได้กลับมาสำรวจไร่นาในพื้นที่สุ่ยจินจิ่ว จึงเกิดแรงบันดาลใจในการเขียนหนังสือวัฒนธรรมประวัติศาสตร์ที่มีไอเดียไหลพรั่งพรูอย่างไม่ขาดสาย “ความผูกพันกับบ้านเกิดเป็นแรงขับดันให้ฉันมุ่งไปข้างหน้าเหมือนกับหัวจักรรถไฟ”

 

รุ่ยฟาง Sweet Home

ในอดีตจิ่วเฟิ่นมีความโดดเด่นเพียงแห่งเดียว ในช่วง 2-3 ปีที่ผ่านมา จินกัวสือ สุ่ยหนานโต้ง ปาโต่วจื่อ เริ่มเป็นที่รู้จักมากขึ้น โดยเฉพาะ เทศกาลไหว้พระจันทร์ในปี ค.ศ. 2019 มีการประดับโคมไฟที่ซากโรงถลุงแร่ 13 ชั้น เป็นจุดพลิกผันชุบชีวิตสิ่งก่อสร้างที่สงบนิ่งผ่านมา 32 ปีให้มีชีวิตชีวาขึ้นอีกครั้ง ผู้คนจำนวนมากพากันตื่นตะลึง ซากโรงถลุงแร่รกร้างที่ถูกน้ำชะล้าง กลายเป็นมรดกวัฒนธรรมที่มีคุณค่าอีกแห่งหนึ่ง

เช่นเดียวกับเมื่อ 3 ปีที่แล้ว ร้านกาแฟ HOHObase (好好基地) เปิดกิจการใกล้สถานีรถไฟปาโต่วจื่อ แต่เดิมพื้นที่ดังกล่าวเป็นเขตเหมืองแร่ ผู้จัดการร้านซึ่งก็คือเหอจิงไท่ (何經泰) มีอาชีพเป็นนักถ่ายภาพและแฟนสาวหวงโย่วอวี๋ (黃宥俞)  ถูกชักชวนโดยเพื่อนของทายาทบริษัทเหมืองแร่หรงหลง (榮隆礦業) เชิญชวนให้พวกเขามาใช้ประโยชน์พื้นที่เหมืองแร่เก่า ทั้งคู่แต่เดิมทำงานอยู่ที่ไทเปจึงได้ย้ายมาอยู่ที่รุ่ยฟาง ชุบชีวิตเหมืองแร่เก่าให้กลายเป็นพื้นที่จัดแสดงทางศิลปวัฒนธรรม

ร้านกาแฟ HOHObase ตั้งอยู่บนพื้นที่ 800 ผิง (ประมาณ 2,640 ตร.ม.) ร่องรอยเดิมของเหมืองแร่ปรากฏชัดเจน ปากอุโมงค์ที่ด้านข้างของภูเขาดูรกร้าง ห้องจัดนิทรรศการก็คือห้องเครื่องเก่า บนเพดานยังมีตะขอเหล็กแขวนอยู่ เพื่อความสอดคล้องกับเอกลักษณ์ของสถานที่แห่งนี้ จึงได้เชิญนักถ่ายภาพจางเจ้าถัง (張照堂) มาจัดแสดงผลงาน ในหัวข้อคนงานเหมืองแร่ ซึ่งเป็นการจัดนิทรรศการขึ้นเป็นครั้งแรก

กาลเวลาผ่านไปหนึ่งศตวรรษ สิ่งต่าง ๆ แปรเปลี่ยนไป ผืนดินแห่งนี้มีผู้เข้ามาและจากไปนับไม่ถ้วน แต่ยังมีผู้คนจำนวนมากเชื่อมั่นว่าที่นี่คือบ้านเมืองที่สวยงาม เฉกเช่นชื่อรุ่ยฟางในภาษาฮกเกี้ยน “Suī-hong” ซึ่งมีความใกล้เคียงกับภาษาอังกฤษ “Sweet Home” ผู้คนที่นี่อดทน ยืนหยัดต่อสู้ ไม่ว่าสิ่งแวดล้อมภายนอกจะเปลี่ยนแปลงไปอย่างไร ความมุ่งมั่นเด็ดเดี่ยวในการอยู่ร่วมกับผืนแผ่นดินนี้ ยังสืบทอดต่อเนื่องจากอดีตถึงปัจจุบันอย่างไม่เปลี่ยนแปลง

 

เพิ่มเติม

มนต์เสน่ห์แห่งเส้นทางรถไฟเซินเอ้า ถิ่นวัฒนธรรมเหมืองแร่ ทองคำและถ่านหิน

 

โซนวิดีทัศน์