ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน - ไทยจับมือสร้างอนาคตแบบอัจฉริยะ ผ่านมหกรรม Taiwan Expo 2022 ภายใต้หัวข้อ “Let’s Tie (Thai) Together
2022-09-02
New Southbound Policy。ไต้หวัน - ไทยจับมือสร้างอนาคตแบบอัจฉริยะ ผ่านมหกรรม Taiwan Expo 2022 ภายใต้หัวข้อ “Let’s Tie (Thai) Together (ภาพจาก TAITRA)
ไต้หวัน - ไทยจับมือสร้างอนาคตแบบอัจฉริยะ ผ่านมหกรรม Taiwan Expo 2022 ภายใต้หัวข้อ “Let’s Tie (Thai) Together (ภาพจาก TAITRA)

TAITRA วันที่ 1 ก.ย. 65
 
มหกรรม Taiwan Expo 2022 ซึ่งถือเป็นแพลตฟอร์มในการขยายตลาดในกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ที่จัดโดยกรมการค้าต่างประเทศ (BOFT) กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และสภาส่งเสริมการค้าและการส่งออกแห่งไต้หวัน (TAITRA) ได้เปิดฉากขึ้นแล้วเมื่อวันที่ 31 ส.ค. ที่ผ่านมา โดยไฮไลท์หลักของงานในครั้งนี้ คือการฟื้นฟูการจัดนิทรรศการในสถานที่จริงในต่างแดน ในยุคหลังโควิด - 19 โดยได้เปิดตัวขึ้นอย่างเป็นทางการทั้งในรูปแบบออนไลน์และออฟไลน์ควบคู่กัน ในห้างสรรพสินค้าสยามพารากอน (Siam Paragon) โดยนายหวงจื้อฟาง ผู้อำนวยการ TAITRA ทำหน้าที่เป็นประธานในพิธีเปิด นอกจากนี้ ยังได้เชิญนายหลี่ก้วนจื้อ รองอธิบดีกรมการค้าต่างประเทศของไต้หวัน นายสัณห์ อรุณรักษ์ติชัย รองผู้อำนวยการใหญ่สำนักงานการค้าและเศรษฐกิจไทย (ไทเป) นายจวงสั่วฮั่น ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเป ประจำประเทศไทย และนายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ รองเลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) เข้าร่วม เพื่อเชื่อมโยงพิธีเปิดมหกรรมทั้งในไต้หวัน - ไทย เข้าด้วยกัน โดยไร้ซึ่งข้อจำกัดด้านระยะทาง
 
ในระหว่างพิธีเปิด ผอ.หวงฯ ได้เปิดตัวในฐานะนักวิศวกรแห่งเมืองอัจฉริยะ โดยเข้าฉากมาพร้อมกับอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) ที่บินขนาบข้าง สะท้อนให้เห็นถึงแนวโน้มของสังคมในอนาคตที่มุ่งสู่การพัฒนาเทคโนโลยี Artificial Intelligence of Things (AIoT) โดยงานในปีนี้จัดตั้งขึ้นภายใต้ 2 ประเด็นหลัก ได้แก่ เมืองอัจฉริยะและการผลิตอัจฉริยะ เพื่อเพิ่มโอกาสแห่งความเป็นไปได้ให้แก่อุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน - ไทย รวมถึงการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ
 
โดยในช่วงท้ายของกิจกรรม เจ้าหน้าที่ได้จัดเตรียม "ข้าวเหนียวมะม่วง" ของไทย โดยใช้มะม่วงพันธุ์พิเศษจากไต้หวัน มาเสิร์ฟให้ผู้ร่วมงานในไต้หวันได้ลิ้มลอง ส่วนที่ไทย ได้มีการจัดเตรียม "ชานมไข่มุก" ของไต้หวันที่มีชื่อเสียงโด่งดังในระดับนานาชาติ โดยได้ใช้ใบชาของไทยเป็นส่วนผสมหลัก บรรยากาศการแลกเปลี่ยนด้านวัฒนธรรมและอาหารเลิศรสระหว่างไต้หวัน - ไทย ยังเป็นการสะท้อนให้เห็นถึงความร่วมมือทางด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม และด้านอื่นๆ ระหว่างไต้หวัน - ไทย อย่างแนบแน่น โดยมหกรรม Taiwan Expo ในปีหน้า จะจัดขึ้นในรูปแบบสถานที่จริงทั้งหมด เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันมุ่งหน้าสู่การพัฒนาในตลาดตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่
 
ความร่วมมือระหว่างไต้หวัน - ไทย มุ่งเน้นโอกาสธุรกิจในด้านการแพทย์อัจฉริยะ การผลิตอัจฉริยะและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ 

หลายปีมานี้ รัฐบาลไทยเร่งมุ่งมั่นผลักดันโมเดลเศรษฐกิจใหม่ภายใต้แนวคิดเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียนและเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) โดยได้เล็งเป้าไปที่ 4 อุตสาหกรรมหลัก ประกอบด้วย การเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร สุขภาพและการแพทย์ พลังงานชีวภาพ ชีวเคมีและวัสดุ รวมถึงการท่องเที่ยวและเศรษฐกิจสร้างสรรค์ ซึ่ง 4 อุตสาหกรรมข้างต้นนี้ประเมินเป็นมูลค่ารวมได้กว่า 3.4 ล้านล้านบาท ครองสัดส่วน GDP ในภาพรวมประมาณร้อยละ 21 จึงได้ชื่อว่าเป็นแผนสำคัญของไทยในการฟื้นฟูเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 โดยไต้หวันมีข้อได้เปรียบด้านนวัตกรรมเทคโนโลยี การผลิต และประสบการณ์การส่งออกจำหน่ายในตลาดต่างประเทศ ที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีผลิตภัณฑ์อาหาร เทคโนโลยีชีวภาพด้านการแพทย์ และเศรษฐกิจหมุนเวียน เป็นต้น ซึ่งจะสามารถให้ความช่วยเหลือในการผลักดันนโยบายตามโมเดลเศรษฐกิจ BCG ของไทยได้อย่างแน่นอน
 
โดยมหกรรมในปีนี้จัดตั้งขึ้นรวม 5 มิติ โดยอ้างอิงจากความร่วมมือทางอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน - ไทย ประกอบด้วย "การแพทย์อัจฉริยะ" "การผลิตอัจฉริยะ" "เศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ" "การบริโภคภายในประเทศ" และ "การท่องเที่ยวเชิงวัฒนธรรม" โดยได้จัดตั้งคูหาภาพลักษณ์รวม 11 รายการ ได้แก่ สินค้าพรีเมียมของไต้หวัน การลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ และเทคโนโลยีจอแสดงผลสำหรับการแพทย์อัจฉริยะ อีกทั้งยังมีคูหาอุตสาหกรรมรวม 4 แขนง ได้แก่ เทคโนโลยีสารสนเทศและอิเล็กทรอนิกส์กรวมถึงเครื่องกลไฟฟ้า การเกษตรและผลิตภัณฑ์อาหาร เครื่องจักรกลและชิ้นส่วนอะไหล่รถยนต์ รวมทั้ง Lifestyle การดำเนินชีวิต โดยมีผู้ประกอบการรวม 189 รายเข้าร่วมจัดแสดงสินค้าและเทคโนโลยี ผ่านช่องทางออนไลน์ เพื่อให้ประชาชนชาวไทยได้มีโอกาสเห็นเทคโนโลยีขั้นสูงและสินค้าคุณภาพดีที่มีความโดดเด่นของไต้หวัน
 
สินค้าที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ของไต้หวันเผยโฉมที่ไทย จุดกระแสนิยมไต้หวันในกรุงเทพฯ

มหกรรม Taiwan Expo ในครั้งนี้ นอกจากจะมีการจัดแสดงสินค้าผ่านช่องทางออนไลน์แล้ว ในสถานที่จริง ณ ห้างสยามพารากอนแล้ว ก็ยังสามารถพบเห็นสินค้าที่เปี่ยมด้วยเอกลักษณ์ของไต้หวันจำนวนรวม 200 ชิ้นจากผู้ประกอบการ 46 ราย อาทิ  "แผนโซลูชัน 5G" ของบริษัท Chunghwa Telecom มีความสอดคล้องกับความต้องการของประชาคมโลกและสามารถใช้บริการในต่างแดนได้จริง โดยผนวกรวมเข้ากับระบบอินเทอร์เน็ตของสรรพสิ่ง (IoT) ความมั่นคงทางไซเบอร์ เทคโนโลยี AI และข้อมูลบิ๊กดาต้า เพื่อบรรลุเป้าหมายในการให้บริการเชิงนวัตกรรมประยุกต์ในด้านการคมนาคมขนส่งรูปแบบอัจฉริยะ การผลิตอัจฉริยะ การประสานความร่วมมือระยะไกล และการแพทย์อัจฉริยะ เป็นต้น
 
ในส่วนของการลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์เป็นศูนย์ บริษัท Enrestec ได้นำล้อยางที่เสื่อมสภาพ มาแปรสภาพเป็น "เขม่าดำหมุนเวียน" ที่มีคุณค่าสีเขียว ซึ่งได้รับรางวัลเหรียญเงินในด้านการติดต่อระหว่างผู้บริโภคและผู้บริโภค (C2C) ในส่วนของการจัดการทรัพยากรหมุนเวียน
 
สำหรับสินค้าด้านการแพทย์ที่นำมาจัดแสดง ในจำนวนนี้ "อุปกรณ์กายภาพบำบัดท่อนล่างเชิงปฏิสัมพันธ์" ที่บริษัท HIWIN นำมาร่วมจัดแสดง เป็นอุปกรณ์กายภาพบำบัดที่ออกแบบมาเพื่อช่วยพยุงตัวผู้ที่มีปัญหาเรื่องกล้ามเนื้อท่อนล่างอ่อนแรง หรือสำหรับผู้สูงอายุ ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ผู้เข้ารับการบำบัดสามารถเข้าใช้บริการได้อย่างสะดวกสบายและมีความปลอดภัยเพิ่มมากขึ้น อีกทั้งยังสอดคล้องต่อความต้องการของตลาดการแพทย์และการดูแลสุขภาพของสังคมผู้สูงอายุในไทย นอกจากนี้ ยังมี "แพลตฟอร์มการเช่ายืมรถจักรยานยนต์รูปแบบอัจฉริยะ" และ "ตัวล็อคแฮนด์มอเตอร์ไซค์รูปแบบอัจฉริยะ" ของบริษัท Lockists ที่เพิ่งคว้ารางวัลรองชนะเลิศ ในประเภทธุรกิจเชิงนวัตกรรม จากเวทีการประกวด Young Award ประจำปี 2022 ด้วย
 
นอกจากการจัดแสดงสินค้าแล้ว เพื่อสร้างโอกาสธุรกิจในการยกระดับอุตสาหกรรมการผลิตของไทย รวมถึงอุปกรณ์และระบบควบคุมอัตโนมัติ รวมทั้งโอกาสธุรกิจทางการแพทย์อัจฉริยะ จึงได้มีการจัดงานแถลงข่าวเปิดตัวสินค้า ภายใต้ชื่อ "ขับเคลื่อนการปฏิวัติใหม่แห่งงอุตสาหกรรมการผลิตอัจฉริยะ" และ "ขับเคลื่อนการการปฏิวัติใหม่ด้านการแพทย์อัจฉริยะ" รวม 2 รอบ ซึ่งล้วนแล้วแต่สอดรับกับทิศทางการพัฒนาทางอุตสาหกรรมของไทย เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนทางอุตสาหกรรมระหว่างไต้หวัน - ไทย โดยกิจกรรมการจับคู่เสวนาในระหว่างมหกรรมครั้งนี้ ยังได้รับความสนับสนุนจากบริษัทยักษ์ใหญ่ของไทย เช่น CP ALL ผู้ประกอบการการค้าปลีกรายใหญ่ที่สุดของไทย บริษัท JD Central ผู้ประกอบการธุรกิจอีคอมเมิร์ซ ที่ได้รับความนิยมติด 1 ใน 3 อันดับแรกของไทย บริษัท BJC Healthcare ตัวแทนจำหน่ายเวชภัณฑ์และเครื่องมือทางการแพทย์รายใหญ่ที่สุดของไทย บริษัทในเครือ SCG และบริษัทนิปปอนเทเลกราฟแอนด์เทเลโฟนคอร์ปอเรชั่น (NTT) ของญี่ปุ่น สาขาประเทศไทย นอกจากนี้ ยังได้เชิญบริษัท Lucky Flame ที่ได้รับมอบเครื่องหมายรับรองการประหยัดพลังงานขั้นสูงจากกรมพัฒนาพลังงานทดแทนและอนุรักษ์พลังงาน และเป็นแบรนด์ดังของตลาดเครื่องใช้ไฟฟ้าที่อยู่ใน 3 อันดับแรกของไทย รวมถึงบริษัท WATER NET PUBLIC ผู้ผลิตและจำหน่ายตู้น้ำดื่มที่มุ่งมั่นดำเนินการตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนมาเป็นเวลานาน และสามารถลดต้นทุนการกรองน้ำเพื่อใช้บริโภคได้สำเร็จ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ผู้ประกอบการระดับคุณภาพของทั้งไต้หวันและไทย จะสามารถขยายโอกาสในการสร้างความร่วมมือระหว่างกันได้อย่างเต็มที่ ในช่วงแห่งการฟื้นฟูทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 ในกลุ่มประเทศตามเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ต่อไป