ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
พลังแห่ง “อาหาร” ยกระดับอาหารถิ่นไถตงสู่สายตาโลก
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2022-11-07

ธรรมชาติที่งดงาม อุดมสมบูรณ์ และเมนูอาหารที่เลิศรสของไถตง เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะบอกเล่าให้โลกรู้

ธรรมชาติที่งดงาม อุดมสมบูรณ์ และเมนูอาหารที่เลิศรสของไถตง เป็นสิ่งที่คุ้มค่าที่จะบอกเล่าให้โลกรู้
 

เมื่อกลางปี ค.ศ.2019 เทศบาลเมืองไถตงและศูนย์ออกแบบเมืองไถตง ร่วมกับ AGUA Design เปิดตัวโครงการ “Fooding Taitung” เชิญชวนนักท่องเที่ยวสัมผัสเสน่ห์เมืองไถตง พร้อมกับค้นหาอาหารถิ่นที่เป็นเอกลักษณ์ของไถตง ภายใต้แนวคิด “พลังแห่งอาหารการกิน”

 

เมืองไถตงขึ้นชื่อเรื่องภูมิประเทศที่สวยงามและมีธรรมชาติที่สมบูรณ์ มีทั้งหุบเขาที่ทรุดตัวจากรอยเลื่อนของเปลือกโลก แนวชายฝั่งที่ทอดยาว ถนนและเส้นทางรถไฟสายใต้ที่เชื่อมต่อกับภาคตะวันตกของไต้หวัน เกาะน้อยใหญ่ที่อยู่รอบนอก และมีกลุ่มชาติพันธุ์ที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็นชนเผ่าพื้นเมือง ชาวฮกเกี้ยน ชาวจีนฮากกา และชาวต่างชาติที่เป็นผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ความผสมผสานที่ลงตัวหล่อหลอมกลายเป็นอาหารท้องถิ่นของไถตงที่มีรสชาติชวนลิ้มลอง ในครั้งนี้คุณโจวอวี้หรู (周育如) ผู้ก่อตั้งบริษัท AGUA Design (ทุกคนเรียกเธอว่าคุณ AGUA) มาร่วมเป็นผู้ถ่ายทอดเรื่องราวและนำเราเดินตามรอยอาหารท้องถิ่นไปพร้อม ๆ กับสัมผัสเสน่ห์ธรรมชาติของเมืองไถตง
 

ภูมิประเทศและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ผสมผสานกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในไถตง สร้างสรรค์อาหารไถตงที่มีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์

ภูมิประเทศและธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ผสมผสานกับความหลากหลายทางชาติพันธุ์ในไถตง สร้างสรรค์อาหารไถตงที่มีรสชาติอันเป็นเอกลักษณ์
 

สถานีแรก : สัมผัสเมืองไถตง ดินแดนที่อุดมสมบูรณ์

“ปัดโธ่! ฉันถูกอาหารของไถตงลักพาตัวมาเสียแล้ว” คุณจวงเยว่เจียว (莊月嬌) หรือที่รู้จักกันในนาม เจ๊เจียว มักจะกล่าวคำทักทายอย่างใดอย่างหนึ่งเสมอก่อนจะเริ่มต้นบทสนทนาทุกครั้ง เจ๊เจียวคร่ำหวอดอยู่ในวงการอาหารมานาน และได้รับการยกย่องให้เป็นเจ้าแม่หรือราชินีแห่งอาหาร เธอเดินทางมาอาศัยอยู่ที่ตำบลฉือซั่งในเมืองไถตงเมื่อหลายปีก่อน ตามคำเชื้อเชิญของมูลนิธิ Lovely Taiwan Foundation และไม่เคยจากที่นี่ไปไหนเลย

เจ๊เจียวพาพวกเราไปที่ตลาดสดกวันซัน และตลาดสดฉือซั่งแต่เช้าตรู่ เพื่อทำความรู้จักกับวัตถุดิบท้องถิ่นที่หลากหลายของไถตง และพาเรากลับไปยังบ้านพักของเธอที่ละแวกต้าพัวผี พร้อม ๆ กับวัตถุดิบต่าง ๆ เต็มคันรถ

ช่วงบ่ายเจ๊เจียวพาเราไปพบกับเกษตรกรที่เป็นลูกฟาร์มของเธอ “คนกลุ่มนี้เขาจะเอาผลผลิตไปขายที่ตลาดสด ฉันจึงขอให้พามาดูที่แปลงผักด้วย เพราะถ้าวัชพืชงอกงามกว่าผักที่ปลูกแล้วล่ะก็ แสดงว่าใช่เลย”

เกษตรกรบางส่วนยืนอยู่ในแปลงผักที่ตั้งกระจัดกระจายตามริมแม่น้ำ เจ๊เจียวจะเข้าไปเลือกซื้อผักจากพวกเขาก่อน “ถ้าชีวิตของคนเรามีแต่ความราบรื่นมาโดยตลอด ก็คงจะไม่มีเรื่องราวมาเล่าสู่กันฟัง ไม่เหมือนอย่างเจ๊ที่ชีวิตนี้ต้องพบกับความยากลำบาก (ผ่านการหย่าร้างและมีหนี้สิน) เล่ากันสามวันสามคืนยังไม่จบง่าย ๆ ผืนแผ่นดินก็เช่นกัน พื้นที่แต่ละแห่งมีลักษณะเฉพาะแตกต่างกันไป พืชผักที่พยายามงอกเงยและเติบโตก็ให้รสชาติที่ต่างกัน ดังนั้นเจ๊จะต้องซื้อของพวกเขาก่อนเป็นลำดับแรก”

เจ๊เจียวให้พวกเราลองเด็ดพริกหวานจากต้นมาลองชิม ทันทีที่พริกหวานเข้าปาก นอกจากรสสัมผัสของพริกที่ออกหวานนิด ๆ แล้ว ยังรับรู้ได้ถึงรสชาติของพริกที่ทำให้ตื่นตัวในทันที นี่แหละที่เรียกว่า พืชผักที่ปลูกและเติบโตบนผืนดินในไถตง ที่กำลังบอกเล่าเรื่องราวของผืนดินแห่งนี้

“ต่อมรับรสของคนเราจะไม่มีทางที่จะยอมรับอาหารที่มีรสชาติด้อยลง แต่ต้องการความอร่อยที่มากขึ้น ไถตงมีทรัพยากรธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ คุณรู้ไหมว่าต่อให้ถูกลักพาตัวมาฉันก็เต็มใจนะ” เจ๊เจียวกล่าวอย่างอารมณ์ดี
 

เจ๊เจียวเล่าว่า วัตถุดิบของไถตงมีอัตลักษณ์ อร่อย และเต็มใจที่จะถูกลักพาตัวโดยวัตถุดิบดี ๆ ของไถตง

เจ๊เจียวเล่าว่า วัตถุดิบของไถตงมีอัตลักษณ์ อร่อย และเต็มใจที่จะถูกลักพาตัวโดยวัตถุดิบดี ๆ ของไถตง
 

สถานีที่สอง : โรงเรียนประถมศึกษาจิ่นผิง กับการสร้างสภาพแวดล้อมในการปลูกพืชอาหาร

ภาพวาดบนผนังกำแพงนอกห้องเรียน เป็นที่ดึงดูดสายตาในทันทีที่เราก้าวเข้าสู่รั้วของโรงเรียนประถมศึกษาจิ่นผิง ซึ่งตั้งอยู่ในพื้นที่ตำบลไห่ตวน ข้าวฟ่าง (小米) นับเป็นพืชผลที่สำคัญของชนเผ่าปู้หนง การใช้ชีวิตของชาวปู้หนงจึงขึ้นอยู่กับลักษณะการเจริญเติบโตของข้าวฟ่าง พวกเขาจะวางแผนจัดเตรียมการทำงานต่าง ๆ ตามวัฏจักรของธรรมชาติที่เปลี่ยนไปตามเวลา คุณสวีสูเหว่ย (徐淑委) ครูใหญ่ของโรงเรียนอธิบายให้ฟัง

โรงเรียนประถมศึกษาจิ่นผิงผลักดันโครงการเรียนเกษตรรู้อาหาร มาเป็นเวลาสี่ปีกว่าแล้ว ซึ่งแต่เดิมเพียงแค่ต้องการนำพื้นที่ว่างเปล่าในโรงเรียนมาใช้ประโยชน์ โดยนำมาปลูกผักที่สามารถรับประทานได้ แต่คุณสวีสูเหว่ยมองว่า การปลูกผักหรือการทำอาหาร ถือเป็นการทำกิจกรรมอย่างหนึ่ง และมองลึกลงไปถึงวัตถุประสงค์ของกิจกรรมนั้น ๆ ด้วย เธอจึงคิดที่จะปลูกฝังความรู้และวิธีคิด รวมถึงทัศนคติที่ดีให้แก่นักเรียน เธอเริ่มต้นโดยนำบรรดาครูในโรงเรียนไปเรียนรู้วิชากับเกษตรกร จากนั้นค่อย ๆ พัฒนาและสร้างความรู้ความเข้าใจที่เหมาะสมในแต่ละระดับชั้นปีอย่างเป็นระบบ ควบคู่กับความพยายามในการบ่มเพาะ คุณสวีสูเหว่ยบอกว่า “ดังนั้นกล่าวได้ว่า เรียนเกษตรรู้อาหาร เป็นเทคนิคการเรียนการสอนที่ฉันคิดขึ้นมา”

การสร้างสภาพแวดล้อมการเรียนรู้ให้เหมาะสมกับการเกษตรและอาหาร จึงไม่จำกัดเพียงแค่การเรียนในรายวิชาเรียนเกษตรรู้อาหารเท่านั้น ยกตัวอย่างเช่น วิชาธรรมชาติศึกษา หากต้องการทำความเข้าใจเรื่องของการเปลี่ยนแปลงของสภาพแวดล้อม คุณครูสามารถใช้ตัวอย่างของหมูป่าหรือแม้แต่การแอบขุดมันจากแปลงผักขึ้นมากิน เพื่อชักนำให้นักเรียนได้แสดงความคิดเห็นและแลกเปลี่ยนกันว่า ถิ่นที่อยู่อาศัยบนเขานั้นถูกทำลายหรือไม่? ทำให้ขาดแคลนอาหารอย่างไร? การสร้างและขยายถนนอาจเป็นสาเหตุหนึ่งที่ส่งผลต่อการทำลายถิ่นที่อยู่อาศัย ค่อย ๆ ค้นหาความเชื่อมโยงของเรื่องต่าง ๆ เข้าด้วยกัน เมื่อเทียบกับการเรียนที่ให้ความรู้เป็นบท ๆ จากหนังสือเรียนแล้ว นักเรียนจะเกิดการเรียนรู้จากสิ่งใกล้ตัว และสะท้อนคิดร่วมกัน
 

การเรียนรู้ผ่านอาหารไถตง ภาพวาดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของชนเผ่าปู้หนงบนผนังกำแพงของอาคารเรียน เป็นอีกจุดหนึ่งที่โดดเด่นเตะตาของโรงเรียนประถมศึกษา จิ่นผิง (ภาพโดย เติ้งหุ้ยฉุน)

การเรียนรู้ผ่านอาหารไถตง ภาพวาดเกี่ยวกับการใช้ชีวิตของชนเผ่าปู้หนงบนผนังกำแพงของอาคารเรียน เป็นอีกจุดหนึ่งที่โดดเด่นเตะตาของโรงเรียนประถมศึกษา จิ่นผิง (ภาพโดย เติ้งหุ้ยฉุน)
 

สถานีที่สาม : โรงเรียนประถมศึกษาหย่งอัน สอนเด็กให้เรียนรู้ผ่านการผสมผสานอาหารเข้ากับการใช้ชีวิต

โรงเรียนอีกหนึ่งแห่งที่คุ้มค่ากับการไปเยี่ยมชม คือ โรงเรียนหย่งอัน ในตำบลลู่เหย่ สถานที่จัดงานบอลลูนระดับชาติที่มีชื่อเสียงของไต้หวัน สุนัขประจำโรงเรียนส่งเสียงเห่าดังขึ้นราวกับจะต้อนรับพวกเราที่กำลังเดินเข้าในเขตของโรงเรียนพร้อม ๆ กับ คุณเวินซั่งเต๋อ (温上德) ครูใหญ่ของที่นี่ และในวันนี้เอง ทางโรงเรียนได้เชิญ คุณฟานหงฮัว (番紅花) นักเขียนหนังสือคู่มือการเลี้ยงลูกที่มีชื่อเสียงของไต้หวันมาบรรยายพิเศษ พร้อมกับพานักเรียนลงครัวเพื่อปรุงอาหารกลางวัน

ระหว่างการบรรยาย ในช่วงที่คุณฟานหงฮัวมีการพูดคุยและซักถามนักเรียน เราพบว่าเด็ก ๆ ส่วนใหญ่มีประสบการณ์ในการไปตลาดสดกับคุณแม่ของพวกเขา และพวกเขายังรู้ด้วยว่าช่วงเวลาไหนที่เหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวมันฝรั่ง รู้ว่าวุ้นเส้นทำมาจากถั่วเขียว และรู้ว่าเต้าเจี้ยวเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปที่ทำจากถั่วเหลือง แม้จะเจอกับคำถามที่ยาก นักเรียนเหล่านี้ก็สามารถตอบได้อย่างช่ำชอง สิ่งที่เกิดขึ้นพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่าเด็กชาวไถตงมีแนวคิดในเรื่องของอาหารเป็นอย่างดี ดังเช่นที่ AGUA เล่าให้ฟัง

“แนวคิด” ของนักเรียนย่อมมีที่มาที่ไป เมื่อมองไปรอบ ๆ โรงเรียน ภาพของระบบนิเวศที่อุดมสมบูรณ์ชวนให้น่าอิจฉายิ่งนัก สาเหตุเพราะในภาคการศึกษาที่แล้วพวกเขาได้ดูสารคดีเรื่อง จุดกำเนิดแห่งชีวิตและเกิดความสงสัย คุณครูจึงซื้อตู้ฟักไข่มาและขอไข่ไก่ไข่เป็ดมาจากเพื่อนบ้าน เพื่อฟูมฟักในตู้ฟักไข่ และตอนนี้ฝูงไก่ฝูงเป็ดที่อาศัยอยู่ในรั้วโรงเรียน พากันเดินตามนักเรียนไปเข้าเรียนพร้อมกัน รอบ ๆ เรือนนอนของโรงเรียน ยังเต็มไปด้วยต้นมะกอกโอลีฟ ต้นพืช และต้นกระเจี๊ยบ เมื่อถึงฤดูเก็บเกี่ยว ก็จะเก็บเอามะกอกมาปรุงอาหาร ลงมือทำดอกกระเจี๊ยบแช่อิ่มกันเอง นับเป็นกิจกรรมประจำฤดูกาลของโรงเรียนประถมศึกษาหย่งอัน

รายวิชาใดก็ตามที่มาจากเรื่องของอาหารหรือมีความเกี่ยวข้องกับอาหาร ฉันคิดว่าวิชาเหล่านั้นเป็นวิชาทางด้านการเรียนเกษตรรู้อาหารของโรงเรียนหย่งอัน เวินซั่งเต๋อกล่าวทิ้งท้าย

คุณครูของที่นี่ยังนำนักเรียนไปรับประทานอาหารกลางวันด้วยกันบ่อย ๆ โดยพากันถือกล่องข้าว ไปยังมุมหนึ่งของโรงเรียน ทุกคนพากันถอดรองเท้าถุงเท้า เอาเท้าแช่น้ำในแม่น้ำที่เย็นสบาย ดื่มด่ำอาหารกลางวันด้วยกันแบบชิล ๆ นี่แหละคือการเรียนรู้ผ่านการผสมผสานอาหารเข้ากับการใช้ชีวิต และยังมีวิชาหมักเหล้าข้าวเหนียว ซึ่งเหล้าถือเป็นสื่อกลางที่ชนเผ่าอามิสใช้ในการสื่อสารกับวิญญาณบรรพบุรุษและธรรมชาติ โดยมีการสอนให้นักเรียนเคารพพระเจ้าและรักผู้อื่น เป็นการแสดงความกตัญญู นับเป็นอีกตัวอย่างหนึ่งของการเรียนรู้ผ่านการผสมผสานอาหารเข้ากับการใช้ชีวิต
 

เหล้าถูกใช้เป็นสื่อกลางใน การสื่อสารกับบรรพบุรุษและธรรมชาติของชนเผ่าอามิส โรงเรียนประถมศึกษาหย่งอันเปิดวิชาสอนการหมักเหล้า คุณครูจึงใช้โอกาสนี้ในการปลูกฝังให้เคารพพระเจ้าและรักผู้อื่น

เหล้าถูกใช้เป็นสื่อกลางใน การสื่อสารกับบรรพบุรุษและธรรมชาติของชนเผ่าอามิส โรงเรียนประถมศึกษาหย่งอันเปิดวิชาสอนการหมักเหล้า คุณครูจึงใช้โอกาสนี้ในการปลูกฝังให้เคารพพระเจ้าและรักผู้อื่น
 

สถานีที่สี่ : ความทรงจำของอาหารคือเส้นทางคืนสู่บ้าน

เสียงนาฬิกาดังบอกเวลาเที่ยงตรง แผนกอาหารร้อนของโรงเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายไถตงคลาคล่ำไปด้วยนักเรียนที่กำลังหิวจัด เมนู “ก้งตั้นฟั่น” หรือ “ข้าวหน้าไข่ลูกชิ้น” ที่ตั้งวางเรียงรายบนโต๊ะ ถูกนักเรียนที่อยู่ในวัยกำลังโตตักรับประทานลงท้องจนหมดเกลี้ยงในเวลาไม่นาน

คุณหวงเส้าเหิง (黃紹恆) เดินทางกลับมายังสถานที่แห่งนี้ที่ซึ่งเต็มไปด้วยความทรงจำเมื่อครั้งยังเป็นวัยรุ่นอีกครั้งหลังจบการศึกษาจากที่นี่ไปนานถึง 12 ปี โดยไม่ใช่ในฐานะนักเรียน แต่เป็นการกลับมาในฐานะพ่อครัว ที่มีหน้าที่ปรุงอาหารเพื่อให้นักเรียนได้อิ่มท้อง

ในระหว่างที่เรียนหนังสือ แผนกอาหารร้อนให้บริการอาหารกลางวันด้วยเมนูชื่อว่า “ก้งตั้นฟั่น” เมนูที่มีข้าวสวยร้อน ๆ ราดด้วยหมูสับปรุงรส พร้อมผัดผักและเนื้อหนึ่งชิ้น ก่อนจะโปะหน้าด้วยลูกชิ้นและไข่พะโล้ อันเป็นของกินยอดนิยม และนี่ก็คือช่วงเวลาแห่งความสุขของคุณหวงเส้าเหิงในวัยเรียน ชีวิตตอนเป็นนักเรียน ม.ปลาย ก็มีแต่ไปเรียนหนังสือ อ่านหนังสือ กลางวันกินข้าวครึ่งชั่วโมง แม้จะเป็นช่วงเวลาเพียงสั้น ๆ แต่กลับเต็มไปด้วยความทรงจำมากมาย

หลังจากที่คุณหวงเส้าเหิงจบการศึกษาไปได้ประมาณ 4-5 ปี เมนูข้าวหน้าไข่ลูกชิ้นก็หายไป เมื่อเกิดความคิดที่ไม่อยากให้ข้าวหน้าไข่ลูกชิ้นสูญหายไป คุณหวงเส้าเหิงจึงลาออกจากงานประจำที่ทำอยู่ และเดินทางกลับมายังบ้านเกิด และเข้าสอบมาตรฐานวิชาชีพการเป็นผู้ประกอบอาหารกลางวันระดับ 3 เพื่อเพิ่มความรู้เกี่ยวกับหลักพื้นฐานของอาหารปลอดภัย เพื่อสร้างรสชาติแห่งความทรงจำให้กลับมาอีกครั้ง เขาจึงหารือกับทางโรงเรียนและนำบันทึกประวัติการจัดซื้อวัตถุดิบต่าง ๆ มาศึกษา เพื่อให้แน่ใจในตัววัตถุดิบที่ใช้ จากนั้นจึงค้นหาสูตรและวิธีการปรุงหมูสับปรุงรสจากอินเทอร์เน็ตข้อมูล และทดลองทำโดยใช้วัตถุดิบที่สั่งซื้อมาครั้งแล้วครั้งเล่า จนได้สูตรอาหารที่ใกล้เคียงกับข้าวหน้าไข่ลูกชิ้นเหมือนกับที่เคยทานในอดีต “ยังไงรสชาติย่อมมีต่างกันอยู่บ้าง แต่ผมกลับรู้สึกว่าสูตรใหม่นี้มีรสชาติที่อร่อยกว่านะ” คุณหวงเส้าเหิงกล่าว

ในอีกแง่หนึ่ง ข้าวหน้าไข่ลูกชิ้นหนึ่งชาม ทำหน้าที่เสมือนเป็นโซ่ตรวนที่คอยดึงและชักนำให้คุณหวงเส้าเหิงเดินทางกลับมายังบ้านเกิดที่ไถตง มีชีวิตที่อยู่ดีมีสุข กลับสู่บ้านเกิดตั้งแต่ยังอายุน้อย มันก็คือปรากฏการณ์ของทฤษฎีผีเสื้อขยับปีกที่ส่งผลต่อการเรียนรู้ผ่านอาหารไม่ใช่หรือ
 

ข้าวสวยร้อน ๆ ราดด้วยหมูสับปรุงรส ผัดผักและเนื้อหนึ่งชิ้น ก่อนจะโปะหน้าด้วยไข่พะโล้และลูกชิ้น คือ เมนูข้าวไข่ลูกชิ้น เมนูแห่งความทรงจำในช่วงวัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของคุณหวงเส้าเหิง

ข้าวสวยร้อน ๆ ราดด้วยหมูสับปรุงรส ผัดผักและเนื้อหนึ่งชิ้น ก่อนจะโปะหน้าด้วยไข่พะโล้และลูกชิ้น คือ เมนูข้าวไข่ลูกชิ้น เมนูแห่งความทรงจำในช่วงวัยเรียนมัธยมศึกษาตอนปลายของคุณหวงเส้าเหิง
 

สถานีที่ห้า : สร้างแบรนด์ “เรียนรู้ผ่านอาหาร” เพื่อให้ไถตงเป็นที่รู้จัก

หลังเยี่ยมชมสถานที่ต่าง ๆ ภายในหุบเขาแห่งนี้แล้ว เราย้อนกลับไปยังบริษัท AGUA Design อีกครั้ง เพื่อสืบเสาะค้นหาถึงความตั้งใจแรกเริ่มของการเริ่มต้นการศึกษาอาหารในไถตง เมื่อพูดถึง การเรียนรู้ผ่านอาหารไถตง สิ่งที่เราคิดคือจะทำอย่างไรให้ไถตงเป็นที่รู้จัก และทำให้ “คนไถตง” ได้รับการกล่าวถึงไปพร้อมกัน คุณ AGUA กล่าว

เมืองไถตงมีต้นทุนของการศึกษาอาหารที่ดี แต่ความอุดมสมบูรณ์นั้นกลับไม่ถูกค้นพบ พืชพรรณแปลก ๆ หลากหลายสายพันธุ์สามารถพบเห็นได้ที่ไถตงเท่านั้น เช่น ฟักข้าว ส้มวาเลนเซีย และต้นหอมจีนที่คนส่วนใหญ่เข้าใจผิดคิดว่ามีเฉพาะในญี่ปุ่นเท่านั้น แต่จริง ๆ แล้ว เป็นพืชที่พบเห็นได้ทั่วไปในไถตง AGUA Design มีความตั้งใจที่จะนำพลังแห่งอาหารของไถตง ออกมาเผยแพร่ให้เป็นที่รู้จักมากขึ้นผ่านการออกแบบ

ปีที่แล้ว ทีมงานได้ลงภาคสนามสำรวจพื้นที่ต่าง ๆ ในหุบเขา จดบันทึกช่วงเวลาและฤดูกาลต่าง ๆ และสร้างเป็นแผนภาพ “เรียนรู้ผ่านอาหารไถตง 365” คนไถตงเองก็มีการใช้ชีวิตตามฤดูกาลที่หมุนเวียนไปเช่นนี้ ทั้งฤดูกาลของอาหาร การถนอมอาหาร ที่เต็มไปด้วยภูมิปัญญามากมาย

สำหรับปีนี้มีการเปิดตัวเทศกาล “อาหารไถตง 100 เมนู” ภายใต้แนวคิดเคล็ดลับอาหารสุขภาพเลิศรสสำหรับทุกช่วงวัยตั้งแต่อายุ 0 – 100 ปี โดยเชิญบุคคลสำคัญที่อยู่ในวงการอาหารของไถตงร่วมแบ่งปันประสบการณ์การทานอาหารทั้งสามมื้อในหนึ่งวันว่า ทานอะไรบ้าง ทานอย่างไร ทานร่วมกับ ใคร เพื่อให้เห็นว่าเรามีอาหารที่สามารถทานได้ตลอดชีวิต เริ่มตั้งแต่สภาพแวดล้อมของอาหารในวัยเด็ก จนถึงเรื่องของการดูแลรักษาฟัน และการจัดการตู้เย็น ค้นหารสชาติในความทรงจำของบ้านเกิด ออกแบบบิงโกของเมนูอาหาร เพื่อให้ทุก ๆ คน ได้รู้ว่าที่แท้แล้วไถตงเป็นเมืองที่มีอาหารอร่อยมาก

แพลตฟอร์ม Fooding Taitung เป็นอีกหนึ่งช่องทางที่ช่วยสร้างการมีส่วนร่วมระหว่างคนกับอาหารไถตงแม้ว่าตัวจะไม่ได้อยู่ในไถตงก็ตาม ซึ่งตอนนี้บนเว็บไซต์เองก็มีจำนวนคนที่มีส่วนเกี่ยวข้องนับหมื่นคนแล้ว และมีจำนวนคนที่เข้าถึงเพจเฟซบุ๊กของ Fooding Taitung ที่เปิดใช้มาประมาณหนึ่งปีราว 2 ล้านคน เวลาที่มีการโพสต์ลงในเฟซบุ๊ก มักจะมีคนเข้ามาคอมเมนต์แสดงความคิดเห็นทุกรูปแบบอย่างล้นหลาม ทั้งทานอย่างไร? หาร้านทานได้ที่ไหน? มีวิธีทำหรือปรุงอาหารอย่างไร?

ไม่เพียงแต่การลงพื้นที่สำรวจภาคสนามเท่านั้น ขณะเดียวกัน ทีมงานยังได้รวบรวมข้อมูลเกี่ยวกับอาหารทั่วโลกอีกจำนวนมาก เช่น รูปแบบและความหลากหลายของอาหารในประเทศต่าง ๆ วิธีการทำอาหาร เทคนิคการรณรงค์เรื่องการเรียนรู้ผ่านอาหาร ถือว่าเป็นโอกาสที่ดีที่จะช่วยให้ไถตงรู้จักตนเองมากขึ้นผ่านการรู้จักโลกใบนี้ นอกจากนี้ เชฟระดับโลกจำนวนไม่น้อยต่างก็พยายามค้นหาวัตถุดิบสำหรับปรุงอาหารที่ดีและมีคุณภาพ เพื่อรังสรรค์เมนูอาหารจากวัตถุดิบที่มีเอกลักษณ์ประจำถิ่น คุณ AGUA พูดถึงภาพฝันที่เต็มไปด้วยวิสัยทัศน์ของตนเองว่า การยกระดับไถตงให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง เป็นการกระตุ้นให้คนเกิดความสนใจ ความเป็นท้องถิ่นที่ไถตงเป็นอยู่ในตอนนี้ก็มีความเป็นสากลอยู่มากเช่นกัน

 

เพิ่มเติม

พลังแห่ง “อาหาร” ยกระดับอาหารถิ่นไถตงสู่สายตาโลก