ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
คณะศิลปะเครื่องกระทบสือกู่ : เสียงกลองดังสะท้านก้องไปไกลถึงเวียดนาม การบรรเลงกลองที่ช่วยส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-03-20

คณะสือกู่หรือ Ten Drum Art Percussion Group ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการทูตภาคประชาชน ใช้ศิลปะการบรรเลงกลองอันหนักแน่นมาผสมผสานกับเสียงดนตรีอันหลากหลาย เพื่อผูกสัมพันธ์กับชาวโลก

คณะสือกู่หรือ Ten Drum Art Percussion Group ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการทูตภาคประชาชน ใช้ศิลปะการบรรเลงกลองอันหนักแน่นมาผสมผสานกับเสียงดนตรีอันหลากหลาย เพื่อผูกสัมพันธ์กับชาวโลก
 

การทูตระหว่างประเทศ ก็เหมือนกับการสร้างสัมพันธ์กับมิตรสหาย นอกจากแต่ละฝ่ายจะพยายามแสดงให้เห็นถึงจุดเด่นของตัวเองแล้ว ยังต้องค้นหาสิ่งที่เหมือนกันด้วย การตีกลอง ถือเป็นรหัสลับที่จะไขกุญแจสู่การแบ่งปันทางวัฒนธรรมร่วมกัน คณะศิลปะเครื่องกระทบสือกู่ หรือ Ten Drum Art Percussion Group ซึ่งมีความเชี่ยวชาญในการแลกเปลี่ยนทางการทูตภาคประชาชน ใช้ศิลปะแห่งกลองอันแข็งแกร่งมาผสมผสานเข้ากับเสียงดนตรีหลายรูปแบบ มาเป็นตัวแทนของไต้หวันในการยื่นมือแห่งไมตรีจิตไปสู่ทั่วโลก

 

ลงรถไฟความเร็วสูงที่สถานีไถหนาน จากนั้นนั่งรถอีกเพียง 10 นาที ก็มาถึงอุทยานวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์โรงงานน้ำตาลเหรินเต๋อสือกู่ (Ten Drum Rende Creative Park) ปล่องควันโบราณที่ตั้งสูงตระหง่าน ถูกตกแต่งด้วยแสงไฟสว่างสดใสในยามค่ำคืนเป็นรูปตัวอักษร “สือกู่” (Ten Drum) อาคารที่เคยถูกเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลสถาปัตยกรรมโลกแห่งนี้ คือที่ตั้งของคณะ Ten Drum Art Percussion Group และถือเป็นสวนสนุกแห่งจินตนาการที่เปิดให้ผู้คนสามารถเข้าไปสัมผัสได้

 

การพบพานแห่งจินตนาการในโรงงานน้ำตาลโบราณ

เหมือนกับอลิซ ที่ตกลงไปในรูกระต่ายก่อนจะเข้าสู่แดนมหัศจรรย์ เมื่อเดินไปตามทางเล็ก ๆ ที่มีพืชพรรณต่าง ๆ ขึ้นอยู่เต็มไปหมด เคล้าคลอไปด้วยเสียงกลองที่ลอยมาเป็นระยะ โรงงานโบราณ 22 แห่ง ที่สร้างขึ้นตั้งแต่สมัยญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน ถูกดัดแปลงมาเป็น โรงละคร ร้านอาหาร หอนิทรรศการ และโรงงานผลิตกลอง แถมยังมีการติดตั้งอุปกรณ์สำหรับกีฬาผาดโผน ทั้งไม้ลื่นขนาดใหญ่ บันจีจัมป์ ชิงช้า และหน้าผาจำลองสำหรับปีนป่าย

เราเดินไปเรื่อย ๆ ตามรางรถไฟเก่าที่เพิ่งถูกขุดค้นพบ โรงละครขนาดความจุเกือบ 1,000 ที่นั่ง สร้างอยู่บนเครื่องคั้นน้ำอ้อยขนาดใหญ่แบบ 5 ชั้น การแสดงที่เป็นการผสมผสานระหว่างดนตรีและละครเริ่มเปิดฉากขึ้นอย่างคึกคัก ตลอดระยะเวลาครึ่งชั่วโมง กลองใหญ่ กลองสามเสียง กลองถังกู่ขนาดเล็ก ฆ้อง ฉาบ กระบอกเสียงฝน (Rain stick) ต่างก็ผลัดกันออกมาบรรเลง เสียงดนตรีอันสดใสร่าเริงประกอบกับท่วงท่าอันแสนจะบรรเจิด เมื่อประกอบกับการแปรขบวนของเหล่านักแสดง ทำให้รู้สึกตื่นตาตื่นใจเป็นอย่างมาก

จนกระทั่งการบรรเลงมาถึงโน้ตตัวสุดท้าย ก็มีเสียงปรบมือดังกระหึ่มกึกก้องจากผู้ชมทุกเพศทุกวัย ปฏิกิริยาแบบนี้ของผู้ชมทำให้เซี่ยสือ (謝十) หัวหน้าคณะศิลปะเครื่องกระทบสือกู่ รู้สึกปลื้มใจเป็นอย่างมาก เซี่ยสือ ที่เป็นคนฉลาดล้ำลึกกล่าวว่า “กลุ่มผู้ที่ชอบชมการแสดงทางศิลปวัฒนธรรม คิดเป็นสัดส่วนเพียงร้อยละ 15 ของประชากรทั้งหมด การที่ภายในอุทยานจัดให้มีการแสดงเป็นประจำวันละ 2 รอบ มิใช่เพื่อดึงดูดคนกลุ่มนี้ หากแต่เราเลือกที่จะเดินทางอ้อม โดยใช้การท่องเที่ยวมา “หลอก” ให้คนอีก 85% ที่เหลือให้เดินเข้ามา”
 

การผสมผสานเอกลักษณ์ของไต้หวันอย่างปาเจียเจี้ยงและศิลปะการต่อสู้ ทำให้การแสดงของสือกู่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายแห่งความเป็นไต้หวัน (ภาพจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ไทเป ประจำประเทศเวียดนาม)

การผสมผสานเอกลักษณ์ของไต้หวันอย่างปาเจียเจี้ยงและศิลปะการต่อสู้ ทำให้การแสดงของสือกู่เปี่ยมไปด้วยกลิ่นอายแห่งความเป็นไต้หวัน (ภาพจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ไทเป ประจำประเทศเวียดนาม)
 

การบรรเลงกลอง คือ ภาษาสากลของโลก

คำว่า “หลอก” ที่เซี่ยสือกล่าวถึง คือการเดินออกจากพื้นที่ปลอดภัยของวงการศิลปะการแสดง นอกจากทางคณะจะมีการจัดแสดงชุดใหญ่ปีละ 3-5 รอบที่ต่างประเทศแล้ว ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2002 เซี่ยสือ ซึ่งเป็นผู้ที่มีความทะเยอทะยาน จึงได้ก่อตั้งอุทยานวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์บนพื้นที่กว่า 75 ไร่ โดยใช้การบรรเลงกลองเป็นหัวใจสำคัญ เมื่อนักท่องเที่ยวเดินทางไปที่สหรัฐฯ ก็จะไปชมละครบรอดเวย์ ไปเวียดนามก็จะไปชมหุ่นกระบอกน้ำ ไปเกาหลีต้องไปชมนันทาโชว์ การแสดงของอุทยานวัฒนธรรมเชิงสร้างสรรค์สือกู่จึงกลายเป็นเสมือนตัวแทนของการแสดงโชว์ในไต้หวัน บรรดานักท่องเที่ยวที่เข้ามาสู่เขตอุทยาน แม้จะไม่มีความเคยชินกับการชมการแสดงเชิงศิลปวัฒนธรรมแต่ก็จะเข้ามาชมการแสดงด้วยความยินดี ก่อนจะ “ชมแล้วติดใจ” เซี่ยสือกล่าวอย่างมั่นใจ

การแสดงโชว์ที่ให้ความรู้สึกแปลกใหม่อยู่เสมอ ได้เปิดการแสดงมาแล้วนานกว่า 15 ปี จำนวนผู้เข้าชมมากกว่า 7 ล้านคน/ครั้ง แถมยังสามารถดึงดูดนักท่องเที่ยวต่างชาติจำนวนไม่น้อย เซี่ยสือ อธิบายว่า นี่ก็คือผลจากการที่การบรรเลงกลองซึ่งสามารถเข้าถึงได้ทุกวัฒนธรรม “แต่ละประเทศทั่วโลกต่างก็มีการตีกลอง โดยต่างกันเพียงเอกลักษณ์ในการแสดงที่ไม่เหมือนกันเท่านั้น” การบรรเลงกลองที่มีประวัติศาสตร์ยาวนานกว่า 1,000 ปี ทั้งในพิธีเซ่นไหว้ทางศาสนาของอารยธรรมต่าง ๆ หรือการส่งสัญญาณในสนามรบ กลองมีบทบาทสำคัญเป็นอย่างยิ่ง การเข้ารหัสแบบโบราณเช่นนี้ ไม่ว่าจะเป็นคนที่มีภูมิหลังเช่นไร เมื่อได้ฟังการบรรเลงกลองแล้ว ก็จะสามารถเข้าถึงได้อย่างไม่ยากเย็นนัก

 

การแสวงหาจุดที่เหมือนกันจากพื้นเพแห่งชนบท

การที่คณะสือกู่สามารถก้าวข้ามขีดจำกัดของภูมิหลังทางวัฒนธรรมจนได้รับการยอมรับไปทั่ว คือสาเหตุที่ทำให้พวกเขาถูกคัดเลือกจากกระทรวงการต่างประเทศไต้หวัน ให้เดินทางไปแสดงในต่างประเทศหลายครั้ง เมื่อเดือนพฤศจิกายน ค.ศ. 2022 ไต้หวันเพิ่งจะผ่อนคลายมาตรการควบคุมพรมแดน ประกอบกับเป็นวาระที่ครบรอบ 30 ปี ซึ่งไต้หวันและเวียดนามมีการก่อตั้งสำนักงานตัวแทนของรัฐบาลระหว่างกัน สำนักงานไต้หวันประจำเวียดนามจึงได้จัดงาน “กิจกรรมส่งเสริมวัฒนธรรมและการท่องเที่ยวไต้หวัน 2022” ขึ้น โดยมีคณะสือกู่เป็นตัวแทนของไต้หวันเดินทางไปเปิดการแสดงแลกเปลี่ยนที่กรุงฮานอยและนครโฮจิมินห์ ถือเป็นการเปิดการแสดงรอบใหญ่ครั้งแรกในรอบหลายปี ทำให้เหล่านักแสดงต่างก็มีความกระเหี้ยนกระหือรือเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะการแสดงที่ฮานอยจะเป็นการแสดงกลางแจ้งที่จัตุรัส Dong Kinh Nghia Thuc Square ซึ่งมีผู้คนผ่านไปมาคึกคักเป็นอย่างมาก กิจกรรมที่จัดขึ้นเป็นเวลา 2 วันนี้ สามารถดึงดูดผู้ชมได้นับหมื่นคนให้มาชมการแสดง หลินเวยถิง (林威廷) หนึ่งในสมาชิกคณะที่เดินทางไปแสดงที่เวียดนามได้แบ่งปันประสบการณ์ว่า “ยิ่งตียิ่งคึกจริง ๆ”

เซี่ยสือใช้ความคิดหนักมาก ในการจัดโปรแกรมการแสดง เพื่อดึงดูดความสนใจของผู้ชม เขาได้ย้อนรำลึกถึงความประทับใจเมื่อครั้งที่เคยเดินทางไปเยือนเวียดนาม ความเรียบง่ายของบรรยากาศแบบชนบท คล้ายคลึงกับความทรงจำในวัยเด็กของตัวเองเกี่ยวกับไต้หวันเป็นอย่างมาก จึงได้ใช้ไอเดียนี้มาเป็นแรงบันดาลใจ ก่อนจะคัดเลือกบทเพลง 8 เพลงและเตรียมเพลงสำหรับการอังกอร์ไว้ 2 เพลง โดยใช้แนวคิดหลักจากชนบท งานวัด และป่าเขาลำเนาไพร มาร้อยเรียงเป็นโปรแกรมการแสดงในชุด “ความทรงจำแห่งไต้หวัน”

การแสดงชุดเตี่ยนเจี้ยงลิ่ง (點將令 – คำสั่งแต่งตั้งขุนพล) มีการผสมผสานกับขบวนปาเจียเจี้ยง (8 องครักษ์ในขบวนแห่เจ้า) ซึ่งมีบทบาทเหมือนองครักษ์ของเทพเจ้าที่ออกลาดตระเวนเพื่อไล่จับภูตผีปีศาจ อันถือเป็นเอกลักษณ์ของไต้หวันทางภาคใต้ ชุดอี้เสี่ยงจือเหมิน (憶想之門 - ประตูแห่งความทรงจำ) ได้บอกเล่าเรื่องราวของจูอีกุ้ย ฮ่องเต้องค์แรกของไต้หวัน แถมยังมีการแสดงชุดจู๋ลู่เย่าต้งอิ้งหมิงถัน (逐鹿躍動映明潭 – ภาพสะท้อนบนทะเลสาบของการไล่กวางที่กระโดดโลดเต้น) ซึ่งใช้เค้าโครงเรื่องจากตำนานพื้นบ้านของชนเผ่าเส้า และการแสดงชุดซานจือห้วน (山之喚 – เสียงเพรียกจากขุนเขา) ที่แสดงให้เห็นถึงภาพอันอลังการของขุนเขาและแมกไม้ที่ภูเขาอาลีซาน

การแสดงชุดชุยหนิวจี (吹牛雞 - ไก่ขี้โม้) ที่ใช้การอุปมาอุปไมยเปรียบเทียบว่าไก่เป็นคนที่โต้เถียงกัน ถือเป็นผลงานที่เซี่ยสือตั้งใจรังสรรค์ขึ้นมาด้วยความมุ่งมั่น บทเพลงนี้ถูกรวมไว้ใน “เกาะแห่งกลอง” ที่รวบรวมบทเพลงซึ่งได้รับการเสนอชื่อเข้าชิงรางวัลแกรมมี่และรางวัลดนตรีอิสระ โดยใช้เครื่องดนตรีมาเลียนแบบเสียงร้องของสัตว์ กลิ่นอายแห่งชนบทที่มีอยู่อย่างเปี่ยมล้น ไม่เพียงแต่จะได้รับการยอมรับจากผู้ชมในเอเชีย หากแต่เมื่อไปแสดงที่ยุโรปและแอฟริกาต่างก็ได้รับกระแสตอบรับอย่างล้นหลาม ทำให้การบรรเลงกลองที่เดิมมีแต่ “ความหนักแน่นและลีลา” ถูกเติมแต่งด้วย “อารมณ์ขัน” เซี่ยสือย้ำว่า เนื่องจากมีอารมณ์ขัน ทำให้การบรรเลงกลองที่เปี่ยมด้วยกลิ่นอายของความเป็นพิธีการ ถูกปรับเปลี่ยนจนกลายเป็นการแสดงที่เข้าถึงและชื่นชมได้ง่ายขึ้น
 

คณะสือกู่หรือ Ten Drum Art Percussion Group ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการทูตภาคประชาชน ใช้ศิลปะการบรรเลงกลองอันหนักแน่นมาผสมผสานกับเสียงดนตรีอันหลากหลาย เพื่อผูกสัมพันธ์กับชาวโลก (ภาพจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ไทเป ประจำนครโฮจิมินห์)

คณะสือกู่หรือ Ten Drum Art Percussion Group ซึ่งมีความเชี่ยวชาญด้านการทูตภาคประชาชน ใช้ศิลปะการบรรเลงกลองอันหนักแน่นมาผสมผสานกับเสียงดนตรีอันหลากหลาย เพื่อผูกสัมพันธ์กับชาวโลก (ภาพจากสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรม ไทเป ประจำนครโฮจิมินห์)
 

ก้าวที่กล้า กับการข้ามพรมแดนไปสู่ทั่วโลก

เพลงที่แต่งขึ้นเองเหล่านี้ สะท้อนให้เห็นถึงความตั้งใจตั้งแต่เริ่มต้นในการแต่งเพลงของเซี่ยสือ เขาชี้ว่า การบรรเลงกลองของเอเชียทั้งแบบไต้หวันกับเกาหลี และการตีกลองไทโกะของญี่ปุ่น ต่างก็มีเส้นทางในการพัฒนาที่คล้ายคลึงกัน แม้จะได้รับอิทธิพลจากจีน แต่หลังจากลงหลักปักฐานแล้ว ต่างก็สามารถพัฒนาเอกลักษณ์ของตัวเองออกมาได้ เซี่ยสือที่ทุ่มเทให้กับการแต่งเพลงอย่างเต็มที่ ได้พยายามค้นหาแรงบันดาลใจจากวัฒนธรรมของชนพื้นเมือง ชาวฮากกา และชาวหมิ่นหนาน เพื่อสร้างรากฐานอันแข็งแกร่งให้กับการบรรเลงกลองของไต้หวัน

ในอีกทางหนึ่ง เพื่อไม่ให้ทำอะไรแบบคิดไปเอง ในขณะที่มองหาแรงบันดาลใจจากภายในไต้หวัน เซี่ยสือก็เปิดรับไอเดียใหม่ๆ จากภายนอกด้วยเช่นกัน โดยเขาได้เชิญศิลปินระดับนานาชาติให้เดินทางมาเยือนและสร้างสรรค์งานศิลปะไปพร้อมกันด้วย โดยคาดหวังว่าการแลกเปลี่ยนแบบนี้ “จะช่วยกระตุ้นและเปิดวิสัยทัศน์ให้แก่สมาชิกของคณะ ทำให้ภายในเขตอุทยานมีความเป็นสากล และส่งผลให้ชาวต่างชาติรู้จักไต้หวันมากขึ้น” เซี่ยสือกล่าว

แรงกระตุ้นจากภายนอกสามารถช่วยจุดประกายแห่งความคิดสร้างสรรค์ได้เป็นอย่างดี เห็นได้จากตัวอย่างของวง Cross Metal ซึ่งก่อตั้งขึ้นในปี ค.ศ. 2019 เหล่าสมาชิกคณะที่มีอายุเฉลี่ยเพียง 20 กว่าปี ได้นำเอาเครื่องกระทบไปผสมผสานเข้ากับดนตรีในแบบร็อกแอนด์โรล จนทำให้สามารถพลิกโฉมให้กับการแสดงบทเพลงอมตะอย่าง “เหล่าสือกู่” ได้อย่างน่าอัศจรรย์

เมื่อพิจารณาจากการแสดงที่เวียดนามเมื่อปีที่แล้ว การแสดงอีกสองชุดที่ถูกนำไปแสดงด้วย คือ “ยุทธการที่ทาลัส” และ “สงครามสายฟ้า” ต่างก็มีการผสมผสานวัฒนธรรมจากต่างแดนเข้าไว้ด้วย โดย “ยุทธการที่ทาลัส” ได้บอกเล่าเรื่องราวของสงครามในสมัยราชวงศ์ถัง ซึ่งได้จำลองเอาสถานการณ์ของสนามรบที่ชายแดน โดยใช้แทมบูรีนมาผสมผสานเข้ากับดนตรีแนวอาหรับ จึงอบอวลไปด้วยบรรยากาศของต่างประเทศ ส่วน “สงครามสายฟ้า” ที่เปี่ยมด้วยพลังอันเข้มแข็ง ก็ใช้เครื่องกระทบแบบดนตรีตะวันตกมาผสมผสานเป็นองค์ประกอบสำคัญ โดยใช้เสียงเบสของกลองใหญ่มาเลียนเสียงการปล่อยควันของปล่องควัน ซึ่งต่างก็ทำให้การบรรเลงกลองของไต้หวันสามารถแสดงออกในเชิงลึกได้มากยิ่งขึ้น

 

ดึงดูด FC ไต้หวัน

คณะสือกู่ซึ่งมีความเป็นท้องถิ่นและสากลอยู่ในตัวเอง ซึ่งนอกจากจะทำการเผยแพร่เสียงกลองของตัวเอง พวกเขาก็ยังสดับรับฟังเสียงจากอีกฝ่ายด้วย โดยเมื่อช่วงที่ผ่านมาสำนักงานไต้หวันในเวียดนามได้จัดกิจกรรมด้วยการจัดเชิญคณะนักแสดงและนักดนตรีจากมหาวิทยาลัยศิลปะฮานอยและคณะระบำพื้นบ้านเหลียนฮัว รวมทั้งวงเวียดนามยูธซิมโฟนีออเคสตรา (VYO) มาขึ้นเวทีแสดงเพื่อแลกเปลี่ยนร่วมกัน หยางหยิ่วเหวิน (楊有文) รองหัวหน้าคณะของสือกู่ที่เป็นผู้นำคณะไปแสดงเวียดนาม เห็นว่า “ศิลปะการแสดงของเวียดนาม มีความโดดเด่นในด้านระบำและการเต้น แต่เราก็มีศิลปะกลองของตัวเอง เมื่อนำมาผสมผสานเข้ากับดนตรีของโลก ก็จะสามารถร่วมแบ่งปันกับทุกฝ่ายได้”

แม้ว่าสำนักงานไต้หวันในเวียดนามจะเห็นว่า “การจัดกิจกรรมใหญ่กลางแจ้งเป็นครั้งแรก” จะต้องคอยแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าหลายอย่าง แต่เมื่อผ่านพ้นมันไปได้ การบรรเลงกลองที่มีทั้งความสมบูรณ์และสามารถถ่ายทอดความรู้สึกได้อย่างลึกซึ้ง ก็ได้รับกระแสตอบรับเป็นอย่างดี ไม่เพียงแต่จะมีชาวไต้หวันที่อาศัยอยู่ในเวียดนามเดินทางมาเข้าชมหลายร้อยคน แม้แต่ผู้ชมชาวเวียดนามก็ยังชื่นชอบ จนแม้การแสดงจบลงแล้วแต่พวกเขายังคงยืนกันอยู่หน้าเวทีไม่ยอมกลับ พร้อมกับขอถ่ายภาพกับเหล่านักแสดง การต้อนรับอย่างล้นหลามนี้ ทำให้หยางหยิ่วเหวินต้องกำหนดเวลาในการถ่ายภาพการแสดงรอบวันรุ่งขึ้น เพื่อมิให้เกิดความล่าช้าในการเก็บของอันจะทำให้กำหนดการด้านหลังต้องล่าช้าตามไปด้วย

“ถือว่าประสบความสำเร็จในการดึงดูด FC” เซี่ยสือกล่าว นับตั้งแต่ก่อตั้งคณะสือกู่เป็นต้นมา พวกเขาไม่เพียงแต่จะทำให้การบรรเลงกลองมีสีสันและมีนัยแอบแฝงมากขึ้น แต่ยังทำให้วัฒนธรรมของไต้หวันมีมิติในเชิงลึกมากขึ้นด้วย การที่ผู้ชมถูกสือกู่ดึงดูดมาเป็น FC ก็แสดงให้เห็นถึงการได้ประสบพบกับไต้หวันอันน่าตื่นตาตื่นใจเช่นกัน

 

เพิ่มเติม

คณะศิลปะเครื่องกระทบสือกู่ : เสียงกลองดังสะท้านก้องไปไกลถึงเวียดนาม การบรรเลงกลองที่ช่วยส่งเสริม การแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรม