ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
การเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ กับชีวิตใหม่ของตลาดสด ฮับที่เชื่อมโยงภูมิทัศน์เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-04-17

ตลาดพัวกวง ที่ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือประมงหนานเหลียวในซินจู๋

ตลาดพัวกวง ที่ตั้งอยู่บริเวณท่าเรือประมงหนานเหลียวในซินจู๋
 

แลนด์มาร์กขนาดใหญ่ของแต่ละประเทศ ถือเป็นเวทีแข่งขันที่สำคัญของเหล่าสถาปนิกชั้นยอดทั้งหลาย หากแต่ว่าอาคารสาธารณะที่มีความเกี่ยวพันกับชีวิตประจำวันมากที่สุดอย่างตลาดสด กลับกลายเป็นสิ่งที่ชาวบ้านมีความรู้สึกผูกพันมากกว่า ตลาดสดมีบทบาทที่สำคัญเป็นอย่างยิ่งในวัฒนธรรมแห่งชีวิตของคนธรรมดา ในช่วงหลายปีมานี้ ตลาดสดเก่า ๆ หลายแห่งในไต้หวัน ต่างก็ได้รับการปรับปรุงให้มีรูปลักษณ์ใหม่ นอกจากตัวอาคารและอุปกรณ์ต่าง ๆ ได้รับการยกระดับให้ดีขึ้นแล้ว ยังมีอะไรที่แตกต่างไปจากเดิมบ้าง?

 

สดใหม่ มีชีวิตชีวา มีอาหารอร่อย ๆ มากมาย นอกจากสิ่งเหล่านี้แล้ว ตลาดสดยังมีภาพอะไรที่อยู่ในจินตนาการของผู้คนได้อีก? บางทีก็อาจมีความล้ำยุคเหมือนตลาด Markthal ในเมืองรอตเตอร์ดัมของเนเธอร์แลนด์ ตัวอาคารที่มีรูปทรงโค้งแบบล้ำสมัย เป็นอาคารแบบคอมเพล็กซ์ที่รวมประโยชน์ใช้สอยหลายอย่างเข้าไว้ด้วยกัน เป็นทั้งอาคารสำนักงาน อาคารที่พักอาศัยของชุมชน และตลาดสด ถือเป็นอะไรที่พลิกภาพเก่า ๆ ของตลาดสดไปเลย และทำให้เราได้มองเห็นภาพของเมืองแห่งอนาคตที่รออยู่ข้างหน้า หรืออาคารแบบเรียบง่ายของตลาดพัวกวง ท่าเรือประมงที่ตั้งอยู่ในแถบหนานเหลียวของซินจู๋ ซึ่งเป็นผลงานการออกแบบของหลินเซิ่งฟง (林聖峰) สถาปนิกชื่อดังของไต้หวัน ลวดลายบนตัวอาคารแบบเกลียวคลื่นสอดรับกับทิวทัศน์แห่งท้องทะเลที่อยู่ตรงหน้าได้อย่างลงตัว สะท้อนให้เห็นถึงแนวคิดแบบอะคาเดมิก อาร์ต (Academic Art) ได้อย่างชัดเจนที่สุด

การที่อาคารเหล่านี้สามารถดึงดูดผู้คนได้เป็นจำนวนมาก นอกจากภายในที่มีสินค้าดี ๆ จากทุกที่วางจำหน่ายอย่างครบครันแล้ว กุญแจสำคัญคือการออกแบบ ดังนั้น เมื่อเราถามหลูจวิ้นถิง (盧俊廷) ว่า หลังจากที่ออกแบบตลาดสดมาแล้ว 3 แห่ง เขามีความคาดหวังอะไรบ้างต่ออาคารตลาดสด ซึ่งคำตอบที่ได้รับ สามารถสะท้อนให้เห็นความเป็นจริงได้มากกว่าที่คิด เขาบอกว่า หากจะต้องมาคำนึงถึงแนวคิด อุดมคติ ตัวเขาเองกลับอยากให้ผลงานของเขา เป็นที่ “เข้าใจ เข้าใกล้ และเป็นที่ชื่นชอบของทุกคน”
 

ตลาดหลินโข่วซึ่งใช้ผนังไม้และมีการปลูกต้นไม้ไว้บนผนัง ถือเป็นอาคารสีเขียวแห่งหนึ่ง

ตลาดหลินโข่วซึ่งใช้ผนังไม้และมีการปลูกต้นไม้ไว้บนผนัง ถือเป็นอาคารสีเขียวแห่งหนึ่ง
 

เปิดกล่องออกเพื่อดึงดูดผู้คนเข้าไปข้างใน

หลังจากเปิดกิจการมาได้ 11 ปี ผลงานส่วนใหญ่ของสำนักงานสถาปนิกของหลูจวิ้นถิงจะเป็นงานในกลุ่มของอาคารสาธารณะ เช่น ศูนย์ดูแลผู้สูงอายุ โรงเรียน และตลาด เป็นต้น เขาเคยออกแบบอาคารตลาดสดสาธารณะมาแล้ว 3 แห่ง ซึ่งรวมถึงผลงานสร้างชื่ออย่างตลาดจงลี่แห่งที่ 1 และตลาดหลินโข่วที่เพิ่งจะสร้างเสร็จเมื่อปี ค.ศ. 2020 ที่ผ่านมา รวมถึงที่กำลังอยู่ระหว่างการก่อสร้าง คือ ตลาดหลงถานของเถาหยวน ที่เน้นการดัดแปลงอาคารเดิม

สิ่งที่หลูจวิ้นถิงกล่าวถึง คือ “เข้าใจง่าย เข้าถึงง่าย” เมื่อมองจากมุมมองของผู้ใช้งานแล้ว ถือเป็นการสื่อให้เห็นถึง “ความเป็นคน” ในระหว่างการสนทนา เราได้พูดถึงตลาดวงเวียนเจี้ยนเฉิงของไทเปที่เพิ่งจะถูกรื้อถอนไปเมื่อหลายปีก่อน อาคารทรงกระบอกขนาดใหญ่ที่ตั้งอยู่กลางถนนท่ามกลางรถราที่วิ่งผ่านไปมาอย่างไม่ขาดสาย ตัวอาคารใช้ผนังกระจกห่อหุ้มเอาไว้อย่างแน่นหนา จนขาดช่องทางที่จะดึงคนจากภายนอกให้เดินเข้าไปข้างใน สุดท้าย ตลาดวงเวียนที่แทบไม่มีคนเข้าไปเดินแห่งนี้จึงต้องปิดตัวเองลง

หลังจากที่มีตัวอย่างให้เห็น เหล่าสถาปนิกจึงต้องครุ่นคิดให้มากยิ่งขึ้นว่า จะทำการเปิดพื้นที่ปิดอย่างตลาดสดออกมาได้อย่างไร ซึ่งตลาดหนานเหมินของไทเปที่กำลังปรับปรุงใหม่ จึงถือเป็นตัวอย่างที่น่าสนใจ โดยโครงการนี้ออกแบบโดยทีมงานจากสำนักงานสถาปนิก Bio-Architecture Formosana ของสองสถาปนิกชื่อดังอย่างจางชิงหัว (張清華) และกัวอิงเจา (郭英釗) ซึ่งเมื่อดูจากภาพจำลองแล้ว อาคารแห่งนี้จะมีความสูงถึง 12 ชั้น และใช้กระจกมาทำเป็นผนังเพื่อให้คนที่อยู่ข้างนอกสามารถมองเห็นภายในได้อย่างชัดเจน ส่วนด้านหัวมุมของอาคารที่ตั้งอยู่บนสี่แยกที่ตัดกันระหว่างถนนโรสเวลต์ ตอนที่ 1 และถนนหนานไห่ ก็ถูกดัดแปลงให้เป็นระเบียงที่ใช้สำหรับเป็นสถานที่รับประทานอาหาร ความคึกคักของผู้คนทั้งภายในและภายนอกอาคารจึงสามารถประสานสอดรับกันได้เป็นอย่างดี

“พื้นที่ปิดถูกเปิดออก เพื่อดึงให้คนเข้ามา” ความโดดเด่นในข้อนี้ ได้ถูกนำไปใช้อย่างเต็มที่กับอาคารตลาดจงลี่แห่งที่ 1 โดยอาคารตลาดสดแห่งนี้ถือเป็นโครงการเกี่ยวกับตลาดสดโครงการแรกของหลูจวิ้นถิง ซึ่งเป็นคนจงลี่ โดยเจ้าตัวมีความรู้สึกผูกพันกับตลาดจงลี่แห่งที่ 1 ที่ถูกขนานนามว่าเป็น นาฬิกายักษ์แห่งนี้มาก เขาหัวเราะแล้วพูดว่า การออกแบบที่มีจุดเริ่มจากมุมมองของคนในพื้นที่ ทำให้เขาสามารถได้รับงานโครงการนี้ ทั้ง ๆ ที่เพิ่งจะเริ่มเปิดสำนักงานได้ไม่นาน

“แนวคิดพื้นฐานของอาคารแห่งนี้ คือ ให้คนข้างนอกมองเห็นชีวิตอันสดใสที่อยู่ภายในอาคาร” หลูจวิ้นถิงอธิบาย การสร้างอาคารแห่งใหม่ขึ้นบนพื้นที่เดิม นอกจากจะใช้กระจกมาทำเป็นผนังด้านที่ติดถนนแล้ว ที่ด้านบนยังมีนาฬิกายักษ์ติดตั้งอยู่บริเวณชั้น 2 ด้วย เพื่อให้สอดรับกับการถูกเรียกว่าเป็น “นาฬิกายักษ์” ทำให้มันกลายมาเป็นแลนด์มาร์กแห่งใหม่ไปโดยปริยาย การใช้กระจกมาทำผนังทำให้คนที่อยู่ข้างนอกมองเห็นบรรยากาศภายในได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ หลูจวิ้นถิงยังได้ออกแบบให้มีลานอเนกประสงค์ที่ด้านหน้าและด้านหลังของอาคาร พร้อมทั้งมีการติดตั้งบันไดเลื่อน บันได และบันไดหนีไฟหลายแห่งไว้กลางแจ้ง เพื่อเป็นกันชนและเป็นตัวเชื่อมระหว่าง “ภายใน” กับ “ภายนอก” โดยมีจุดประสงค์ในการ “ทำให้คนที่อยู่ข้างนอกรู้สึกอยากรู้อยากเห็น และอดรนทนไม่ไหวที่จะเดินเข้ามา” หลูจวิ้นถิงกล่าว
 

ตลาดจงลี่แห่งที่ 1 ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ใช้ผนังกระจกที่ทำให้คนภายนอกมองเห็นทิวทัศน์ภายใน และที่บริเวณชั้นสองก็มีการติดตั้งนาฬิกายักษ์เอาไว้ เพื่อสอดรับกับชื่อเดิมของตลาดแห่งนี้

ตลาดจงลี่แห่งที่ 1 ซึ่งสร้างขึ้นใหม่ ใช้ผนังกระจกที่ทำให้คนภายนอกมองเห็นทิวทัศน์ภายใน และที่บริเวณชั้นสองก็มีการติดตั้งนาฬิกายักษ์เอาไว้ เพื่อสอดรับกับชื่อเดิมของตลาดแห่งนี้
 

ออกแบบไปตามสภาพแวดล้อม

หลูจวิ้นถิงเป็นคนพูดจาแบบเนิบ ๆ แม้จะกล่าวถึงแนวคิดในการออกแบบก็มิได้ปล่อยอารมณ์และความรู้สึกออกมามากนัก เขาไม่ได้พูดถึงแนวคิดแบบสูงส่งอะไร เพียงใช้ “สภาพแวดล้อม” มาเป็นพื้นฐานและเป็นเงื่อนไขสำคัญ โดยใช้ “การจัดการ” มาแสดงให้เห็นถึงแนวทางการออกแบบของสถาปนิก และบอกเป็นนัยถึงทัศนคติของเขา ที่ใช้สภาพแวดล้อมเป็นตัวตั้ง เพราะธรรมชาติคือแกนหลักและการออกแบบเป็นเพียงส่วนเสริมที่ต้องสอดคล้องกัน

โครงการที่สำนักงานสถาปนิกของหลูจวิ้นถิงเป็นผู้ออกแบบ ส่วนใหญ่จะผ่านการตรวจสอบและได้รับตราเครื่องหมายอาคารสีเขียวในระดับทองคำหรือระดับเพชร “อาคารสีเขียวถือเป็นหนึ่งในความถนัดของเรา” หลูจวิ้นถิงกล่าวด้วยความมั่นใจและเป็นธรรมชาติมาก แต่เขาก็ย้ำว่า การได้รับตราเครื่องหมายถือเป็นเรื่องรอง เพราะสิ่งสำคัญคือจะต้องออกแบบพื้นที่ให้คนที่อยู่ภายในรู้สึกสบายและมีความสอดคล้องกับสภาพแวดล้อม ภูมิอากาศ และทิศทาง นี่คือพื้นฐานสำคัญของอาคารสีเขียว โดยหลูจวิ้นถิงยังได้พูดถึงตำแหน่งการจัดวางตัวอาคารซึ่งคนส่วนใหญ่จะรู้จักเป็นอย่างดี นั่นคือ “หันหลังให้ทิศเหนือ หันหน้าหาทิศใต้” ซึ่งเขาบอกว่า จริง ๆ แล้ว ขอเพียงมีการออกแบบที่เหมาะสม ก็จะช่วยให้ภายในอาคารมีอากาศอบอุ่นในช่วงหน้าหนาวและเย็นสบายในช่วงหน้าร้อนได้ และจะทำให้ไม่จำเป็นต้องเสียเงินมาก ๆ ไปซื้อกระจกประหยัดพลังงานหรือใช้ระบบปรับอากาศชั้นเยี่ยม สิ่งสำคัญคือ ต้นทุนในการก่อสร้างอาคารสีเขียวก็ไม่ได้สูงกว่าการก่อสร้างอาคารปกติเสมอไป

แต่สำหรับตลาดสดแล้ว เนื่องจากมีความจำเป็นด้านการใช้งานไม่น้อย ยังต้องให้ความสำคัญกับการระบายควัน ระบายน้ำมัน โดยเฉพาะไต้หวันมีสภาพภูมิอากาศแบบร้อนชื้น อุณหภูมิสูง ฝนตกมาก ในขณะที่เหล่าวัตถุดิบในการปรุงอาหารทั้งหลายก็จะต้องเน้นความสดใหม่และกลัวการตากแดด จึงต้องออกแบบให้ดีเพื่อนำแสงธรรมชาติเข้ามาในตัวอาคารแต่ไม่สร้างผลกระทบด้านอื่น หลูจวิ้นถิงอธิบายเพิ่มเติมว่า การที่เขาเลือกใช้ผนังกระจกทางทิศเหนือของอาคาร เพราะแสงแดดที่สาดส่องมาจากทิศเหนือจะมีความอ่อนละมุนกว่า แต่เพราะในไต้หวันมักจะมีฝนตกในช่วงบ่ายของวัน จึงต้องมีการติดตั้งกันสาดเอาไว้ด้านบนของผนังกระจก ส่วนทางทิศใต้ก็ใช้กันสาดในการบังแดด แต่ต้องไม่ให้บังมากจนเกินควร เพื่อไม่ให้ภายในอาคารมืดเกินไป ส่วนทางทิศตะวันตกและตะวันออกจะไม่มีหน้าต่าง
 

การจุดประกายอันสุกใสให้กับเมืองสักแห่ง เริ่มต้นได้ด้วยการออกแบบและสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ตลาดเก่า ๆ

การจุดประกายอันสุกใสให้กับเมืองสักแห่ง เริ่มต้นได้ด้วยการออกแบบและสร้างชีวิตใหม่ให้แก่ตลาดเก่า ๆ
 

จุดเริ่มจากตลาดสด ที่ส่องสว่างไปถึงอนาคต

การถือกำเนิดของตลาดก็มักจะมาจากปัจจัยเกี่ยวกับทำเลที่มีความสะดวก การขนส่งสินค้าไม่ติดขัด และมีฝูงชนจำนวนมากมารวมตัวกัน แต่การที่ตัวอาคารขาดความสวยงามและมีอายุมากกว่า 50 ปี ทำให้ขาดความมีชีวิตชีวา และบางครั้งการเปลี่ยนแปลงของศูนย์กลางทางการค้า ทำให้ฝูงชนห่างหาย จนซบเซาลง ดังนั้น การรีโนเวทอาคารตลาดเก่าขึ้นมาใหม่ มิใช่เป็นเพียงการสร้างตัวอาคารขึ้นมาเท่านั้น หากแต่ยังถือเป็นพันธกิจที่ผสมผสานเข้ากับวัฒนธรรมแห่งท้องถิ่น เพื่อสร้างความคึกคักและความเจริญรุ่งเรืองให้แก่ท้องถิ่นไปพร้อมกันด้วย

ตลาดค้าส่งผักผลไม้ซินฮั่วของไถหนานที่เพิ่งจะเปิดให้บริการในเดือนกันยายน ค.ศ. 2022 ก็สร้างขึ้นใหม่ด้วยวัตถุประสงค์เช่นเดียวกันนี้ โดยมีสำนักงานสถาปนิก MVRDV ซึ่งเป็นผู้ออกแบบตลาด Markthal ของร็อตเตอร์ดัม มาเป็นผู้ออกแบบร่วมกับสำนักงานสถาปนิกหลี่ลี่หรูของไต้หวัน เรามีโอกาสได้ติดตามหลี่ฟางหลิน (李芳林) กรรมการผู้จัดการใหญ่ของบริษัทค้าส่งสินค้าเกษตรนครไถหนาน ไปเยี่ยมตลาดซินฮั่วทั้งแห่งเดิมและแห่งใหม่ ตลาดเดิมที่ใช้แผ่นเหล็กมุงหลังคา ในช่วงหน้าร้อนจะมีอากาศร้อนระอุ ไม่ว่าจะเปิดพัดลมหรือฉีดน้ำมากเพียงใด ด้วยวิธีไหน ก็ไม่สามารถช่วยลดความร้อนลงได้ แต่เมื่อมาถึงตลาดแห่งใหม่ ซึ่งมีการยกเพดานให้สูงขึ้น หลังคาที่มีลอนคลื่นของอาคารสีเขียว สอดรับกับสภาพแวดล้อมที่เป็นเนินเขาอยู่โดยรอบได้เป็นอย่างดี อีกทั้งยังช่วยลดอุณหภูมิภายในได้ด้วย เมื่อยืนอยู่กลางตลาดที่กึ่งเปิดโล่ง จะรู้สึกได้ถึงสายลมที่พัดโชยมา หลี่ฟางหลินที่เคยเอาเทอร์โมมิเตอร์มาวัดด้วยตนเองบอกกับเราว่า “อุณหภูมิของทั้งสองแห่งต่างกันถึง 6 องศาเซลเซียส”

ปัญหาเกี่ยวกับพื้นที่ใช้สอยภายในตลาดเก่าไม่พอเพียง และความทรุดโทรมของอุปกรณ์ต่าง ๆ ทำให้ต้องมีการย้ายตลาดไปยังสถานที่แห่งใหม่ และเมื่อหลี่ฟางหลินได้พาพวกเราขึ้นไปยังชั้นดาดฟ้าที่เต็มไปด้วยต้นไม้มากมาย หลี่ฟางหลิน ซึ่งมีความคุ้นเคยกับตลาดทั้งแห่งเดิมและแห่งใหม่ ได้บอกกับเราอย่างตื่นเต้นถึงการวางแผนแห่งอนาคตที่จะเชื่อมโยงการค้าส่งเข้ากับธุรกิจท่องเที่ยว จากนั้นก็ได้ชี้ไปทางเขตอุทยานท่องเที่ยวหู่โถวผี พิพิธภัณฑ์การประปาและสวนซานซั่ง รวมถึงสวนฟอสซิลจั่วเจิ้น พร้อมอธิบายว่า หวังว่าจุดเด่นของตลาดในด้านโลจิสติกส์ ร้านอาหาร และการชอปปิง จะช่วยให้อุตสาหกรรมการท่องเที่ยวตามเมืองย่อยในไถหนานจะได้รับการบูรณาการให้เข้ามาอยู่ในแกนหลักของการท่องเที่ยว ถึงตรงนี้เราจึงตระหนักได้ว่า ตั้งแต่สถาปนิกไปจนถึงผู้บริหารกิจการ ต่างก็รู้ดีว่าตลาดจำเป็นต้องตั้งอยู่ในจุดที่จะเป็นส่วนหนึ่งของการพัฒนาท้องถิ่น จึงจะได้ประโยชน์จากมันอย่างเต็มที่มากยิ่งขึ้น

ก็เหมือนกับที่หานเหลียงอี้ (韓良憶) นักประพันธ์ชื่อดังได้กล่าวไว้ในหนังสือ “ท่องไปในตลาดสดทั่วโลก” ว่า “ทุกครั้งที่ฉันเดินทางไปถึงสถานที่แปลกถิ่น สิ่งแรกที่จะทำคือถามคนแถวนั้นว่า ตลาดอยู่ที่ไหน” เพราะเมื่อเปรียบกับการไปเยือนจุดท่องเที่ยวที่เป็นแลนด์มาร์ก หรือไปเที่ยวชมพิพิธภัณฑ์และหอวิจิตรศิลป์ที่มีชื่อเสียง การที่นักท่องเที่ยวนิยมไปเดินเที่ยวในตลาด นอกจากจะได้รับความบันเทิงจากการจับจ่ายซื้อของแล้ว การตั้งจุดเริ่มไว้ที่ตลาด จะทำให้เกิดการสับเปลี่ยนของสถานะ จาก Outsider กลายเป็น Insider การที่เราไปยังตลาด ก็จะเปลี่ยนสถานะในการใช้ชีวิตจากนักท่องเที่ยวกลายเป็นคนในท้องที่ ซึ่งไม่เพียงแต่จะทำให้ได้ลิ้มลองรสชาติของกินที่เปลี่ยนไปตามฤดูกาล แต่ยังได้มีส่วนร่วมในพัฒนาการของท้องถิ่น เมื่อมองจากจุดนี้ ตลาดของไต้หวันที่ถูกเปลี่ยนรูปลักษณ์ไปแล้ว จึงถือเป็นสถานที่ที่คุ้มค่าจะไปลองสัมผัส ไม่ว่าคุณจะเป็นนักท่องเที่ยวหรือคนในท้องที่ก็ตาม

 

เพิ่มเติม

การเปลี่ยนแปลงรูปลักษณ์ กับชีวิตใหม่ของตลาดสด ฮับที่เชื่อมโยงภูมิทัศน์เข้ากับวัฒนธรรมท้องถิ่น