ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
เริ่มต้นวันด้วยความสดยามเช้าตรู่ รู้จักตลาดปลา จากเหนือจรดใต้
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-05-15

เรือประมงขณะเข้าเทียบท่า และขนถ่ายปลาออกจากเรือโดยใช้ตะขอเกี่ยวอย่างระมัดระวัง

เรือประมงขณะเข้าเทียบท่า และขนถ่ายปลาออกจากเรือโดยใช้ตะขอเกี่ยวอย่างระมัดระวัง
 

ในสังคมไต้หวัน ปลา (魚) นับเป็นสัญลักษณ์ของความสมบูรณ์พูนสุข โดยคำว่า 魚 ออกเสียงว่า “อวี๋” พ้องเสียงกับคำว่า “餘” ที่หมายถึงความเหลือเฟือ ปลาจึงเป็นเมนูที่ขาดไม่ได้ในการจัดสำรับอาหารมงคลประจำเทศกาลตรุษจีน และเป็นเมนูที่มักจะถูกผู้ใหญ่คอยกำชับอยู่เสมอด้วยว่า ห้ามทานจนหมดเกลี้ยง เพราะว่าจะได้ “มีเหลือกินเหลือใช้ทุก ๆ ปี”

ไต้หวันเป็นเกาะที่ห้อมล้อมไปด้วยทะเล เป็นแหล่งการไหลเวียนตลอดปีของกระแสน้ำคูโรชิโอะที่ใหญ่เป็นอันดับสองของโลก กลายเป็นแหล่งสัตว์น้ำธรรมชาติที่อุดมสมบูรณ์ ทำให้ชาวไต้หวันสามารถซื้อหาอาหารทะเลที่อุดมไปด้วยสารอาหารจำพวกกรดไขมันชนิดที่ร่างกายต้องการและสร้างไม่ได้ อย่าง EPA และ DHA ได้อย่างง่าย ๆ

 

เมืองเล็ก ๆ ที่มีชื่อเสียงจากปลาทูน่า

“ผมนี่แหละ ที่จับปลาทูน่าครีบน้ำเงินตัวแรกให้กับตลาดปลาตงกั่งในปีนั้น” ซูจิ้น (蘇進) กัปตันเรือประมงวัยเก๋าอายุ 80 กว่าปี หวนนึกถึงเรื่องราวเมื่อครั้งที่เขาออกเรือล่าปลาทูน่าครีบน้ำเงินในปี ค.ศ. 1971 “การออกทะเลในครั้งนั้น เราตั้งเป้าไว้ว่าจะจับปลาทูน่า แต่ปรากฏว่าเจ้าปลาตัวนั้นติดเบ็ดเสียก่อน ผมรู้สึกได้เลยว่าปลาตัวนี้มีขนาดที่ใหญ่มาก แต่สายเบ็ดที่เราใช้ในการตกปลาทูน่านั้นมีขนาดค่อนข้างเล็ก ทำให้ใช้แรงดึงไม่ได้ ไม่เช่นนั้นเบ็ดอาจจะขาด จึงต้องใช้การรั้งเบ็ดยื้อกันไปมาอยู่นานกว่าสองชั่วโมง จนกว่าปลาจะหมดแรง จึงจะจับขึ้นเรือได้”

ในขณะนั้นสินค้าปลาของตงกั่งยังไม่มีการส่งออกไปขายต่างประเทศ ซูจิ้นนับเลขไปเรื่อย ๆ และบอกว่า เริ่มมีการส่งออกปลาทูน่าไปญี่ปุ่นในช่วงของนายหลินเต๋อเหอ (林德和) นายกสมาคมและกรรมการที่บริหารงานในขณะนั้น จากนั้นจึงเริ่มมีการส่งออกปลาทูน่าครีบน้ำเงินไปขายที่ตลาดญี่ปุ่น

ซูหวงเหวิน (蘇煌文) นักค้นคว้าประวัติศาสตร์ตงกั่ง ผู้ก่อตั้ง Donggang Humanities Space เล่าให้ฟังถึงความเป็นมาและการพัฒนาของตงกั่งว่า ในยุคที่ไต้หวันอยู่ภายใต้การปกครองของราชวงศ์ชิง ตงกั่งเป็นที่รู้จักในชื่อของท่าเรือพาณิชย์ จนมาถึงช่วงปลายที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน อ่าวต้าเผิงวันที่อยู่ใกล้ ๆ กันนั้น ถูกตั้งเป็นสนามบินน้ำ และตงกั่งได้กลายมาเป็นที่ตั้งของฐานทัพทหาร ในช่วงปี ค.ศ. 1970 รัฐบาลผลักดันโครงการลงทุนขนาดใหญ่ 10 เมกะโปรเจกต์ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาในพื้นที่ ทำให้ตงกั่งเริ่มเจริญรุ่งเรืองจากอุตสาหกรรมประมงและการส่งออกอาหารทะเล

คุณซูจิ้นเข้าสู่ชีวิตชาวประมงโดยฝึกงานอยู่บนเรือหลังจากเรียนจบชั้นประถมศึกษา (ในปี ค.ศ. 1956) และขึ้นเป็นกัปตันเรือเมื่ออายุราว 20 ต้น ๆ เขาเล่าให้ฟังว่า ในช่วงนั้นทะเลในละแวกไต้หวันมีทรัพยากรที่อุดมสมบูรณ์ แต่กัปตันเรือจะต้องรู้ด้วยว่าการออกทะเลในแต่ละครั้งต้องการจะจับปลาอะไร เราก็จะไปยังน่านน้ำที่มีปลาชนิดนั้น ๆ และต้องรู้ว่าจะใช้เครื่องมือหรืออุปกรณ์อะไรในการจับปลา ปลาทูน่าที่ซูจิ้นจับได้จะมีขนาดที่ใหญ่กว่าปลาทูน่าที่ถูกจับได้โดยเรือประมงอื่น ๆ เป็นปลาที่ได้ราคาดี ทำให้ชีวิตความเป็นอยู่ก็เริ่มดีขึ้นเป็นลำดับ

สิ่งที่น่าสนใจอีกเรื่องหนึ่งก็คือ พิธีบูชาเทพเจ้าเรือหวังเย๋ ซึ่งเป็นเทศกาลที่มีชื่อเสียงของตงกั่ง เป็นสิ่งที่พิสูจน์ให้เห็นถึงประวัติศาสตร์ในช่วงดังกล่าว ที่ผ่านมาชาวบ้านจะเรี่ยไรเงินและร่วมแรงร่วมใจกันจัดงานเฉลิมฉลองพิธีบูชาเทพเจ้าเรือหวังเย๋กันเอง โดยเรือหวังเย๋ที่นำมาใช้ในพิธีจะทำจากกระดาษ คุณซูหวงเหวินชี้ว่า “เรือหวังเย๋ลำแรกที่สร้างขึ้นจากไม้ ถูกสร้างในปี ค.ศ. 1976 ซึ่งเป็นช่วงเวลาที่เหล่าชาวเลเริ่มมีความเป็นอยู่ที่ดีขึ้น”

ในปี ค.ศ. 2001 เทศบาลเมืองผิงตงได้จัดงาน “เทศกาลท่องเที่ยววัฒนธรรมปลาทูน่าครีบน้ำเงินเมืองผิงตง” โดยนำอุตสาหกรรมประมงมาผนวกกับการท่องเที่ยว สร้างกระแสนิยมให้กับตงกั่งในอีกรูปแบบหนึ่ง

ความมีชื่อเสียงของตงกั่งที่ต้องกล่าวถึงอีกหนึ่งอย่างคือ การก่อตั้งกลุ่มผลิตและแปรรูปกุ้งซากุระของชาวประมง อาศัยการเพาะเลี้ยงลูกปลาด้วยตัวเอง มีการกำหนดกฎระเบียบในการจับปลา เช่น ฤดูกาลที่สามารถจับปลาได้ ปริมาณที่อนุญาตให้จับ เพื่อรักษาทรัพยากรทางทะเลให้เกิดความยั่งยืน การร่วมกันอนุรักษ์กุ้งซากุระ ไม่เพียงส่งผลให้ราคาของกุ้งซากุระในท้องตลาดเพิ่มขึ้นหลายเท่า แต่ยังเป็นการแสดงให้เห็นว่าคนกับทะเล สามารถมีประโยชน์ร่วมกัน แบ่งปันกัน ทำให้เกิดความยั่งยืนมากขึ้น
 

ตลาดปลาขั่นไจ๋ติง มีสินค้ามาจากทั่วทุกสารทิศ และรองรับผู้บริโภคไต้หวันกว่าครึ่งหนึ่งของไต้หวัน

ตลาดปลาขั่นไจ๋ติง มีสินค้ามาจากทั่วทุกสารทิศ และรองรับผู้บริโภคไต้หวันกว่าครึ่งหนึ่งของไต้หวัน
 

ตลาดปลาที่มีแต่ความคึกคักตลอดทั้งวัน

ราวตีสองในแต่ละวัน เป็นเวลาที่ตลาดปลาตงกั่งทางตอนใต้ของไต้หวันเตรียมพร้อมเปิดตลาด ที่นี่เริ่มต้นความคึกคักด้วยการซื้อขายสินค้าปลาที่จับด้วยอวนลาก แผงค้าปลาในตลาดสด ร้านอาหาร และร้านจัดโต๊ะจีน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องใช้ปลาเป็นวัตถุดิบในปริมาณมากจะพากันมาหาซื้อปลาที่นี่

คนจำนวนมากนั่งล้อมวงเป็นกลุ่มเพื่อเริ่มงานแล่และตัดแต่งปลา ตั้งแต่การตัดหัวปลานวลจันทร์ การทำความสะอาดปลาและควักเครื่องใน แล้วจึงแล่ปลาออกเป็นชิ้น ๆ เช่น ท้องปลาเหมือนที่เห็นในตลาดทั่วไป ก่อนจะบรรจุลงห่อและส่งขาย วัตถุดิบจำนวนมากถูกนำมาจัดการเบื้องต้นก่อนที่จุดนี้ ก่อนจะส่งต่อไปยังร้านค้าร้านอาหารต่าง ๆ และจะเห็นการทำงานแบบนี้ได้เฉพาะในตลาดค้าส่งปลาเท่านั้น

ช่วงเช้ามืดประมาณหกโมงเช้า ตลาดปลาที่จับด้วยอวนลากจะเริ่มวายและปิดตลาด ในขณะที่อีกด้านหนึ่งของท่าเรือ เริ่มมีเรือประมงทยอยขนสินค้าลงจากเรือ บรรดาสาว ๆ
ที่อยู่บนฝั่งต่างมี “ตะขอเกี่ยว” อยู่ในมือ เพื่อช่วยขนถ่ายปลา บ้างก็ใช้รถเข็นมาช่วยขนปลาและชั่งน้ำหนัก ในอดีตมีกฎห้ามไม่ให้ผู้หญิงขึ้นบนเรือ ดังนั้น บรรดาผู้หญิงเหล่านี้จึงทำได้เพียงแค่รออยู่ที่ท่าเรือ คอยช่วยงานอื่น ๆ ที่ด้านข้างตัวเรือเท่านั้น แลกกับเงินเพียงเล็กน้อยเพื่อใช้ประทังชีวิต เนื่องจากการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือเป็นงานที่ต้องทำอยู่ใกล้กับบริเวณหัวเรือ ดังนั้นคนท้องถิ่นจึงเรียกผู้หญิงเหล่านี้ว่าเป็น “นักเดินหัวเรือ” และเป็นบรรยากาศที่ยังพบเห็นได้ของตงกั่งจนทุกวันนี้

ในขณะที่มีการขนถ่ายสินค้าลงจากเรือ บรรดานักเดินหัวเรือจะทำงานอย่างขะมักเขม้น เอาปลามาเรียงบนพื้นทีละตัวทีละตัวอย่างเป็นระเบียบเพื่อรอการเปิดประมูล คุณเติ้งจื้อปิน
(鄧自斌) ผู้อำนวยการตลาดปลา สมาคมชาวประมงตงกั่ง อธิบายว่า “ปัจจุบันการซื้อขายปลาสดในตลาดตงกั่งมีอยู่สองรูปแบบ” คือ การต่อรองราคา และ การประมูล” สินค้าปลาทั้งลำเรือของเรือประมงจำนวนมากถูกซื้อไปหมดแล้ว ด้วยวิธีการต่อรองราคาก่อนที่เรือเหล่านั้นจะเทียบท่าเสียอีก แต่ก็มีเรือบางลำที่ว่าจ้างคนมาช่วยจัดการในการเปิดประมูลปลา

เมื่อถึงเวลาเที่ยงตรง แสงไฟในตลาดของ “ตลาดหัวเฉียว” ซึ่งเป็นตลาดที่อยู่ใกล้ ๆ กับท่าเรือข้ามฟาก และเปิดขายในช่วงเย็นไฟเริ่มสว่างขึ้น ภายในตลาดมีแผงร้านค้าไม่ต่ำกว่า 400 แผง เมื่อเดินเข้าไปในพื้นที่ดังกล่าว บรรยากาศของตลาดสร้างความอิ่มเอมใจเป็นอย่างยิ่ง ปลาสด ๆ และอาหารทะเลหลากหลายชนิดวางขายบนแผงอย่างละลานตา เวลาซื้อยังสามารถถามรายละเอียดจากเจ้าของร้านได้ด้วย ไม่ว่าจะชื่อ รสชาติ วิธีการปรุง หรือจะซื้ออาหารทะเลสดแล้วนำไปให้ร้านอาหารปรุงเป็นเมนูต่าง ๆ ให้เราได้ลิ้มรสอาหารที่สดใหม่จากทะเลสู่โต๊ะอาหารได้เช่นกัน ตลาดหัวเฉียวเปิดให้บริการจนถึงสองสามทุ่ม จากนั้นแสงไฟในตลาดจะค่อย ๆ ดับลง ก่อนที่ตลาดปลาที่จับด้วยอวนลากจะกลับมาเปิดตลาดอีกครั้งหลังจากนั้นเพียงไม่กี่ชั่วโมง พร้อมกับแสงไฟที่สว่างไสวไปทั่ว นี่คือวิถีประจำวันของตลาดปลา

 

ส่งตรงความสดใหม่จากไต้หวันตอนเหนือ

ก้าวเท้าออกจากสถานีรถไฟจีหลงช่วงดึก ๆ ประมาณห้าทุ่ม แล้วเดินไปตามถนนจงอีลู่และเลี้ยวเข้าไปที่ถนนเสี้ยวอีลู่ เราจะได้กลิ่นคาวปลาโชยมาแตะจมูกในทันที ประตูเหล็กม้วนที่ถูกล๊อกปิดช่วงกลางวันถูกดึงให้เปิดออก รถบรรทุกปลาขนาดใหญ่ทยอยขับเข้ามา กล่องโฟมที่บรรจุปลาแช่เย็นถูกทยอยขนถ่ายลงจากรถทีละกล่องทีละกล่อง

ลานกว้างที่อยู่หน้าร้านมีคนงานนั่งอยู่สองสามคน คอยทำหน้าที่คัดแยกปลาโดยดูจากความสดใหม่และขนาด มีการนำปลาที่ยังมีชีวิตอยู่หลากหลายชนิดวางขายเต็มด้านหน้าร้าน

“ช่วงกลางดึกราวห้าทุ่มเป็นเวลาที่เริ่มมีการขนสินค้าเข้า และจะทำงานกันจนถึงราวตีห้าจึงเก็บของ” เราได้เชิญคุณ เผิงรุ่ยฉี (彭瑞祺) หัวหน้าสมาคมมิตรภาพขั่นไจ๋ติง ขณะเดียวกันเขายังเป็นรุ่นที่สามของตระกูลเผิงที่ดูแลกิจการของร้าน Yi-Long Fish Shop มาเป็นไกด์แนะนำสถานที่นี้ให้กับเรา “สมัยที่ผมยังเป็นวัยรุ่น ตลาดจะเปิดให้บริการตอนตีสี่ครึ่ง” การคมนาคมที่สะดวกรวดเร็วเนื่องจากการสร้างทางด่วน สร้างอุโมงค์เสวี่ยซานที่เชื่อมต่อกัน ทำให้เวลาในการเปิดให้บริการขยับเร็วขึ้นเรื่อย ๆ ผู้ซื้อจากทุกสารทิศ รวมถึงสินค้าปลาที่นำมาฝากขาย ก็มารวมอยู่ที่นี่ทั้งสิ้น “เราต้องให้บริการผู้บริโภคไม่ต่ำกว่าครึ่งหนึ่งของทั่วไต้หวัน ทางตะวันออกของเกาะตั้งแต่เมืองฮัวเหลียนขึ้นมา ทางตะวันตกของเกาะตั้งแต่ไทจงขึ้นมา ต่างมาซื้อสินค้าที่นี่กันทั้งนั้น” คุณเผิงรุ่ยฉีกล่าว

ประวัติความเป็นมาของตลาดขั่นไจ๋ติงคงต้องย้อนไปถึงยุคที่ไต้หวันอยู่ในการปกครองของราชวงศ์ชิง คุณเผิงรุ่ยฉีชี้ไปที่อาคารหลังหนึ่งที่อยู่ฝั่งตรงข้ามกับร้าน Yi-Long Fish Shop พร้อมกล่าวว่า “ตำแหน่งตรงนั้นเดิมเป็นแม่น้ำ เวลาที่น้ำขึ้น เรือจะสามารถแล่นเข้ามาเทียบที่หน้าร้านเพื่อขนถ่ายสินค้าได้เลย ยามที่น้ำลด ต้องแบกสินค้าเดินผ่านบันไดหินขึ้นมาเอง และนี่ก็คือที่มาของชื่อ “ขั่นไจ๋ติง” ซึ่งหมายถึง บริเวณที่อยู่เหนือแม่น้ำ

ขั่นไจ๋ติงในอดีตไม่เหมือนเช่นในปัจจุบันที่ขายเฉพาะอาหารทะเลสด แต่ยังมีขายอาหารหมักดองและอาหารแห้งต่างๆ อีกด้วย และคุณเผิงรุ่ยฉีนี่เอง ที่เป็นหนึ่งในกลุ่มคนที่ปรับเปลี่ยนรูปแบบของตลาด “ผมคุยกับพ่อตลอดทั้งคืน พ่อถามผมว่าจะปรับอย่างไร ผมจึงบอกไปว่า เราควรทำธุรกิจอาหารทะเลสด เพราะมันเป็นแนวโน้มแห่งอนาคต”
 

เผิงรุ่ยฉี เป็นทายาทรุ่นที่สามของร้าน Yi-Long Fish Shop และยังเป็นสารานุกรมมีชีวิตของตลาดขั่นไจ๋ติงด้วย

เผิงรุ่ยฉี เป็นทายาทรุ่นที่สามของร้าน Yi-Long Fish Shop และยังเป็นสารานุกรมมีชีวิตของตลาดขั่นไจ๋ติงด้วย
 

ตลาดปลาที่ไม่เคยหลับใหล

ราวเที่ยงคืนกว่า แม้ว่ายังอยู่ในระหว่างเตรียมเปิดร้าน แต่กลับมีลูกค้ามาถึงหน้าร้านแล้ว ในช่วงเวลาเช่นนี้ลูกค้าที่มาส่วนใหญ่จะเป็นเจ้าของร้านอาหารญี่ปุ่น

ประมาณตีสอง กลุ่มลูกค้าจะเปลี่ยนเป็นกลุ่มผู้ค้าส่ง ระหว่างนั้นยังคงมีรถบรรทุกเข้า ๆ ออก ๆ เพื่อขนถ่ายสินค้าลงอยู่เรื่อย ๆ “จุดเด่นของร้านเราก็คือ ขายไปด้วย ลงสินค้าไปด้วย” คุณเผิงรุ่ยฉีกล่าว เขาชี้ไปที่กล่องสินค้าบนรถที่มีฉลากเป็นภาษาต่างประเทศ และบอกว่า พวกนี้เป็นสินค้านำเข้า เพิ่งส่งมาจากสนามบินเถาหยวน ตลาดที่นี่มีรูปแบบการซื้อขาย 2 ลักษณะ คือ การต่อรองราคาและการประมูล “สินค้านำเข้าและสินค้าที่เพาะเลี้ยง มีต้นทุนสูง ดังนั้น มักจะซื้อขายกันด้วยวิธีต่อรองราคา ส่วนสินค้าที่จับจากธรรมชาติจะซื้อขายด้วยวิธีประมูลมากกว่า”

การประมูลสินค้าขึ้นอยู่กับคนที่ทำหน้าที่ประมูลของแต่ละร้าน ผู้ที่ทำหน้าที่ประมูลจะกำหนดราคาโดยดูจากปริมาณสินค้าและคุณภาพของปลา คนพวกนี้จะต้องมีสายตาเฉียบคม ทำอะไรฉับไว รู้จังหวะและโอกาส และปิดการซื้อขายโดยได้ราคาซึ่งเป็นที่พึงพอใจทั้งแก่ผู้ซื้อและผู้ขายได้อย่างรวดเร็ว ลักษณะการซื้อขายเช่นนี้ คุณเผิงรุ่ยฉี อธิบายว่า ในภาษาไต้หวันหมายความว่า “แบบบู๊” แต่ถ้าเรานั่งรอลูกค้ามาที่ร้านอยู่เงียบ ๆ จะเรียกว่า “แบบบุ๋น” คำอธิบายนี้แสดงให้เห็นถึงความแตกต่างของลักษณะการทำธุรกิจสองรูปแบบที่ชัดเจน

ผู้ที่ทำหน้าที่ประมูลที่ถูกฝึกมาจากร้านแต่ละแห่งมีสไตล์และวิธีที่แตกต่างกัน คุณเผิงรุ่ยฉีกล่าวว่า “อย่างร้านของเราจะมีเทคนิคอย่างหนึ่ง ที่คนอื่นเลียนแบบไม่ได้ คนที่ทำหน้าที่ประมูลจะคอยเพิ่มราคาขึ้นไปเรื่อย ๆ กระทั่งราคาพุ่งขึ้นไปที่จุดสูงสุดแล้ว จะเรียกราคาเพียงครั้งเดียว แล้วลากคำให้ยาว ๆ เทคนิคแบบนี้ช่วยให้สามารถขายได้ทันที และสามารถปิดการขายได้อย่างรวดเร็ว นับเป็นทักษะเฉพาะตัวของคนที่ทำหน้าที่ประมูล” ความเร็วในการพูดหรือการออกเสียงของผู้ที่ทำหน้าที่ประมูลเป็นสิ่งที่กระตุ้นให้เกิดความตื่นเต้นในระหว่างการประมูล ขณะเดียวกันเขายังคอยควบคุมจังหวะจะโคนในการประมูล เพื่อกระตุ้นให้ผู้ซื้อตัดสินใจซื้อ นับเป็นบรรยากาศที่น่าสนใจที่สุดของขั่นไจ๋ติง

ช่วงตีสาม เป็นช่วงเวลาที่ผู้คนในตลาดเพิ่มมากขึ้น แผงขายปลาในตลาดสดทยอยเข้ามาเลือกซื้อสินค้าในตลาดที่เปิดให้บริการช่วงเช้า

ยิ่งค่ำมืดยิ่งงดงาม ประมาณตีสี่ เสียงเรียกราคาของคนที่ทำหน้าที่ประมูลเริ่มดังและเบาสลับเป็นระยะ ปลาถูกขายออกไปทีละเข่งทีละกอง ผู้ที่ทำหน้าที่ประมูลนำเอาปลาขึ้นวางบนตาชั่ง เพื่อชั่งน้ำหนัก และทำมือทำไม้คุยกับผู้ซื้อ ใช้สายตาส่งสัญญาณเพื่อปิดการขาย ราคาซื้อขายมักจะคิดราคาต่อน้ำหนักโดยใช้หน่วยจินหรือชั่ง (1 จินเท่ากับ 600 กรัม) พนักงานที่อยู่ข้าง ๆ จะใช้เครื่องคิดเลขกดคำนวณราคาขายก่อนจะแจ้งยอดรวม โดยมีอีกคนหนึ่งทำหน้าที่จดบัญชีและเก็บเงิน กระบวนการทั้งหมดนี้ใช้เวลาไม่เกินหนึ่งนาที

เมื่อถึงเวลาตีห้า เป็นดังเช่นที่คุณเผิงรุ่ยฉีคาดการณ์ไว้ สินค้าถูกขายออกไปจนหมดเกลี้ยง พนักงานร้านเริ่มเก็บกวาดทำความสะอาดพื้นและเครื่องมืออุปกรณ์ต่าง ๆ เมื่อแหงนหน้ามองขึ้นไป ท้องฟ้าเริ่มสว่างแล้ว เมืองแห่งนี้กำลังตื่นขึ้นรับวันใหม่ แต่ตลาดที่นี่เพิ่งจะเสร็จสิ้นงานที่วุ่นวายกันมาตลอดทั้งคืน คงไม่ใช่เรื่องเกินเลยที่จะพูดว่า นี่แหละคือความสำเร็จที่เกิดขึ้น

 

เพิ่มเติม

เริ่มต้นวันด้วยความสดยามเช้าตรู่ รู้จักตลาดปลา จากเหนือจรดใต้