ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
วันเวลาที่ผันผ่าน กับการพบพานแห่งศตวรรษ เชื่อมสายสัมพันธ์ล้ำค่ากับลูกหลานจากบ้านเกิด
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-05-22

คุณหยวนสวี้เหวิน ผู้จัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน ได้ไอเดียจากชุดนาฏศิลป์ของอินโดนีเซีย มาทำการจัดนิทรรศการร้อยเรียงสิ่งสะสมอายุร้อยปีจากบ้านเกิดกับแรงงานต่างชาติในไต้หวัน

คุณหยวนสวี้เหวิน ผู้จัดนิทรรศการพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน ได้ไอเดียจากชุดนาฏศิลป์ของอินโดนีเซีย มาทำการจัดนิทรรศการร้อยเรียงสิ่งสะสมอายุร้อยปีจากบ้านเกิดกับแรงงานต่างชาติในไต้หวัน
 

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวันได้แสดงบทบาทในฐานะสะพานเชื่อมแห่งยุคสมัยให้แก่ผู้ย้ายถิ่นจากดินแดนเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ โดยจัดนิทรรศการวัตถุโบราณแห่งประวัติศาสตร์และวัฒนธรรมที่ให้โอกาสแก่ลูกหลานของผู้จากบ้านเกิดเมืองนอนมาร่วมกันแสวงหา และปล่อยให้พวกเขาเล่าเรื่องราวของโบราณวัตถุอายุนับร้อยจากบ้านเกิดด้วยตัวเอง เป็นการแสดงให้เห็นถึงความเท่าเทียมทางวัฒนธรรมและการเคารพต่อความหลากหลายทางชาติพันธุ์ของพิพิธภัณฑ์

 

พิพิธภัณฑ์แห่งชาติไต้หวัน (เรียกย่อว่า พิพิธภัณฑ์ไต้หวัน) ก่อตั้งขึ้นเมื่อปี ค.ศ. 1908 เป็นพิพิธภัณฑ์ที่เก่าแก่ที่สุดในประวัติศาสตร์ของไต้หวัน เก็บสะสมวัตถุโบราณไว้มากกว่า 120,000 ชิ้น ส่วนใหญ่เป็นวัตถุโบราณในยุคศตวรรษที่ 20 ที่ญี่ปุ่นปกครองไต้หวัน เก็บรวบรวมสะสมจากทุกฝ่ายทั้งภาครัฐ เอกชน และวิชาการ แลกเปลี่ยนระหว่างองค์กร รวมไปถึงมาจากการรับบริจาคหรือแลกเปลี่ยน เมื่อไต้หวันกลับคืนสู่อ้อมอกของสาธารณรัฐจีน ชาวญี่ปุ่นก็ได้อพยพออกจากไต้หวัน วัตถุโบราณจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เก็บสะสมไว้ที่นี่ก็เหลือเพียงบันทึกและชื่อของวัตถุเหล่านี้เท่านั้น โดยมิได้มีการบันทึกประวัติความเป็นมา ที่มา ได้มาเมื่อใด รวมไปถึงชื่อเจ้าของผลงาน

คุณหยวนสวี้เหวิน (袁緒文) ผู้จัดงานนิทรรศการ “การพูดคุยในรอบศตวรรษ : นิทรรศการผู้เดินทางข้ามดินแดนกับสิ่งของเก็บสะสม” เล่าให้ฟังว่า ตอนที่เธอเข้า ๆ ออก ๆ คลังเก็บสิ่งล้ำค่าเหล่านี้ ก็คิดอยู่ตลอดเวลาว่าถ้ามีโอกาสจะนำออกมาแนะนำให้ผู้คนได้รู้จักมากขึ้น ตั้งแต่ทศวรรษที่ ค.ศ. 1990 เป็นต้นมา ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และแรงงานจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ในไต้หวัน ซึ่งมีจำนวนทะลุหลักล้านแล้วเมื่อหลายปีก่อน ทำให้สิ่งล้ำค่าจากเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ที่เก็บสะสมมานานนับร้อยปี มีโอกาสที่จะนำออกมาจัดแสดงแล้ว

 

การพูดคุยกันระหว่างสิ่งล้ำค่าร้อยปีจากอาเซียนกับคนบ้านเดียวกัน

พิพิธภัณฑ์ไต้หวันได้ผลักดันโครงการ “ทูตบริการผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” ในปี ค.ศ. 2015 โดยรับสมัครผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จากอาเซียนมาทำหน้าที่นำชมพิพิธภัณฑ์ ให้บริการบรรยายหลายภาษา และยังได้วางแผนจัดกิจกรรมที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมอีกด้วย อาทิ โครงการรู้จักกับวัฒนธรรมบ้านเกิดของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จากอาเซียน และหลักสูตรอบรมที่เกี่ยวข้อง เพื่อให้ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เหล่านี้ นำเอาอัตลักษณ์ด้านวัฒนธรรมของตนมาแสดงในพิพิธภัณฑ์แห่งนี้ ตามเป้าหมายความเท่าเทียมทางวัฒนธรรมและการนำสิ่งใกล้ตัวมาใช้ให้เกิดประโยชน์

คุณหยวนสวี้เหวิน ผู้รับผิดชอบการจัดนิทรรศการนี้บอกว่า ตั้งแต่ปี ค.ศ. 2016 เป็นต้นมา แรงงานอินโดนีเซียได้รวมตัวกันจัดตั้งคณะนาฏศิลป์ “Singo Barong Taiwan” ขึ้นในไต้หวัน แสดงนาฏศิลป์ “Reog Ponorogo” ซึ่งเธอพบว่า ชุดนาฏศิลป์ที่แสดงละม้ายคล้ายคลึงกับชุดที่พิพิธภัณฑ์ได้เก็บสะสมไว้ และเมื่อนำออกมาให้ดู พวกเธอถึงกับร้องเสียงดังว่า “นั่นมันของที่มาจากบ้านเกิดของพวกเรานี่ เป็นวัฒนธรรมของพวกเรา” ซึ่งรัฐบาลอินโดนีเซียได้นำเอา Reog Ponorogo ยื่นขอเป็นมรดกภูมิปัญญาทางวัฒนธรรมต่อองค์การยูนิเซฟแล้ว

วัตถุชิ้นนี้ได้กลายเป็นสะพานเชื่อมระหว่างพิพิธภัณฑ์กับแรงงานที่มาจากอาเซียน ไม่เพียงแต่ทำให้สิ่งที่มาจากอาเซียนเกิดการเชื่อมโยงกับผู้ที่มาจากถิ่นเดียวกัน ขณะเดียวกันก็ได้เปิดเผย “ความลับ” เกี่ยวกับสถานะที่แท้จริงของ “กริช” และ “หุ่นเชิดไม้แกะสลัก” ที่มาจากอาเซียน ซึ่งวางในห้องเก็บของสะสมของพิพิธภัณฑ์มาเป็นเวลานาน
 

Pindy แรงงานอินโดนีเซีย ประดิษฐ์รูปปั้นแป้งจากโรงงานบาติก และนำมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย

Pindy แรงงานอินโดนีเซีย ประดิษฐ์รูปปั้นแป้งจากโรงงานบาติก และนำมาร่วมจัดแสดงในนิทรรศการครั้งนี้ด้วย
 

ด้วยความช่วยเหลือของแรงงานต่างชาติแต่กลายเป็น จุดไต้ตำตอ¨

คุณหยวนสวี้เหวิน สาธยายความเป็นมาของการเชื่อมร้อยเข้าด้วยกันระหว่างกลุ่มแรงงานต่างชาติกับของที่เก็บสะสมไว้ที่พิพิธภัณฑ์ ด้วยใบหน้ายิ้มแย้มดีใจว่า “จริง ๆ แล้ว มันก็อยู่แค่เอื้อม จุดไต้ตำตอโดยแท้เลยค่ะ”

พิพิธภัณฑ์ร่วมมือกับคณะผู้จัดนิทรรศการนำสิ่งของจากอาเซียนที่สะสมไว้มาปัดฝุ่น และจัดให้เป็นระเบียบ อีกส่วนหนึ่งก็คือให้บรรดาแรงงานต่างชาติช่วยกันพิสูจน์วัตถุเหล่านี้ไปพร้อม ๆ กับการทำความเข้าใจร่วมกับนักประวัติศาสตร์ท้องถิ่นที่เป็นเจ้าของวัฒนธรรมเหล่านี้

ต่อมา พิพิธภัณฑ์ก็ได้ประกาศ “รวบรวมผลงาน” จากผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ขอยืมวัตถุที่มาจากอาเซียนเพื่อนำมาจัดแสดงหรือเก็บสะสมไว้ ซึ่งรวมถึง “กริช” หุ่นเชิดไม้แกะสลัก ผ้าบาติก เครื่องถ้วยชาม เครื่องดนตรีพื้นเมือง gamelan ของอินโดนีเซีย ตลอดจนชุดประจำชาติของฟิลิปปินส์ เครื่องถ้วยชามของไทย และเครื่องโบราณของเวียดนาม รวมกว่า 70 ชิ้น ทำให้งานนิทรรศการประสบความสำเร็จในการเชื่อมต่อระหว่างยุคสมัยโบราณกับยุคปัจจุบันของพิพิธภัณฑ์ไต้หวัน โดยมีวัฒนธรรมเหล่านี้เป็นสื่อกลางของงานนี้

 

“กริช¨ ที่ระเหเร่ร่อนมาจากแดนไกล กระตุ้นความคิดถึงบ้านเกิด

สิ่งที่กระตุ้นให้พิพิธภัณฑ์ไต้หวันเชื่อมต่อกับสังคม “กริช” ก็คือ อาวุธโบราณที่ชนชาติมาเลย์สมัยโบราณในเกาะสุมาตราไปจนถึงทางภาคใต้ของฟิลิปปินส์นำมาใช้เป็นอาวุธประจำกาย ซึ่งในวัฒนธรรมดั้งเดิมของอินโดนีเซีย เป็นอาวุธที่นำมาใช้เพื่อต่อกรกับศัตรู แต่ปัจจุบันได้กลายเป็นของขวัญหรือเครื่องเซ่นที่เป็นสัญลักษณ์แสดงถึงฐานะของบุคคลนั้น ๆ หรือเป็นมรดกสืบทอดของวงศ์ตระกูล

Sri Handini ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวอินโดนีเซีย ได้กล่าวผ่านคลิปแนะนำนิทรรศการนี้ว่า “มีดกริชของอินโดนีเซีย ถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดีเช่นนี้ ทำให้นึกถึงประเพณีที่ผู้อาวุโสที่บ้านเกิดจะต้องมีกริชไว้ประจำกาย”

Herry Sapton นักสะสมของเก่าชาวอินโดนีเซีย ได้กล่าวผ่านช่องทางออนไลน์ข้ามประเทศว่า “ในอดีตผู้คนจะถือกริชไว้ในมือเพื่อสร้างความเชื่อมั่นและความฮึกเหิม แต่ในปัจจุบันเป็นเสมือนสิ่งของล้ำค่าประจำวงศ์ตระกูล”
 

Sri Handini ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวอินโดนีเซีย (ขวา) นำชุดเด็ก Reog Ponorogo จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ไต้หวัน (ภาพโดย หลินเก๋อลี่)

Sri Handini ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวอินโดนีเซีย (ขวา) นำชุดเด็ก Reog Ponorogo จัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ไต้หวัน (ภาพโดย หลินเก๋อลี่)
 

แรงงานและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ตื่นเต้น เมื่อเห็นหุ่นเชิดไม้จากบ้านเกิดอายุนับร้อยปี

เมื่อพิพิธภัณฑ์ไต้หวันนำเอา “กริช” มาเปรียบเทียบก็พบว่า หุ่นเชิดไม้ที่เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์ก็มีกริชประจำกาย และเมื่อสอบถามก็ทราบว่า หุ่นเชิดไม้เหล่านี้ คือ Wayang Klitik ที่มาจากเมือง Kediri ในอินโดนีเซีย

“นี่มันคือศิลปะการแสดงดั้งเดิมที่บ้านเกิดของผมนะ ผมโตมากับการชมการแสดงนี้ ผมตื่นเต้นมาก และขอบคุณไต้หวันที่เก็บรักษาวัฒนธรรมของอินโดนีเซียไว้” นั่นเป็นความรู้สึกลึก ๆ ของคุณ Budi ที่มาจากเมือง Kediri และยังทำให้เขานึกถึง Kondo Brodiyanto เพื่อนบ้านที่เป็นคนเชิดหุ่นเชิดเหล่านี้ด้วย

เมื่อคุณ Kondo ทราบข่าวว่า พิพิธภัณฑ์ไต้หวันได้เก็บสะสมหุ่นเชิดที่ทำจากไม้อายุนับร้อยปีของอินโดนีเซีย จึงรีบติดต่อผู้ใหญ่บ้านและคณะแสดงหุ่นเชิดในหมู่บ้าน เพื่อจัดการแสดงแบบไลฟ์สดบริเวณหน้าโรงพักในหมู่บ้าน โดยเจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์สามารถร่วมรับชมการแสดงหุ่นเชิดโบราณของอินโดนีเซียที่มีอายุนับร้อยปี ผ่านรูปแบบการถ่ายทอดสดบนช่องทางออนไลน์

 

นาฏศิลป์นกยูงรำแพนหน้าสิงห์→กริช→เชื่อมสู่การแสดงหุ่นเชิด

พิพิธภัณฑ์ไต้หวันยังพบอีกว่า มงกุฎบนหัวของหุ่นกระบอกมีรูปทรงคล้ายกับเครื่องประดับของนักแสดงนาฏศิลป์ท่านหนึ่ง ซึ่งหลังจากที่อาจารย์หุ่นเชิดได้ทำการเทียบเคียงกันแล้ว ก็พบว่ามงกุฎชิ้นนี้เป็นหนึ่งในบทบาทของตัวละครในการแสดงชุดนี้ ซึ่งก็คือรุ่นลูกของ Adhipati Klonosewandono (กษัตริย์) การร้อยเรียงเรื่องราวเข้าไว้ด้วยกัน ทั้งนักแสดง สิ่งของที่สะสมไว้ และเรื่องราวที่เล่าสืบต่อกันมา ทำให้เจ้าหน้าที่พิพิธภัณฑ์ ต่างรู้สึกตื่นเต้นไปตาม ๆ กัน

พิพิธภัณฑ์ไต้หวันระบุว่า การแสดง Reog Ponorogo ซึ่งเป็นการแสดงของชวาตะวันออก กับการแสดง Barong บนเกาะบาหลี อินโดนีเซีย ล้วนเป็นสัตว์เทพที่สำคัญในวัฒนธรรมตามความเชื่อของอินโดนีเซีย ดังนั้น พิพิธภัณฑ์ไต้หวันจึงได้ขอยืมชุดนาฏศิลป์ Reog Ponorogo ที่คุณ Sri Handini ใช้สำหรับการสอนเด็ก ๆ ในไต้หวัน และนำเอา Barong ที่สำนักงานเศรษฐกิจและการค้าอินโดนีเซียในไต้หวันบริจาคให้พิพิธภัณฑ์เมื่อปี ค.ศ. 2019 มาจัดแสดงด้วย (ปัจจุบันเก็บรักษาไว้ที่พิพิธภัณฑ์) ความจริงแล้ว Reog (เรโอก) มีน้ำหนัก 60-70 กก. เป็นหน้ากากที่ใหญ่ที่สุดในโลกชิ้นหนึ่ง โดยผู้แสดงต้องใช้ฟันกัดเพื่อพยุงหน้ากากเอาไว้

คุณ Sri Handini บอกอีกว่า “การแสดง Reog Ponorogo พบเห็นได้ทั่วไปที่บ้านเกิดของเธอ แต่พอมาถึงไต้หวัน กลับรู้สึกว่ามีคุณค่ามากขึ้น” เธอบอกว่า ชุดแสดงที่นำมาจากบ้านเกิดมาจัดแสดงที่พิพิธภัณฑ์ให้ผู้คนได้ชม ได้เข้าใจ ทำให้มีความหมายที่แตกต่างกันเป็นอย่างมาก”
 

มาริโอ แฟชั่นดีไซเนอร์และนักวาดทรายชาวฟิลิปปินส์ ออกแบบชุดสูทประจำชาติฟิลิปปินส์ โดยผสมผสานกับสิ่งของสะสมจากอาเซียนอายุนับร้อยปีที่นำมาจัดแสดง

มาริโอ แฟชั่นดีไซเนอร์และนักวาดทรายชาวฟิลิปปินส์ ออกแบบชุดสูทประจำชาติฟิลิปปินส์ โดยผสมผสานกับสิ่งของสะสมจากอาเซียนอายุนับร้อยปีที่นำมาจัดแสดง
 

ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ชาวฟิลิปปินส์ พบชุดประจำชาติที่ต่างแดน

ในงานนิทรรศการ ยังสามารถพบเห็นชุดประจำชาติของฟิลิปปินส์ (Barong Tagalog) ที่ถักทอมาจากเส้นใยของสับปะรด และมีการปักลวดลามสวยงาม ซึ่งมีอายุเก่าแก่นานนับร้อยปี โดยชุดของสุภาพบุรุษเป็นเสื้อเชิ้ตแบบไม่มีกระเป๋า ส่วนชุดของสุภาพสตรีจะเป็นกระโปรงยาวคอกลมหรือคอเหลี่ยมแขนสั้น แขนเสื้อยกสูง เสมือนผีเสื้อกำลังสยายปีก จึงเรียกชุดนี้ว่า “ชุดผีเสื้อ” ซึ่งอดีตประธานาธิบดีเฟอร์ดินาน มาร์กอส ได้มีคำสั่งให้ใช้เป็นชุดประจำชาติของฟิลิปปินส์เมื่อปี ค.ศ. 1975

มาริโอ สุเบลเดีย (Mario Subeldia) นักวาดทรายและเป็นแฟชั่นดีไซเนอร์ชาวฟิลิปปินส์ ยังได้ออกแบบชุดสูทยุคใหม่ของฟิลิปปินส์อีก 3 ชุด ประสานกลมกลืนเป็นอันหนึ่งอันเดียวกัน

มาริโอเล่าให้ฟังว่า ตอนที่เห็นชุดประจำชาติรู้สึกตกใจมาก เนื้อผ้ายังถูกเก็บรักษาไว้เป็นอย่างดี รู้สึกเหมือนกับย้อนยุคสู่อดีต ปัจจุบันเส้นใยสับปะรดราคาแพงมากและหายากด้วย เพราะฉะนั้น ผลงานของเขาจึงใช้เส้นใยเทียมมาแทนที่ ส่วนแบบก็ยังคงมีการปักลายดอกเช่นเดียวกับชุดประจำชาติ เขาบอกว่า เมื่อผู้ชมงานชื่นชมความงดงามของชุดประจำชาติ ชื่นชมผลงานของเขา เขารู้สึกภูมิใจในความเป็นชาวฟิลิปปินส์ของตัวเอง

 

แรงงานและผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ดีใจและเบิกบาน เมื่อพบสิ่งของสะสมจากบ้านเกิด

หยวนสวี้เหวินบอกอีกว่า การศึกษาค้นคว้าวัตถุจากอาเซียนเป็นส่วนหนึ่งของการศึกษาของพิพิธภัณฑ์ทั่วโลกในช่วงหลายปีที่ผ่านมา นิทรรศการนี้ “ก็คือการร่วมกับแรงงานจากอาเซียนค้นหาสถานะที่แท้จริงของสิ่งที่เก็บสะสมไว้ในพิพิธภัณฑ์เพื่อนำออกมาจัดแสดง”

ผศ. หลินเหวินหลิง จากคณะพิพิธภัณฑ์ศึกษา บัณฑิตวิทยาลัย หมาวิทยาลัยฝู่เหริน (Fu Jen Catholic University) เล่าให้ฟังว่า ในการประชุมพิพิธภัณฑ์นานาชาติที่จัดขึ้นที่กรุงปรากในปี ค.ศ. 2022 มีมติร่วมกันเกี่ยวกับความหมายใหม่ของพิพิธภัณฑ์ ได้แก่ “ใช้สิ่งที่อยู่ใกล้ ความเอื้ออาทร ความหลากหลาย และการมีส่วนร่วมของกลุ่มชน” เธอเห็นว่า การเข้าร่วมอย่างกระตือรือร้นของกลุ่มแรงงานต่างชาติเป็นการอัดฉีดความรู้สึกและความหมายใหม่ที่สมบูรณ์มากยิ่งขึ้นให้แก่สิ่งที่นำมาจัดแสดง และควรที่จะเป็นการเชื่อมต่อความรู้สึกร่วมและความเชื่อมั่นในระยะยาวระหว่างพิพิธภัณฑ์กับแรงงานต่างชาติ ในขณะเดียวกัน ทางพิพิธภัณฑ์ได้เชิญกลุ่มแรงงานจากอาเซียนเข้าร่วมด้วย โดยให้โอกาสพวกเขาได้บรรยายเรื่องราวของวัตถุของสะสมผ่านแง่มุมทางวัฒนธรรมในถิ่นบ้านเกิดของตน การเคารพต่อวัฒนธรรมของกลุ่มชนเช่นนี้ ควรค่าแก่การชื่นชมเป็นอย่างยิ่ง

 

เพิ่มเติม

วันเวลาที่ผันผ่าน กับการพบพานแห่งศตวรรษ เชื่อมสายสัมพันธ์ล้ำค่ากับลูกหลานจากบ้านเกิด