ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ภาษาแห่งความรัก ภาษาแห่งความรัก
แหล่งที่มาของข้อมูล Taiwan Panorama
2023-07-24

อาจารย์เย่-อวี้จิง จากคณะ การศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัย แห่งชาติเจียอี้ เชื่อว่าครอบครัว เป็นรากฐานแห่งการเรียนภาษาแม่ ครอบครัวที่ใส่ใจและให้ความสำคัญ ในการอบรมเลี้ยงดูลูก จะมีอิทธิพลต่อ ชีวิตและอนาคตของเด็กในระยะยาว

อาจารย์เย่-อวี้จิง จากคณะ การศึกษาปฐมวัย มหาวิทยาลัย แห่งชาติเจียอี้ เชื่อว่าครอบครัว เป็นรากฐานแห่งการเรียนภาษาแม่ ครอบครัวที่ใส่ใจและให้ความสำคัญ ในการอบรมเลี้ยงดูลูก จะมีอิทธิพลต่อ ชีวิตและอนาคตของเด็กในระยะยาว
 

เด็กไต้หวันมีทรัพยากรในการเรียนภาษามากมาย กระทรวงศึกษาธิการไม่เพียงบรรจุภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นวิชาเลือกในหลักสูตรระดับประถมศึกษาเท่านั้น ยังใช้เวลากว่า 5 ปี ผลิต“ สื่อการเรียนการสอนภาษาแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” จำนวน 3 ชุด มีทั้งหมด 30 เล่ม เพื่อช่วยปูพื้นฐานภาษาแม่ให้แก่ลูกหลานผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ให้เด็กได้เรียนรู้และเติบโตท่ามกลางความรักที่เปิดกว้าง

 

ในไต้หวัน นักเรียนชั้นประถมศึกษาทุกคนล้วนสามารถเลือกเรียนวิชาภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่มีอยู่ด้วยกัน 7 ภาษา ได้แก่ ภาษาเวียดนาม อินโดนีเซีย ไทย เมียนมา กัมพูชา มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ แต่สื่อการเรียนภาษาสำหรับเด็กปฐมวัยกลับหาได้ยากมาก

“ในตอนนั้น ฉันนำสื่อการสอนจากเวียดนามมาเอง” อาจารย์หร่วนเหลียนเซียง (阮蓮香) ครูสอนภาษาเวียดนามชื่อดังจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติไต้หวันกล่าว เธอเป็นคุณแม่ลูกสาม มาอยู่ไต้หวันได้ 22 ปีแล้ว ด้วยความต้องการสอนภาษาเวียดนามให้ลูก ๆ แต่เธอพบว่าไต้หวันไม่มีหนังสือเรียนภาษาเวียดนามสำหรับเด็กเล็ก ทำให้อาจารย์หร่วนเหลียนเซียงต้องคิดหาวิธีสอนด้วยตนเอง

 

สื่อการเรียนการสอนภาษาแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ 7 ภาษาครบชุด

จากสถานการณ์ขาดแคลนสื่อการเรียนการสอนภาษาแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับเด็กเล็ก กระทรวงศึกษาธิการจึงได้มอบหมายให้มหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียอี้ผลิต “สื่อการเรียนการสอนภาษาแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” จำนวน 3 ชุด รวม 30 เล่ม ครอบคลุมภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทั้ง 7 ภาษา ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์ มาเลเซีย เมียนมา กัมพูชา และไทย เพื่อเป็นทางเลือกใหม่ให้คุณแม่ทั้งหลายสามารถนำไปสอนลูก ๆ

“ที่ผ่านมา ถึงแม้ภาครัฐจะมีสื่อการเรียนการสอนเกี่ยวกับพหุวัฒนธรรม แต่หนังสือเหล่านั้นดูเหมือนตำราเรียนเสียมากกว่า” ศาสตราจารย์เย่อวี้จิง (葉郁菁) อาจารย์คณะการศึกษาปฐมวัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียอี้กล่าวขึ้น ในฐานะตำแหน่งหัวหน้าโครงการนี้ เธอได้จัดตั้งกองบรรณาธิการที่ประกอบไปด้วยบุคคลที่มีความรู้ความสามารถ เพื่อร่วมกันผลิตสื่อการเรียนการสอนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่สำหรับเด็กอายุ 0-8 ขวบ ในรูปแบบสองภาษา มีทั้งหนังสือแบบรูปเล่มที่จัดพิมพ์ด้วยกระดาษ และหนังสืออิเล็กทรอนิกส์ ซึ่งรวมถึงหนังสืออิเล็กทรอนิกส์แบบมีเสียงอ่านและเกมคำศัพท์ออนไลน์ไว้ด้วย นำเสนอเนื้อหาสาระครบถ้วนสมบูรณ์
 

“หนังสือเรียนภาษาแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” ได้ออกแบบเหมือนหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กทั่วไป โดยนิทานแต่ละเรื่องทำให้เด็ก ๆ รู้สึกหลงใหลเป็นอย่างมาก

“หนังสือเรียนภาษาแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่” ได้ออกแบบเหมือนหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็กทั่วไป โดยนิทานแต่ละเรื่องทำให้เด็ก ๆ รู้สึกหลงใหลเป็นอย่างมาก
 

เป็นทั้งแบบเรียนภาษาและหนังสือนิทานภาพสำหรับเด็ก

อาจารย์เย่-อวี้จิงมองว่า หนังสือเรียนภาษาแม่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ควรเป็นหนังสือนิทานภาพที่สามารถอ่านร่วมกันระหว่างสมาชิกในครอบครัว ซึ่ง “ภาษาแม่ ก็คือภาษาที่พูดได้เองตามธรรมชาติจากที่บ้าน” มันจึงไม่เหมือนกับแบบเรียนทั่วไป แต่คือสื่อการเรียนรู้ที่ดึงดูดความสนใจด้วยภาพประกอบน่ารัก และเนื้อเรื่องที่เต็มไปด้วยความมีชีวิตชีวา “คุณแม่ สามารถอ่านหนังสือร่วมกับลูกๆ แบ่งปันความสุขจากการอ่านร่วมกัน ให้เกิดเป็นบทสนทนาในชีวิตประจำวันที่ใช้พูดคุยกับลูก”

เพื่อผลิตสื่อการเรียนการสอนชุดนี้ให้ออกมาดีที่สุด อาจารย์เย่อวี้จิงจึงเชิญเหอ-เสียงหรู (何祥如) อาจารย์คณะการศึกษาปฐมวัยจากมหาวิทยาลัยแห่งชาติเจียอี้ และเสิ่นเหมยอี๋
(沈玫宜) อาจารย์คณะการศึกษาปฐมวัยจากมหาวิทยาลัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีภาคใต้ไต้หวัน (Southern Taiwan University of Science and Technology) มาร่วมเป็นบรรณาธิการ โดยมีนักวิชาการด้านการศึกษาปฐมวัยเป็นผู้เขียนเนื้อหา และเชิญผู้เชี่ยวชาญภาษาแม่ของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ทั้ง 7 ประเทศ ซึ่งได้รับการแนะนำจากสำนักงานตรวจคนเข้าเมืองและสถานีวิทยุ Radio Taiwan International (Rti) มาร่วมเป็นคณะกรรมการที่ปรึกษา เพื่อช่วยตรวจสอบความถูกต้องของเนื้อหา ในส่วนของภาพประกอบได้รับการสร้างสรรค์โดยหลินป๋อถิง (林柏廷) และโจวหมิงกุ้ย (鄒明貴) สองศิลปินนักวาดภาพประกอบ ที่ช่วยออกแบบกระต่ายน้อยน่ารัก สิงโตและภาพสัตว์ต่าง ๆ ให้เป็นที่ชื่นชอบของเด็ก ๆ

 

เนื้อหาจากง่ายสู่ยาก ทำให้การเรียนรู้เป็นเรื่องสนุก

สื่อการเรียนการสอนภาษาแม่จะเรียงตามลำดับจากเรื่องง่ายไปสู่ยาก โดยอ้างอิงจากทฤษฎีพัฒนาการทางภาษาของเด็กปฐมวัย โดยสื่อการเรียนการสอนชุดแรกจะมุ่งเน้นไปในด้านการสนทนาในชีวิตประจำวัน เช่น คำศัพท์เกี่ยวกับอวัยวะต่าง ๆ ของร่างกาย ตัวเลข ชีวิตในครอบครัว การมีปฏิสัมพันธ์กับสิ่งแวดล้อม วิธีการทักทายผู้ใหญ่ อาหารเช้าที่บ้าน คุณแม่ทอดไข่อยู่ในห้องครัว ไปเล่นที่สวนสาธารณะ เป็นต้น

ชุดที่ 2 ได้เพิ่มความยาวของประโยค ใช้โครงสร้างประโยคที่ซับซ้อนขึ้นและเพิ่มคำเลียนเสียงเพื่อช่วยพัฒนาทักษะทางภาษาของเด็ก ชุดที่ 3 เหมาะสำหรับเด็กอายุตั้งแต่ 5 ขวบ ไปจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 ซึ่งนอกจากจะเพิ่มคำศัพท์ที่ยากขึ้นแล้ว ยังเพิ่มบริบททางวัฒนธรรมและการตระหนักรู้ถึงความหลากหลายทางวัฒนธรรมไว้ด้วย ตัวอย่างเช่น การเล่าถึงขนมชั้นใบเตยของประเทศอินโดนีเซีย การละเล่นพื้นบ้านในอุษาคเนย์ เป็นต้น

สื่อการเรียนการสอนผลิตขึ้นผ่านกระบวนการคิดเชิงสร้างสรรค์ โดยออกแบบให้มีเกมสนุก ๆ เพื่อให้สมาชิกในครอบครัวเกิดปฏิสัมพันธ์ร่วมกัน อาทิ เกมสวมบทบาทสมมติ ผู้ปกครองสามารถเล่นบทบาทสมมติกับลูก ๆ เช่น เล่นเป็นกระต่าย ไก่ นกน้อย หรือผีเสื้อ เป็นต้น ส่วนบางเกมอาจจะต้องประยุกต์ใช้ของใช้ในชีวิตประจำวัน เช่น ตะกร้าซักผ้า ผ้าเช็ดตัว เป็นอุปกรณ์เพื่อเล่นเกมร่วมกับเด็ก ๆ
 

ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของสังคมไต้หวัน ภาพนี้คือภาพจากตลาดนัดผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่จัดขึ้นโดยสมาคมพัฒนาสิทธิสตรี เมืองผิงตง โดยกลุ่มแม่บ้านกำลังจัดแสดงการเต้นรำพื้นบ้านที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน

ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่เป็นหนึ่งในสมาชิกคนสำคัญของสังคมไต้หวัน ภาพนี้คือภาพจากตลาดนัดผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ที่จัดขึ้นโดยสมาคมพัฒนาสิทธิสตรี เมืองผิงตง โดยกลุ่มแม่บ้านกำลังจัดแสดงการเต้นรำพื้นบ้านที่สะท้อนให้เห็นถึงวัฒนธรรมดั้งเดิมในถิ่นฐานบ้านเกิดของตน
 

แก้ไขและปรับปรุงอย่างต่อเนื่อง

เย่อวี้จิงกล่าวอย่างตรงไปตรงมาว่า กระบวนการทำสื่อการเรียนการสอนครบชุดที่มีทั้งหมด 30 เล่ม และมีถึง 7 ภาษา เป็นงานที่ยากมาก ทั้งนี้ ภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้เป็นภาษาที่ใช้การสะกดคำ สำหรับครูชาวไต้หวันแล้ว มันเป็นเหมือนหนังสือที่เขียนด้วยภาษาโลกต่างดาว ซึ่งยากเกินกว่าจะทำความเข้าใจ การจัดวางตำแหน่งตัวอักษรที่เป็นไปตามมาตรฐานปกติในสายตาของคุณครูเหล่านี้ กลับเป็นสิ่งที่ทำให้เจ้าของภาษาต้องหัวเสียกันเลยทีเดียว ไหนจะเสียงวรรณยุกต์ เครื่องหมายวรรคตอนที่มักจะอยู่ผิดที่ผิดทาง ทำให้ต้องมีการปรับแก้อยู่เป็นประจำ

อาจารย์หร่วนเหลียนเซียง เป็นกองบรรณาธิการฝ่ายภาษาเวียดนาม ที่รับผิดชอบตรวจสอบความถูกต้องและบันทึกเสียงภาษาเวียดนาม เล่าถึงการประชุมที่ไม่มีที่สิ้นสุดในกระบวนการผลิตหนังสือ “แค่การอัดเสียงก็แก้ไขไปหลายรอบแล้ว มันเป็นงานที่ยากมาก” เนื่องจากภาษาของแต่ละประเทศมีโครงสร้างไวยากรณ์และวัฒนธรรมที่แตกต่างกันอย่างมาก ตั้งแต่ต้นฉบับ การแปล ภาพประกอบเรื่องไปจนถึงการอัดเสียง ต้องมีการปรับปรุงแก้ไขอย่างต่อเนื่อง และต้องเชิญเจ้าของภาษามาช่วยตรวจทานความถูกต้อง ยกตัวอย่างเช่น คำว่า “คุณครู” ในภาษาจีนเป็นคำกลาง ๆ ไม่แสดงเพศ แต่ในภาษาเวียดนามจะแบ่งคำนำหน้าชื่อตามเพศของบุคคล นอกจากนี้ ในภาษาเวียดนามให้ความสำคัญด้านมารยาทที่มีต่อผู้อาวุโสเป็นอย่างมาก จึงไม่มีคำสรรพนามที่ใช้แทน “ฉัน เธอ เขา” โดยตรง คำว่า “ฉัน” ในภาษาจีน จะถูกแทนที่ด้วยคำว่า “หนู” ในภาษาเวียดนาม และไม่สามารถใช้คำว่า “เขา” เรียกแทน “พ่อ” หรือ “ครู” โดยตรง เพราะจะเป็นการใช้คำที่ไม่สุภาพ รายละเอียดปลีกย่อยทางภาษาและวัฒนธรรมเหล่านี้ เป็นสิ่งที่ต้องให้ความใส่ใจอย่างรอบคอบ

 

การเปลี่ยนแปลงเล็ก ๆ เชื่อมสัมพันธ์ไต้หวัน-เอเชียตะวันออกเฉียงใต้

การอาศัยอยู่ในต่างแดน หากมีหนังสือสักชุดที่เขียนด้วยภาษาถิ่นกำเนิดของตน สำหรับคุณแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่แล้ว มันคือสิ่งที่มีความหมายอย่างยิ่ง ด้วยเหตุนี้ คุณแม่จำนวนมากจึงได้เข้าร่วมกิจกรรมแลกเปลี่ยนประสบการณ์ในกลุ่มผู้ปกครอง ที่มีขึ้นเพื่อส่งเสริมสื่อการเรียนการสอนภาษาแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ หลี่-หย่งเอิน (李詠恩) ครูอนุบาลจากโรงเรียนประถมศึกษาตงอัน เขตผิงเจิ้ง ในนครเถาหยวน ผู้รับผิดชอบจัดกิจกรรมการแลกเปลี่ยนในกลุ่มผู้ปกครองของนครเถาหยวนเล่าให้ฟังว่า จะเห็นคุณพ่อขับรถจักรยานยนต์พาคุณแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่และลูกมาเข้าร่วมกิจกรรม ส่วนคุณแม่บางคน หลังจากที่ได้รับหนังสือนิทานภาพ ก็อดใจรอไม่ไหวที่อยากจะเปิดอ่านร่วมกับลูก ๆ ทันที “พวกแม่ ๆ กระตือรือร้นกันมาก ในตอนนั้นหนังสือนิทานภาพภาษาอินโดนีเซียถูกขอไปจนหมดเลยล่ะ” ครูหลี่หย่งเอินกล่าวหลังนึกย้อนถึงความทรงจำเหล่านั้น

มีคุณแม่ท่านหนึ่งบอกกับอาจารย์เย่อวี้จิงว่า หลังจากที่นำหนังสือนิทานภาพกลับบ้าน ลูกของเธอก็ออดอ้อนให้เธอเล่านิทานให้ฟังเป็นประจำ แม่และลูกที่หลบไปอ่านหนังสือนิทานภาพชั้นบน ได้สร้างความอยากรู้อยากเห็นให้กับคุณพ่อจนอดไม่ได้ที่ต้องมาร่วมแจม และช่วงเวลานั้นก็ได้กลายเป็น “ชั่วโมงแห่งโลกนิทาน” อันมีค่าที่คนในครอบครัวได้ใช้ร่วมกัน นอกจากนี้ ยังมีเรื่องราวของเด็ก ๆ ใช้ภาษาเวียดนามคุยวิดีโอคอลทักทายคุณตาคุณยายที่อยู่ทางเวียดนาม จนทำให้คุณตาคุณยายประหลาดใจและรู้สึกปลาบปลื้มยินดีกันถ้วนหน้า ทางด้านพ่อแม่สามีที่เป็นชาวไต้หวัน ก็สนับสนุนให้ลูกสะใภ้สอนหลาน ๆ ของตนพูดภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ ที่เชื่อว่าจะเป็นเครื่องมือช่วยเพิ่มช่องทางการทำมาหากินในอนาคต สิ่งเหล่านี้ต่างสะท้อนให้เห็นถึง การโอบรับวัฒนธรรมทางภาษาที่หลากหลายในสังคมไต้หวัน
 

หนังสือนิทานภาพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ 7 ภาษา สอดแทรกวัฒนธรรมและประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เป็นดั่งวรรณกรรมสำหรับเด็ก และยังเป็นสื่อการเรียนการสอนภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน

หนังสือนิทานภาพผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ 7 ภาษา สอดแทรกวัฒนธรรมและประสบการณ์ชีวิตจริงของผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ เป็นดั่งวรรณกรรมสำหรับเด็ก และยังเป็นสื่อการเรียนการสอนภาษาที่ใช้ในชีวิตประจำวัน
 

เปิดหน้าต่างสู่สากล ขยายโลกทัศน์ของเด็กให้กว้างขึ้น

“ภาษาแม่มีจุดกำเนิดมาจากครอบครัว และสิ่งนี้ก็มีบทบาทสำคัญต่อการส่งเสริมพัฒนาการทางภาษาของเด็ก” จากงานวิจัยตลอดระยะเวลา 6 ปี อาจารย์เย่อวี้จิงพบว่า คุณแม่ผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่จำนวนมาก มีปัญหาเรื่องคลังคำศัพท์ภาษาจีนที่น้อยเกินไปสำหรับใช้พูดคุยกับเด็ก “พวกเธอต้องใช้ภาษาที่ไม่คุ้นเคยในการพูดคุยกับลูก ๆ ส่วนใหญ่มักใช้ประโยคคำสั่ง ประโยคสั้น ๆ และมีการใช้คำศัพท์ที่ค่อนข้างจำกัด ส่งผลให้คะแนนการสอบวัดระดับภาษาจีนกลางของเด็กนักเรียนชั้นประถมศึกษาปีที่ 2 มักไม่ค่อยเป็นที่น่าพึงพอใจ” อย่างไรก็ดี อาจารย์เย่อวี้จิงพบว่า การที่คุณแม่พูดกับลูกบ่อย ๆ ไม่เพียงช่วยกระตุ้นพัฒนาการทางภาษาของเด็ก “แต่ยังส่งผลดีต่อพัฒนาการในด้านอื่น ๆ ของพวกเขาด้วย”

เธอจึงหวังว่าเป็นอย่างยิ่งว่า คุณแม่จะใช้เวลาทำกิจกรรมร่วมกันกับลูกและพูดคุยกับพวกเขาให้มากขึ้น เพื่อเพิ่มคำศัพท์ให้พวกเขา “การใช้เวลา 5 นาทีต่อวัน อ่านหนังสือร่วมกับลูก จะส่งผลดีต่อพัฒนาการของพวกเขาในระยะยาว”

อาจารย์หร่วนเหลียนเซียงแนะนำให้พ่อแม่เริ่มอ่านหนังสือร่วมกับลูกตั้งแต่เนิ่น ๆ เธอกล่าวว่า “งานวิจัยหลายชิ้นพบว่า เด็กทารกเริ่มเรียนรู้ภาษาตั้งแต่อยู่ในครรภ์มารดา ดังนั้นเราอาจจะลองอ่านหนังสือนิทานภาพชุดนี้ ให้ลูกฟังตั้งแต่อยู่ในท้องก็ไม่เลวนะ” นอกจากนี้เธอยังแนะนำว่า เมื่อลูก ๆ ฝึกพูดภาษาของคุณแม่ คุณแม่เองก็ต้องให้กำลังใจและชื่นชมพวกเขาให้มาก ๆ เพราะจะช่วยสร้างความมั่นใจ ช่วยให้พวกเขาสนุกกับการเรียนรู้และชื่นชอบภาษานั้นได้อย่างแท้จริง

รัฐบาลไต้หวันส่งเสริมการเรียนภาษาผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่อย่างต่อเนื่อง เผยให้เห็นว่าสังคมไต้หวันมีความเชื่อมั่นและโอบรับความหลากหลายทางวัฒนธรรม ในอนาคตอันใกล้นี้ ภาษาเอเชียตะวันออกเฉียงใต้จะมิใช่เพียงภาษาแม่ของ “ครอบครัวและลูกหลานผู้ตั้งถิ่นฐานใหม่ในไต้หวัน” เท่านั้น แต่ยังเป็นตัวเลือกภาษาที่สองของเด็กไต้หวันนอกจากภาษาอังกฤษ ที่จะช่วยเปิดหน้าต่างสู่โลกกว้างให้พวกเขาได้เห็นโลกทัศน์ใหม่ ๆ เรียนรู้การเคารพและการอยู่ร่วมกันในสังคม ที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรม ก้าวสู่การสร้างสังคมที่ให้เกียรติและยอมรับความแตกต่างอย่างแท้จริง

 

เพิ่มเติม

ภาษาแห่งความรัก ภาษาแห่งความรัก