ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน – ไทยร่วมจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเพื่อการยอมรับความเท่าเทียมของสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน
2023-09-23
New Southbound Policy。ไต้หวัน – ไทยร่วมจัดการประชุมแลกเพื่อการยอมรับความเท่าเทียมของสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน (กรมกิจการระหว่างประเทศ ภายใต้กระทรวงการเกษตรไต้หวัน)
ไต้หวัน – ไทยร่วมจัดการประชุมแลกเพื่อการยอมรับความเท่าเทียมของสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน (กรมกิจการระหว่างประเทศ ภายใต้กระทรวงการเกษตรไต้หวัน)

สำนักข่าว CNA วันที่ 22 ก.ย. 66
 
ทบวงเกษตรและอาหารไต้หวัน ชี้ว่า ปัจจุบัน ไต้หวันได้มีการลงนามใน “ความตกลงว่าด้วยการยอมรับความเท่าเทียมของสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน” กับ 7 ประเทศ และเมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงการเกษตร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ได้ร่วมจัดการประชุมแลกเปลี่ยนเกี่ยวกับกฎระเบียบด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์ ระหว่างไต้หวัน - ไทย ขึ้น ณ กรุงไทเป เพื่อผลักดันไปสู่การลงนามความตกลงว่าด้วยการยอมรับความเท่าเทียมของสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างไต้หวัน - ไทย โดยหวังว่าจะช่วยกระตุ้นให้เกิดโอกาสทางธุรกิจระหว่างทั้งสองฝ่ายในภายภาคหน้าต่อไป
 
ทบวงเกษตรและอาหารไต้หวันชี้ว่า ขณะนี้ไต้หวันได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการยอมรับความเท่าเทียมของสินค้าเกษตรอินทรีย์กับ 7 ประเทศ ได้แก่ ออสเตรเลีย แคนาดา ญี่ปุ่น นิวซีแลนด์ สหรัฐฯ ปารากวัยและอินเดีย ซึ่งในจำนวนนี้ ไต้หวัน – อินเดียยังอยู่ระหว่างการร่วมกำหนดกฎระเบียบปลีกย่อย โดยหลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเปิดการอภิปรายและมีการกำหนดข้อระเบียบปลีกย่อยแล้วเสร็จ จึงจะประกาศบังคับใช้อย่างเป็นทางการ
 
โดยในแถลงข่าวของกรมกิจการระหว่างประเทศ ภายใต้กระทรวงการเกษตรไต้หวัน ชี้ว่า เมื่อวันที่ 21 ก.ย. ที่ผ่านมา กระทรวงเกษตรไต้หวัน - กระทรวงเกษตรและสหกรณ์ของไทย ได้ร่วมจัดการประชุมแลกเปลี่ยนด้านกฎระเบียบด้านสินค้าเกษตรอินทรีย์ ระหว่างไต้หวัน - ไทย ขึ้น ณ กรุงไทเป โดยมีผู้เข้าร่วมทั้งการประชุมสถานที่จริงและการประชุมรูปแบบออนไลน์ รวมจำนวน 150 คน ซึ่งประกอบด้วย ตัวแทนเจ้าหน้าที่ภาครัฐ ภาคอุตสาหกรรมและภาควิชาการของทั้งสองฝ่าย โดยมีการอภิปรายในประเด็นสถานการณ์การพัฒนาอุตสาหกรรมการเกษตรอินทรีย์แบบทวิภาคี การรับรองมาตรฐานสินค้าเกษตรอินทรีย์ และระบบมาตรฐานการรับรองเกษตรอินทรีย์ รวมไปถึงกฎระเบียบที่เกี่ยวข้องกับการวางจำหน่ายสินค้าเกษตรอินทรีย์ในท้องตลาด เป็นต้น
 
นายหลินเจียหรง อธิบดีกรมกิจการระหว่างประเทศ แถลงต่อผู้สื่อข่าวของ CNA ว่า การสัมมนาในครั้งนี้ มีเป้าหมายในการส่งเสริมให้ทั้งสองฝ่ายสามารถร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการยอมรับความเท่าเทียมของสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างกัน เพื่อขยายโอกาสธุรกิจและการค้าสินค้าเกษตรอินทรีย์ระหว่างทั้งสองฝ่ายในภายหน้า
 
ทั้งนี้ หากประสบความสำเร็จในการลงนามความตกลงดังกล่าว ประเทศไทยจะกลายเป็นประเทศที่ 8 ที่ได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการยอมรับความเท่าเทียมของสินค้าเกษตรอินทรีย์กับไต้หวัน โดยในระหว่างการประชุมครั้งนี้ เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายยังได้เปิดการเจรจาเสริมสร้างความร่วมมือเชิงลึก ในด้านการค้า การลงทุนและเทคโนโลยีการเกษตร ผ่านการจัดตั้งแพลตฟอร์มการประชุมความร่วมมือทางการเกษตรระหว่างไต้หวัน – ไทย ภายใต้ “ความตกลงทางความร่วมมือของอุตสาหกรรมการเกษตรและการประมง” ระหว่างไต้หวัน - ไทย ที่ได้มีการลงนามไปเมื่อปี 2003 เพื่อส่งเสริมการสต้างความสัมพันธ์ทางการเกษตรแบบทวิภาคีให้เป็นไปในเชิงลึกยิ่งขึ้นต่อไป