ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รองปธน.ไล่ฯ ร่วมการประชุมโต๊ะกลมด้านอนาคตของภูมิภาคเอเชีย ที่จัดขึ้นในระหว่าง “การประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 7 ประจำปี 2023: นวัตกรรมแห่งเอเชียและการเสวนาเพื่อความก้าวหน้า” พร้อมชี้แจงผลสัมฤทธิ์ของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่รัฐบาลผลักดันมานานกว่า 7 ปี
2023-10-13
New Southbound Policy。รองปธน.ไล่ฯ ร่วมการประชุมโต๊ะกลมด้านอนาคตของภูมิภาคเอเชีย ที่จัดขึ้นในระหว่าง “การประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 7 ประจำปี 2023: นวัตกรรมแห่งเอเชียและการเสวนาเพื่อความก้าวหน้า” พร้อมชี้แจงผลสัมฤทธิ์ของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่รัฐบาลผลักดันมานานกว่า 7 ปี (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
รองปธน.ไล่ฯ ร่วมการประชุมโต๊ะกลมด้านอนาคตของภูมิภาคเอเชีย ที่จัดขึ้นในระหว่าง “การประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 7 ประจำปี 2023: นวัตกรรมแห่งเอเชียและการเสวนาเพื่อความก้าวหน้า” พร้อมชี้แจงผลสัมฤทธิ์ของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ที่รัฐบาลผลักดันมานานกว่า 7 ปี (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดีและกระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 12 ต.ค. 66
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 12 ต.ค. ที่ผ่านมา นายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมการประชุมโต๊ะกลมด้านอนาคตของภูมิภาคเอเชีย ที่จัดขึ้นในระหว่าง “การประชุม Yushan Forum ครั้งที่ 7 ประจำปี 2023: นวัตกรรมแห่งเอเชียและการเสวนาเพื่อความก้าวหน้า” โดยรองปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ไต้หวันมักเรียกขานตนเองว่าเป็น “พลังแห่งความดีงาม” โดยเฉพาะหลายปีมานี้ ภายใต้การนำของประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) พวกเรายึดมั่นในจิตวิญญาณที่ว่า “ไต้หวันช่วยเหลือเอเชีย เอเชียช่วยเหลือไต้หวัน” ในการผลักดัน “นโยบายมุ่งใต้ใหม่” เพื่อกระตุ้นให้เกิดเป็นวัฏจักรแห่งความดีงาม ระหว่างไต้หวันและประเทศโดยรอบ
 
รองปธน.ไล่ฯ กล่าวว่า ในอนาคต นอกจากนโยบายมุ่งใต้ใหม่จะมีการจัดตั้งแผนแม่บทการพัฒนาเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในภูมิภาคแล้ว ยังยึดถือหลักการ “ให้มนุษย์เป็นศูนย์กลาง” มุ่งบรรลุวิสัยทัศน์ในการพัฒนาระบบเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยนวัตกรรม รวมถึงแผนการปฏิรูปสังคมด้วยการยึดมั่นเป้าหมายความยุติธรรมอย่างยั่งยืน และกลยุทธ์การทูตที่ยึดมั่นในหลักประชาธิปไตยและสันติภาพเป็นเข็มทิศนำทาง โดยหวังเป็นอย่างยิ่งที่จะร่วมทุกข์ร่วมสุขกับประชาคมโลก ควบคู่ไปกับการสร้างความร่วมมืออย่างสามัคคี เพื่อร่วมสร้างคุณประโยชน์ในการส่งเสริมภาพลักษณ์เอเชียในอนาคต ที่เปี่ยมด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน และเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป
 
คำปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษของรองปธน.ไล่ฯ มีสาระสำคัญดังนี้ :
หัวข้อการประชุม Yushan Forum ในครั้งนี้จัดขึ้นภายใต้หัวข้อ “แผนแม่บทใหม่ในการพัฒนาภูมิภาคเอเชีย” (Start a New Blueprint for Asian Development) มุ่งเน้นการอภิปรายไปที่แผนแม่บทด้านการพัฒนาในอนาคตหลังยุคโควิด – 19 เพื่อร่วมสร้างภาพลักษณ์ของเอเชียในอนาคต ที่เปี่ยมด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน และเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป
 
พวกเราล้วนตระหนักดีว่า ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกเป็นหนึ่งในพื้นที่ที่เป็นส่วนสำคัญในการเปลี่ยนแปลงของภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองในศตวรรษที่ 21 โดยในภูมิภาคแห่งนี้ มีประชากรอาศัยอยู่คิดเป็นสัดส่วนเกินครึ่งของทั่วโลก และประกอบด้วยน่านน้ำทะเล 65% ที่อยู่อาศัยอีก 25% อีกทั้งผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) ยังครองสัดส่วน 65% ของโลก อันนำไปสู่การขับเคลื่อนการขยายตัวทางเศรษฐกิจกว่า 2 ใน 3 ของโลก หรือกล่าวอีกนัยหนึ่งว่า หากอินโด – แปซิฟิกมีเสถียรภาพ ทั่วโลกก็มีเสถียรภาพ หากอินโด – แปซิฟิกมีความเจริญรุ่งเรือง ทั่วโลกก็จะมีความเจริญรุ่งเรืองตามไปด้วย
 
ในระหว่างการเข้าร่วมการประชุมเมื่อหลายปีก่อน ข้าพเจ้าได้กล่าวถึงตำแหน่งและบทบาททางการทูตของไต้หวันในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิกถึง 2 ครั้ง พร้อมแสดงเจตจำนงว่า ไต้หวันมีความยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อส่งเสริมประชาธิปไตย สันติภาพ ความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองอย่างเต็มที่ โดยวิธีการที่จะบรรลุเป้าหมายเหล่านี้ให้สำเร็จ ก็คือการเสวนา รวบรวมฉันทามติ ตลอดจนผลักดันแผนปฏิบัติการทางความร่วมมือเพื่อความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน จึงจะสามารถบรรลุวิสัยทัศน์ข้างต้นนี้ให้เป็นจริงได้
 
จากตัวอย่างด้านการแพทย์ ไต้หวันได้บ่มเพาะบุคลากรทางการแพทย์ จำนวนกว่า 1,300 คนในกลุ่มประเทศเอเชียอาคเนย์และอินเดีย ด้วยการแบ่งปันศักยภาพทางการแพทย์ของไต้หวัน เพื่อให้บริการโดยตรงแก่ประชาชนในพื้นที่ นอกจากนี้ ไต้หวันและกลุ่มประเทศเป้าหมายตามนโยบายมุ่งใต้ใหม่ยังมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าในเชิงลึก ตลอดระยะเวลา 7 ปีมานี้ มูลค่าการค้าแบบทวิภาคีระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ มีการขยายตัวเพิ่มขึ้นคิดเป็นสัดส่วนกว่าร้อยละ 88 ส่วนการลงทุนก็ขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 121 ซึ่งพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า นอกจากไต้หวันและกลุ่มประเทศอินโด – แปซิฟิก จะเป็นหุ้นส่วนทางการค้าแล้ว ยังมีความสัมพันธ์ที่ไม่สามารถขาดกันได้ในด้านการส่งเสริมความเจริญรุ่งเรืองและเสถียรภาพร่วมกันอีกด้วย
 
ข้าพเจ้าเชื่อมั่นเป็นอย่างยิ่งว่า หากประชาชนทุกคนมีความหวัง ประเทศชาติก็จะมีความหวัง บุคลากรเป็นองค์ประกอบที่สำคัญของทุกนโยบาย จึงขอยึดมั่นในแนวคิดที่ว่า แม้การเดินคนเดียวจะเดินได้เร็ว แต่การเดินเป็นกลุ่มก้อนจะสามารถเดินได้ไกลกว่า เมื่อต้องเผชิญกับการผงาดขึ้นของอำนาจเผด็จการของโลก ยุคสมัยใหม่หลังยุคโควิด – 19 มาเยือน รวมไปถึงการเปลี่ยนผ่านสู่การปล่อยก๊าซเรือนกระจกเป็นศูนย์ และการเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ไม่มีประเทศใดในโลกที่สามารถเผชิญหน้ากับสิ่งเหล่านี้ได้โดยลำพัง มีเพียงการประสานความร่วมมืออย่างสามัคคีเท่านั้น จึงจะสามารถสร้างคุณประโยชน์เพื่อสร้างสรรค์ให้เอเชียในอนาคตเปี่ยมด้วยการยอมรับซึ่งกันและกัน และเติบโตขึ้นอย่างแข็งแกร่งต่อไป
 
นายเจิ้งเหวินช่าน รองนายกรัฐมนตรีไต้หวัน ซึ่งได้รับเชิญให้เข้าร่วมงานเลี้ยงอาหารกลางวัน ชี้ว่า การประชุม Yushan Forum จัดขึ้นครั้งแรกในปี 2017 โดยแต่ละปี ได้มีการจัดขึ้นอย่างยิ่งใหญ่ขึ้นกว่าเดิม ตราบจนปัจจุบัน ได้ก้าวสู่การเป็นแพลตฟอร์มเสวนาทางความร่วมมือในภูมิภาคของกลุ่มประเทศอินโด – แปซิฟิก สื่อให้เห็นถึงความสำคัญและทิศทางในอนาคตของนโยบายมุ่งใต้ใหม่ของไต้หวัน โดยรองนรม.เจิ้งฯ คาดหวังที่จะบูรณาการนโยบายมุ่งใต้ใหม่และความมั่นคงในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เข้าไว้ด้วยกัน เนื่องจากความมั่นคงของไต้หวัน เป็นปัจจัยสำคัญที่ข่วยให้ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก มีความมั่นคงเช่นกัน
 
Mr. Alessandro Minuto-Rizzo อดีตเลขาธิการองค์การสนธิสัญญาแอตแลนติกเหนือ (NATO) กล่าวย้ำระหว่างการแสดงปาฐกถาในช่วงงานเลี้ยงอาหารกลางวันว่า ไต้หวันมีบทบาทความรับผิดชอบในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก เพื่อผลประโยชน์ร่วมกันของทั่วโลก พร้อมหลีกเลี่ยงการยกระดับความรุนแรงของวิกฤตความท้าทายนานาประการ ไต้หวันสมควรได้รับเชิญให้เข้ามีส่วนร่วมในองค์การสหประชาชาติ (UN) และเวทีการแลกเปลี่ยนนานาชาติ เพื่อร่วมแลกเปลี่ยนเชิงลึกกับนานาประเทศ โดย Mr. Minuto-Rizzo ได้หยิบยกคำพูดในระหว่างการแสดงสุนทรพจน์ของปธน.ไช่ฯ ที่ว่า “พวกเราจะมุ่งมั่นสร้างเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน ก้าวสู่พลังขับเคลื่อนด้านสันติภาพในเอเชีย – แปซิฟิก” พร้อมนี้ Mr. Minuto-Rizzo ยังย้ำด้วยว่า สหภาพยุโรป (EU) และองค์การนาโต้ ยินดีที่จะประสานความร่วมมือกับไต้หวันในเชิงกว้างที่ให้มากยิ่งขึ้น เพื่อร่วมสร้างคุณประโยชน์ด้านเสถียรภาพในภูมิภาค ให้คงอยู่สืบไป