ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.กต.ไต้หวัน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไต้หวัน เข้าร่วม “การเสวนาระหว่างไต้หวัน / สาธารณรัฐจีน และกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (PIF)” ครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นในหมู่เกาะคุก บังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย
2023-11-14
New Southbound Policy。รมช.กต.ไต้หวัน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไต้หวัน เข้าร่วม “การเสวนาระหว่างไต้หวัน / สาธารณรัฐจีน และกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (PIF)” ครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นในหมู่เกาะคุก บังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมช.กต.ไต้หวัน ในฐานะตัวแทนรัฐบาลไต้หวัน เข้าร่วม “การเสวนาระหว่างไต้หวัน / สาธารณรัฐจีน และกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (PIF)” ครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นในหมู่เกาะคุก บังเกิดผลสัมฤทธิ์มากมาย (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 12 พ.ย. 66
 
เมื่อช่วงเวลา 17:00 น. ของวันที่ 10 พ.ย. ตามเวลาท้องถิ่นในหมู่เกาะคุก นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) และคณะตัวแทนได้เข้าร่วม “การเสวนาระหว่างไต้หวัน / สาธารณรัฐจีน และกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก (PIF)” ครั้งที่ 28 ที่จัดขึ้นโดยสำนักงานเลขาธิการของ “การประชุมของกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก” (Pacific Islands Forum, PIF) โดยมี Mr. Kausea Natano นายกรัฐมนตรีตูวาลู และ Mr. Esala Nayasi รองเลขาธิการสำนักงานเลขาธิการ ร่วมทำหน้าที่เป็นประธาน โดยคณะตัวแทนจากปาเลา หมู่เกาะมาร์แชลล์และนาอูรู ต่างให้ความสำคัญและเข้ามีส่วนร่วมตลอดการประชุม
 
รมช.เถียนฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า นับตั้งแต่ปี 1993 ที่ไต้หวันเข้าร่วมกลไก PIF ในนาม “ไต้หวัน / สาธารณรัฐจีน” (Taiwan/R.O.C.) เป็นต้นมา ทั้งการประสานความร่วมมือแบบทวิภาคีและการร่วมผลักดันโครงการแบบพหุภาคีร่วมกับสำนักงานเลขาธิการ PIF ต่างมีความสอดคล้องกับนโยบายที่มีความสำคัญเป็นอันดับต้นๆ ของกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิก และเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) ของสหประชาชาติ โดยหลายปีมานี้ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้มุ่งผลักดันโครงการความร่วมมือต่างๆ อย่างกระตือรือร้น อาทิ การเกษตร การศึกษา การแพทย์และสาธารณสุข เทคโนโลยีสารสนเทศ การส่งเสริมศักยภาพสตรี พลังงานสะอาดและโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภค เป็นต้น ซึ่งได้สร้างความผาสุกให้แก่ภาคประชาชนในกลุ่มประเทศพื้นที่อย่างทั่วถึง โดยในอนาคต ไต้หวันจะยังคงเสริมสร้างความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับประเทศสมาชิก PIF และ 4 ประเทศพันธมิตรของไต้หวันที่ตั้งอยู่ในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก รวมไปถึงกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อดำเนินการตาม “แผนยุทธศาสตร์ในดินแดนมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2050” (2050 Strategy for the Blue Pacific Continent) อย่างเป็นรูปธรรม ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้เกิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนและมุ่งสู่ความเจริญรุ่งเรืองในภูมิภาคต่อไปในอนาคต
 
สำนักงานเลขาธิการ PIF ได้ชี้แจงแผนปฏิบัติการว่าด้วยยุทธศาสตร์ในดินแดนมหาสมุทรแปซิฟิก ปี 2050 ต่อคณะตัวแทนของไต้หวันและ 4 ประเทศพันธมิตรในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก รวมไปถึงความคืบหน้าทางความร่วมมือในภูมิภาคที่มีอยู่ในปัจจุบัน ระหว่างไต้หวัน – PIF และภารกิจสำคัญในอีกหนึ่งปีข้างหน้า โดยสำนักงานเลขาธิการ PIF ได้ยกย่องเชิดชูผลสัมฤทธิ์ด้านโครงการให้ความช่วยเหลือด้านการพัฒนาในภาคส่วนต่างๆ ในกลุ่มประเทศแถบมหาสมุทรแปซิฟิกของสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) โดยหวังเป็นอย่างยิ่งว่า ไต้หวันจะจับมือกับกลุ่มประเทศเป้าหมาย เพื่อร่วมพัฒนาความเจริญรุ่งเรืองให้เกิดขึ้นอย่างยั่งยืนสืบไป
 
รมช.เถียนฯ ยังได้ใช้โอกาสในการเข้าร่วมการประชุมสุดยอดผู้นำ PIF ครั้งที่ 52 ซึ่งจัดขึ้นที่หมู่เกาะคุกครั้งนี้ ร่วมจัดการเสวนาแบบทวิภาคีกับ ตัวแทน 4 ประเทศพันธมิตรในแถบมหาสมุทรแปซิฟิก อีกทั้งยังทำหน้าที่เป็นประธานในการจัดเลี้ยงอาหารค่ำและเปิดการเสวนาแบบทวิภาคีกับตัวแทนของกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน โดยทุกฝ่ายต่างยินดีที่จะเสริมสร้างความร่วมมือในประเด็นต่างๆ ที่ให้ความสำคัญร่วมกัน อาทิ การเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ การบ่มเพาะบุคลากร การบังคับใช้กฎหมายทางทะเล เป็นต้น โดยกต.ไต้หวันจะมุ่งผลักดันความร่วมมือในประเด็นข้างต้น ภายใต้พื้นฐานที่มีอยู่เดิม เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์อันดี ควบคู่ไปกับการขยายความสัมพันธ์แบบหุ้นส่วนกับบรรดามิตรประเทศในพื้นที่แถบมหาสมุทรแปซิฟิก สืบต่อไป