ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.หลี่ฯ แสดงปาฐกถาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ใน “การประชุมสัมมนาประเด็นไต้หวันในเบอร์ลิน” โดยย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี เพื่อขจัดความเสี่ยงจากจีน
2023-11-15
New Southbound Policy。รมช.หลี่ฯ แสดงปาฐกถาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ใน “การประชุมสัมมนาประเด็นไต้หวันในเบอร์ลิน” โดยย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี เพื่อขจัดความเสี่ยงจากจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมช.หลี่ฯ แสดงปาฐกถาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ใน “การประชุมสัมมนาประเด็นไต้หวันในเบอร์ลิน” โดยย้ำถึงความสำคัญของความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี เพื่อขจัดความเสี่ยงจากจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 14 พ.ย. 66
 
เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 13 พ.ย. ที่ผ่านมา นายหลี่ฉุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ตอบรับคำเชิญของ Mr. Reinhard Bütikofer สมาชิกรัฐสภายุโรปสัญชาติเยอรมัน และประธานกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) เข้าร่วมแสดงปาฐกถาผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ ใน “การประชุมสัมมนาประเด็นไต้หวันในเบอร์ลิน ครั้งที่ 2” ภายใต้หัวข้อ “ก่อนการเลือกตั้งประธานาธิบดีครั้งใหญ่ในไต้หวัน : สถานการณ์ช่องแคบไต้หวันและอนาคตของความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปเพื่อขจัดความเสี่ยง” โดยการประชุมครั้งนี้ มีผู้เข้าร่วมนับร้อยคน ซึ่งรวมถึง นายเซี่ยจื้อเหว่ย ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำเยอรมนี Ms. Petra Sigmund ผู้ช่วยรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงต่างประเทศเยอรมนี ฝ่ายกิจการเอเชีย – แปซิฟิก Dr. Till Steffen และ Mr. Ulrich Lechte สมาชิกรัฐสภา รวมไปถึงนักการเมือง สื่อมวลชนและเจ้าหน้าที่คลังสมองของเยอรมนี
 
รมช.หลี่ฯ กล่าวว่า การเลือกตั้งปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นการแสดงให้เห็นถึงพลังสดใสด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยของไต้หวัน ซึ่งประชาชนต่างรู้สึกหวงแหนในระบอบประชาธิปไตยที่ได้มาอย่างยากลำบาก แต่จีนกลับเข้าแทรกแซงและก่อกวนด้วยวิธีการรูปแบบต่างๆ ทั้งการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร การสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ การเผยแพร่ข่าวปลอม การเข้าแทรกแซงการสำรวจความคิดเห็นของประชาชน หรือแม้กระทั่งอยู่เบื้องหลังในการควบคุมการเล่นพนันแบบผิดกฎหมาย (ว่าใครจะได้รับเลือกตั้ง) เป็นต้น โดยรมช.หลี่ฯ ชี้ว่า ในเมื่อจีนมีความสนใจต่อการเลือกตั้งถึงเพียงนี้ เหตุใดจึงไม่ลองจัดการเลือกตั้งรูปแบบประชาธิปไตยขึ้นในประเทศของตนดูสักครั้ง
 
รมช.หลี่ฯ ชี้อีกว่า ประเด็นสองฝั่งช่องแคบไต้หวันเป็นประเด็นที่ประชาชนไต้หวันให้ความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยนักการเมืองทุกพรรคต่างมีมุมมองและข้อเสนอแนะที่แตกต่างกัน แต่อย่างไรก็ตาม การธำรงรักษาสถานภาพเดิมในปัจจุบัน และการต่อต้าน “หลักการจีนเดียว” และ “1 ประเทศ 2 ระบบ” ยังถือเป็นฉันทามติร่วมกันของทุกพรรคเสมอมา ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา จีนต้องการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในปัจจุบันโดยใช้กลยุทธ์พื้นที่สีเทา ด้วยการจัดส่งเครื่องบินรบรุกล้ำเข้าสู่เขตแสดงตนเพื่อการป้องกันภัยทางอากาศ (ADIZ) ของไต้หวัน และข้ามเส้นกึ่งกลางช่องแคบไต้หวันอยู่บ่อยครั้ง ตลอดจนสร้างความวิตกกังวลและจุดชนวนความขัดแย้งให้เกิดขึ้นในสังคมของไต้หวัน ควบคู่ไปกับการสร้างภาพลวงตาให้ทั่วโลกเข้าใจว่า การเลือกตั้งปธน.ไต้หวันในปี 2024 เป็นเรื่องของ “สงครามและสันติภาพ” หรือแม้กระทั่งเข้าคุกคามกลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนไต้หวัน และกระตุ้นให้ความกลัวในการแสดงความคิดเห็น จนทำให้เกิด Chilling Effect ขึ้นในสังคมโลก
 
รมช.หลี่ฯ ย้ำว่า จีนเข้าขัดขวางไต้หวันในการเข้ามีส่วนร่วมในองค์การระหว่างประเทศ โดยเฉพาะการข่มขู่ด้วยสงครามลูกผสมก่อนการเลือกตั้งครั้งใหญ่ในไต้หวัน ซึ่งไต้หวันจะรับมือด้วยการมุ่งเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหม เพิ่มงบประมาณรายจ่ายด้านกลาโหม ยกระดับศักยภาพทางการทหารที่ไม่สมดุลระหว่างกัน และเสริมสร้างความยืดหยุ่นทางสังคม เป็นต้น อย่างไรก็ตาม ไต้หวันจะไม่ยั่วยุท้าทาย หลีกเลี่ยงการก่อสงครามและปกป้องสันติภาพไว้อย่างคงมั่น หากเกิดสงครามขึ้นในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ผลกระทบที่เกิดขึ้นตามมาอาจมีความรุนแรงหนักกว่าสงครามรัสเซีย - ยูเครน และคาดว่าจะดำเนินไปอย่างยืดเยื้อเป็นระยะเวลานาน ด้วยเหตุนี้ เยอรมนีและกลุ่มประเทศยุโรปจึงจำเป็นต้องร่วมสกัดกั้นการสร้างภัยคุกคามจากจีนที่มีต่อไต้หวัน ควบคู่ไปกับการมุ่งพัฒนาความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนเพื่อขจัดความเสี่ยงในด้านความมั่นคง ผ่านการเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีกับไต้หวันในเชิงลึก อันจะช่วยยับยั้งความคิดที่จะทำการรุกล้ำของจีน
 
ต่อกรณีความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนเพื่อขจัดความเสี่ยงในด้านเศรษฐกิจ รมช.หลี่ฯ ชี้แจงว่า ไต้หวัน - เยอรมนีควรลดระดับการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน เมื่อระยะที่ผ่านมา บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Company (TSMC) ได้ประกาศตั้งโรงงานขึ้นในเยอรมนี ซึ่งถือเป็นกรณีตัวอย่างที่ดีที่สุดในเรื่องความมั่นคงของระบบห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ ระหว่างไต้หวัน – เยอรมนี โดยรมช.หลี่ฯ หวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายเร่งเปิดการเจรจาและแลกเปลี่ยนในด้านต่างๆ ที่มากยิ่งขึ้น อาทิ เทคโนโลยีสารสนเทศและอินเทอร์เน็ต เทคโนโลยี การแพทย์และสาธารณสุข เป็นต้น ในช่วงท้าย รมช.หลี่ฯ ได้เรียกร้องให้นานาประเทศทั่วโลกกำหนด “แผนกลยุทธ์ไต้หวัน” และ “นโยบายไต้หวัน” โดยเลือกให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นหุ้นส่วนทางความร่วมมือในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ทั้งนี้ เพื่อร่วมบรรลุเป้าหมาย “การขจัดความเสี่ยง” ในด้านความมั่นคงและเศรษฐกิจที่เกิดจากจีน