ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่คณะสื่อมวลชนญี่ปุ่น ย้ำ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตยและเผด็จการทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ไต้หวันยึดจุดยืนไม่ยั่วยุและไม่จำนนต่อแรงกดดันจากการแผ่อำนาจเผด็จการของจีน
2023-11-17
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่คณะสื่อมวลชนญี่ปุ่น ย้ำ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตยและเผด็จการทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ไต้หวันยึดจุดยืนไม่ยั่วยุและไม่จำนนต่อแรงกดดันจากการแผ่อำนาจเผด็จการของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่คณะสื่อมวลชนญี่ปุ่น ย้ำ ความขัดแย้งระหว่างกลุ่มประเทศประชาธิปไตยและเผด็จการทวีความรุนแรงขึ้นทุกวัน ไต้หวันยึดจุดยืนไม่ยั่วยุและไม่จำนนต่อแรงกดดันจากการแผ่อำนาจเผด็จการของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 16 พ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 15 พ.ย. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่เจ้าหน้าที่สื่อมวลชนญี่ปุ่น จำนวน 16 รายที่นำโดย Mr. Nagai Toshiharu หัวหน้าบรรณาธิการที่เป็นหัวหน้าคณะตัวแทนสำนักข่าวเคียวโด (Kyodo) แห่งญี่ปุ่นเดินทางเยือนไต้หวัน โดยสำนักข่าวเคียวโดได้เผยแพร่รายงานข่าวในวันเดียวกันในหัวข้อ “ยึดมั่นในจุดยืนไม่ยั่วยุและไม่ยอมสยบต่อจีน รมว.กต.ไต้หวันชี้ พร้อมสร้างความร่วมมือมากขึ้น” ซึ่งมีหลายสื่อสำนักข่าวที่นำไปเผยแพร่ต่อ และได้รับความสนใจในวงกว้างจากทุกแวดวงในญี่ปุ่น
 
รมว.อู๋ฯ เห็นว่า ความขัดแย้งระหว่างจีน - สหรัฐฯ และการรุกรานยูเครนของรัสเซีย นับเป็นความผันผวนของสถานการณ์ระหว่างประเทศที่ทั่วโลกต่างต้องเผชิญหน้าร่วมกันในปัจจุบัน ประกอบกับความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์ของระบอบประชาธิปไตยและเผด็จการ นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น การประสานความสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ก็ยิ่งมีความเด่นชัดเพิ่มมากขึ้นเช่นกัน ไม่ว่าจะเป็นกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในทวีปยุโรป สหรัฐฯ หรือภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ต่างก็กำหนดให้ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่สำคัญ ส่วนไต้หวันก็ได้ประสานความร่วมมือกับกลุ่มมิตรประเทศในทวีปยุโรป เพื่อให้ความช่วยเหลือแก่ยูเครน ส่งผลให้พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยในยุโรป ขยายตัวเป็นวงกว้างมากขึ้นตามไปด้วย โดยไต้หวันหวังที่จะสร้างความร่วมมือในประเด็นต่างๆ กับญี่ปุ่นอย่างต่อเนื่อง เพื่อแสดงให้เห็นถึงความสามัคคีของกลุ่มประเทศประชาธิปไตย
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า การแผ่ขยายอิทธิพลของจีนในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ได้สร้างความวิตกกังวลต่อกลุ่มประเทศรายรอบ อันจะเห็นได้จากการที่เรือรบจีนได้รุกล้ำน่านน้ำที่เป็นประเด็นข้อพิพาทระหว่างจีน - ญี่ปุ่น เชื่อว่า ประชาชนชาวญี่ปุ่นต่างก็รู้สึกวิตกกังวลต่อความมั่นคงในพื้นที่ไม่น้อย ด้วยเหตุนี้ กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจึงควรที่จะประสานความร่วมมือในการหลีกเลี่ยงมิให้จีนแผ่ขยายอิทธิพลมากขึ้น จนส่งผลกระทบโดยตรงต่อไต้หวัน ญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ เป็นต้น นอกจากนี้ จีนยังอาศัยทุกวิถีทางในการเข้าก่อกวนระหว่างที่กองทัพเรือสหรัฐฯ แคนาดาและออสเตรเลีย แล่นผ่านหรือปฏิบัติภารกิจ “รักษาเสรีภาพทางการเดินเรือ” ในน่านน้ำทะเลจีนใต้ เมื่อเผชิญหน้ากับสถานการณ์ข้างต้น สหรัฐฯ และกลุ่มประเทศพันธมิตร ต่างยึดมั่นในแนวทางเดียวกัน ซึ่งก็คือการรักษาเสถียรภาพทางความสัมพันธ์กับจีน เพื่อป้องกันมิให้สถานการณ์เลวร้ายลง ควบคู่ไปกับการสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนในเชิงลึก ระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและสหภาพยุโรป (EU) เพื่อป้องกันมิให้เกิดสงครามขึ้น
 
รมว.อู๋ฯ เผยว่า ในช่วงที่ผ่านมา จีนอาศัยกลยุทธ์สีเทาและสงครามจิตวิทยาในการก่อกวนไต้หวัน เพื่อบีบบังคับให้ไต้หวันยอมจำนน ซึ่งนอกจากไต้หวันจะหลีกเลี่ยงการยั่วยุท้าทายจีนแล้ว ยังต้องคอยระวังในพฤติกรรมต่างๆ ของตัวเอง มิให้กลายเป็นชนวนซึ่งอาจทำให้จีนเกิดความไม่พอใจจนก่อสงครามในช่องแคบไต้หวันได้ แต่ในขณะเดียวกัน ไต้หวันก็จะไม่ยอมจำนนต่อภัยคุกคามจากจีน โดยเฉพาะในช่วงเวลาเช่นนี้ที่จีนอาศัยวิธีการต่างๆ เข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในประธานาธิบดีในไต้หวัน เพื่อต้องการส่งผลกระทบต่อผลการเลือกตั้ง ซึ่งกลุ่มประเทศประชาธิปไตยต่างรู้สึกได้กับภัยคุกคามที่เกิดจากการแทรกแซงของจีน และรัฐบาลสหรัฐฯ ก็ได้เรียกร้องให้จีนอย่าแทรกแซงการเลือกตั้งของไต้หวัน 
 
รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - ญี่ปุ่น เป็นไปในเชิงลึกเสมอมา โดยทั้งสองฝ่ายต่างให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกันเมื่อเกิดภัยพิบัติทางธรรมชาติ ประกอบกับการท่องเที่ยวและการแลกเปลี่ยนระหว่างภาคประชาชนของทั้งสองฝ่ายก็เป็นไปอย่างใกล้ชิด พร้อมกันนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้หยิบยกกรณีตัวอย่างจากภัยพิบัติที่โรงไฟฟ้านิวเคลียร์ฟูกูชิมะแห่งที่หนึ่ง ซึ่งเริ่มปล่อยน้ำเสียปนเปื้อนกัมมันตรังสีที่ผ่านการบำบัดแล้วลงสู่มหาสมุทรแปซิฟิก เพื่อประกอบการชี้แจงว่า จีนใช้ข้ออ้างดังกล่าวมาระงับการนำเข้าผลิตภัณฑ์สัตว์น้ำจากญี่ปุ่นทั้งหมด ส่วนไต้หวันยืนหยัดในแนวทางการรับมือภายใต้หลักการทางวิทยาศาสตร์ ซึ่งคณะตัวแทนได้แสดงความขอบคุณต่อรมว.อู๋ฯ ที่ให้การสนับสนุนญี่ปุ่นด้วยความจริงใจ
 
ต่อประเด็นสถานการณ์ความขัดแย้งในพื้นที่ตะวันออกกลาง จะส่งผลต่อความสนใจของสหรัฐฯ ที่มีต่อไต้หวันหรือไม่นั้น รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ทั้งรัฐบาล รัฐสภาและกลุ่มผู้บริหารระดับนโยบายของสหรัฐฯ ต่างไม่ลดความสนใจที่มีต่อไต้หวันเลยตลอดช่วงที่ผ่านมา นอกจากนี้ กลุ่มพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ – ญี่ปุ่น และกลุ่มพันธมิตรระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างได้มีการยกระดับความสัมพันธ์ให้เกิดความแน่นแฟ้นเพิ่มมากขึ้น ภาคีความมั่นคงแบบพหุภาคีร่วมกับอังกฤษและออสเตรเลีย (AUKUS) ที่เกิดจากความร่วมมือระหว่างสหรัฐฯ อังกฤษและออสเตรเลีย ต่างก็ให้ความสำคัญต่อไต้หวันไม่แพ้กัน นอกจากนี้ สหรัฐฯ ยังได้ประสานความร่วมมือกับญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดา ในการให้ความช่วยเหลือแก่ฟิลิปปินส์เพื่อยับยั้งการรุกรานจากจีน อันเป็นการแสดงให้เห็นถึงความสนับสนุนในทางอ้อมที่มีต่อไต้หวัน โดย รมว.อู๋ฯ ย้ำด้วยว่า การให้ความสนับสนุนต่อไต้หวันได้กลายมาเป็นกระแสหลักของกลุ่มประเทศประชาธิปไตยทั่วโลก พร้อมเชื่อว่า จะไม่ได้รับผลกระทบจากเหตุการณ์ใดๆ จนเกิดการสั่นคลอนอย่างแน่นอน