ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดา ร่วมจัดค่ายฝึกอบรมนานาชาติ “สิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล” ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF
2023-11-21
New Southbound Policy。ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดา ร่วมจัดค่ายฝึกอบรมนานาชาติ “สิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล” ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ไต้หวัน สหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดา ร่วมจัดค่ายฝึกอบรมนานาชาติ “สิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล” ภายใต้กรอบความร่วมมือ GCTF (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 17 พ.ย. 66
 
คณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ กระทรวงการต่างประเทศและกระทรวงพัฒนาดิจิทัล ได้ประสานความร่วมมือกับสำนักงานตัวแทนรัฐบาลสหรัฐฯ ญี่ปุ่น ออสเตรเลียและแคนาดาที่ประจำการในไต้หวัน และสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ (III) จัดค่ายฝึกอบรมนานาชาติ “สิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล ภายใต้กรอบความร่วมมือ Global Cooperation and Training Framework (GCTF)” โดยมีเจ้าหน้าที่ นักวิชาการ ผู้ประกอบการทางเทคโนโลยีและตัวแทนภาคประชาสังคม รวม 18 ประเทศจากภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก และภูมิภาคลาตินอเมริกา เข้าร่วมแบ่งปันความท้าทายและแนวทางการรับมือของนานาประเทศต่อประเด็นที่เกี่ยวข้องกับสิทธิมนุษยชน ที่เกิดจากวิวัฒนาการของอินเทอร์เน็ตและการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยหัวข้อกิจกรรมในครั้งนี้ ประกอบด้วย การผลักดันค่านิยมเสรีภาพทางอินเทอร์เน็ต การกำหนดบรรทัดฐาน กฎระเบียบและการคุ้มครองเทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) การสกัดกั้นการถูกละเมิดสิทธิส่วนบุคคลผ่านทางเทคโนโลยี และการเสริมสร้างหลักการการยอมรับซึ่งกันและกันในเชิงดิจิทัล เพื่อสำแดงให้เห็นถึงการประสานความร่วมมือระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศหุ้นส่วนภายใต้กรอบ GCTF ในการร่วมสร้างผลสัมฤทธิ์ทางสิทธิมนุษยชนในยุคดิจิทัล
 
พิธีเปิดการประชุมที่เปิดฉากขึ้นเมื่อวันที่ 15 พ.ย. นางสาวเฉินจวี๋ ประธานคณะกรรมการสิทธิมนุษยชนแห่งชาติ ออเดรย์ ถัง รัฐมนตรีว่าการกระทรวงพัฒนาดิจิทัล และ Ms. Sandra Oudkirk ประธานสถาบันอเมริกาในไต้หวัน (AIT/T) และ Mr. Jim Nickel ประธานสำนักงานการค้าแคนาดาในกรุงไทเป ทยอยขึ้นกล่าวปราศรัย โดยเน้นย้ำถึงความสำคัญของหลักประกันด้านสิทธิมนุษยชน ในระหว่างการพัฒนาวิวัฒนาการทางอินเทอร์เน็ตและการพัฒนาเทคโนโลยีดิจิทัล โดยในระหว่างการประชุม นอกจากผู้บรรยายและผู้เข้ารับการฝึกอบรมแล้ว ยังมีคณะทูตานุทูตจากนานาประเทศที่ประจำการในไต้หวันและตัวแทนภาคประชาสังคม รวมไปถึงผู้เชี่ยวชาญ นักวิชาการและผู้ประกอบการ ต่างเข้าร่วมในการประชุมครั้งนี้ ส่งผลให้บรรยากาศเป็นไปอย่างคึกคัก นอกจากนี้ หน่วยงานเจ้าภาพยังได้วางกำหนดการให้บรรดาผู้เข้าร่วมการประชุม เดินทางเยือนสถาบันเปลี่ยนผ่านสู่ดิจิทัล ภายใต้สังกัดสถาบันเทคโนโลยีสารสนเทศ (III) ในวันที่ 17 พ.ย. เพื่อรับฟังรายงานของมูลนิธิ World Vision Taiwan และสถาบันความมั่นคงเทคโนโลยีทางไซเบอร์ของไต้หวัน ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมการแลกเปลี่ยนและการเสริมสร้างความเข้าใจในประเด็นที่เกี่ยวกับการลดความเหลื่อมล้ำทางดิจิทัล การคุ้มครองข้อมูลสถิติและการคุ้มครองสิทธิมนุษยชนในไต้หวัน