ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการดึงดูดผู้ประกอบการโลกในไต้หวัน ปี 2023
2023-11-28
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการดึงดูดผู้ประกอบการโลกในไต้หวัน ปี 2023 (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ เข้าร่วมการประชุมว่าด้วยการดึงดูดผู้ประกอบการโลกในไต้หวัน ปี 2023 (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี  วันที่ 27 พ.ย. 66
 
เมื่อช่วงบ่ายของวันที่ 27 พ.ย. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วม “การประชุมว่าด้วยการดึงดูดผู้ประกอบการโลกในไต้หวัน ปี 2023” (2023 Taiwan Business Alliance Conference) โดยปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า แม้ว่าจะเผชิญหน้ากับสถานการณ์โรคระบาดหรือความท้าทายระดับโลกนานับประการ แต่เศรษฐกิจของไต้หวัน กลับยังคงสามารถขยายตัวเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง ซึ่งเป็นบทพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไต้หวันถือเป็นแหล่งการลงทุนที่มั่นคง รัฐบาลนอกจากจะมุ่งยกระดับโครงสร้างพื้นฐานของไต้หวันแล้ว ยังมุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า ส่งเสริมการค้าและการลงทุน เพื่อสรรค์สร้างสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เปี่ยมเสถียรภาพและสามารถคาดการณ์ได้ เพื่อให้สอดคล้องกับมาตรฐานระดับสากล อันจะนำไปสู่การพัฒนากลไกทางเศรษฐกิจที่ยั่งยืน ที่เป็นประโยชน์ต่อการลงทุนในระยะยาวในภายภาคหน้า ท่ามกลางสถานการณ์โลกที่เปลี่ยนแปลงไปอย่างผกผัน ไต้หวันได้พิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า พวกเราร่วมเป็นส่วนหนึ่งในการอุทิศคุณประโยชน์เพื่อเสถียรภาพและความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจโลก โดยหวังที่จะก้าวสู่การเป็นฐานการลงทุนที่ได้รับความนิยมในภายภาคหน้า ทั้งนี้ เพื่อรักษาสถานภาพของไต้หวันในเวทีโลกให้เกิดความแข็งแกร่งอย่างยั่งยืนสืบไป
 
คำปราศรัยเป็นภาษาอังกฤษของปธน.ไช่ฯ มีสาระสำคัญดังนี้ :

นับตั้งแต่ที่ได้มีการจัด “การประชุมว่าด้วยการดึงดูดผู้ประกอบการโลกในไต้หวัน” เมื่อ 20 ปีที่แล้ว ปัจจุบันการประชุมดังกล่าวได้กลายมาเป็นหนึ่งในเวทีการประชุมด้านการลงทุนที่สำคัญที่สุดของไต้หวัน โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อรวบรวมให้กลุ่มผู้ประกอบการชั้นนำระดับโลก ได้มาพบปะกัน ณ ที่แห่งนี้ เพื่อสำแดงให้เห็นถึงสภาพแวดล้อมการลงทุนที่เจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน
 
ยุคสมัยใหม่นำมาซึ่งความท้าทายรูปแบบใหม่ อันจะเห็นได้จากการแพร่ระบาดของโรคระบาดที่ร้ายแรงอย่างที่ไม่เคยมีมาก่อน การขาดช่วงของระบบห่วงโซ่อุปทาน ภาวะเงินเฟ้อทั่วโลก และการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศที่นับวันยิ่งรุนแรงมากขึ้น ซึ่งล้วนแต่เป็นบททดสอบความทรหดของพวกเรา
 
ภายใต้สถานการณ์ความผันผวนเช่นนี้ ไต้หวันนอกจากจะยืนหยัดได้อย่างมั่นคงแล้ว ยังมุ่งพัฒนาไปข้างหน้าอย่างเจริญรุ่งโรจน์ หลายปีมานี้ ระบบเศรษฐกิจของพวกเรา ยังคงขยายตัวเติบโตอย่างต่อเนื่อง แม้ว่าจะต้องประสบกับสถานการณ์โรคระบาดและความท้าทายนานับประการก็ตาม
 
การส่งออกของไต้หวันในปีที่แล้ว มีมูลค่าสูงถึง 479,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ตลาดแรงงานภายในประเทศก็มีเสถียรภาพมากขึ้น เฉพาะเดือนตุลาคมปีนี้ อัตราการว่างงานในไต้หวันแตะระดับต่ำสุดของช่วงเวลาเดียวกันในรอบ 23 ปี
 
ในช่วงระหว่างปี 2016 – 2022 อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของไต้หวันโดยเฉลี่ยอยู่ที่ร้อยละ 3.4 และในช่วงระหว่างสถานการณ์โรคระบาด (ปี 2020 – 2022) อัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจพุ่งแตะร้อยละ 4 ซึ่งสูงกว่าอัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจโดยเฉลี่ยของโลกในช่วงเวลาเดียวกัน
 
ผลสัมฤทธิ์ที่มีความโดดเด่นเช่นนี้ ต้องยกความดีความชอบให้แก่กลุ่มผู้ประกอบการที่เพิ่มพูนระดับความเชื่อมั่นต่อไต้หวัน นับตั้งแต่ปี 2016 มาจนถึงเดือนตุลาคมปีนี้  มูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) แตะระดับ 79,500 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ เฉพาะในปีที่แล้ว ก็มีมูลค่าสูงถึง 13,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ ทุบสถิติสูงสุดในรอบ 15 ปี
 
ตราบจนปลายเดือนนี้ “โครงการการลงทุนในไต้หวัน 3 รายการหลัก” ที่รัฐบาลมุ่งผลักดันมาตั้งแต่ปี 2019 ประสบความสำเร็จในการดึงดูดเงินลงทุนจากผู้ประกอบการชาวไต้หวันแล้ว รวมมูลค่ากว่า 70,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐฯ
 
ความได้เปรียบในด้านการผลักดันนวัตกรรมของไต้หวัน เป็นปัจจัยที่เสริมสร้างความเชื่อมั่นของกลุ่มนักลงทุน ซึ่งพวกเราจะสามารถพบเห็นพัฒนาการใหม่ๆ ในด้านเทคโนโลยี 5G , Generative AI และการคำนวณประสิทธิภาพสูง เป็นต้น สิ่งเหล่านี้ล้วนเป็นปัจจัยสำคัญที่ขับเคลื่อนนวัตกรรมและการขยายตัวทางเศรษฐกิจ
 
หลายปีมานี้ ประชาคมโลกต่างตระหนักว่า ไต้หวันสวมบทบาทสำคัญในด้านเทคโนโลยีเกิดใหม่อันเนื่องมาจากการพัฒนาของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ สัดส่วนของอุปทานของแผ่นชิประดับสูงที่ผลิตในไต้หวัน มีมากกว่าร้อยละ 90 ด้วยเหตุนี้ บริษัทข้ามชาติขนาดใหญ่ จึงตัดสินใจขยายขอบเขตการลงทุนในไต้หวัน
 
หลายปีมานี้ ผู้ประกอบการชั้นนำของโลกอย่าง บริษัท Advanced Semiconductors Materials Lithography (ASML) , Lam Research Corporation (LRCX) , Merck Group และ Entegris ต่างทยอยเข้ามาจัดตั้งโรงงานในไต้หวัน โดยเมื่อช่วงที่ผ่านมา ปธน.ไช่ฯ ก็เพิ่งเข้าร่วมพิธีเปิดตัวโรงงานใหม่ของบริษัท Micron Technology ที่จัดตั้งขึ้นในนครไทจง
 
การที่เหล่าผู้ประกอบแนวหน้าระดับโลกตัดสินใจขยายขอบเขตการลงทุนในไต้หวัน พิสูจน์ให้เห็นว่า ไต้หวันเป็นหุ้นส่วนที่เชื่อถือได้และมีความมั่นคงในระบบห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์
 
นอกจากการมุ่งมั่นยกระดับโครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคแล้ว พวกเรายังมุ่งมั่นเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางการค้า ในเดือนมิ.ย.ของปีนี้ ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับแรก ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” เป็นที่เรียบร้อยแล้ว และในระยะเวลา 2 เดือนที่ผ่านมา พวกเรายังได้ร่วมลงนามความตกลงว่าด้วยการยกระดับความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้ากับอังกฤษ และได้เปิดการเจรจากับแคนาดาใน “ความตกลงว่าด้วยการส่งเสริมและการสร้างหลักประกันด้านการลงทุน”
 
ไต้หวันมุ่งมั่นเสริมสร้างสถานภาพของตนในเวทีโลก ผ่านความมุ่งมั่นพยายามในแวดวงความเชี่ยวชาญเหล่านี้ ในรายงานผลการจัดอันดับความสามารถในการแข่งขันของโลก ที่จัดทำโดยสถาบัน IMD (International Institute for Management Development) แห่งประเทศสวิตเซอร์แลนด์  ไต้หวันถูกจัดให้อยู่ในอันดับที่ 6 ของโลก ซึ่งนับเป็นอันดับที่ดีที่สุดเป็นประวัติการณ์ และในดัชนีย่อยของโครงสร้างพื้นฐานทางวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี ก็ถูกจัดให้อยู่ใน 10 อันดับแรกของโลก ประกอบกับ “บุคลากรด้านการวิจัยและพัฒนาต่อประชากร 1,000 คน” ครองอันดับ 1 ของโลก
 
ในช่วงท้าย ปธน.ไช่ฯ ได้ร่วมแสดงความยินดีกับตัวแทนทุกคนที่ร่วมลงนามในหนังสือแสดงเจตจำนง และผู้ประกอบการต่างชาติที่ได้รับรางวัลประกาศเกียรติคุณในครั้งนี้ เชื่อว่า เวทีการประชุมนี้จะยังคงสวมบทบาทที่สำคัญในอีก 20 ปีข้างหน้าหรืออนาคตอันแสนยาวนานต่อไป ขอบคุณทุกท่านสำหรับการเข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้