ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมช.กต.ไต้หวันเข้าร่วมแสดงปาฐกถาใน “การประชุมความมั่นคงเบอร์ลิน” พร้อมเรียกร้องให้ไต้หวัน – ยุโรปร่วมมือสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีน
2023-12-01
New Southbound Policy。รมช.กต.ไต้หวันเข้าร่วมแสดงปาฐกถาใน “การประชุมความมั่นคงเบอร์ลิน” พร้อมเรียกร้องให้ไต้หวัน – ยุโรปร่วมมือสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมช.กต.ไต้หวันเข้าร่วมแสดงปาฐกถาใน “การประชุมความมั่นคงเบอร์ลิน” พร้อมเรียกร้องให้ไต้หวัน – ยุโรปร่วมมือสกัดกั้นความทะเยอทะยานของจีน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 30 พ.ย. 66
 
เมื่อวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา นายหลี่ฉุน รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้เข้าร่วมพิธีเปิด “การประชุมความมั่นคงเบอร์ลิน” (Berlin Security Conference) ครั้งที่ 22 พร้อมทั้งแสดงปาฐกถา โดยรมช.หลี่ฯ ย้ำว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันมีความเกี่ยวพันกับความมั่นคงในยุโรปและนานาประเทศทั่วโลก การประสานความร่วมมือในการรักษาคำมั่น ด้วยการสนับสนุนกลุ่มประเทศประชาธิปไตย เช่น ยูเครน หรือไต้หวัน ที่ต้องเผชิญกับการรุกรานหรือถูกคุกคามโดยประเทศอำนาจนิยม จึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก พร้อมนี้ รมช.หลี่ฯ ยังเรียกร้องให้ทุกประเทศร่วมผนึกกำลังสกัดกั้นความทะเยอทะยานจากจีนด้วย
 
รมช.หลี่ฯ กล่าวว่า เนื่องจากไต้หวันต้องรับมือกับแรงกดดันจากจีนมาเป็นเวลายาวนาน ทั้งทางการทูต การยั่วยุทางการทหาร และการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ส่งผลให้ไต้หวันเรียนรู้ในการรับมือจากการโจมตีด้วยข่าวปลอม การโจมตีทางไซเบอร์และแรงกดดันทางเศรษฐกิจของจีน ได้อย่างมีประสิทธิภาพ และยินดีที่จะร่วมแบ่งปันประสบการณ์ให้แก่ประเทศพันธมิตรในทวีปยุโรป
 
รมช.หลี่ฯ ยังระบุถึง พฤติกรรมการแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวันของจีน ที่ผ่านมานั้นเป็นไปอย่างชัดเจนและตรงไปตรงมา แต่ไม่เคยประสบความสำเร็จ การที่จีนพยายามเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน เพื่อต้องการบรรลุ “หลักการจีนเดียว” แต่ในความเป็นจริงนั้น สองฝั่งช่องแคบไต้หวันมิเคยเป็นของกันและกัน อนาคตของไต้หวันควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนชาวไต้หวันเท่านั้น
 
รมช.หลี่ฯ ย้ำอีกว่า การธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน มีความสำคัญต่อกลุ่มประเทศในทวีปยุโรปเป็นอย่างมาก ซึ่งนอกจากค่านิยมด้านเสรีภาพและประชาธิปไตยที่ทั้งสองฝ่ายยึดมั่นร่วมกันแล้ว หากช่องแคบไต้หวันเกิดความขัดแย้งทางการทหาร จะส่งผลกระทบต่อระบบห่วงโซ่อุปทานโลก และส่งผลกระทบต่อวิถีชีวิตของประชาชนชาวยุโรป ด้วยเหตุนี้ รมช.หลี่ฯ จึงเรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่ให้การสนับสนุนไต้หวัน ร่วมประสานความร่วมมือสกัดกั้นการรุกรานจากจีน ด้วยการยกระดับต้นทุนในการเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหาร
 
หลังเสร็จสิ้นการแสดงปาฐกถาแล้ว รมช.หลี่ฯ ยังเปิดให้ผู้ที่เข้าร่วมการประชุมซึ่งมีทั้งหมดประมาณ 800 คนมีโอกาสซักถามข้อสงสัย นอกจากนี้ รมช.หลี่ฯ ยังได้ให้สัมภาษณ์ต่อสื่อมวลชนของหน่วยงานเจ้าภาพ คือ Behörden Spiegel ซึ่งรมช.หลี่ฯ ได้ชี้ถึงพฤติกรรมของจีนที่มุ่งขยายอิทธิพลในพื้นที่ทะเลจีนใต้ตลอดช่วงที่ผ่านมา และผลกระทบต่อการถ่วงดุลอำนาจในภูมิภาค รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตยของกลุ่มประเทศพันธมิตรที่เกิดจากการรวมตัวระหว่าง “จีน - รัสเซีย - เกาหลีเหนือ” 
 
“การประชุมความมั่นคงเบอร์ลิน” เป็นหนึ่งในการประชุมด้านความมั่นคงที่มีขอบเขตขนาดใหญ่ในทวีปยุโรป ซึ่งในทุกปีได้ติดต่อเชิญเจ้าหน้าที่ด้านการทูต กลาโหมและเศรษฐกิจจากทั่วทุกมุมโลกมาเข้าร่วมการประชุม เพื่ออภิปรายหารือในประเด็นความมั่นคงในยุโรปและระดับโลก รมช.หลี่ฯ นับเป็นเจ้าหน้าที่ภาครัฐของไต้หวันคนแรกที่ได้รับเชิญให้เข้าร่วมแสดงปาฐกถาในการประชุมนี้ และบทความของ รมช.หลี่ฯ ยังถูกตีพิมพ์เป็นบทความพิเศษของการประชุมประจำปีด้วย อีกทั้งการประชุมประจำปีนี้ ยังได้เชิญตัวแทนด้านกลาโหมและความมั่นคงของไต้หวัน เข้าร่วมแบ่งกลุ่มอภิปรายกันในประเด็นสำคัญ ซึ่งถือเป็นการเข้าร่วมการประชุมความมั่นคงเบอร์ลินของคณะตัวแทนจากไต้หวันที่ใหญ่ที่สุดตั้งแต่เคยมีมา