ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 30 พ.ย. 66
ในช่วงก่อนหน้านี้ ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ในการประชุม DealBook Summit ที่จัดขึ้นโดยหนังสือพิมพ์ The New York Times โดยปธน.ไช่ฯ ได้ตอบข้อซักถามในประเด็นที่เกี่ยวกับความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน และอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ เป็นต้น
การประชุม DealBook Summit เป็นการประชุมประจำปีของนสพ. The New York Times โดยในทุกปีจะเชิญผู้นำและผู้เชี่ยวชาญด้านการเมือง ธุรกิจและวัฒนธรรมที่มีอิทธิพลสำคัญระดับโลก เข้าร่วมแบ่งปันประสบการณ์และมุมมอง โดยการประชุมในครั้งนี้จัดขึ้น ณ ศูนย์การแสดงศิลปะลินคอล์น ในวันที่ 29 พ.ย. ที่ผ่านมา ตามเวลาในเขตตะวันออกของสหรัฐอเมริกา ซึ่ง Ms. Kamala Harris รองประธานาธิบดีสหรัฐฯ Mr. Kevin McCarthy อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรแห่งสหรัฐฯ และ Mr. Elon Musk ผู้ก่อตั้งบริษัทรถยนต์ไฟฟ้า Tesla ต่างก็ได้รับเชิญให้เข้าร่วมการประชุมในครั้งนี้ด้วยเช่นกัน
สาระสำคัญในคำสัมภาษณ์ของปธน.ไช่ฯ มีดังนี้ :
ถาม : ขอเริ่มต้นคำถามจากประเด็นที่ทุกคนรู้สึกฉงนใจ หลังการพบปะหารือระหว่างประธานาธิบดีโจ ไบเดน ผู้นำสหรัฐฯ และประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีนในระหว่างการประชุมสุดยอดผู้นำเอเปคเมื่อช่วงที่ผ่านมา อยากทราบว่า ขณะนี้ ท่านได้ประเมินสถานการณ์ความเสี่ยงต่อกรณีที่จีนจะรุกรานไต้หวันไว้อย่างไร ?
ปธน.ไช่ฯ : ไต้หวันประสบกับภัยคุกคามที่เกิดจากการข่มขู่ด้วยกำลังทหาร กลยุทธ์พื้นที่สีเทา การโจมตีทางไซเบอร์และการควบคุมข้อมูลสารสนเทศ ที่นับวันยิ่งทวีความรุนแรงเพิ่มมากขึ้น แต่ถึงกระนั้น ประชาชนชาวไต้หวันก็สามารถรับมือต่อกรณีข้างต้นได้อย่างสงบ จนทำให้มีคำวิจารณ์ว่า “พวกเราใจเย็นเกินกว่าเหตุ” แต่ในความเป็นจริงแล้วนั้น ประชาชนชาวไต้หวันต่างตระหนักดีถึงสถานการณ์ในปัจจุบัน และพวกเรายังคงมุ่งมั่นอย่างเต็มที่ในการเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศ ควบคู่ไปกับการสร้างความทรหดในสังคมให้มีความแข็งแกร่งมากขึ้น
ข้าพเจ้าทราบดีว่า ทุกคนต่างให้ความสนใจไปเกี่ยวกับกำหนดเวลาที่อาจเกิดเหตุการณ์นี้ขึ้น โดยในระหว่างการพูดคุยของ 2 ผู้นำสหรัฐฯ - จีน ในช่วงที่ผ่านมา ปธน.สีฯ ได้ให้คำตอบที่แน่ชัดแล้ว อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าเห็นว่า ประชาคมโลกต่างเห็นพ้องต้องกันว่า ความสัมพันธ์ระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวันที่เปี่ยมสันติภาพและเสถียรภาพ สอดคล้องกับผลประโยชน์สูงสุดของทุกฝ่าย
ด้วยเหตุนี้ ในด้านการบริหารจัดการความเสี่ยงในพื้นที่ช่องแคบไต้หวัน ด้วยการผนึกกำลังของกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน จึงบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่เห็นได้ชัด โดยความคืบหน้าเหล่านี้สามารถเห็นได้จากการประกาศแถลงการณ์ฉบับต่างๆ ในการประชุมแบบทวิภาคีหรือพหุภาคี อาทิ การประชุมสุดยอดผู้นำที่แคมป์เดวิด และการประชุมรัฐมนตรีต่างประเทศ G7 ที่จัดขึ้นในกรุงโตเกียว
ถาม : แต่ถึงกระนั้น ปธน.สีฯ ยังคงยึดมั่นในจุดยืนการครอบครองไต้หวัน และต้องการเข้าผนวกรวมด้วยสันติวิธี หากเกิดขึ้นจริง ท่านคิดว่าสถานการณ์จะเป็นเช่นไรต่อไป ?
ปธน.ไช่ฯ : ขณะนี้ เจ้าหน้าที่ภาครัฐระดับสูงของจีนกำลังเผชิญหน้ากับความท้าทายที่เกิดจากความขัดแย้งภายในประเทศอย่างรุนแรง ข้าพเจ้าจึงเห็นว่า ขณะนี้ มิใช่ช่วงเวลาที่เหมาะสมที่พวกเขาจะเปิดศึกกับไต้หวันอย่างเต็มรูปแบบ
ถาม : เหตุอันเนื่องมาจากความท้าทายทางเศรษฐกิจที่จีนประสบอยู่ในปัจจุบัน ใช่หรือไม่ ?
ปธน.ไช่ฯ : ไม่ใช่ ข้าพเจ้าคิดว่าเป็นเหตุอันเนื่องมาจากความท้าทายทางเศรษฐกิจ การเงินและการเมืองภายในประเทศ ประกอบกับที่ผ่านมา ประชาคมโลกต่างเรียกร้องและประกาศเจตนารมณ์อย่างชัดเจนว่า สงครามมิใช่ตัวเลือกที่เหมาะสม สันติภาพและเสถียรภาพ จึงจะสอดคล้องกับผลประโยชน์ของประชาชนทุกภาคส่วน
ถาม : ดังที่ทราบกันดีอยู่แล้วว่า การผลิตแผ่นชิปวงจรรวมของไต้หวัน มีความสำคัญต่อทั่วโลกเป็นอย่างมาก รัฐบาลสหรัฐฯ ภายใต้การนำของปธน.ไบเดน ได้กำหนดให้การโยกย้ายการผลิตแผ่นชิปวงจรรวมบางส่วนกลับสู่สหรัฐฯ เป็นภารกิจที่สำคัญเป็นอันดับต้นๆ จึงอยากทราบความเห็นของท่านว่า สถานการณ์ข้างต้นนี้จะเป็นการส่งผลกระทบระยะยาวต่อความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนและนัยยะทางความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ในอนาคตอย่างไร ?
ปธน.ไช่ฯ : ขณะนี้ พวกเราได้จัดตั้งโรงงานผลิตแผ่นชิปวงจรรวมบางส่วนในสหรัฐฯ ก็เพื่อต้องการให้ความช่วยเหลือมิตรประเทศในการจัดตั้งความยืดหยุ่นของระบบห่วงโซ่อุปทาน ขณะเดียวกัน พวกเรายังสามารถประยุกต์ใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ในปัจจุบันของสหรัฐฯ ให้เกิดประสิทธิภาพ โดยเฉพาะทรัพยากรบุคคลและบุคลากรอันยอดเยี่ยม
ถาม : ในมุมมองระยะยาว ท่านรู้สึกกังวลต่อความเป็นไปได้ที่สหรัฐฯ อาจลดความสำคัญของไต้หวันในด้านความสัมพันธ์แบบทวิภาคีหรือไม่? หากในอนาคตที่จีนต้องการเข้ายึดและควบรวมไต้หวัน สหรัฐฯ อาจไม่ยื่นมือเข้าช่วย หรืออาจจะมีการใช้แนวทางการปฏิบัติที่เป็นการดำเนินการเชิงรุกมากขึ้นหรือไม่ ?
ปธน.ไช่ฯ : คุณค่าของพวกเรามิได้มีเพียงเฉพาะด้านการผลิตเซมิคอนดักเตอร์เท่านั้น เพียงแค่ขณะนี้ยังไม่มีที่ใดในโลกที่สามารถทดแทนระบบนิเวศด้านเซมิคอนดักเตอร์ของพวกเราได้ ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงมีความเชื่อมั่นว่า ไม่มีที่ใดที่สามารถทดแทนศักยภาพการผลิตและความสำคัญของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์เฉกเช่นในไต้หวัน
ถาม : ขอเปลี่ยนทิศทางรูปแบบในการตั้งคำถามบ้างละกัน ดังที่ท่านทราบดีว่า สหรัฐฯ ยืนหยัดในจุดยืนทางการเมืองเชิงยุทธศาสตร์ที่มีความก้ำกึ่งต่อไต้หวันเสมอมา อย่างไรก็ตาม ปธน.ไบเดนเคยกล่าวอย่างเปิดเผยว่าจะร่วมปกป้องไต้หวันอย่างเต็มกำลัง ท่านคิดว่า นโยบายที่แท้จริงของสหรัฐฯ เป็นเช่นไร ?
ปธน.ไช่ฯ : พวกเราเล็งเห็นว่า รัฐบาลสหรัฐฯ ได้มีการจัดอภิปรายต่อประเด็นนโยบายความสัมพันธ์ไต้หวันอย่างกระตือรือร้นในช่วงที่ผ่านมา ขณะนี้ กลุ่มองค์กรต่างๆ มีทิศทางความคิดเห็นที่ต่างกันในแนวทางการปฏิบัติที่เหมาะสมต่อไต้หวัน
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าขอใช้โอกาสนี้เน้นย้ำถึงจุดยืนที่สำคัญ 2 ประเด็น ประการแรก ประชาชนชาวไต้หวันรู้สึกขอบคุณต่อพลังสนับสนุนอย่างหนักแน่นของมิตรสหายชาวสหรัฐฯ เสมอมา ประการที่ 2 ประชาชนชาวไต้หวันมุ่งมั่นในการปกป้องประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง และต่างตระหนักดีถึงความรับผิดชอบในการปกป้องประเทศบ้านเมืองของตน
การสนับสนุนที่ไต้หวันได้รับจากสหรัฐฯ นอกจากแถลงการณ์ด้านนโยบายแล้ว ความร่วมมือในด้านต่างๆ ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ก็ได้ขยายขอบเขตเป็นวงกว้างมากที่สุดเป็นประวัติการณ์ นอกจากนี้ ยังมีโครงการความร่วมมือต่างๆ ที่หลากหลาย โดยเฉพาะในด้านความมั่นคง ทั้งนี้ เพื่อบรรลุวัตถุประสงค์ในการให้ความช่วยเหลือแก่ไต้หวันให้สามารถรับมือกับความท้าทายทุกรูปแบบ
นอกเหนือจากสหรัฐฯ แล้ว หากขยายมุมมองไปสู่ประชาคมโลก จะเห็นได้ว่าความสนใจที่ประชาคมโลกมีต่อไต้หวันนับวันยิ่งเพิ่มมากขึ้น เนื่องจากมวลมนุษยชาติต่างตระหนักเห็นว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันมีความสำคัญต่อความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองระดับโลก ซึ่งสิ่งเหล่านี้ ต้องยกความดีความชอบให้แก่สหรัฐฯ ที่คอยเรียกร้องและมุ่งมั่นในภารกิจต่างๆ ที่เกี่ยวข้องอย่างต่อเนื่อง
ถาม : ในสหรัฐฯ หรือแม้แต่ในกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตก มีประเด็นสำคัญที่เกี่ยวข้องกับภาคธุรกิจระหว่างสหรัฐฯ และนานาประเทศ พวกเราเคยพูดคุยกับประธานคณะกรรมการบริหารของบริษัทยักษ์ใหญ่หลายท่าน ว่าควรที่จะมุ่งดำเนินการทางการค้ากับจีนต่อไปหรือไม่ ในกรณีนี้ พวกเราอยากทราบความคิดเห็นของท่านว่า ความสัมพันธ์ทางการค้าระหว่างผู้ประกอบการสหรัฐฯ - จีน จะทำให้สถานการณ์ของไต้หวัน ดีขึ้นหรือแย่ลง ?
ปธน.ไช่ฯ : เนื่องจากในปัจจุบัน การทำธุรกิจกับจีน มีความเสี่ยงกว่าที่ผ่านมา บรรดาผู้ประกอบการในกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตก อาจคาดหวังที่จะแสวงหารากฐานธุรกิจที่จะมาทดแทนในพื้นที่ภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก ซึ่งพวกเรายินดีที่จะเห็นเหล่าผู้ประกอบการมุ่งเสริมสร้างความเชื่อมโยงกับไต้หวันในเชิงลึก ซึ่งขณะนี้ ทั่วโลกต่างตระหนักเห็นถึงความสำคัญด้านความทรหดของระบบห่วงโซ่อุปทาน โดยระบบห่วงโซ่อุปทานที่เปี่ยมด้วยความยืดหยุ่นและความมั่นคง ถือเป็นรากฐานเศรษฐกิจที่แข็งแกร่ง ซึ่งไต้หวันมีข้อได้เปรียบที่สามารถแสดงให้เห็นถึงคุณค่าที่ยิ่งใหญ่
ตลอดระยะเวลากว่า 40 ปีที่ผ่านมา ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้ประสานความร่วมมือกันอย่างใกล้ชิด ส่งผลให้การผลิตแผ่นชิปด้วยเทคโนโลยีทันสมัยของไต้หวัน ก้าวขึ้นสู่การเป็นผู้นำทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก โดยไต้หวันจะพัฒนาไปสู่การเป็นหุ้นส่วนความร่วมมือที่เชื่อถือได้ มีประสิทธิภาพและเปี่ยมด้วยความมั่นคงระดับสูงอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะบทบาทของไต้หวันในการปรับเปลี่ยนโครงสร้างระบบห่วงโซ่อุปทาน จะบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สร้างความตื่นตะลึงให้ประชาคมโลกในอนาคตต่อไป
ถาม : ขณะนี้ ในกรุงวอชิงตัน ดีซี ได้มีการเปิดอภิปรายในประเด็นปัญหาการบริจาคเงินสนับสนุนเพื่อส่งมอบความช่วยเหลือให้แก่สงครามรัสเซีย – ยูเครน และสงครามอิสราเอล - ฮามาส ท่านมีให้ความสนใจต่อประเด็นข้างต้นเหล่านี้มากน้อยเพียงใด เนื่องจากสถานการณ์เหล่านี้ มีส่วนเกี่ยวพันในการส่งมอบการสนับสนุนต่อไต้หวันของสหรัฐฯ ท่านคิดว่า ผลลัพธ์สุดท้ายจะเป็นเช่นไร ? รู้สึกกังวลใจไหม ?
ปธน.ไช่ฯ : พวกเราเฝ้าจับตาต่อความเป็นไปของสถานการณ์ล่าสุดในยูเครนอย่างใกล้ชิด ในฐานะประธานาธิบดี การปกป้องวิถีชีวิตรูปแบบประชาธิปไตยและเสรีภาพของประชาชนชาวไต้หวัน ถือเป็นภารกิจอันดับต้นๆ ของพวกเรา สำหรับไต้หวันแล้ว ข้าพเจ้าเห็นว่า พลังเสียงสนับสนุนไต้หวันจากประชาคมโลกยังคงหนักแน่นเช่นเคยไม่เปลี่ยนแปลง หรืออาจจะแข็งแกร่งมากกว่าที่ผ่านมา
เพื่อหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม การแสดงให้เห็นถึงพลังศักยภาพและความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประเทศของตน นับได้ว่ามีความสำคัญมาก พวกเราต้องจำไว้ว่า การสกัดกั้นแนวคิดสุดโต่ง ลัทธิอำนาจนิยมและลัทธิการก่อการร้าย จำเป็นต้องพึ่งพาความมุ่งมั่นร่วมกันของประเทศหุ้นส่วนและบรรดามิตรประเทศ
ถาม : ท่านได้เข้าพบ Mr. McCarthy อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ เมื่อช่วงต้นปีที่ผ่านมา ซึ่งสร้างความขุ่นข้องใจให้รัฐบาลปักกิ่งเป็นอย่างมาก ประกอบกับการเดินทางเยือนไต้หวันเมื่อช่วงปีที่ผ่านมาของ Ms.Nancy Pelosi อดีตประธานสภาผู้แทนราษฎรของสหรัฐฯ ก็ได้สร้างไม่พอใจให้แก่รัฐบาลปักกิ่ง จนถึงขั้นแสดงพฤติกรรมการก่อกวนด้วยกำลังทหาร หากพิจารณาจากแรงปฏิกิริยาตอบโต้ของรัฐบาลปักกิ่งแล้ว ท่านประเมินความสำคัญของการพบปะระหว่างเจ้าหน้าที่ภาครัฐระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ไว้เช่นไร ?
ปธน.ไช่ฯ : การพบปะครั้งที่ผ่านๆ มา มีนัยยะที่สำคัญเป็นอย่างมาก เนื่องจากแสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่สหรัฐฯ มีต่อไต้หวัน และความสัมพันธ์อันแนบแน่นระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ซึ่งเป็นเหตุผลที่ทำไมประธานรัฐสภาของสหรัฐฯ จึงเดินทางเยือนไต้หวันหรือเข้าพบปะกับปธน.สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) แน่นนอนว่าจีนต้องไม่พอใจจนแสดงปฏิกิริยาออกมาอย่างชัดเจน แต่สิ่งสำคัญคือ ทุกฝ่ายต่างร่วมมือกันอย่างเต็มที่ในการควบคุมความเสี่ยงต่างๆ ที่อาจจะเกิดขึ้น
ถาม : คำถามสุดท้าย ท่านดำรงตำแหน่งผู้นำไต้หวันติดต่อมา 2 สมัย รวมระยะเวลา 8 ปี ในเดือนมกราคมปี 2024 ประชาชนชาวไต้หวันจะทำการเลือกตั้งประธานาธิบดีคนใหม่ พรรคประชาธิปไตยก้าวหน้า (DPP) ซึ่งเป็นพรรคการเมืองที่ท่านสังกัดอยู่ มีแนวโน้มสูงที่จะได้รับโอกาสในการเป็นรัฐบาลต่อไปอีก ท่านกังวลว่าสิ่งที่เกิดขึ้นนี้จะทำให้จีนเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหารหรือไม่ ? หรือนี่จะกลายเป็นสิ่งที่จะเกิดขึ้นในช่วงหลายปีข้างหน้าของไต้หวันหรือไม่ ?
ปธน.ไช่ฯ : ข้าพเจ้าเห็นว่า การที่จีนเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวัน มิใช่ความลับอีกต่อไป พวกเขาก็ต้องการประกาศให้ประชาชนรับรู้ว่า ใครคือผู้สมัครรับเลือกตั้งที่พวกเขาต้องการให้ชนะการเลือกตั้ง
อย่างไรก็ตาม ข้าพเจ้าคิดว่าแนวทางการส่งผลกระทบต่อการเลือกตั้งของพวกเขา คงไม่ประสบความสำเร็จ ทั้งนี้ มีสาเหตุอันเป็นผลเนื่องมาจากการที่ไต้หวันเป็นสังคมประชาธิปไตย ประชาชนจะร่วมตัดสินใจด้วยตนเอง เพื่อคัดเลือกประธานาธิบดีคนใหม่ จีนต้องการเข้าแทรกแซงการเลือกตั้งในไต้หวัน และจะอาศัยทุกวิถีทางในการพยายามทำให้ผลการเลือกตั้งเป็นไปตามที่คาดหวังไว้
ในความเป็นจริงแล้ว นับตั้งแต่ปี 1996 เป็นต้นมา การเลือกตั้งในไต้หวัน เราสามารถเล็งเห็นถึงการส่งผลกระทบจากจีนที่มีความคล้ายคลึงกับในปัจจุบัน อันจะเห็นได้จากการเข้าข่มขู่ด้วยกำลังทหารและการสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจ ประชาชนชาวไต้หวันไม่ควรรู้สึกแปลกใจต่อการสร้างการโจมตีเชิงจิตวิทยาบนสื่อรูปแบบดั้งเดิมหรือแพลตฟอร์มสื่อโซเชียลที่เกิดจากจีน
แทนที่จะคาดหวังให้รัฐบาลปักกิ่งละทิ้งวิธีการเหล่านี้ พวกเราควรที่จะพุ่งจุดสนใจไปที่การเสริมสร้างความทรหดทางประชาธิปไตยของพวกเรา โดยหนึ่งในแนวทางที่สำคัญคือการเสริมสร้างความสามัคคีและความเชื่อมั่นระหว่างกลุ่มชนที่แตกต่าง จึงจะสามารถสกัดกั้นการโจมตีจากข่าวปลอม รวมไปถึงการส่งผลกระทบต่อการสร้างความแตกแยกในสังคม
เพียงแค่ประชาชนเชื่อมั่นในพลังประชาธิปไตย พวกเราก็สามารถสกัดกั้นการแทรกแซงการเลือกตั้งได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว