ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ผลงานของ 3 ศิลปินไต้หวัน ได้รับการจับตามองในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ปี 2566 ในไทย
2023-12-25
New Southbound Policy。ผลงานของ 3 ศิลปินไต้หวัน ได้รับการจับตามองในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ปี 2566 ในไทย (ภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม)
ผลงานของ 3 ศิลปินไต้หวัน ได้รับการจับตามองในมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ปี 2566 ในไทย (ภาพจากกระทรวงวัฒนธรรม)

กระทรวงวัฒนธรรม วันที่ 11 ธ.ค. 66
 
มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ประจำปี 2566 (Thailand Biennale 2023) ที่มีการเตรียมการมาเป็นเวลากว่า 1 ปีกว่า ได้เปิดฉากขึ้นอย่างอลังการในจังหวัดเชียงราย เมื่อช่วงค่ำของวันที่ 9 ธ.ค.ที่ผ่านมา ปีนี้จัดขึ้นภายใต้แนวคิด “เปิดโลก (The Open World)” โดยหน่วยงานเจ้าภาพได้เชิญ 3 ศิลปินชาวไต้หวัน ประกอบด้วย หวังเหวินจื้อ  หลินหมิงหง และสวี่เจียเหวย เข้าร่วมจัดแสดงผลงาน เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนทางวัฒนธรรมในกลุ่มประเทศเป้าหมายนโยบายมุ่งใต้ใหม่ ฝ่ายกิจการวัฒนธรรมไต้หวันของสำนักงานเศรษฐกิจและวัฒนธรรมไทเปประจำประเทศไทย จึงได้ให้ความช่วยเหลือแก่ 3 ศิลปิน ในการนำผลงานระดับสากลไปร่วมจัดแสดงด้วยความสนับสนุนของกระทรวงวัฒนธรรม สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน)
 
ในระหว่างพิธีเปิด กระทรวงวัฒนธรรมไทย ซึ่งเป็นหน่วยงานเจ้าภาพ ได้จัดกิจกรรมขึ้นบริเวณลานกว้างหน้าหอศิลป์ร่วมสมัยเมืองเชียงราย Chiang Rai International Art Museum (CIAM) ซึ่งเป็นที่ตั้งของผลงานประติมากรรมไม้ไผ่ขนาดใหญ่ชื่อ “Beyond the Site” ที่สร้างสรรค์ขึ้นโดยหวังเหวินจื้อ โดยมีแขกรับเชิญมาเข้าร่วมกิจกรรมในครั้งนี้นับพันคน ซึ่งรวมถึง นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรีไทย นายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงมหาดไทย นายเสริมศักดิ์​ พงษ์พานิช รัฐมนตรีว่าการกระทรวงวัฒนธรรม นางสาวแพทองธาร ชินวัตร รองประธานคณะกรรมการยุทธศาสตร์ซอฟต์พาวเวอร์แห่งชาติ อาจารย์เฉลิมชัย โฆษิตพิพัฒน์ ศิลปินแห่งชาติ ซึ่งเป็นคนเชียงรายโดยกำเนิด นอกจากนี้ ยังมีเหล่าศิลปินจากไทยและต่างประเทศ รวมถึงภัณฑารักษ์และผู้ที่ชื่นชอบผลงานศิลปะ เข้าร่วมเป็นสักขีพยานในการเปิดตัวมหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติ ที่มีกำหนดการจัดขึ้นเป็นระยะเวลา 4 เดือนเศษในครั้งนี้
 
3 ศิลปินไต้หวันได้ผสมผสานแนวคิดจากท้องถิ่น ให้เข้ากับเอกลักษณ์ในการสร้างสรรค์ผลงานตามแบบฉบับของตนเอง โดยหวังฯ ได้ขานรับหัวข้อหลักของกิจกรรมในครั้งนี้ ด้วยการประสานความร่วมมือกับทีมงานเจ้าหน้าที่และประชาชนชาวเชียงราย ในการออกแบบสร้างสรรค์ผลงานประติมากรรมไม้ไผ่ ในชื่อ Beyond the Site ซึ่งผลงานชิ้นนี้มีได้ออกแบบให้ผู้เข้าชมสามารถเดินเข้าเยี่ยมชมตัวผลงานได้อย่างใกล้ชิด ให้ความรู้สึกเหมือนการเดินเข้าสู่ห้วงลึกของจิตใจ และเป็นการเชื่อมโยงระหว่างโลกภายนอกกับห้วงแห่งความรู้สึกของมนุษย์ นับเป็นผลงานที่เป็นถือหนึ่งในไฮไลท์ของมหกรรมในครั้งนี้
 
ผลงาน Weekend ที่สร้างสรรค์โดยหลินหมิงหง ได้ประยุกต์ใช้ลวดลายและเฉดสีของชนกลุ่มน้อยที่ตั้งรกรากอยู่ในพื้นที่ทางตอนเหนือของไทย มานำเสนอผ่านงานศิลปะบนผนังภายนอกของศาลากลางจังหวัดเชียงรายแห่งเก่า (Chiang Rai Old Provincial Hall) ซึ่งเป็นสถาปัตยกรรมทางประวัติศาสตร์ เนื่องจากอาคารแห่งนี้เป็นสัญญลักษณ์ที่บ่งชี้ให้เห็นถึงศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่ที่ได้รับอิทธิพลจากกลุ่มประเทศซีกโลกตะวันตก โดยผลงานดังกล่าวได้นำพาให้ผู้ชมเข้าสำรวจบทบาทของศิลปะร่วมสมัยในพื้นที่จังหวัดเชียงราย อันเป็นสถานที่ที่เปี่ยมด้วยความหลากหลายทางพหุวัฒนธรรมแห่งนี้
 
ส่วนสวี่เจียเหวยได้จัดแสดงผลงานศิลปะประเภทวิดีโออาร์ต (Video Art) 3 ชุด ในเขตพื้นที่ “สามเหลี่ยมทองคำ” ซึ่งเป็นพรมแดนของ 3 ประเทศ ได้แก่ ไทย เมียนมาและลาว โดยผลงานที่นำมาจัดแสดง ประกอบด้วย “Huai Mo Village” และ “Ruins of the Intelligence Bureau” ที่บอกเล่าเรื่องราวเกี่ยวกับกลุ่มชนรุ่นหลังของอดีตทหารจีนคณะชาติที่ตกค้างอยู่บริเวณพื้นที่ทางภาคเหนือของไทย และผลงานชุดใหม่ที่ประสานความร่วมมือกับศิลปินและพิพิธภัณฑ์ท้องถิ่น ในชื่อ “The Actor from Golden Triangle” โดยทำการบอกเล่าเรื่องราวตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบันของพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ผ่านแนวเพลงแร็ป พร้อมทั้งประยุกต์ใช้เทคโนโลยี VR ในการนำเสนอผลงาน  เพื่อนำพาบรรดาผู้ชมไปสัมผัสกับการเชื่อมโยงทางภูมิรัฐศาสตร์ และนัยยะของ “การเปิดโลก” ในยุคดิจิทัล
 
มหกรรมศิลปะร่วมสมัยนานาชาติครั้งนี้จัดขึ้นเป็นครั้งที่ 3 โดยได้รวบรวมผลงานของศิลปินรวม 60 คนที่เดินทางมารวมตัวจากทั่วทุกมุมโลก ผลงานของเหล่าศิลปินได้ถูกนำไปจัดวางในสถานที่ท่องเที่ยวชื่อดังในพื้นที่ อาทิ อำเภอเมืองเชียงราย วัดร่องขุ่น พิพิธภัณฑ์บ้านดำ อุทยานศิลปะวัฒนธรรมแม่ฟ้าหลวงและพื้นที่สามเหลี่ยมทองคำ ซึ่งสามารถดึงดูดให้นักท่องเที่ยวเดินทางมาเยือนจังหวัดเชียงราย อันเป็นสถานที่ซึ่งได้รับการขนานนามว่าเป็น “เมืองแห่งศิลปิน”