ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนยุโรป เรียกร้องให้ทุกประเทศในยุโรปแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันด้วยกำลังทหารหรือแรงกดดัน
2023-12-28
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนยุโรป เรียกร้องให้ทุกประเทศในยุโรปแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันด้วยกำลังทหารหรือแรงกดดัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนยุโรป เรียกร้องให้ทุกประเทศในยุโรปแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันด้วยกำลังทหารหรือแรงกดดัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 27 ธ.ค. 66
 
เมื่อวันที่ 5 ธ.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่สื่อมวลชนของยุโรป รวม 15 ราย โดยได้ชี้แจงถึงประเด็นต่างๆ  อาทิ แนวทางการรับมือของไต้หวันต่อสงครามลูกผสมที่เกิดจากจีน ความสำคัญของไต้หวันที่มีต่อประชาคมโลก ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวันและกลุ่มประเทศในยุโรป โดยรายงานที่เกี่ยวข้องได้รับการทยอยเผยแพร่โดยสื่อนานาชาติระดับแนวหน้าอย่างสถานีโทรทัศน์ 24ur.com ของสโลวีเนีย หนังสือพิมพ์ Il Foglio ของอิตาลี หนังสือพิมพ์ The Independent ของอังกฤษ หนังสือพิมพ์ Dagbladet ของนอร์เวย์ หนังสือพิมพ์ Die Presse ของออสเตรีย และสถานีโทรทัศน์ Radio Tavisupleba ที่มีสาขาในประเทศจอร์เจีย ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกแวดวงในกลุ่มประเทศยุโรป
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวระหว่างให้สัมภาษณ์ว่า แม้ว่าความเสี่ยงที่จีนจะรุกรานไต้หวันยังคงมีอยู่ อย่างไรก็ตาม สงครามช่องแคบไต้หวันมิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในชั่วพริบตา และมิใช่ว่าจะไม่สามารถหลีกเลี่ยงได้ ไต้หวันในฐานะสมาชิกของประชาคมโลกที่มีความรับผิดชอบ จะมุ่งหลีกเลี่ยงการเกิดสงคราม โดยไต้หวันได้ตระหนักถึงสงครามรัสเซีย – ยูเครน ที่กลุ่มประเทศลัทธิอำนาจนิยมได้กระทำการอุกอาจต่อกลุ่มประเทศประชาธิปไตยตามอำเภอใจ ซึ่งไต้หวันรู้สึกเจ็บปวดไม่ต่างกัน ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงตั้งปณิธานว่าจะมุ่งมั่นธำรงรักษาเสรีภาพที่ได้มาอย่างยากลำบาก พร้อมทั้งเสริมสร้างแสนยานุภาพด้านการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง ควบคู่ไปกับการพัฒนายุทธวิธีสงครามไร้สมมาตร เพื่อสกัดกั้นการรุกรานจากจีนอย่างมีประสิทธิภาพต่อไป
 
รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า สงครามเป็นหายนะของมวลมนุษยชาติ ไต้หวันสวมบทบาทที่สำคัญในระบบห่วงโซ่อุปทานเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ประกอบกับช่องแคบไต้หวันถือว่าเป็นใจกลางขนส่งทางทะเลระดับสากล หากเกิดสงคราม เชื่อว่าจะส่งผลกระทบต่อกลไกทางเศรษฐกิจของทั้งไต้หวัน จีนและประชาคมโลก รมว.อู๋ฯ จึงคาดหวังที่จะเห็นกลุ่มผู้นำประเทศยุโรป ยึดมั่นในแนวคิดว่าด้วยสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน เป็นปัจจัยที่ไม่สามารถขาดได้ในความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลก ด้วยการร่วมแสดงจุดยืนต่อต้านการเปลี่ยนแปลงสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวันด้วยกำลังทหารหรือวิธีการบีบบังคับจากจีน ทั้งนี้ เพื่อร่วมปกป้องสันติภาพในช่องแคบไต้หวันและในภูมิภาคให้คงอยู่สืบต่อไป
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า จีนมักสร้างแรงกดดันทางเศรษฐกิจในการบังคับขู่เข็ญประเทศอื่น อาทิ ระงับการนำเข้าผลไม้จากไต้หวันอย่างเช่นสัปปะรด ด้วยเหตุนี้ ไต้หวันจึงได้ทำการจัดตั้งกลไกการพิจารณาทางการค้าและการลงทุน เพื่อหลีกเลี่ยงการพึ่งพาทางเศรษฐกิจจากจีน  รมว.อู๋ฯ จึงเรียกร้องให้กลุ่มประเทศยุโรปควรระแวดระวังในการดำเนินกิจกรรมทางการค้ากับจีน และดำเนินมาตรการรับมือต่อแรงกดดันทางการค้าจากจีนอย่างเหมาะสม
 
สำหรับความคืบหน้าทางความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน และสาธารณรัฐเช็กและสาธารณรัฐลิทัวเนีย รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ไต้หวันและกลุ่มประเทศยุโรปต่างยึดมั่นค่านิยมทางประชาธิปไตยและเสรีภาพร่วมกัน  ซึ่งเป็นปัจจัยสำคัญที่ส่งผลให้การพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีเป็นไปอย่างรวดเร็ว นอกจากนี้ วุฒิสภาของสาธารณรัฐเช็กยังได้มุ่งมั่นผลักดันความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – เช็ก อย่างกระตือรือร้น พร้อมทั้งผ่านญัตติให้การสนับสนุนไต้หวันเข้าร่วมในองค์การระหว่างประเทศ ซึ่งพวกเราชาวไต้หวันรู้สึกขอบคุณด้วยใจจริง อีกทั้งลิทัวเนียยังเป็นประเทศแรกในทวีปยุโรปที่บริจาควัคซีนป้องกันโรคโควิด – 19 ให้ไต้หวัน นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเคยเดินทางเยือนลิทัวเนียและแสดงปาฐกถาต่อสาธารณชน จึงจะเห็นได้ว่า ทั้งสองประเทศมีสัมพันธไมตรีที่ดีต่อกัน ประชาชนชาวไต้หวันต่างรู้สึกซาบซึ้งใจ และแห่แหนกันซื้อสินค้าจากลิทัวเนีย เพื่อเป็นการแสดงความขอบคุณ โดยไต้หวันคาดหวังที่เห็นวัฏจักรพลังแห่งความดีงามเหล่านี้ ขยายไปสู่ประเทศอื่นๆ ในทวีปยุโรปต่อไป