ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กระทรวงเศรษฐการไต้หวันประสบความสำเร็จในการดึง 3 ยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก เข้าลงทุนในไต้หวัน
2023-12-29
New Southbound Policy。กระทรวงเศรษฐการไต้หวันประสบความสำเร็จในการดึง 3 ยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก เข้าลงทุนในไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
กระทรวงเศรษฐการไต้หวันประสบความสำเร็จในการดึง 3 ยักษ์ใหญ่ด้านเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก เข้าลงทุนในไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงเศรษฐการ วันที่ 28 ธ.ค. 66
 
เพื่อรักษาความได้เปรียบในการแข่งขันระยะยาวของอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ไต้หวัน นอกจาก กระทรวงเศรษฐการ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) จะมุ่งมั่นวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีเซมิคอนดักเตอร์รุ่นใหม่แล้ว ยังมุ่งมั่นจัดตั้งระบบการผลิตเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย และวัตถุดิบขั้นสูงในไต้หวัน ซึ่งตลอดระยะเวลา 5 ปีที่ผ่านมา รัฐบาลได้อนุมัติเงินสนับสนุนด้านการวิจัยกว่า 6,500 ล้านเหรียญไต้หวัน ให้แก่ผู้ผลิตวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิตภายในประเทศ และได้ผลเป็นที่น่าพอใจเป็นอย่างมาก จนส่งผลให้สินค้าที่ผลิตในไต้หวันจำนวน 137 รายการ สามารถเข้าสู่ห่วงโซ่อุปทานด้านเซมิคอนดักเตอร์ในระดับนานาชาติ และหลังจากที่ Lam Research ได้ประกาศจัดตั้งศูนย์เครือข่ายระดับสูงและศูนย์ R&D ด้านเทคโนโลยีการผลิตชั้นสูงในไต้หวัน ทำให้บริษัทยักษ์ใหญ่ 3 อันดับแรกของโลกในด้านอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ได้แก่ บริษัท ASML ของเนเธอร์แลนด์ บริษัท Applied Materials และบริษัท Lam Research ของสหรัฐฯ ต่างก็มาลงทุนในไต้หวันอย่างพร้อมหน้า คาดว่าจะทำให้คำสั่งซื่อจากต่างประเทศของไต้หวันเพิ่มขึ้นกว่า 13,300 ล้านเหรียญไต้หวัน พร้อมกระตุ้นให้มีเงินทุนต่างประเทศเข้าลงทุนในไต้หวันอีกประมาณ 433,700 ล้านเหรียญไต้หวัน นอกจากจะเป็นการผลักดันให้ผู้ประกอบการไต้หวันกว่า 50 ราย มีโอกาสเข้าร่วมในกลไกการวิจัยและพัฒนาของบริษัทต่างชาติ พร้อมทั้งก้าวเข้าสู่ระบบห่วงโซ่อุปทานระดับนานาชาติแล้ว ยังเป็นการส่งเสริมให้ไต้หวันก้าวไปสู่การเป็นนิคมอุตสาหกรรมการวิจัยและพัฒนาอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ระดับโลก ในภายภาคหน้าอีกด้วย
 
Lam Research เป็นผู้ผลิตและ Supplier ที่ให้บริการด้านอุปกรณ์ผลิตแผ่นชิปที่ใหญ่เป็นอันดับ 3 ของโลก มีสำนักงานใหญ่ตั้งอยู่ที่รัฐแคลิฟอร์เนียของสหรัฐฯ การที่ Lam Research จัดตั้งสถาบันวิจัยพัฒนาในไต้หวัน มีเป้าหมายหลัก 3 ประการ ประกอบด้วย “ป้อนสินค้าเข้าสู่ตลาดการผลิตในไต้หวัน” “บ่มเพาะบุคลากรในไต้หวัน” และ “วิจัยพัฒนาในไต้หวัน” เพื่อสรรค์สร้างระบบชิ้นส่วนอุปกรณ์และบุคลากรที่เพียบพร้อมในไต้หวัน ควบคู่ไปกับการยกระดับศักยภาพการวิจัยและพัฒนาด้วยการพึ่งพาตนเอง ในด้านเทคโนโลยีการผลิตขั้นสูงและเครือข่ายเทคโนโลยีทันสมัย อันนำไปสู่การจัดตั้งระบบห่วงโซ่อุปทานด้านอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ขึ้นในไต้หวัน ควบคู่ไปกับการบ่มเพาะบุคลากรด้านอุปกรณ์การผลิตและเครือข่ายทางเทคโนโลยีด้านเซมิคอนดักเตอร์ที่ทันสมัย เพื่อส่งเสริมให้ไต้หวันมีความสามารถในการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีทันสมัยด้านเซมิคอนดักเตอร์อย่างยั่งยืน
 
นอกจากจะดึงดูดผู้ประกอบการนานาชาติเดินทางมาจัดตั้งศูนย์วิจัยและพัฒนาในไต้หวันแล้ว กระทรวงเศรษฐการยังได้จัดสรรเงินอุดหนุนผ่านกรมเทคโนโลยีอุตสาหกรรมและสำนักการพัฒนาอุตสาหกรรม สำหรับผู้ประกอบการอุตสาหกรรมวัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ ในการวิจัยเทคโนโลยีด้วยตนเอง ตลอดจนช่วยให้วัตถุดิบและอุปกรณ์การผลิตที่ผลิตในประเทศ ได้รับการตรวจสอบคุณภาพและความน่าเชื่อถือจากบริษัทเซมิคอนดักเตอร์แนวหน้าของไต้หวัน เช่น บริษัท Taiwan Semiconductor Manufacturing Co.,Ltd. (TSMC) ASE Holdings และ United Microelectronics Corp. ซึ่งบังเกิดผลสัมฤทธิ์ที่สำคัญหลายประการ ทั้งในด้านอุปกรณ์การผลิตเซมิคอนดักเตอร์ในระยะเริ่มแรก อุปกรณ์บรรจุภัณฑ์ที่ประยุกต์ใช้เทคโนโลยีขั้นสูง และวัตถุดิบที่เป็นส่วนสำคัญในการผลิต