ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
สุนทรพจน์ของปธน.ไช่อิงเหวิน เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2567
2024-01-02
New Southbound Policy。สุนทรพจน์ของปธน.ไช่อิงเหวิน เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2567 (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
สุนทรพจน์ของปธน.ไช่อิงเหวิน เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2567 (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 1 ม.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 1 ม.ค. ที่ผ่านมา ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้กล่าวสุนทรพจน์เนื่องในวันขึ้นปีใหม่ 2567 ณ อาคารทำเนียบประธานาธิบดี โดยปธน.ไช่ฯ แถลงว่า ในปีนี้เป็นปีสุดท้ายในวาระ 8 ปีที่ข้าพเจ้าดำรงตำแหน่งเป็นผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ตลอดระยะเวลา 8 ปีมานี้ ไต้หวันได้รักษาคำมั่นสัญญา ด้วยการคงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมในปัจจุบัน ควบคู่ไปกับการยืนหยัดในหลักแห่งประชาธิปไตย ปกป้องสันติภาพ โดยรัฐบาลได้มุ่งมั่นเสริมสร้างแสนยานุภาพทางกลาโหม ลดภาระค่าใช้จ่ายในชีวิตประจำวันของประชาชน และมุ่งสร้างความเจริญรุ่งเรือง ดูแลประชาชน พร้อมทั้งแสวงหาแนวทางกระจายความเสี่ยง วางรากฐานทางธุรกิจทั่วโลก เพื่อเสริมสร้างความยืดหยุ่นและยืนหยัดอยู่บนเวทีประชาคมโลกอย่างหนักแน่น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อคงไว้ซึ่งความเป็น “ไต้หวันของโลก” ซึ่งไต้หวันในขณะนี้ เป็นไต้หวันที่ทั่วโลกต่างรู้จัก และเป็นไต้หวันที่สามารถดึงดูดประชาคมโลก ตลอดจนยังเป็นไต้หวันที่ได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลกอีกด้วย
 
สาระสำคัญของสุนทรพจน์ มีดังนี้ :

เนื่องในวาระดิถีขึ้นปีใหม่ ข้าพเจ้าขออวยพรให้ทุกคนประสบแต่ความสุขตลอดทั้งปีนี้ ข้าพเจ้ายังจำได้ว่า ณ ช่วงเวลานี้ของปีที่แล้ว ข้าพเจ้าเคยกล่าวไว้ว่า พวกเราอาจต้องเผชิญหน้ากับภาวะเงินเฟ้อและภาวะถดถอยทางเศรษฐกิจหลังยุคโควิด – 19 ประกอบกับสงครามรัสเซีย – ยูเครนที่ยังคงดำเนินอยู่อย่างไม่สิ้นสุด รวมไปถึงความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ฮามาส ที่ยังคงปะทุขึ้นอย่างต่อเนื่อง ตลอดระยะเวลากว่า 8 ปีที่ผ่านมา ระเบียบแบบแผนทั่วโลกต้องประสบกับการเปลี่ยนแปลงครั้งยิ่งใหญ่ ไม่ว่าจะเป็นสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 ที่ร้ายแรงที่สุดในรอบร้อยปี และสร้างความท้าทายต่อความเชื่อมั่นระหว่างผู้คนในประชาคมโลก อีกทั้งยังเป็นการทดสอบการให้ความช่วยเหลือทางมนุษยธรรมระหว่างมิตรประเทศ นอกจากนี้ ยังมีตัวแปรที่เกิดจากการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศ ที่ส่งผลกระทบต่อความทรหดและศักยภาพด้านการรับมือของรัฐบาลทั่วโลก
 
ความขัดแย้งระหว่างประชาธิปไตย เสรีภาพ และลัทธิเผด็จการ นอกจากจะส่งผลต่อเสถียรภาพทางภูมิรัฐศาสตร์ทางการเมืองแล้ว ยังส่งผลกระทบต่อการปรับโครงสร้างห่วงโซ่อุปทานระหว่างประเทศอีกด้วย
 
ตลอดระยะเวลา 8 ปีที่ผ่านมา ไต้หวันพลิกโฉมหน้าจากเดิมอย่างเด่นชัด สิ่งที่แตกต่างไปจากเดิมคือ ไต้หวันไม่ได้ถูกละเลยอีกต่อไป อันจะเห็นได้จากประชาชนจำนวน 23.5 ล้านคนต่างมีส่วนร่วมในกลไกการเปลี่ยนแปลงของโลก และเป็นส่วนหนึ่งของการเปลี่ยนแปลงระดับโลก
 
หากถามว่า Key Word สำคัญตลอด 8 ปีที่ผ่านมาของไต้หวันคืออะไร คำตอบของข้าพเจ้าคือ “โลก” และหากตลอด 8 ปีที่ผ่านมานี้ ปัจจัยใดที่สำคัญสำหรับประชาคมโลก ข้าพเจ้าเชื่อว่าจะมี “ไต้หวัน” รวมอยู่ในนั้นด้วยอย่างแน่นอน
 
นอกจาก “เครื่องบินฝึกไอพ่นสมรรถนะสูงรุ่นใหม่ T-5 Brave Eagle” ที่มีการผลิตออกมาเป็นจำนวนกว่า 27 ลำแล้ว ในช่วงที่ผ่านมา ยังได้มีการจัดพิธีเปิดตัวเรือดำน้ำที่มีนามว่า “Narwhal class Submarine” จึงจะเห็นได้ว่า พวกเราได้มุ่งดำเนินการปฏิรูปทางกลาโหมอย่างครอบคลุม ตั้งแต่การพิจารณาทบทวนแผนยุทธศาสตร์การป้องกันประเทศ การยกระดับความทันสมัยของอาวุธยุทโธปกรณ์ การจัดตั้งระบบการป้องกันประเทศโดยภาคประชาชน ไปจนถึงการเสริมสร้างกลไกการฝึกอบรมทางการทหาร ซึ่งการปฏิรูปนี้กำลังเดินหน้าไปอย่างเต็มที่
 
ปัจจุบัน “ไต้หวันช่วยได้” (Taiwan can help) ถือเป็นแผนปฏิบัติการที่ได้รับการยอมรับจากประชาคมโลก เมื่อใดที่ประชาคมโลกมีความต้องการ พลังความช่วยเหลือจากไต้หวันจะเคียงข้างอยู่เสมอ ในระหว่างที่ไต้หวันแสวงหาความร่วมมือระหว่างประเทศจากนานาประเทศทั่วโลก พวกเราก็คาดหวังที่จะเห็นสองฝั่งช่องแคบไต้หวันแสดงความรับผิดชอบร่วมกัน เพื่อฟื้นฟูการแลกเปลี่ยนที่เป็นไปอย่างมีระเบียบแบบแผน และคาดหวังที่จะเห็นทั้งสองฝ่ายแสวงหาแนวทางการอยู่ร่วมกันอย่างสันติ ภายใต้หลักการความเท่าเทียม ประชาธิปไตยและการเจรจาอย่างสันติ
 
งบประมาณทางกลาโหมประจำปีนี้ ทำสถิติสูงสุดเป็นประวัติการณ์ที่ 600,700 ล้านเหรียญไต้หวัน โดยข้าพเจ้าขอเน้นย้ำว่า สันติภาพต้องเกิดจากความตั้งมั่นของจิตใจที่ดีงาม และต้องอาศัยศักยภาพการป้องกันตัวเป็นส่วนเสริม การแสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นด้านการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง ถือเป็นปัจจัยสำคัญในการปกป้องไต้หวันร่วมกันของประชาคมโลก และเป็นการมุ่งธำรงรักษาสันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน ให้คงอยู่อย่างยั่งยืน
 
ตลอดระยะเวลา 8 ปีมานี้ พวกเรามุ่งเสริมสร้างศักยภาพการป้องกันประเทศ ลดภาระค่าใช้จ่ายของภาคประชาชน ด้วยการผลักดัน “โครงสร้างพื้นฐานทางสาธารณูปโภคสำหรับอนาคต” อุตสาหกรรมนวัตกรรม 5+2 และยุทธศาสตร์ 6 อุตสาหกรรมหลัก เพื่อยกระดับสภาพแวดล้อมด้านการลงทุน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างโครงสร้างทางเศรษฐกิจ ตลอดจนลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำระหว่างเมืองและชนบท รวมถึงยกระดับคุณภาพการดำรงชีวิตของประชาชน
 
ผลิตภัณฑ์มวลรวมประชาชาติ (GDP) เพิ่มขึ้นจากมูลค่า 1,750 ล้านล้านเหรียญไต้หวันเมื่อ 8 ปีที่แล้ว มาเป็น  2,300 ล้านล้านเหรียญไต้หวันในปี 2566 ประกอบกับดัชนีหุ้นก็เพิ่มขึ้นจากปี 2016 ที่ 8,131 จุด มาสู่ 17,930 จุดเมื่อวันศุกร์ที่ 29 ธ.ค. 66 ที่ผ่านมา
 
ไต้หวันมีประชากรจำนวน 23.5 ล้านคน เป็นเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่เป็นอันดับที่ 21 ของโลก ศักยภาพการแข่งขันภาพรวมของประเทศก้าวขึ้นสู่อันดับที่ 6 โดยรัฐบาลก็ยังคงมุ่งมั่นเสริมสร้างสวัสดิการให้ภาคประชาชน ด้วยการปฏิรูประบบภาษี ขยายขอบเขตการยกเว้นภาษีหรือลดหย่อนภาษี ส่งผลให้ประชากรจำนวนกว่า 3.05 ล้านครัวเรือน หรือประมาณร้อยละ 47 ของภาคประชาชนทั้งหมด ได้รับการละเว้นการชำระภาษี
 
นอกจากนี้ งบประมาณด้านการดูแลผู้สูงอายุก็ได้เพิ่มขึ้นจากในปีที่ข้าพเจ้าก้าวสู่ตำแหน่งผู้นำไต้หวัน ที่ 5,400 ล้านเหรียญ มาเป็น 87,600 ล้านเหรียญในปีนี้ ประกอบกับนโยบาย “รัฐบาลช่วยเลี้ยงบุตรธิดาในช่วงวัย 0-6 ปี” ก็ได้รับเงินอุดหนุนเพิ่มขึ้นจาก 15,000 ล้านเหรียญในปี 2016 มาเป็น 110,000 ล้านเหรียญในปีนี้
 
อีกทั้งรัฐบาลยังได้ออกมาตรการปรับเพิ่มเงินเดือนขั้นต่ำอย่างต่อเนื่องมาเป็นเวลา 8 ปี ซึ่งทยอยเพิ่มขึ้นจากเดิม 20,008 เหรียญไต้หวันมาสู่ 27,470 เหรียญไต้หวันในปีนี้ โดยจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ม.ค. ปี 2567 เป็นต้นไป
 
ข้าพเจ้าขอย้ำต่อเหล่ามิตรสหายที่แสดงความกังวัลเกี่ยวกับวินัยทางการเงินของรัฐบาลว่า ตั้งแต่ไช่อิงเหวินเข้ารับตำแหน่ง หนี้สาธารณะของไต้หวันลดลงจากปี 2559 ที่ร้อยละ 32.97 ใน มาสู่ร้อยละ 27.17 เมื่อเดือนพ.ย. ปี 2566 โดยมีการชำระหนี้คืนแล้วมากกว่า 900,000 ล้านเหรียญไต้หวัน
 
นอกจากนี้ เมื่อเทียบกับปี 2559 อัตราการส่งออกไต้หวันขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 70 โดยเฉพาะการส่งออกสู่ตลาดสหรัฐฯ ที่มีสัดส่วนการขยายตัวเพิ่มขึ้นกว่าร้อยละ 120  “โครงการการลงทุนในไต้หวัน 3 รายหลัก” ได้ดึงดูดเม็ดเงินลงทุนจำนวน 210 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน ส่วนมูลค่าการลงทุนโดยตรงจากต่างประเทศ (FDI) ก็มีมูลค่ารวมกว่า 240 ล้านล้านเหรียญไต้หวัน
 
แม้ว่าเราจะสามารถจัดการแก้ไขปัญหาอัตราการสำรองไฟฟ้าของไต้หวันที่ต่ำที่สุดในช่วงของรัฐบาลก่อน ที่ระดับ 1.64% ด้วยการมุ่งพัฒนาการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานสีเขียว ที่ปัจจุบันสร้างกำลังการผลิตที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นกว่าที่ได้จากพลังงานนิวเคลียร์ อย่างไรก็ตาม การเปลี่ยนผ่านของพลังงานก็ยังคงต้องเดินหน้าต่อไป
 
การมุ่งพัฒนาพลังงานหมุนเวียน เป็นเพียงแนวทางเดียวในการสร้างหลักประกันในด้านการแข่งขันระดับนานาชาติของภาคอุตสาหกรรมไต้หวัน พร้อมกันนี้ เรายังจำเป็นต้องส่งเสริมการกระจายตัวของระบบไฟฟ้า ควบคู่ไปกับการมุ่งวิจัยและก่อตั้งระบบกักเก็บพลังงาน
 
ไต้หวันจำเป็นต้องสร้างความยืดหยุ่นด้านพลังงาน เพื่อเชื่อมโยงกับเป้าหมายของโลกในการใช้พลังงานหมุนเวียนให้มีการขยายตัวขึ้น 2 เท่า และประสิทธิภาพของพลังงานเพิ่มสูงขึ้น 1 เท่า ภายในปี 2030 ตามที่ระบุไว้ในอนุสัญญาสหประชาชาติว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ครั้งที่ 28 (COP 28) เพื่อมุ่งสู่การเปลี่ยนผ่านสู่การปลดปล่อยคาร์บอนเป็นศูนย์ ภายในปี 2050
 
นอกจากนี้ เรายังจำเป็นต้องมุ่งผลักดันการปรับเปลี่ยนโครงสร้างทางเศรษฐกิจ และคงไว้ซึ่งข้อได้เปรียบทางเทคโนโลยีที่ล้ำสมัย โดยใช้ระบบนิเวศทางอุตสาหกรรมที่ครอบคลุมสมบูรณ์เป็นพื้นฐาน ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างศักยภาพการรับมือต่อแรงกดดันทางเศรษฐกิจในไต้หวัน เพื่อก้าวสู่การมีบทบาทสำคัญในห่วงโซ่อุปทานแห่งประชาธิปไตยอย่างมีเสถียรภาพต่อไป