ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันชี้ต่อ CNN ของอินเดียว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นก้าวสำคัญในการบรรลุหลักประชาธิปไตยของไต้หวัน
2024-01-05
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันชี้ต่อ CNN ของอินเดียว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นก้าวสำคัญในการบรรลุหลักประชาธิปไตยของไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันชี้ต่อ CNN ของอินเดียว่า การเลือกตั้งประธานาธิบดีสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เป็นก้าวสำคัญในการบรรลุหลักประชาธิปไตยของไต้หวัน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 4 ม.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 3 ม.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Mr. Zakka Jacob ผู้ประกาศข่าวสำนักข่าว CNN ภาคภาษาอังกฤษในอินเดีย โดยรมว.อู๋ฯ ได้ชี้ถึงนัยยะสำคัญของการเลือกตั้งทั่วไปที่มีต่อการพัฒนาทางประชาธิปไตยของไต้หวัน รวมถึงการเพิ่มศักยภาพทางกลาโหมของไต้หวันด้วยการพึ่งพาตนเอง สถานการณ์ในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก และความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - อินเดีย พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังเน้นย้ำว่า การรักษาสถานภาพเดิมที่เปี่ยมด้วยสันติภาพของของช่องแคบไต้หวัน ถือเป็นรากฐานที่สำคัญของการรักษาเสถียรภาพในภูมิภาค ซึ่งรายงานข่าวข้างต้นได้ถูกเผยแพร่ออกอากาศภายในช่วงค่ำของวันเดียวกันกับที่ให้สัมภาษณ์ และได้รับกระแสตอบรับที่ดีในวงกว้าง
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า การเลือกตั้งครั้งใหญ่นี้เป็นการเลือกตั้งประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ครั้งที่ 8 ซึ่งตลอดการเลือกตั้งทั่วไปรวม 7 สมัยที่ผ่านมา ได้มีการถ่ายโอนอำนาจการบริหารประเทศอย่างสันติแล้ว จำนวน 3 ครั้ง นอกจากจะเป็นการแสดงให้เห็นถึงกระบวนการทางประชาธิปไตยที่ได้รับการพัฒนาแล้ว ยังเป็นบทพิสูจน์ให้ประชาคมโลกประจักษ์เห็นว่า ประชาธิปไตยเป็นรูปแบบวิถีชีวิตของประชาชนชาวไต้หวัน
 
รมว.อู๋ฯ ระบุว่า นับตั้งแต่ที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ขึ้นดำรงตำแหน่งในปีพ.ศ. 2559 เป็นต้นมา ก็ได้มุ่งมั่นธำรงรักษาสถานภาพเดิมของช่องแคบไต้หวันอย่างกระตือรือร้น นโยบายสองฝั่งช่องแคบไต้หวันได้รับการยอมรับจากนานาประเทศทั่วโลก สะท้อนให้เห็นถึงความสำเร็จของนโยบายด้านการสร้างปฏิสัมพันธ์ร่วมกับจีนและการยืนหยัดในจุดยืนบนเวทีนานาชาติของไต้หวัน
 
สำหรับกรณีที่ประธานาธิบดีสีจิ้นผิง ผู้นำจีนชี้ว่า สองฝั่งช่องแคบต้องผนวกรวมเป็นหนึ่งเดียวนั้น รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ไต้หวันเป็นประเทศประชาธิปไตย อนาคตของไต้หวันควรขึ้นอยู่กับการตัดสินใจร่วมกันของประชาชนชาวไต้หวัน โดยประชาชนส่วนมากต่างคาดหวังที่จะธำรงไว้ซึ่งสถานภาพเดิมในปัจจุบัน เชื่อว่ารัฐบาลชุดใหม่จะเคารพเจตนารมณ์ของประชาชน ด้วยการสานต่อนโยบายข้างต้นนี้ต่อไป
 
เมื่อต้องเผชิญกับภัยคุกคามด้วยกำลังทหารจากจีนที่ทวีความรุนแรงมากขึ้น รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ชาวไต้หวันมีความมุ่งมั่นในการเสริมสร้างกลไกการป้องกันประเทศด้วยการพึ่งพาตนเอง ซึ่งขณะนี้ พวกเรากำลังมุ่งเสริมสร้างแสนยานุภาพทางทหารด้วยการพึ่งพาตนเองอย่างเต็มที่ ทั้งนี้ เพื่อให้จีนตระหนักว่า การเข้ารุกรานไต้หวันด้วยกำลังทหารจะต้องประสบกับหายนะอย่างใหญ่หลวง รมว.อู๋ฯ ชี้ด้วยว่า ปริมาณการขนส่งสินค้าผ่านช่องแคบไต้หวัน ครองสัดส่วนกว่าร้อยละ 50 ของโลก อุปทานของแผ่นชิประดับสูงมากกว่าร้อยละ 90 ถูกผลิตขึ้นในไต้หวัน ด้วยเหตุนี้ สันติภาพและเสถียรภาพของช่องแคบไต้หวัน จึงมีความสำคัญต่อสถานการณ์ระหว่างประเทศเป็นอย่างมาก และประชาคมโลกต่างแสดงจุดยืนอย่างเป็นรูปธรรมแล้วว่า หากจีนทำลายสถานภาพเดิมในปัจจุบันของช่องแคบไต้หวัน ประชาคมโลกจะไม่เพิกเฉยต่อความท้าทายดังกล่าวอย่างแน่นอน
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวอีกว่า สงครามช่องแคบไต้หวันมิใช่สิ่งที่จะเกิดขึ้นในชั่วพริบตา แต่การอาศัยกลยุทธ์พื้นที่สีเทา แรงกดดันทางเศรษฐกิจและสงครามประสาท เข้าก่อกวนไต้หวัน ก็เพื่อต้องการพิชิตเป้าหมายตามกลยุทธ์ “บีบให้คู่ต่อสู้ยอมจำนน แทนการทำสงคราม” ดังที่ระบุไว้ในตำราพิชัยสงครามซุนจื่อ (The Art of War by Sunzi) รมว.อู๋ฯ เน้นย้ำว่า ตลอดระยะเวลาหลายสิบปีที่ผ่านมา ชาวไต้หวันไม่เคยตกอยู่ภายใต้ความหวาดกลัวที่เกิดจากการข่มขู่ของจีน และจนถึงตอนนี้ พวกเราก็ยังคงไม่เกรงกลัวเช่นเดิม
 
สำหรับประเด็นความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน – อินเดีย รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า ชาวไต้หวันต่างรู้สึกประทับใจต่อความกระตือรือร้นและไมตรีจิตของชาวอินเดีย และมักจะมีคำพูดติดปากที่ว่า “พวกเรารักอินเดีย” หลายปีมานี้ ความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - อินเดีย ได้รับการส่งเสริมให้ดำเนินไปในเชิงลึก ซึ่งรวมถึงความร่วมมือด้านเซมิคอนดักเตอร์ จวบจนปัจจุบัน มีเจ้าหน้าที่ผู้เชี่ยวชาญชาวอินเดีย จำนวน 2,700 คนที่ประกอบอาชีพเกี่ยวกับอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชั้นสูงในไต้หวัน โดยในอนาคต ไต้หวันจะมุ่งสร้างความเชื่อมโยงทางอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ในเชิงลึก ระหว่างไต้หวัน - อินเดีย ผ่านการบ่มเพาะบุคลากรต่อไป นอกจากนี้ รมว.อู๋ฯ ยังได้ใช้โอกาสนี้เรียกร้องให้ไต้หวัน – อินเดีย เร่งเปิดการเจรจาลงนามความตกลงการค้าเสรี (FTA) แบบทวิภาคีร่วมกัน เพื่อส่งเสริมให้ผู้ประกอบการไต้หวันสามารถเข้าลงทุนในอินเดีย ด้วยต้นทุนที่เหมาะสม เปี่ยมประสิทธิภาพ และมีหลักประกันที่มั่นคงมากขึ้น