ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวัน ให้สัมภาษณ์แก่สื่อออสเตรเลีย ชี้ จีนอาศัยวิกฤตทางการเงินของนาอูรูมาล่อให้รัฐบาลนาอูรูเปลี่ยนไปผูกสัมพันธ์กับจีนแทน
2024-01-22
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวัน ให้สัมภาษณ์แก่สื่อออสเตรเลีย ชี้ จีนอาศัยวิกฤตทางการเงินของนาอูรูมาล่อให้รัฐบาลนาอูรูเปลี่ยนไปผูกสัมพันธ์กับจีนแทน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวัน ให้สัมภาษณ์แก่สื่อออสเตรเลีย ชี้ จีนอาศัยวิกฤตทางการเงินของนาอูรูมาล่อให้รัฐบาลนาอูรูเปลี่ยนไปผูกสัมพันธ์กับจีนแทน (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 20 ม.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 18 ม.ค. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์แก่ Mr. Will Glasgow ผู้สื่อข่าวหนังสือพิมพ์ The Australian โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้ถูกตีพิมพ์ในหน้าหนึ่งของหนังสือพิมพ์ของวันที่ 20 ม.ค. 2567 และได้รับความสนใจในวงกว้าง
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า จีนอาศัยวิกฤตทางการเงินที่เป็นปัญหาใหญ่ของรัฐบาลนาอูรู มาเป็นเครื่องมือในการโน้มน้าวเหล่านักการเมืองของนาอูรู เพื่อหลอกล่อให้นาอูรูหันมาผูกสัมพันธ์ทางการทูต โดยใช้วิธีการมอบเงินทุนก้อนใหญ่ให้ กลุ่มประเทศในภูมิภาคควรที่จะตื่นตัวต่อพฤติกรรมเหล่านี้ของจีน รวมทั้งตระหนักถึงเจตจำนงของจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการผ่านความขัดแย้งทางการทูตระหว่างสองฝั่งช่องแคบไต้หวัน เพื่อร่วมธำรงรักษาเสรีภาพและการเปิดกว้างให้คงอยู่ในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก สืบไป
 
รมว.อู๋ฯ ยังชี้อีกว่า ในช่วงหลายปีมานี้ ไต้หวันและออสเตรเลีย ได้สร้างความร่วมมือระหว่างกันในภูมิภาคมหาสมุทรแปซิฟิก ผ่านช่องทางและกลไกที่หลากหลาย พร้อมทั้งเฝ้าระวังความเคลื่อนไหวของจีนในภูมิภาคนี้อย่างใกล้ชิด เนื่องจาก “ศูนย์ควบคุมดูแลผู้ลี้ภัย” (Regional Precessing Center) ที่จัดตั้งขึ้นในดินแดนนาอูรู เตรียมจะปิดตัวลง ซึ่งอาจทำให้นาอูรูประสบกับปัญหาทางการเงิน โดยก่อนหน้านี้ ทั้งไต้หวัน ออสเตรเลีย และสหรัฐฯ ต่างมีการเจรจาร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นและพิจารณาหาแนวทางในการให้ความช่วยเหลือแก่นาอูรู เพื่อช่วยให้ประชาชนชาวนาอูรูสามารถก้าวผ่านวิกฤตไปได้อย่างราบรื่น แต่จีนกลับฉวยโอกาสที่นาอูรูเกิดปัญหาทางการเงิน และเป็นช่วงเวลาที่นานาประเทศร่วมแสดงความยินดีต่อการเลือกตั้งทั่วไปในไต้หวันที่เพิ่งปิดฉากลงไป มาทำการหยิบยกความช่วยเหลือทางเศรษฐกิจ เพื่อล่อหลอกให้นาอูรูหันไปสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตด้วย พร้อมทั้งเป็นการทำลายความเชื่อมั่นในกลุ่มประเทศประชาธิปไตย ด้วยเหตุนี้ รมว.อู๋ฯ จึงเรียกร้องให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยตระหนักเห็นถึงเจตจำนงของจีนในการแผ่ขยายอิทธิพลครอบคลุมไปทั่วภูมิภาค
 
รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า ความทะเยอทะยานของจีนมิได้จำกัดเพียงเฉพาะต่อไต้หวันเท่านั้น แต่ยังแผ่ขยายไปสู่ทะเลจีนตะวันออก ทะเลจีนใต้และผ่านพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 ไปจนถึงมหาสมุทรแปซิฟิก ซึ่งในเดือนเมษายน 2566 จีนและหมู่เกาะโซโลมอนได้ร่วมลงนามความตกลงด้านความมั่นคง หลังจากนั้นจีนยังคงเดินหน้าอย่างต่อเนื่องด้วยการสร้างความร่วมมือกับสาธารณรัฐคิริบาส พฤติกรรมของจีนทำให้รัฐบาลออสเตรเลียเกิดความกังวลและมีมาตรการรับมือที่เกี่ยวข้อง รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า ทั้งไต้หวันและออสเตรเลีย
ต่างต้องเผชิญหน้ากับภัยคุกคามที่เกิดจากลัทธิอำนาจนิยม ความร่วมมือแบบทวิภาคีระหว่างกันจึงมีความแนบแน่นมากยิ่งขึ้น โดยหลังจากนี้ ไต้หวันจะมุ่งสร้างความร่วมมือเชิงลึกกับประเทศพันธมิตรในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิกและกลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน เพื่อยับยั้งการแทรกซึมและความทะเยอทะยานของจีนในทุกด้าน และเพื่อหยุดยั้งการแผ่ขยายของอำนาจเผด็จการและการคุกคามต่อพื้นที่ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวเสริมด้วยว่า ไต้หวันและ 3 ประเทศพันธมิตรที่ตั้งอยู่ในพื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก มีความสัมพันธ์ระหว่างกันอย่างแน่นแฟ้น ช่วงที่ผ่านมา Mr. Kausea Natano นายกรัฐมนตรีตูวาลู ได้แสดงจุดยืนว่าด้วยความสัมพันธ์ระหว่างสองประเทศที่เป็นไปในเชิงลึก โดยไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับตูวาลูอย่างต่อเนื่อง ในประเด็นการรับมือกับวิกฤตการเปลี่ยนแปลงทางสภาพภูมิอากาศและพลังงานหมุนเวียน นอกจากนี้ เมื่อช่วงสัปดาห์ที่ผ่านมา H.E. Surangel S. Whipps, Jr. ประธานาธิบดีสาธารณรัฐปาเลา ยังได้ร่วมพูดคุยผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์กับนายไล่ชิงเต๋อ รองประธานาธิบดีและว่าที่ประธานาธิบดี สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) เพื่อย้ำให้เห็นว่า มิตรภาพระหว่างไต้หวัน - ปาเลา ตั้งอยู่บนพื้นฐานค่านิยมสากลและคำมั่นด้านสันติภาพและเสถียรภาพในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก พร้อมกันนี้ นายเถียนจงกวง รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ยังได้รับมอบหมายจากประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้เดินทางไปเข้าร่วมพิธีสาบานตนเข้ารับตำแหน่งของ H.E. Hilda Heine ประธานาธิบดีแห่งสาธารณรัฐหมู่เกาะมาร์แชลล์คนใหม่ โดยในระหว่างนี้ คณะตัวแทนไต้หวันต่างก็มุ่งมั่นผลักดันโครงการความร่วมมือแบบทวิภาคีอย่างกระตือรือร้นด้วย
 
รมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า ประเทศพันธมิตรของไต้หวันหลายประเทศที่เปลี่ยนไปสร้างความสัมพันธ์ทางการทูตกับจีน ท้ายสุดแล้วจะพบว่า จีนไม่ได้ปฏิบัติตามคำมั่นสัญญาที่ให้ไว้ เนื่องจากวิธีการของจีนคือการให้อภิสิทธิ์สำหรับกลุ่มนักการเมืองเท่านั้น ในทางกลับกัน วัตถุประสงค์ของโครงการความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – ประเทศพันธมิตรคือการสร้างความผาสุกให้เกิดแก่ประชาชนในพื้นที่ ซึ่งมีความแตกต่างกันอย่างเห็นได้ชัด