ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าไต้หวัน – สหรัฐฯ (USTBC)
2024-01-24
New Southbound Policy。ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าไต้หวัน – สหรัฐฯ (USTBC) (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าไต้หวัน – สหรัฐฯ (USTBC) (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 23 ม.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 23 ม.ค. ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสมาคมการค้าไต้หวัน – สหรัฐฯ (U.S.-Taiwan Business Council, USTBC) พร้อมแถลงว่า รู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่เห็นคณะกรรมาธิการด้านการจัดสรรงบประมาณของสภาผู้แทนราษฎรสหรัฐ ได้ลงมติเห็นชอบ “ร่างกฎหมายว่าด้วยการลดหย่อนภาษีซ้ำซ้อนแบบเร่งด่วน ระหว่างสหรัฐฯ – ไต้หวัน” ในช่วงไม่กี่วันที่ผ่านมา พร้อมคาดหวังที่จะแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อน ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ โดยเร็ววัน เพื่อสร้างช่องทางการพัฒนาด้านการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่ายในภายภาคหน้าต่อไป นอกจากนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังคาดหวังที่จะเห็นสหรัฐฯ มุ่งเสริมสร้างความร่วมมือกับกลุ่มประเทศในภูมิภาค ภายใต้กรอบ “โครงสร้างทางเศรษฐกิจในภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก” โดยไต้หวันจะแสดงเจตจำนงในการเข้าร่วมอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับภูมิภาคและระดับโลก ทั้งนี้ เพื่อส่งเสริมให้ภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก มีความเจริญก้าวหน้าอย่างยั่งยืนต่อไป
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวขณะปราศรัยว่า ตนรู้สึกยินดีเป็นอย่างมากที่มีโอกาสให้การต้อนรับ Mr. Keith Krach ประธานสถาบันวิจัย Krach Institute for Tech Diplomacy และ  Mr. Rupert Hammond-Chambers ประธานสภาธุรกิจสหรัฐฯ - ไต้หวัน (U.S.-Taiwan Business Council) นับเป็นอีกครั้งในรอบครึ่งปีที่ Mr. Krach นำคณะตัวแทนเดินทางเยือนไต้หวัน เพื่อผลักดันการแลกเปลี่ยนและความร่วมมือระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ส่วนคณะตัวแทนของสภาธุรกิจสหรัฐฯ – ไต้หวัน เกิดจากการรวมตัวกันของบรรดาผู้เชี่ยวชาญด้านพลังงาน การเงิน กลาโหมและเทคโนโลยีขั้นสูง
 
หลายปีมานี้ เนื่องด้วยพลังความสามัคคีของประชาชนชาวไต้หวัน และการที่รัฐบาลมุ่งผลักดันโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ อย่างขมักเขม้น ส่งผลให้ไต้หวันยังคงสามารถสำแดงความทรหดและแข็งแกร่ง อีกทั้งคงไว้ซึ่งศักยภาพการแข่งขันระดับนานาชาติ ตลอดจนยังคงธำรงรักษาเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานระดับโลก ท่ามกลางสภาพแวดล้อมทางเศรษฐกิจและการค้าที่ประสบกับวิกฤตโรคระบาด และผลกระทบที่เกิดจากการพัฒนาทางภูมิรัฐศาสตร์
 
ปธน.ไช่ฯ ระบุว่า ในระหว่างทางที่ไต้หวันก้าวไปสู่เวทีประชาคมโลก ไต้หวัน - สหรัฐฯ ได้มุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์แบบทวิภาคีผ่านกลไกรูปแบบต่างๆ อย่างกระตือรือร้น ไต้หวันนอกจากจะเป็นหุ้นส่วนทางการค้าที่ใหญ่เป็นอันดับ 8 ของสหรัฐฯ แล้ว เมื่อปีที่แล้ว ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมลงนามความตกลงฉบับแรกภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” อันเป็นการส่งเสริมให้ความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ก้าวไปสู่หลักชัยใหม่
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวเพิ่มเติมว่า ขณะนี้ พวกเรากำลังมุ่งผลักดันการแก้ไขปัญหาการเก็บภาษีซ้ำซ้อนอย่างกระตือรือร้น เพื่อสร้างช่องทางการพัฒนาด้านการลงทุนให้แก่ผู้ประกอบการทั้งสองฝ่าย ควบคู่ไปกับการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางระบบห่วงโซ่อุปทานที่สำคัญๆ
 
ปธน.ไช่ฯ ยังถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลสหรัฐฯ ที่ได้ระบุถึงความสำคัญของสันติภาพและเสถียรภาพช่องแคบไต้หวันบนเวทีนานาชาติหลายครั้ง ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า ในอนาคต ไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างความร่วมมือทางเศรษฐกิจและความมั่นคงอย่างต่อเนื่อง ตลอดจนหวังว่า สภาธุรกิจสหรัฐฯ – ไต้หวันจะให้การสนับสนุนการเข้าร่วมของไต้หวัน เพื่อกระตุ้นการพัฒนาทางเศรษฐกิจและการค้าในระดับภูมิภาคและระดับโลกให้เกิดความยั่งยืนสืบต่อไป
 
สำหรับการกล่าวปราศรัยของ  Mr. Krach ได้ระบุว่า ตนรู้สึกยินดีและเป็นเกียรติมากที่เมื่อปีที่แล้ว ได้ทำหน้าที่เป็นตัวแทนส่งมอบ “รางวัลเสรีภาพทางเทคโนโลยีของสถาบันวิจัย Krach Institute for Tech Diplomacy” ให้แก่ปปธน.ไช่ฯ เพื่อยกย่องเชิดชูความมุ่งมั่นพยายามที่ดำเนินมาเป็นเวลายาวนานของปธน.ไช่ฯ และเพื่อส่งเสริมให้ทุกคนประจักษ์ว่าไต้หวันเป็นพลังแห่งความดีของโลก เนื่องด้วยศักยภาพความเป็นผู้นำที่เปี่ยมด้วยวิสัยทัศน์และความกล้าหาญของปธน.ไช่ฯ ส่งผลให้มิตรภาพระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ นับวันยิ่งทวีความแข็งแกร่งเพิ่มมากขึ้น
 
Mr. Krach กล่าวว่า เมื่อปีที่แล้วที่ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมหารือเกี่ยวกับการจัดตั้ง “คณะกรรมาธิการด้านความมั่นคงทางเทคโนโลยีระดับโลก” (Global Tech Security Commission) ที่เกิดจากการรวมตัวกันของ 15 ประเทศ ซึ่งไต้หวันเป็นหนึ่งในประเทศสมาชิกของคณะทำงานข้างต้น โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อออกแบบกลยุทธ์ความมั่นคงทางเทคโนโลยีระดับโลก นอกจากนี้ ยังได้หารือกันถึงข้อเสนอแนะของปธน.ไช่ฯ ที่เกี่ยวกับการจัดตั้ง “ศูนย์นวัตกรรมและความเจริญรุ่งเรืองของไต้หวัน” (TCIP) ซึ่งได้มีการริเริ่มจัดตั้งขึ้นเมื่อปี 2563 โดยมีเป้าหมาย 3 ประการหลักได้แก่ (1) การเสริมสร้างความเจริญรุ่งเรืองทางเศรษฐกิจ (2) การส่งเสริมนวัตกรรมและการเปลี่ยนผ่านสู่เศรษฐกิจดิจิทัล ระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ (3) การยกระดับสถานภาพของไต้หวันในเวทีนานาชาติ ซึ่งขณะนี้ TCIP กำลังมุ่งประสานความร่วมมือกับบริษัทแนวหน้าและบริษัทสตาร์ทอัพของไต้หวัน เพื่อสร้างโอกาสการแลกเปลี่ยนกับบุคลากรชั้นยอดระดับโลก ตลอดจนเป็นการเสริมสร้างระบบนิเวศทางการลงทุนของไต้หวันให้มีความสมบูรณ์
 
Mr. Krach แถลงเพิ่มเติมว่า เพื่อยกระดับสถานภาพของไต้หวันในเวทีนานาชาติ ขณะนี้ รัฐบาลไต้หวันอยู่ระหว่างการมุ่งผลักดันเครือข่ายเทคโนโลยีที่น่าเชื่อถือระดับสากล คาดหวังที่จะอาศัยข้อได้เปรียบทางนวัตกรรมผลักดันค่านิยมทางเสรีภาพ นอกจากนี้ Mr. Krach ยังกล่าวอีกว่า ไม่ว่าจะในด้านการพาณิชย์และการมีปฏิสัมพันธ์ระหว่างภาคประชาชน สิ่งที่สำคัญที่สุดคือ “ความเชื่อมั่น” ด้วยเหตุนี้ พวกเราจึงมุ่งพัฒนาจนเกิดเป็นหุ้นส่วนที่มีความเชื่อมั่นระหว่างกัน ในขณะที่เอ่ยถึง “ไต้หวัน” พวกเรามักจะเชื่อมโยงความคิดไปสู่คำว่า “ความเชื่อมั่น” ได้อย่างอัตโนมัติ