ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสถาบันวิจัย Hudson Institute ของสหรัฐฯ
2024-02-01
New Southbound Policy。ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสถาบันวิจัย Hudson Institute ของสหรัฐฯ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)
ปธน.ไช่ฯ ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสถาบันวิจัย Hudson Institute ของสหรัฐฯ (ภาพจากทำเนียบประธานาธิบดี)

ทำเนียบประธานาธิบดี วันที่ 31 ม.ค. 67
 
เมื่อช่วงเช้าของวันที่ 31 มกราคม 2567 ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้การต้อนรับคณะตัวแทนสถาบันวิจัย Hudson Institute พร้อมระบุว่า เมื่อเผชิญหน้ากับการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการและความท้าทายระดับโลกอย่างวิกฤตการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ ไต้หวันจะมุ่งเสริมสร้างศักยภาพทางกลาโหมอย่างต่อเนื่อง ควบคู่ไปกับการรักษาเสถียรภาพของระบบห่วงโซ่อุปทานและมุ่งผลักดันการปฏิรูปทางกลาโหม เพื่อสำแดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นตั้งใจในการปกป้องประชาธิปไตยและเสรีภาพ  ในอนาคต ไต้หวันจะเร่งเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตยในประเด็นระดับโลกทุกมิติ โดยหวังว่าเหล่าอาคันตุกะจะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ทั้งนี้ เพื่อกระตุ้นให้ทั้งสองฝ่ายแสวงหาโอกาสการเจรจาและความร่วมมือระหว่างกันให้มากขึ้น อีกทั้งเป็นการกระตุ้นการพัฒนาเศรษฐกิจแบบทวิภาคีด้วย
 
ปธน.ไช่ฯ กล่าวว่า สมาชิกคณะตัวแทนล้วนเป็นผู้เชี่ยวชาญที่เฝ้าจับตาประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวันมาเป็นเวลาช้านาน ปธน.ไช่ฯ ได้แสดงความขอบคุณคณะตัวแทนที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน หลังจากที่ไต้หวันปิดฉากการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อช่วงที่ผ่านมา โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อกระตุ้นการแลกเปลี่ยนระหว่างไต้หวัน – สหรัฐฯ ให้เป็นไปในทิศทางเชิงลึก ปธน.ไช่ฯ หวังเป็นอย่างยิ่งว่า ในอนาคต บรรดาอาคันตุกะที่เดินทางมาเยือนไต้หวัน จะให้คำแนะนำที่เป็นประโยชน์ต่อความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ อย่างต่อเนื่อง
 
ปธน.ไช่ฯ ยังถือโอกาสนี้แสดงความขอบคุณรัฐบาลและรัฐสภาสหรัฐฯ ที่ให้ความสำคัญต่อประเด็นความมั่นคงของไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะอนุมัติแผนจำหน่ายอาวุธยุทโธปกรณ์ให้ไต้หวันอย่างสม่ำเสมอแล้ว สภาผู้แทนราษฎรและวุฒิสภาสหรัฐฯยังมีมติเห็นชอบ “กฎหมายว่าด้วยความมั่นคงแห่งชาติ (National Defense Authorization Act, NDAA) ประจำปี 2567” เพื่อมุ่งเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางความมั่นคงแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวันกับสหรัฐฯ พร้อมกันนี้ ปธน.ไช่ฯ ยังได้แสดงความขอบคุณ Hudson Institute ซึ่งเป็นคลังสมองที่มีบทบาทสำคัญต่อการกำหนดนโยบายการต่างประเทศและความมั่นคงของสหรัฐฯ  ที่ให้ความสำคัญและสนับสนุนไต้หวันมาตลอดระยะเวลาอันยาวนาน
 
ปธน.ไช่ฯ แถลงว่า หลายปีมานี้ Hudson Institute นอกจากจะรวบรวมกลุ่มนักวิชาการเดินทางเยือนไต้หวันแล้ว ยังได้จัดการประชุมเสวนาในประเด็นที่เกี่ยวข้องกับไต้หวัน และเรียบเรียงบทความพิเศษเพื่อเป็นกระบอกเสียงให้ไต้หวัน ตลอดจนแสดงจุดยืนที่พร้อมยืนหยัดเคียงข้างไต้หวัน ในยามที่ไต้หวันเผชิญหน้ากับแรงกดดันที่เกิดจากอำนาจเผด็จการ ภายใต้การสนับสนุนของ Hudson Institute และกลุ่มพันธมิตรที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน ไต้หวันในปัจจุบันได้ก้าวสู่การเป็น “ไต้หวันของประชาคมโลก” โดยในอนาคต ไต้หวันจะยังคงเสริมสร้างความร่วมมือกับพันธมิตรด้านประชาธิปไตย ในประเด็นระดับโลกอย่างมุ่งมั่นต่อไป
 
Ms. Sarah May Stern กล่าวปราศรัยว่า สำหรับคณะตัวแทนแล้ว อีกหนึ่งไฮไลท์ที่สำคัญในปี 2566 คือ การมอบ “รางวัลผู้นำยอดเยี่ยมระดับโลก” (Global Leadership Award) ให้แก่ปธน.ไช่ฯ ณ นครนิวยอร์ก เมื่อเดือนมีนาคม 2566 เพื่อสื่อให้เห็นว่า ตลอดระยะเวลาที่ผ่านมา พวกเรารู้สึกเป็นเกียรติอย่างมากที่ได้มีโอกาสประสานความร่วมมืออย่างใกล้ชิดกับปธน.ไช่ฯ มิตรภาพอันแข็งแกร่งระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ ยังส่งผลให้ทั่วโลกได้รับอานิสงส์โดยถ้วนหน้า
 
Ms. Stern กล่าวว่า  อีกสิ่งหนึ่งที่ตนได้พยายามดำเนินการในสหรัฐฯคือการส่งเสริมให้กลุ่มสตรีเข้ามีส่วนร่วมในบทบาททางการเมือง ปธน.ไช่ฯ เป็นต้นแบบของนักการเมืองหญิงที่ประสบความสำเร็จ และยังเป็นต้นแบบให้แก่บรรดานักการเมืองที่เป็นผู้ชายด้วยเช่นกัน ปธน.ไช่ฯ เป็นผู้นำไต้หวันคนแรกที่เป็นผู้หญิง ที่มุ่งอุทิศคุณประโยชน์มากมายให้แก่ประเทศชาติและทั่วโลก ซึ่งนอกจากจะครองบทบาทการเป็นประเทศผู้นำด้านเทคโนโลยีในประชาคมโลก และรักษาสถานภาพที่สำคัญในการเข้าร่วมในระบบเศรษฐกิจโลกแล้ว ไต้หวันยังมีความกล้าหาญในการร่วมปกป้องเสรีภาพและประชาธิปไตยของฮ่องกงและยูเครนด้วย
 
Ms. Stern แถลงว่า ก่อนสิ้นสุดวาระการดำรงตำแหน่งปธน.ไช่ฯ ไต้หวันได้จัดการเลือกตั้งที่ดุเดือด แต่ยึดมั่นตามหลักเสรีภาพ ความยุติธรรมและสันติ ประชาชนชาวไต้หวันต่างพิสูจน์ให้เห็นแล้วว่า ไต้หวันเป็นต้นแบบประชาธิปไตยที่แท้จริงและมีพัฒนาการที่รุดหน้าประเทศอื่นในภูมิภาค
 
Ms. Stern แสดงความยินดีกับปธน.ไช่ฯ อีกครั้งสำหรับความสำเร็จในทุกด้าน พร้อมทั้งให้การยอมรับต่อศักยภาพของปธน.ไช่ฯ ที่มุ่งผลักดันให้ไต้หวันก้าวหน้า ภายใต้สถานการณ์ทางการเมืองที่ยากลำบากที่สุดในโลก แม้ว่าวาระการดำรงตำแหน่งของปธน.ไช่ฯ ยังไม่สิ้นสุดลง แต่พวกเราต่างคาดหวังที่จะเห็นปธน.ไช่ฯ ร่วมแบ่งปันแผนการในอนาคต พร้อมยังกล่าวว่า Hudson Institute จะเป็นบ้านอีกหลังของปธน.ไช่ฯ ตลอดไป และจะล้อมรอบไปด้วยมิตรสหายที่ให้การสนับสนุนปธน.ไช่ฯ อย่างเต็มที่