ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
ไต้หวัน – อินเดีย ร่วมลงนามใน MOU ด้านกิจการแรงงาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์
2024-02-17
New Southbound Policy。ไต้หวัน – อินเดีย ร่วมลงนามใน MOU ด้านกิจการแรงงาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
ไต้หวัน – อินเดีย ร่วมลงนามใน MOU ด้านกิจการแรงงาน ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงแรงงาน วันที่ 16 ก.พ. 67

เพื่อส่งเสริมความสัมพันธ์ในความร่วมมือด้านกิจการแรงงานแบบทวิภาคี รัฐบาลไต้หวัน – อินเดียได้ร่วมเจรจาหารือกันมาเป็นระยะเวลาหลายปี จนในที่สุดในวันที่ 16 ก.พ. ที่ผ่านมา Mr. Baushuan Ger ผู้แทนรัฐบาลไต้หวันประจำอินเดีย และ Mr. Manharsinh Laxmanbhai Yadav ผู้อำนวยการ “สมาคมอินเดียในกรุงไทเป” (Indian Taipei Association, ITA) ในฐานะตัวแทนภาครัฐของทั้งสองฝ่าย จึงได้ร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือ (MOU) ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์ โดยทั้งสองฝ่ายต่างลงนามตามกระบวนการที่ถูกต้อง ด้วยการส่งเอกสารไปมาระหว่างสองพื้นที่ และได้จัดการประชุมคณะทำงานอย่างเร่งด่วน เพื่อร่วมหารือในรายละเอียดเกี่ยวกับสาขาอาชีพ และตำแหน่งงานในอุตสาหกรรมที่เปิดกว้าง กลุ่มประเทศที่มาของแรงงานต่างชาติในไต้หวัน คุณสมบัติการว่าจ้าง และแนวทางการสรรหาบุคลากร เป็นต้น
 
MOU ที่ไต้หวัน - อินเดียร่วมลงนามระหว่างกัน ได้กำหนดไว้อย่างชัดเจนเกี่ยวกับอุตสาหกรรมที่เปิดกว้างสำหรับแรงงานชาวอินเดีย รวมไปถึงจำนวนบุคลากรที่รับสมัคร จะขึ้นอยู่กับการตัดสินใจของฝ่ายไต้หวัน โดยทางฝ่ายอินเดียจะช่วยในการสรรหาและฝึกอบรมบุคลากรชาวอินเดีย ที่ตรงตามวัตถุประสงค์ของผู้ประกอบการไต้หวัน และจะทำการว่าจ้างแรงงานผู้นั้นตามข้อระเบียบทางกฎหมายของทั้งสองฝ่าย หลังการร่วมลงนาม MOU กระทรวงแรงงานไต้หวันได้ปฏิบัติตามฎหมาย ด้วยการยื่นเสนอ MOU ฉบับดังกล่าวให้สภานิติบัญญัติพิจารณาเห็นชอบ ควบคู่ไปกับการจัดการประชุมของคณะทำงานเพื่อหารือรายละเอียดที่ประกอบด้วย กระบวนการเปิดรับสมัคร จำนวนโรงงานอุตสาหกรรม แหล่งที่มา ทักษะทางภาษา ความรู้ความชำนาญเฉพาะทาง และแนวทางการสรรหาบุคลากร เป็นต้น โดยเจ้าหน้าที่ภาครัฐแบบข้ามหน่วยงานจะร่วมทำการพิจารณาลงมติ และจะเปิดรับฟังความคิดเห็นจากภาคประชาสังคมเป็นลำดับต่อไป หลังจากที่ภารกิจทุกอย่างลงตัวและมีการดำเนินการอย่างเป็นรูปธรรมแล้ว จึงจะประกาศแจ้งให้สาธารณชนร่วมรับทราบว่า อินเดียจะถูกบรรจุเข้าสู่รายชื่อกลุ่มประเทศที่มาของแรงงานต่างชาติในไต้หวัน โดยผู้ประกอบการไต้หวันจะเป็นผู้คัดเลือกตามวัตถุประสงค์ของเนื้องาน ในการว่าจ้างบุคลากรต่างชาติจากกลุ่มประเทศที่มาของแรงงานต่างชาติ
 
เนื่องจากไต้หวันได้รับผลกระทบจากการเป็นสังคมผู้สูงอายุและมีอัตราการเกิดใหม่ที่น้อยลง ประชากรที่เข้าสู่ระบบการทำงานและแรงงานระดับรากหญ้า มีสัดส่วนลดลงอย่างเห็นได้ชัด อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมการก่อสร้าง และอุตสาหกรรมการเกษตร ประสบกับภาวะการขาดแคลนแรงงาน ประกอบกับจำนวนผู้ทุพพลภาพที่ต้องการผู้อนุบาลมาคอยดูแล มีจำนวนเพิ่มขึ้นอย่างรวดเร็ว ด้วยเหตุนี้ แรงงานต่างชาติจึงเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้นตามไปด้วย ซึ่งในปัจจุบันกลุ่มประเทศที่มาของแรงงานต่างชาติในไต้หวัน จำกัดเพียงเฉพาะ 4 ประเทศ ได้แก่ เวียดนาม อินโดนีเซีย ฟิลิปปินส์และไทย เท่านั้น กลุ่มองค์กรนายจ้างจึงเรียกร้องให้รัฐบาลตระหนักเห็นถึงความเสี่ยงของข้อจำกัดด้านแหล่งที่มาแรงงานต่างชาติ พร้อมกันนี้ เหล่าสมาชิกสภานิติบัญญัติหลายคน ต่างก็ร่วมเรียกร้องให้รัฐบาลเร่งแสวงหาประเทศนำเข้าแรงงานต่างชาติแห่งใหม่ ประกอบกับหลายปีมานี้ รัฐบาลญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ ต่างทยอยผ่อนคลายมาตรการแรงงานต่างชาติ ตราบจนปัจจุบัน ประเทศที่มาของกลุ่มแรงงานต่างชาติในญี่ปุ่น เกาหลีใต้และสิงคโปร์ มีจำนวนมากถึง 10 กว่าประเทศแล้ว
 
แรงงานชาวอินเดียที่เข้าประกอบอาชีพในต่างแดน มีจำนวนมากถึง 18 ล้านคน ซึ่งคุณสมบัติของแรงงานอินเดียได้รับเสียงวิจารณ์เชิงบวกเสมอมา เนื่องจากกลุ่มแรงงานมีความมุมานะ อดทนต่อความยากลำบาก ด้วยเหตุนี้ หลายประเทศทั่วโลกอย่างเยอรมนี อิตาลี ฝรั่งเศส ตะวันออกกลาง สิงคโปร์และมาเลเซีย จึงนิยมแสวงหาบุคลากรชาวอินเดีย รวมไปถึงอิสราเอลที่มีการวางแผนที่จะนำเข้าแรงงานชาวอินเดียเช่นเดียวกัน ส่วนญี่ปุ่นได้ร่วมลงนาม MOU กับอินเดียไปเมื่อปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ขณะนี้ เกาหลีใต้ก็ยังอยู่ระหว่างการเจรจาลงนามกับอินเดีย โดยแรงงานชาวอินเดียมักนิยมเข้าประกอบอาชีพในอุตสาหกรรมก่อสร้าง อุตสาหกรรมการผลิต อุตสาหกรรมครัวเรือนและอุตสาหกรรมการเกษรต เป็นต้น ซึ่งสอดคล้องกับความต้องการของตลาดแรงงานในสังคมไต้หวันด้วยเช่นกัน