ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.เติ้งเจิ้นจงเข้าร่วมหารือกับ Ms. Katherine Chi Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และ Mr. Greg HANDS รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายนโยบายทางการค้าแห่งสหราชอาณาจักร ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลก
2024-03-01
New Southbound Policy。รมว.เติ้งเจิ้นจงเข้าร่วมหารือกับ Ms. Katherine Chi Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และ Mr. Greg HANDS รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายนโยบายทางการค้าแห่งสหราชอาณาจักร ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลก (ภาพจากสภาบริหาร)
รมว.เติ้งเจิ้นจงเข้าร่วมหารือกับ Ms. Katherine Chi Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ และ Mr. Greg HANDS รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายนโยบายทางการค้าแห่งสหราชอาณาจักร ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลก (ภาพจากสภาบริหาร)

สภาบริหาร วันที่ 29 ก.พ. 67

นายเติ้งเจิ้นจง รัฐมนตรีประจำสภาบริหาร สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) อาศัยโอกาสที่ไปเข้าร่วมการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลก (WTO) เปิดการเจรจาหารือกับ Ms. Katherine Chi Tai ผู้แทนการค้าสหรัฐฯ
 
ในระหว่างการเจรจา ทั้งสองฝ่ายได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นในประเด็นการเจรจา ภายใต้ “แผนริเริ่มทางการค้าไต้หวัน-สหรัฐฯ แห่งศตวรรษที่ 21” พร้อมทั้งยังแสดงความชื่นชมต่อเจ้าหน้าที่ของทั้งสองฝ่ายที่เข้าร่วมการเจรจา ตลอดจนเรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ทั้งสองฝ่ายเร่งเปิดการเจรจาในประเด็นแรงงาน การเกษตรและสิ่งแวดล้อม โดยหวังที่จะเห็นทิศทางความร่วมมือในอนาคต ปรากฎอยู่ในเนื้อความของข้อตกลงโดยเร็ววัน
 
รมว.เติ้งฯ กล่าวต่อ Ms. Chi Tai ว่า ไต้หวันมุ่งส่งเสริมให้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน อ้างอิงความตกลงระหว่างไต้หวัน - สหรัฐฯ เพื่อร่วมลงนามความตกลงทางการค้าที่มีผลเชิงกฎหมายกับไต้หวันโดยเร็ววัน เพื่อขับเคลื่อนให้กลไกการค้าระหว่างประเทศ มุ่งสู่ทิศทางการพัฒนาที่เป็นธรรมและเปิดกว้างมากขึ้น
 
นอกจากนี้ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมหารือเชิงลึกกันในประเด็นปัญหาผลผลิตที่ล้นตลาดของอุตสาหกรรมหลายแขนง อันเกิดจากการให้เงินอุดหนุนอย่างไม่เป็นธรรมของกลุ่มประเทศระบบเศรษฐกิจแบบ Non-market Economy ซึ่งส่งผลกระทบต่อกลไกการค้าโลก และสร้างปัญหาในการพัฒนาของภาคอุตสาหกรรมในสังคมโลก พร้อมทั้งร่วมแบ่งปันประสบการณ์และความมุ่งมั่นพยายามในการกระจายความเสี่ยงของตลาดระหว่างทั้งสองฝ่าย
 
นอกจากนี้ รมว.เติ้งฯ ยังได้ร่วมหารือกับ Mr. Greg HANDS รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงการค้าระหว่างประเทศ ฝ่ายนโยบายทางการค้าแห่งสหราชอาณาจักร ในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลก (WTO) ที่จัดขึ้น ณ กรุงอาบูดาบี เมืองหลวงของสหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เมื่อช่วงที่ผ่านมา
 
ในระหว่างการเจรจา รมช. HANDS กล่าวว่า รัฐบาลอังกฤษได้ให้ความสำคัญกับการลงนาม “ความตกลงว่าด้วยการเสริมสร้างความสัมพันธ์เชิงหุ้นส่วนทางการค้าในเชิงลึก” (Enhanced Trade Partnership, ETP) ระหว่างสองฝ่าย เมื่อปีพ.ศ. 2566 ที่ผ่านมา ซึ่งถือเป็นหลักชัยสำคัญของความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคี โดยหวังที่จะส่งเสริมการพัฒนาด้านการค้าและการลงทุน ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ผ่านความตกลงฉบับนี้
 
ด้านรมว.เติ้งฯ นอกจากจะส่งผ่านคำขอบคุณที่ประธานาธิบดีไช่อิงเหวิน ผู้นำสาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) มีต่อรมช. HANDS ที่มีบทบาทสำคัญในการกระตุ้นให้เกิดการลงนามความตกลง ETP ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ อย่างราบรื่นแล้ว รมว.เติ้งฯ ยังได้ระบุความคิดเห็นที่ขานรับต่อรมช. HANDS ว่า รัฐบาลไต้หวันก็ได้กำหนดให้ความตกลง ETP เป็นพื้นฐานการแลกเปลี่ยนแบบทวิภาคี ระหว่างไต้หวัน - อังกฤษอย่างมีแบบแผน พร้อมหวังว่า หลังจากที่ทั้งสองฝ่ายเปิดการเจรจาใน 3 ด้าน ประกอบด้วย “การลงทุน” “การค้าแบบดิจิทัล” และ “พลังงานหมุนเวียนและการปล่อยก๊าซคาร์บอนเป็นศูนย์” ภายใต้กรอบข้อตกลง ETP แล้วเสร็จ จะสามารถขยายประเด็นความสัมพันธ์แบบทวิภาคีด้านอื่นๆ ในเชิงกว้างมากขึ้น เพื่อเสริมสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้า ระหว่างไต้หวัน – อังกฤษ ให้เป็นไปในทิศทางเชิงลึกต่อไป
 
นอกจากความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าระหว่างไต้หวัน - อังกฤษแล้ว รมว.เติ้งฯ ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลอังกฤษให้การสนับสนุนและช่วยผลักดันให้ไต้หวันก้าวสู่การเป็นประเทศสมาชิกของ “ความตกลงหุ้นส่วนทางเศรษฐกิจภาคพื้นแปซิฟิก” (Comprehensive and Progressive Agreement of Trans-Pacific Partnership, CPTPP) ซึ่ง รมช. HANDS กล่าวว่า ในระหว่างการยื่นขออนุมัติการเป็นประเทศสมาชิกใหม่ใน CPTPP ของอังกฤษ รัฐบาลอังกฤษต้องประสบกับเงื่อนไขข้อเรียกร้องที่เปี่ยมมาตรฐานสูงของกลุ่มประเทศสมาชิก CPTPP หากอังกฤษได้เป็นประเทศสมาชิกอย่างเป็นทางการ ก็จะตรวจสอบคุณสมบัติของประเทศที่ยื่นขออนุมัติ ให้สอดคล้องกับมาตรฐานขั้นสูง จึงจะสามารถเข้าสู่การเป็นส่วนหนึ่งของ CPTPP ได้
 
ทั้งนี้ นอกจาก CPTPP และความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจการค้าระหว่างไต้หวัน - อังกฤษ ทั้งสองฝ่ายยังได้ร่วมแลกเปลี่ยนความคิดเห็นเกี่ยวกับประเด็นการอภิปรายในระหว่างการประชุมระดับรัฐมนตรีครั้งที่ 13 ขององค์การการค้าโลกด้วย