ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่ออินเดีย ชี้ ประเทศประชาธิปไตยควรร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดการขยายของลัทธิอำนาจนิยม
2024-03-01
New Southbound Policy。รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่ออินเดีย ชี้ ประเทศประชาธิปไตยควรร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดการขยายของลัทธิอำนาจนิยม (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)
รมว.กต.ไต้หวันให้สัมภาษณ์แก่สื่ออินเดีย ชี้ ประเทศประชาธิปไตยควรร่วมมืออย่างใกล้ชิด เพื่อสกัดการขยายของลัทธิอำนาจนิยม (ภาพจากกระทรวงการต่างประเทศ)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 1 มี.ค. 67

เมื่อวันที่ 29 ก.พ. ที่ผ่านมา นายอู๋เจาเซี่ย รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) ได้ให้สัมภาษณ์ผ่านระบบวิดีโอคอนเฟอเรนซ์แก่ Mr. Rishabh Gulati บรรณาธิการอำนวยการรายการข่าว News X ของสถานีโทรทัศน์อินเดีย โดยรมว.อู๋ฯ ได้ชี้แจงเชิงลึกต่อประเด็นสถานการณ์ล่าสุดในภูมิภาคอินโด - แปซิฟิก และความสัมพันธ์ระหว่างไต้หวัน - อินเดีย พร้อมย้ำว่า ไต้หวันมุ่งขยายความร่วมมือร่วมกับอินเดียอย่างกระตือรือร้นเสมอมา โดยเนื้อหาบทสัมภาษณ์ได้เผยแพร่ออกอากาศในช่วงค่ำเวลาทองของวันเดียวกัน ซึ่งได้รับความสนใจจากทุกแวดวงเป็นอย่างมาก
 
ในช่วงแรก Mr. Gulati ได้แสดงความยินดีที่ไต้หวันประสบความสำเร็จในการจัดการเลือกตั้งตามระบอบประชาธิปไตยลงอย่างราบรื่นเมื่อเดือนที่ผ่านมา โดยรมว.อู๋ฯ ได้แสดงความขอบคุณ พร้อมย้ำว่า ประชาชนชาวไต้หวันต่างรู้สึกภาคภูมิใจต่อผลสัมฤทธิ์ทางประชาธิปไตยของไต้หวันเป็นอย่างมาก ต่อกรณีที่ไต้หวัน – อินเดียร่วมลงนามบันทึกความเข้าใจว่าด้วยความร่วมมือด้านแรงงานต่างชาติในช่วงที่ผ่านมา รมว.อู๋ฯ กล่าวว่า อินเดียเป็นประเทศประชาธิปไตยที่ใหญ่ที่สุดในโลก ประชากรในประเทศมีความขยันขันแข็ง มาตรฐานคุณภาพแรงงานอยู่ในระดับสูง ส่วนไต้หวันที่เป็นส่วนหนึ่งในกลุ่มประเทศประชาธิปไตยเช่นเดียวกันนั้น มีการพัฒนาทางเศรษฐกิจที่เจริญรุ่งเรือง แต่กลับต้องเผชิญกับปัญหาการขาดแคลนแรงงาน ด้วยเหตุนี้ ทั้งสองฝ่ายจึงตัดสินใจร่วมลงนาม MOU ว่าด้วยกิจการแรงงานต่างชาติขึ้น เพื่อเปิดโอกาสในการสร้างความร่วมมือด้านแรงงานที่มากขึ้นให้แก่ทั้งสองฝ่าย โดยรมว.อู๋ฯ ยังให้คำมั่นว่าจะมุ่งผลักดันการพัฒนาความสัมพันธ์แบบทวิภาคีในทุกภาคส่วนกับอินเดียต่อไป
 
สำหรับประเด็นผลกระทบทางสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก ที่ได้รับจากสงครามรัสเซีย - ยูเครน และความขัดแย้งระหว่างอิสราเอล - ฮามาส รมว.อู๋ฯ ชี้ว่า สถานการณ์โลกในปัจจุบันสะท้อนให้เห็นความขัดแย้งทางระบอบการปกครอง ระหว่างประชาธิปไตยและเผด็จการ รัฐบาลจีนอาศัยการโจมตีด้วยกำลังทหาร แรงกดดันทางเศรษฐกิจ สงครามลูกผสมและแผนกลยุทธ์พื้นที่สีเทา ในการคุกคามไต้หวัน อีกทั้งยังคุกคามญี่ปุ่นและฟิลิปปินส์ในพื้นที่ทะเลจีนตะวันออกและทะเลจีนใต้ นอกจากนี้ จีนยังหวังที่จะทะลวงผ่านพื้นที่ระยะห่วงโซ่ที่ 1 แผ่ขยายอิทธพลไปสู่พื้นที่มหาสมุทรแปซิฟิก การลงนามความตกลงด้านความมั่นคงระหว่างจีน - หมู่เกาะโซโลมอน ถือเป็นกรณีตัวอย่างที่เห็นได้อย่างชัดเจน นอกจากนี้ จีนยังได้แผ่ขยายอิทธิพลในพื้นที่เลียบชายฝั่งมหาสมุทรอินเดีย ผ่าน “ยุทธศาสตร์สร้อยไข่มุก” (string of pearls) ด้วย รมว.อู๋ฯ ย้ำว่า การที่กลุ่มประเทศเผด็จการมีแนวโน้มในการผนึกกำลังร่วมกัน ทำให้กลุ่มประเทศประชาธิปไตยจำเป็นต้องสร้างความร่วมมือกันอย่างต่อเนื่อง เพื่อสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของอำนาจเผด็จการ
 
รมว.อู๋ฯ ชี้อีกว่า ขณะนี้ ประชาคมโลกต่างตระหนักถึงความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันที่จะส่งผลกระทบต่อทั่วโลก โดยเฉพาะผลกระทบทางเศรษฐกิจ ด้วยเหตุนี้ นานาประเทศจึงได้ทยอยแสดงจุดยืนว่าด้วยการสนับสนุนการธำรงรักษาสถานภาพเดิมในช่องแคบไต้หวัน ผ่านการประชุมของกลุ่มประเทศอุตสาหกรรมชั้นนำของโลก 7 ประเทศ (G7) การประชุมระหว่างสหรัฐฯ ญี่ปุ่นและเกาหลีใต้ รวมไปถึงการประชุมสหภาพยุโรป เป็นต้น พร้อมทั้งเน้นย้ำว่า สันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันเป็นสิ่งที่ไม่สามารถขาดได้ในความมั่นคงและความเจริญรุ่งเรืองของโลก รมว.อู๋ฯ จึงขอใช้โอกาสนี้แสดงความขอบคุณต่อประชาคมโลกที่ให้ความสำคัญต่อสถานการณ์ในช่องแคบไต้หวันอย่างต่อเนื่อง พร้อมแสดงความขอบคุณต่อรัฐบาลอินเดียที่แสดงจุดยืนในการให้ความสำคัญต่อสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน อินเดียนับเป็นประเทศสมาชิกสำคัญของ “การรวมกลุ่มเจรจาด้านความมั่นคงปลอดภัยระหว่างภาคี 4 ประเทศ (QUAD)” โดยได้สร้างความร่วมมือกับสหรัฐฯ และญี่ปุ่น อย่างต่อเนื่อง เชื่อว่าอินเดียจะมีบทบาทที่สำคัญในการสกัดกั้นการแผ่ขยายอิทธิพลของเผด็จการอย่างมีประสิทธิภาพ
 
รมว.อู๋ฯ กล่าวด้วยว่า ไต้หวันหวังจะสร้างความร่วมมือและการแลกเปลี่ยนกับอินเดีย ทั้งในด้านเศรษฐกิจ วัฒนธรรม การศึกษาและการเกษตร อินเดียมีตลาดที่เปิดกว้างและมีศักยภาพทางเศรษฐกิจอย่างเหลือล้น ภายใต้สถานการณ์ความผันผวนในตลาดจีน ผู้ประกอบการไต้หวันหลายรายได้วางแผนอพยพย้ายฐานธุรกิจไปสู่ประเทศอื่นๆ โดยอินเดียถือเป็นตัวเลือกที่ดีสำหรับเหล่าผู้ประกอบการไต้หวัน ประกอบกับขณะนี้ อินเดียกำลังอยู่ระหว่างการมุ่งพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์อย่างกระตือรือร้น การที่ไต้หวันมีศักยภาพสูงในอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ระดับสากลทำให้เชื่อว่า ทั้งสองฝ่ายยังสามารถสร้างความร่วมมือร่วมกันได้อีกมาก ในปัจจุบันมีบุคลากรด้านเทคโนโลยีขั้นสูงชาวอินเดียที่มาทำงานในไต้หวัน เป็นจำนวนกว่า 2,700 คน และมีนักวิจัยชาวอินเดียจำนวน 500 คนที่มาทำการวิจัยในไต้หวันหลังได้รับปริญญาเอก เชื่อว่าในอนาคต บุคลากรเหล่านี้จะมีบทบาทสำคัญในการพัฒนาอุตสาหกรรมเซมิคอนดักเตอร์ของอินเดียต่อไป ในช่วงท้าย รมว.อู๋ฯ ยังย้ำว่า รัฐบาลไต้หวันพร้อมให้ความช่วยเหลือที่เกี่ยวข้องแก่ผู้ประกอบการชาวไต้หวันที่ต้องการไปตั้งฐานธุรกิจในอินเดีย พร้อมนี้ รมว.อู๋ฯ ยังหวังที่จะเห็นไต้หวัน – อินเดีย เร่งลงนามความตกลงการค้าเสรีระหว่างกัน เพื่อสร้างความสัมพันธ์ทางเศรษฐกิจและการค้าแบบทวิภาคีในเชิงลึกต่อไป