ช้ามไปยังส่วนข้อมูลหลัก
กต.ไต้หวันขอแสดงความชื่นชมต่อ “แผนปฏิบัติการประเมินผลกระทบต่อความเสี่ยงในช่องแคบไต้หวัน” โดยกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (IPAC)
2024-03-11
New Southbound Policy。กต.ไต้หวันขอแสดงความชื่นชมต่อ “แผนปฏิบัติการประเมินผลกระทบต่อความเสี่ยงในช่องแคบไต้หวัน” โดยกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (IPAC) (ภาพจาก IPAC)
กต.ไต้หวันขอแสดงความชื่นชมต่อ “แผนปฏิบัติการประเมินผลกระทบต่อความเสี่ยงในช่องแคบไต้หวัน” โดยกลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (IPAC) (ภาพจาก IPAC)

กระทรวงการต่างประเทศ วันที่ 8 มี.ค. 67
 
เมื่อวันที่ 8 มี.ค. กลุ่มพันธมิตรจีนของสมาชิกรัฐสภาข้ามชาติแห่งภูมิภาคยุโรป (Inter-Parliamentary Alliance on China, IPAC) ได้ทำการเผยแพร่วิดีทัศน์และประกาศเริ่มดำเนินการตาม “แผนปฏิบัติการประเมินผลกระทบต่อความเสี่ยงในช่องแคบไต้หวัน” (Operation “Measure the Impact of a Shock in the Taiwan Strait”) โดยมีสาระสำคัญที่เน้นย้ำว่า การปกป้องสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวัน เป็นหน้าที่และความรับผิดชอบร่วมกันของประชาคมโลก พร้อมทั้งเรียกร้องให้รัฐบาลของนานาประเทศทั่วโลกร่วมประเมินและตระหนักถึงผลกระทบที่รุนแรงต่อระบบเศรษฐกิจโลก อันเกิดจากความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน เพื่อส่งเสริมให้ทั่วโลกร่วมป้องกันมิให้เกิดความขัดแย้งขึ้นในช่องแคบไต้หวัน กระทรวงการต่างประเทศ สาธารณรัฐจีน (ไต้หวัน) รู้สึกยินดีและรู้สึกชื่นชมด้วยใจจริง
 
เนื้อหาในวิดีทัศน์ นำเสนอให้เห็นว่า ประชาคมโลกควรให้ความสำคัญกับภัยคุกคามที่เกิดจากจีน เสถียรภาพที่ไม่มั่นคงของช่องแคบไต้หวันถือเป็นปัญหาระดับสากล หากช่องแคบไต้หวันประสบกับความเสี่ยงในการถูกปิดล้อม จะก่อให้เกิดความเสียหายในระบบเศรษฐกิจโลกที่มีมูลค่ามากกว่า 10 ล้านล้านเหรียญสหรัฐ หรือมากกว่า 5 เท่าของสงครามรัสเซีย - ยูเครน ผลกระทบที่จะได้รับรุนแรงและสาหัสกว่าสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด – 19 หลายเท่า ซึ่งผลกระทบเหล่านี้ไม่สามารถประเมินค่าได้ และจำเป็นต้องหลีกเลี่ยงมิให้เกิดขึ้น นอกจากนี้ เนื้อความในวิดีทัศน์ยังได้เรียกร้องให้รัฐบาลนานาประเทศ มุ่งมั่นป้องกันการเกิดความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวัน ซึ่งนอกจากจะเป็นการปกป้องประชาชนชาวไต้หวันและสิทธิอำนาจในการตัดสินใจด้วยตนเองแล้ว ยังเป็นการคุ้มครองมวลมนุษยชาติมิให้ได้รับผลกระทบรุนแรงที่เกิดจากความขัดแย้งในช่องแคบไต้หวันตามไปด้วย
 
องค์การ IPAC ก่อเกิดขึ้นจากสมาชิกรัฐสภาจำนวน 250 คนจาก 30 กว่าประเทศ โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อส่งเสริมความร่วมมือกับกลุ่มสมาชิกรัฐสภาที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกันทั่วโลก และเรียกร้องให้จีนเคารพตามกฎระเบียบสากล ควบคู่ไปกับการรักษาความมั่นคงระดับโลกและสิทธิมนุษยชน ผ่านการบัญญัติข้อกฎหมาย โดยผู้ที่มีส่วนร่วมในวิดีทัศน์ ตาม “แผนปฏิบัติการ MIST” ครั้งนี้ ประกอบด้วย สมาชิกรัฐสภาจากสหภาพยุโรป (EU) เนเธอร์แลนด์ อังกฤษ เช็ก สวีเดน มาซิโดเนียเหนือ ยูเครน แคนาดา ไอร์แลนด์ นิวซีแลนด์ ญี่ปุ่น ฟิลิปปินส์ ออสเตรเลีย และฝรั่งเศส รวม 17 คน
 
ท้ายนี้ กต.ไต้หวันขอเรียกร้องให้กลุ่มประเทศที่มีแนวคิดคล้ายคลึงกัน มุ่งประสานความร่วมมือกับไต้หวันอย่างต่อเนื่อง เพื่อร่วมรักษาสันติภาพและเสถียรภาพในช่องแคบไต้หวันและภูมิภาคอินโด – แปซิฟิก รวมไปถึงค่านิยมสากลที่กลุ่มประเทศประชาธิปไตยหวงแหน ให้คงอยู่อย่างยั่งยืนสืบไป